เหตุเกิดในคืน 16 ตุลาฯ 63

#16ตุลาไปแยกปทุมวัน

ไม่กี่ชั่วโมงก่อนการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร 2563 จะเริ่มขึ้นอีกครั้งเป็นวันที่ 3 (16 ตุลาคม 2563) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรัฐประหาร คสช. ออกมาแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษที่ทำเนียบรัฐบาลด้วยท่าทีแข็งกร้าว 

พลเอกประยุทธ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบประกาศและคำสั่งต่างๆ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม โดยให้เหตุผลว่าประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ และอาจบังคับใช้ต่อไปอย่างน้อย 30 วัน ส่วนจะมีประกาศเคอร์ฟิวหรือไม่นั้น นายกฯ ไม่ระบุ

เมื่อถูกถามว่า จะลาออกตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า “ไม่ออก” และแสดงความมั่นใจว่าตนเองเป็นผู้สร้างความสงบเรียบร้อยให้บ้านเมือง ก่อนจะย้อนถามสื่อมวลชนกลับว่า “ผมผิดอะไร” 

17.00 น. ตามเวลานัดหมาย กลุ่มเยาวชน นักเรียน นักศึกษา เริ่มรวมตัวกันที่บริเวณแยกราชประสงค์ ก่อนจะย้ายที่หมายไปยังแยกปทุมวัน ท่ามกลางสายฝนกระหน่ำ โดยผู้ชุมนุมเข้ายึดพื้นผิวถนนใจกลางแยกปทุมวันเป็นที่เรียบร้อย และตะโกนเชิญชวนผู้ชุมนุมอีกส่วนบนสกายวอล์คให้ลงมาสมทบกัน

17.55 น. เยาวชนและคนหนุ่มสาวทยอยเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคณะราษฎร 2563 อย่างเนืองแน่น แม้ว่าล่าสุด ผบ.ตร. จะมีคำสั่งให้รถไฟฟ้าบีทีเอสปิดให้บริการชั่วคราวเพิ่มอีก 3 สถานี ได้แก่ สถานีสยามสแควร์ สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ และสถานีราชเทวี จากเดิมปิดเฉพาะสถานีราชดำริและชิดลม

18.00 น. เวลาผ่านไป 1 ชั่วโมง กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงเดินทางมาอย่างต่อเนื่องและนั่งชุมนุมกันอย่างสงบ ขณะที่สื่อมวลชนหลายสำนักยังเกาะติดสถานการณ์เพื่อรายงานข้อเท็จจริงให้สาธารณชนได้ทราบ แม้จะมีกระแสข่าวว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอความร่วมมือไม่ให้มีการถ่ายทอดสดเหตุการณ์ชุมนุมก็ตาม 

ตำรวจตบเท้ากระชับพื้นที่-ฉีดน้ำผสมสารเคมีสีฟ้า

18.05 น. บรรยากาศความมืดเริ่มปกคลุม บริเวณรอบนอกถูกเจ้าหน้าที่ตรึงกำลังไว้อย่างแน่นหนา โดยเฉพาะบริเวณหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เคยถูกผู้ชุมุนุมเคลื่อนไหวกดดันอย่างหนักเมื่อค่ำคืนที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีการวางแผนกั้น (แบริเออร์) เพื่อตีกรอบพื้นที่และป้องกันมิให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนไหวได้ง่าย 

18.15 น. ‘ไมค์ ระยอง’ หรือ ภานุพงศ์ จาดนอก ปรากฏตัว ณ ที่ชุมนุม โดยเป็นหนึ่งในแกนนำไม่กี่คนที่หลงเหลืออยู่ เนื่องจากแกนนำส่วนใหญ่ถูกจับกุมและควบคุมตัวโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว 

18.25 น. ที่แยกเฉลิมเผ่า ตำรวจควบคุมฝูงชนพร้อมด้วยโล่และรถฉีดน้ำแรงดันสูง เคลื่อนกำลังพลเข้าใกล้ที่ชุมนุม และพยายามเข้ากระชับพื้นที่บริเวณถนนพระราม 1 จนถึงแยกปทุมวัน โดยมีการใช้เครื่องขยายเสียงประกาศห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ขณะที่บรรดาห้างสรรพสินค้าต่างๆ พากันปิดให้บริการเกือบหมด 

18.45 น. บรรยากาศเริ่มตึงเครียดมากขึ้น เมื่อตำรวจควบคุมฝูงชนเดินหน้าเข้าประชิดแนวของผู้ชุมนุมในระยะเพียง 50 เมตร โดยเจ้าหน้าที่พยายามประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงเพื่อขอให้สลายตัว ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชนและคนหนุ่มสาวได้ช่วยกันนำร่มมากางเป็นแนวกั้น 

