เรื่อง: พัชรา ไชยฤทธิ์
ภาพ: โครงการกิจกรรมเวทีวิจัยจุฬาฯเพื่อพัฒนาสังคม
ในประเทศไทยมีงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์จำนวนมากที่ถูกเก็บไว้บนหิ้ง ไม่ได้นำมาพัฒนาต่อ ทั้งที่เป็นงานเกี่ยวกับการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมุนษย์ ซึ่งพยายามวิจัยหาสาเหตุต้นตอของปัญหา หรือสภาพความเป็นอยู่ของสังคมเพื่อหาทางแก้ไข พัฒนาให้ทรัพยากรมนุษย์ที่อยู่ในสังคมกลายเป็นบุคคลที่มีคุณภาพ เมื่องานวิจัยหลายชิ้นไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ทำให้ปัญหาที่ควรแก้ไขทั้งในเชิงนโยบาย ไปจนถึงตัวบุคคลยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด
กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คลัสเตอร์พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเวทีวิจัยจุฬาฯพัฒนาสังคมขึ้นเป็นครั้งที่ 4 โดยเป็นการนำผลงานวิจัยมาบอกเล่าสู่สังคม เชื่อมโยงกับศาสตร์แห่งศิลปะการละคร สร้างสรรค์ละครเวทีเรื่อง วัยรุ่น ไวรัส วัยเลิฟ เล่าเรื่อง ‘วัยรุ่นกับเพศ’ ที่ค้นพบในงานวิจัยผ่านมุมมองของศิลปะการแสดง เป็นการสร้างพื้นที่ให้เรื่องเพศในวัยรุ่นเป็นเรื่องที่ควรทำความเข้าใจร่วมกัน ที่สำคัญ ทำให้เรื่องเพศเป็นเรื่องที่พูดกันได้
สำหรับเวทีวิจัยจุฬาฯพัฒนาสังคม มีการจัดมาแล้ว 3 ครั้ง ทุกครั้งจะใช้ศิลปะมาช่วยในการเล่าเรื่อง ทั้งดนตรี และศิลปะการแสดง ประเด็นที่ผ่านมาคือ กลุ่มผู้พิเศษ: ผู้ที่มีความแตกต่างทางร่างกายและผู้มีความแตกต่างทางสติปัญญา, คนกับเมือง (คนจนเมือง) และ ผู้สูงอายุกับการพัฒนาสังคม
+ เรื่องเพศ ‘พูดได้’
“ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อ HIV 2 ล้านกว่าคนต่อปี ซึ่ง 1 ใน 4 คือเด็กวัยรุ่น และการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 3 ของอาเซียนที่มีการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นสูงที่สุด” ศ.ดร.นพ.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานกล่าวเปิดงาน
ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องพื้นฐานก็จริง แต่เมื่อนำเสนอด้วยรูปแบบของงานวิจัยวิชาการ ก็อาจจะเข้าถึงคนวงกว้างได้ยาก การประยุกต์งานวิจัยมาสร้างเป็นละครเวที จึงถือเป็นก้าวสำคัญและน่าจะช่วยเผยแพร่ประเด็นได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
“เป็นอีกทางหนึ่งซึ่งจะสะท้อนให้รัฐบาลเห็นว่า นี่คือปัญหาที่เพิกเฉยไม่ได้ จำเป็นจะต้องดำเนินการอะไรบางอย่างเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา หากเป็นไปได้ก็สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาล” นพ.นรินทร์ กล่าว
