สิ่งที่ผู้ใหญ่มอบให้ เมื่อเด็กปีกกล้า เยาวชนขาเเข็ง

“บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจํากัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทํามิได้…”

มาตรา 34 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

บุคคลนั้นย่อมหมายรวมถึงนักเรียน นักศึกษา รวมทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล

นับจากวันที่มีการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มเยาวชนปลดแอก 18 กรกฎาคม 2563 ปลุกให้เกิดการรวมกลุ่มชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมืองในหลายจังหวัด ทุกภาคทั่วทั้งประเทศ ซึ่งมีนักเรียน นิสิตและนักศึกษาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ

เจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่ดูแลสถานการณ์ให้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย นั่นอาจรวมถึงการพยายามควบคุมการแสดงออกของผู้ชุมนุมทั้งทางตรงและทางอ้อม หลายกรณีถูกยกระดับจนอาจมองได้ว่าเป็นการคุกคาม แม้ว่าผู้ร่วมชุมนุมจะเป็นเด็กนักเรียนก็ตาม

ระดับการคุกคามขึ้นอยู่กับมาตรการของเจ้าหน้าที่ในแต่ละพื้นที่ แนวโน้มโดยรวมคือการพยายามปิดกั้นไม่ให้จัดการชุมนุมได้ หรือหากจัดได้ก็จะให้มีผู้เข้าร่วมน้อยที่สุด โดยอ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และความเป็น ‘เด็ก’

เคาะประตูบ้าน สลายการชุมนุมก่อนเริ่มชุมนุม

นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ถูกเจ้าหน้าที่คณะกำนันผู้ใหญ่บ้าน เดินทางไปสอบถามข้อมูลส่วนตัวจากญาติผู้ใหญ่ที่บ้านพักของพี่สาว เนื่องจากก่อนหน้านี้เจ้าตัวได้โพสต์ข้อความเตรียมจัดการชุมนุมในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ข้อความดังกล่าวมีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก

นพพล อาชามาส หัวหน้าฝ่ายข้อมูล ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยกกรณีตัวอย่างเด็กนักเรียนในจังหวัดลำพูนที่ประกาศจัดการชุมนุม ได้มีตำรวจเข้าพูดคุยกับผู้ปกครองที่บ้าน แจ้งว่ามีรายชื่ออยู่ในบัญชีดำ (black list) ที่ฝ่ายความมั่นคงจับตาดูอยู่ ใช้คำที่ดูรุนแรง ให้ผู้ปกครองเข้าใจว่าอาจจะมีปัญหาตามมาภายหลัง โน้มน้าวให้ทั้งผู้ปกครองและนักเรียนเกิดความกลัว จนต้องถอนตัวจากการเป็นผู้จัดไปในที่สุด

อานนท์ ชวาลาวัณย์ หัวหน้าศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ จาก iLaw ยกกรณีคนที่พยายามจัดแฟลชม็อบที่จังหวัดแพร่ ก่อนจัดมีตำรวจสืบทราบที่อยู่และไปที่บ้าน แต่ไม่พบตัว มีเพียงแม่ที่ชราแล้วอยู่บ้านเพียงคนเดียว และเจ้าหน้าที่ได้เข้าพูดคุยกับแม่ของผู้จัดกิจกรรม

การห้ามตั้งแต่ก่อนจะมีการชุมนุมแบบนี้เป็นพฤติกรรมที่เด่นชัดขึ้นตั้งแต่ยุค คสช. นี่เป็นแทคติคที่เมื่อคุณรู้ว่าห้ามนักกิจกรรมไม่ได้ คุณก็ไปห้ามญาติพี่น้องเขา ซึ่งถามว่ามันเป็นการทำตามกฎหมายหรือเปล่า ต่อให้คุณอ้างว่าหวังดี แต่ในสถานะตำรวจเมื่อคุณมาบ้านคนโดยไม่มีเหตุอะไรมันก็แปลกๆ แล้ว การชุมนุมมันคือสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ถ้าเขาไปชุมนุมแล้วทำผิดกฎหมายคุณก็มีหน้าที่ไประงับเหตุ แต่ไม่ใช่การห้ามไม่ให้ใช้สิทธิเลย