18.50 น. บริเวณหน้าห้างสยามพารากอน รถฉีดน้ำแรงดันสูงเริ่มเปิดปฏิบัติการเป็นครั้งแรก โดยตำรวจได้ประกาศนับถอยหลัง 5 4 3 2 1 จากนั้นได้ฉีดน้ำพุ่งขึ้นไปกระแทกคานรถไฟฟ้าและตกกระทบฝ่ายเดียวกันเอง ทำให้ผู้ชุมนุมต่างไชโยโห่ร้อง อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายได้เข้าประจัญหน้ากันในที่สุดจนเกิดการผลักดันและยื้อยุดกันไปมา โดยเจ้าหน้าที่ได้ใช้รถฉีดน้ำผสมสี และเปิดเครื่องขยายเสียงความถี่สูงเพื่อสร้างการรบกวนการชุมนุม 

19.05 น. การเผชิญหน้าของทั้งสองฝ่ายยุติลงชั่วคราว โดยต่างฝ่ายต่างถอนร่น มีรายงานว่ามีผู้บาดเจ็บด้วยกันทั้งสองฝ่าย สถานการณ์ขณะนี้ยังคงตึงเครียดและอาจเกิดการเผชิญหน้าอีกครั้ง

photo: Chinnaphong Mungsiri

19.20 น. หลังจากสถานการณ์เผชิญหน้ายุติลงชั่วคราว มีรายงานว่า ผู้ที่อยู่ใกล้บริเวณที่มีการฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสี มีอาการแสบตา แสบคอ และระคายเคืองตามผิวหนัง

19.25 น. มวลชนที่อยู่บริเวณแยกปทุมวัน เริ่มทยอยเคลื่อนตัวออกจากที่ชุมนุม มุ่งหน้าไปทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

19.40 น. ตำรวจเริ่มฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมอีกครั้ง โดยผู้ชุมนุมได้ประกาศเตือนกันว่า ให้ระมัดระวังน้ำดังกล่าวซึ่งอาจมีการผสมสารเคมีบางอย่างที่อาจเป็นอันตรายได้ ขณะเดียวกัน ตำรวจพร้อมโล่และกระบองได้เริ่มตั้งแนวอีกครั้ง และขยับเข้าประชิดขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้ชุมนุมขว้างปาขวดน้ำเข้าใส่เจ้าหน้าที่ 

20.00 น. แกนนำได้ประกาศยุติการชุมนุมชั่วคราว และขอให้มวลชนเดินทางแยกย้ายกลับบ้าน โดยยังไม่ระบุชัดว่าจะมีการนัดหมายรวมตัวกันอีกครั้งเมื่อใด ขณะที่สื่อโทรทัศน์ได้ยุติการถ่ายทอดสด เนื่องจากเป็นช่วงเวลาเผยแพร่ข่าวในพระราชสำนัก

20.30 น. ภายหลังตำรวจเข้าควบคุมพื้นที่แยกปทุมวันแล้ว ทำให้ผู้ชุมนุมกระจัดกระจายไปในหลายเส้นทาง มวลชนจำนวนหนึ่งถอยไปทางแยกราชเทวี อีกส่วนหนึ่งพากันเข้าไปหลบในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทุกคนต่างตะโกนร้องหาน้ำเพื่อนำมาชำระล้างสารเคมีสีฟ้า ส่วนบริเวณหน้าสามย่านมิดทาวน์ มีรถจักรยานยนต์อาสาจัดส่งน้ำเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บที่อยู่ในมหาวิทยาลัย ทางด้านสโมสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ประกาศเปิดพื้นที่ safe zone ให้กับนิสิต หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินอื่นใด ให้เข้ามาหลบได้ที่ห้องสโมสรนิสิตฯ

21.00 น. ระหว่างที่มวลชนทยอยเดินทางแยกย้าย สถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง สายฝนโปรยลงมาไม่ขาดสาย พร้อมกับเสียงตะโกน “เผด็จการจงพินาศ ประชาราฎร์จงเจริญ” ที่ยังคงดังกึกก้องเป็นระยะ

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ศาลแขวงปทุมวัน ออกหมายจับแกนนำคณะราษฎร 2563 เพิ่มอีก 12 คน ในความผิดฐานเป็นบุคคลตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 ประกอบด้วย ประกอบด้วย

  1. น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ อายุ 22 ปี
  2. นายกรกช แสงเย็นพันธ์ อายุ 27 ปี
  3. น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล อายุ 25 ปี
  4. นายสิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ อายุ 20 ปี
  5. นายณัฐชนน พยัฆพันธ์ อายุ 29 ปี
  6. นายสมบัติ ทองย้อย อายุ 52 ปี
  7. นายวสันต์ กล่ำถาวร อายุ 48 ปี
  8. นายอรรถพล บัวพัฒน์ อายุ 30 ปี
  9. นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี อายุ 23 ปี
  10. นายณวรรษ เลี้ยงวัฒนา อายุ 26 ปี
  11. นายชินวิตร จันทร์กระจ่าง อายุ 28 ปี
  12. ภาณุพงศ์ จาดนอก อายุ 23 ปี

นอกจากนี้ สำนักข่าวประชาไทยังได้รายงานว่า มีผู้สื่อข่าวประชาไทถูกจับกุม ยึดกล้องและโทรศัพท์มือถือ ขณะถ่ายทอดสดเหตุการณ์กระชับพื้นที่ที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สนามกีฬาแห่งชาติ

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า