วัยรุ่น ไวรัส วัยเลิฟ เป็นละครที่ทำเพื่อให้วัยรุ่นเรียนรู้เรื่องเอดส์ โดยดัดแปลงมาจากบทละครอเมริกันเรื่อง The Inner Circle ของ Patricia Loughrey ซึ่งเป็นละครในโครงการ Youth Aware Educational Theatre ของ The New Conservatory Theatre Center ที่ใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนเรื่องเพศสำหรับวัยรุ่นทั้งในสหรัฐ และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
“เราเพิ่งจะอายุ 17 ทำไมต้องมากินยายืดชีวิต เรายังไม่ทันได้มีชีวิตจริงๆ เลยด้วยซ้ำ”
วัยรุ่น ไวรัส วัยเลิฟ เป็นเรื่องราวของ ‘สา’ เด็กสาววัย 17 ปี ที่ติดเชื้อ HIV โดยนำประเด็นเรื่องความรัก ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมาเป็นตัวดำเนินเรื่อง เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าวัยรุ่นที่ติดเชื้อ HIV จะผ่านช่วงเวลานั้นมาได้อย่างไร ทั้งต้องเผชิญหน้ากับสังคม คนรอบข้าง รวมทั้งเพื่อนสนิท และครอบครัวที่เป็นคนสำคัญ
อีกแง่หนึ่งก็เสนอว่า เหตุใดเด็กวัยรุ่นจึงนำตัวเองไปติดเชื้อ HIV ได้ ประเด็นสำคัญของเวทีวิจัยครั้งนี้คือ การพยายามสื่อสารกับสังคมว่า การเรียนรู้และเข้าใจเรื่องเพศสำหรับวัยรุ่น ไม่ใช่เรื่องน่าอายหรือน่ารังเกียจ แต่เป็นเรื่องที่ควรรู้และเข้าใจ เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ไม่แน่นอนในชีวิต โดยเฉพาะวัยรุ่นหญิงที่นอกจากจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV แล้ว ยังมีโอกาสเป็น ‘แม่วัยใส’ ในช่วงที่ยังไม่พร้อมด้วย
+ ตระหนักรู้และเข้าใจ
จากความตั้งใจและโจทย์ที่ว่า จะทำอย่างไรให้วัยรุ่นเกิดการตระหนักรู้ถึงปัญหาในเรื่องเพศ โดยไม่ใช่การสั่งสอนจนเกินไป อาจารย์ดังกมล ณ ป้อมเพชร ผู้เขียนบทและกำกับละครเวทีในครั้งนี้ กล่าวถึงสาเหตุที่หยิบ The Inner Circle มาดัดแปลงว่า
“โครงการแม่วัยใส สุขภาวะทางเพศ หรือเรื่องการสอนเกี่ยวกับเรื่องโรคทางเพศสัมพันธ์ โรคเอดส์ ได้ตั้งคำถามมาว่าควรจะทำอย่างไรที่จะให้วัยรุ่นเกิดการตระหนักรู้และตั้งคำถาม จนในที่สุดก็มาลงตัวที่ละครเรื่องนี้
“สำหรับมนุษย์ผู้หญิงแล้ว ถ้าไม่ตระหนักรู้เรื่องนี้ ไปมีความสัมพันธ์กับผู้ที่ไม่ได้ใส่ถุงยางอนามัยนอกจากจะมีโอกาสเป็นเอดส์ได้แล้ว ก็อาจจะเป็นแม่วัยใสแทน”
ด้าน มยุรี วงศ์ทองคำ อาจารย์ชำนาญการพิเศษ ที่ปรึกษาชมรมการละครโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนที่นำกิจกรรมละครมาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอน ให้ความเห็นว่า
“พอได้ดูละครแล้วมีความรู้สึกว่า ละครบอกทุกอย่างละเอียดชัดเจน เด็กๆ ที่ได้ดูก็คงจะเข้าใจ ขณะเดียวกันกิจกรรมโรงเรียนก็มีส่วนที่จะให้เด็กเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ โดยการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตร ให้เด็กได้ทราบถึงเพศศึกษาทุกห้อง
มยุรีมองว่าการใช้ละครในโรงเรียนมีส่วนสำคัญมาก การให้เด็กเข้ามาทำกิจกรรม ได้ลองสร้างสถานการณ์ จะทำให้พวกเขาตระหนัก และเข้าใจได้ด้วยตัวเอง แล้วแต่ว่าโจทย์ต้องการให้เด็กเรียนรู้ในเรื่องอะไร