บางรายที่แม้ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมก็เจอการ ‘ไปเยี่ยมบ้าน’ ลักษณะนี้ด้วยเช่นกัน จากการโพสต์ข้อความลงสื่อสังคมออนไลน์ เคยจัดกิจกรรมในลักษณะใกล้เคียง หรือแม้กระทั่งการติด #saveทิวากร หรือแชร์ภาพเสื้อ ‘เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว’ ของทิวากร วิถีตน ซึ่งเป็นกระบวนการนอกกฎหมาย อ้างว่าเข้าไปตักเตือน และบังคับให้เซ็นเอกสารข้อตกลงว่าจะไม่โพสต์ข้อความในลักษณะนี้อีก โดยไม้ให้ถ่ายรูปหรือสำเนาเอกสารไว้กับตัว แม้ว่าเอกสารฉบับนี้จะไม่มีผลในทางกฎหมาย แต่อาจสร้างความกลัวให้ผู้เซ็นเอกสารได้

โรงเรียนไม่ปลอดภัยอีกต่อไป

การเรียกร้องให้ยุบสภา แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เป็นจุดร่วมของผู้ชุมนุมในภาพใหญ่ระดับประเทศ กระนั้นการต่อต้านอำนาจนิยมในโรงเรียนแต่ละแห่ง ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ระบบหรือพฤติกรรมของบุคลากรเป็นข้อความย่อยที่่ถูกนำเสนอควบคู่กับเรื่องการเมืองระดับชาติผ่านสื่อออนไลน์

นักเรียนชั้นมัธยมต้น 2 คน จากโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช แสดงออกทางการเมืองด้วยการติดแผ่นป้าย และประชาสัมพันธ์ข้อมูลทางสื่อสังคมออนไลน์ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตามตัวถึงภายในโรงเรียน เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์โรงเรียนภายใต้ #กัลคอน ว่าเหตุใดจึงปล่อยให้เจ้าหน้าที่เข้ามาคุกคามนักเรียนถึงภายในโรงเรียน

อานนท์ ให้ข้อมูลว่าหนึ่งในนักเรียนที่เข้าร่วมชุมนุม #เด็กนนท์พร้อมชนเผด็จการ โดนลงโทษจากสถานศึกษาโดยการทำทัณฑ์บน และถูกเชิญผู้ปกครอง ที่การคุกคามนักเรียนเพิ่งจะเกิดขึ้นโดยทั่วไปเป็นเพราะก่อนหน้านี้นักเรียนไม่ได้เข้ามามีบทบาทและแสดงออกทางการเมืองเท่าปัจจุบัน

เจ้าหน้าที่จาก สภ.เมืองพัทลุง ส่งจดหมายถึงผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีพัทลุง เพื่อขอความร่วมมือประชาสัมพันธ์นักเรียนไม่ให้ไปเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมที่จะจัดขึ้นบริเวณสวนสาธารณะกาญจนาภิเษก จังหวัดพัทลุง โดยอ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พร้อมแนบความผิดที่เกี่ยวข้องมาด้วย 1 ฉบับ

เด็กนักเรียนจากจังหวัดนครสวรรค์ เข้าร่วมการชุมนุมและชูป้ายที่มีข้อความขับไล่รัฐบาล บริเวณหน้าห้างบิ๊กซี นครสวรรค์ ถูกผู้บริหารของโรงเรียนสั่งให้แยกเข้าแถวเดี่ยวระหว่างการเคารพธงชาติ หลังจากนั้นมีการเรียกให้เข้าพบ และสั่งให้นักเรียนแจ้งให้ผู้ปกครองเข้าพบมิฉะนั้นจะไล่ออกจากโรงเรียน เหตุการณ์นี้ส่งผลให้เกิด #โรงเรียนชื่อดังย่านบิ๊กซี มียอดสูงกว่า 1.62 แสนทวีต ในทวิตเตอร์

“ในโรงเรียน ผอ. มีอำนาจ แต่มีสิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือ หนึ่ง เด็กนักเรียนไปชุมนุมโดยไม่ได้อ้างสถาบันการศึกษา แต่ไปในฐานะปัจเจก โรงเรียนมีอำนาจไปควบคุมหรือไม่ สอง การชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ เป็นการใช้สิทธิ เพราะในรัฐธรรมนูญไม่ได้จำกัดอายุในการแสดงออกทางการเมือง ต่อให้เด็กแสดงออกอย่างผิดกฎหมาย มันก็มีข้อกฎหมายรองรับไว้อยู่แล้ว ไม่ใช่ขั้นตอนแบบนี้” หัวหน้าศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ จาก iLaw

โครงการดับอนาคต

27 กรกฎาคม 2563 พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊คถึง ‘โครงการดับอนาคต’ ดำเนินการโดยใช้จิตอาสาแฝงตัวเก็บภาพถ่ายผู้เข้าร่วมชุมนุม โดยเน้นให้เห็นใบหน้าพอที่จะระบุตัวตนได้ ก่อนที่ตนจะเป็นผู้รวบรวมข้อมูล แจกจ่ายไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน

ถัดมาเพียง 1 วัน ผศ.สาวตรี สุขศรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นต่อโครงการดังกล่าวว่าผู้ที่ถ่ายรูปคนอื่นโดยไม่ขออนุญาตและทำให้รู้สึกเดือดร้อนรำคาญ หรือรู้สึกถูกคุกคาม มีความผิดลหุโทษ ตามมาตรา 397 ประมวลกฎหมายอาญา โทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท อีกทั้งการกระทำของ พล.ต.นพ.เหรียญทอง ที่ชักชวนผู้คนให้คุกคามประชาชนหลายต่อหลายครั้ง แม้จะไม่มีความผิดตามข้อกฎหมายทางอาญา แต่หมิ่นเหม่ต่อประเด็นทางจริยธรรม จรรยาบรรณแพทย์ ซึ่งองค์กรที่เกี่ยวข้องควรออกมาเคลื่อนไหว

ติดตามและดำเนินคดีหลังการชุมนุม

นพพล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่ายังมีการคุกคามนักเรียนหรือนักศึกษาในลักษณะการตามติดประกบตัว ภายหลังจากกิจกรรมการชุมนุมเสร็จสิ้น ซึ่งมักเกิดขึ้นกับผู้ที่ชูป้ายข้อความที่สุ่มเสียง เจ้าหน้าที่จะเตือนเรื่องการชูป้าย และข่มขู่ว่าหากกระทำอีกจะมีการดำเนินคดี

การดำเนินคดีเล็กๆ น้อยๆ เป็นวิธีการหนึ่งที่เจ้าหน้าที่มักจะนำมาใช้กับผู้ที่แสดงออกทางการเมือง ดังเช่นกรณีของ ภูมิวัฒน์ แรงกสิวิทย์ หรือ จอน จากแนวร่วมนวชีวิน ที่ทำกิจกรรมอดอาหารประท้วงการทำงานของรัฐบาลที่ทำให้ผู้คนตกงาน และปากท้องว่างเปล่า ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจปรับเงินจำนวน 200 บาท จาก พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ

ทั้งนี้ปรากฏเอกสารการจัดเตรียมกำลังพล เครื่องมือ และสถานที่เพื่อควบคุมตัวผู้ชุมนุม จาก ตชด. และ ทนายอานนท์ นำภา โพสต์ข้อความว่าทราบข่าวการจัดตั้งกลุ่มคนเพื่อทำร้ายผู้ชุมนุม

จากเหตุการณ์หลายรูปแบบที่เกิดขึ้น ผู้ชุมนุมเองเริ่มมีการวางมาตรการป้องกันเพื่อรองรับการเข้าร่วมการชุมนุมของนักเรียน อานนท์ให้ข้อมูลหลังจากการไปสังเกตการชุมนุม #เด็กนนท์พร้อมชนเผด็จการ ที่จังหวัดนนทบุรี ว่าผู้จัดมีการเตรียมเทปดำสำหรับปิดทับชื่อหรือรหัสบนชุดนักเรียน ได้ย้ำให้ผู้ร่วมชุมนุมสวมหน้ากากไว้ตลอดเวลา และขอความร่วมมือไม่บันทึกภาพหน้าผู้ร่วมชุมนุมโดยเฉพาะเด็กนักเรียน พร้อมเตรียมทีมงานผู้ใหญ่ส่งเด็กนักเรียนออกจากพื้นที่ชุมนุมภายหลังเสร็จกิจกรรม เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัย

นพพล จากศูนย์ทนายฯ มีข้อกังวลถึงแนวโน้มที่อาจมีการยกระดับความรุนแรงได้ ทั้งการจัดชุมนุมของกลุ่มที่เห็นไม่ตรงกัน รวมถึงกระแสข่าวที่มีการเพ่งเล็งแกนนำหลายกลุ่ม เมื่อย้อนมองการเคลื่อนไหวในอดีตอย่างกรณีที่ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว ถูกดักทำร้ายกลางเมือง รวมถึงการล่าแม่มดที่มีคนตกเป็นเป้ามากพอสมควร อาจเป็นตัวเร่งให้เกิดความรุนแรงได้

Author

ศุภวิชญ์ สันทัดการ
นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยชื่อดังแถบรังสิต เป็นคนหนุ่มที่ฟังเพลงน้อยแต่อ่านมาก โดยเฉพาะการผจญภัยในสวนอักษรของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ด้วยคุณงามความดีเช่นนี้จึงมีเสียงชื่นชมบ่อยๆ ว่าเป็นพวกตกยุค

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า