“คิดว่าจะทำให้เด็กเกิดความตระหนักยิ่งขึ้น ตรงนี้เป็นการทำให้กลัวว่า การที่เราติดเชื้อเอชไอวีเป็นอย่างไร มีวิธีป้องกันอย่างไร และให้เด็กได้คิดว่าอย่าตามใจตัวเองเกินไป ตั้งแต่วัฒนธรรม สังคม การวางตัว แต่หากเป็นการสอนผ่านพาวเวอร์พอยท์ เด็กก็คงไม่สนใจ”
ประเด็นสำคัญสำหรับละครเวทีในครั้งนี้ คือ ช่วยสร้างความตระหนักรู้ในกลุ่มวัยรุ่น นอกจากนั้น การเรียนการสอนในชั้นเรียนควรมีกิจกรรมที่จะสามารถทำให้เด็กเข้าใจ ไม่ใช่เพียงสอนตามหนังสือ หรือสอนให้มองเรื่องความรู้สึก อารมณ์เพศเป็นเรื่องต้องห้าม การที่เด็กวัยรุ่นมีความสัมพันธ์ทางเพศ สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาก็คือการเป็น ‘แม่วัยใส’ หรือ ‘ติดเชื้อไวรัส HIV’
จากงานวิจัยในโครงการแม่วัยใส พบว่าปัจจัยที่ทำให้เด็กเป็นแม่วัยใส เกิดจาก
- วัยรุ่นขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันตนเอง หรือได้รับความรู้มาผิดๆ เช่น มองว่าการทานยาคุมกำเนิดจะทำให้อ้วน สิวขึ้น
- ไม่มีถุงยางอนามัย วัยรุ่นทุกคนรู้ว่าต้องใช้ถุงยางอนามัย แต่พอถึงตอนนั้นเด็กไม่มี หรือ ถุงยางอนามัยที่แจกโดยกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้มาตรฐาน เด็กจึงไม่ป้องกัน
- ปัจจัยทางครอบครัว งานวิจัยพบว่า เด็กที่เป็นคุณแม่วัยใสส่วนใหญ่พ่อแม่จะไม่มีเวลาดูแล ขาดการดูแลเอาใจใส่
+ ได้เวลารื้อหลักสูตร ‘เพศศึกษา’
สำหรับปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ที่ขาดการป้องกันแล้วท้องไม่พร้อม สังคมมักจะพุ่งเป้าไปที่โอกาสการอยู่ตามลำพังของเด็กๆ และมองว่าสื่อเป็นตัวการสำคัญที่ช่วยเผยแพร่เรื่องนี้ รศ.ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ นักวิจัยในโครงการวิจัย ‘แม่วัยใส’ เสนอว่า
“สิ่งที่ควรทำไม่ใช่การปฏิรูปสื่อ แต่เป็นควบคุมที่ตัวเด็กและครอบครัว เด็กจะต้องไม่อยู่ด้วยกันตามลำพัง และไม่แต่งตัวโป๊ อีกประการหนึ่งคือ การสอนเพศศึกษาในโรงเรียน ควรมีการปรับปรุงหลักสูตร สิ่งที่โรงเรียนทั่วประเทศสอนคือการป้องกัน แต่ป้องกันอย่างไร เมื่อเราไม่ได้มีตัวอย่างให้เด็กดู ถ้ามีละครแบบเดียวกับ ‘วัยรุ่น ไวรัส วัยเลิฟ’ ในรั้วโรงเรียนก็ถือว่าเป็นการสื่อสารที่ดี แต่การเรียนการสอนในไทยยังทำไม่ได้”
ปัญหาของการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ ก็คือ สิ่งที่พวกเขาได้รับเป็นเพียงความรู้ด้านเดียว รศ.ดร.อรัญญา ตุ้ยคำภีร์ จากโครงการสุขภาวะทางเพศของวัยรุ่น อาจารย์คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่า
“การเรียนรู้ที่เด็กได้ไม่ใช่การเรียนรู้ที่ได้ทดลอง ขาดความเข้าใจ มีเด็กจำนวนน้อยมากที่จะได้เห็นจริงๆ แล้วได้นึกถึงว่าถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นแล้วจะเกิดอะไรขึ้น
“จำเป็นอย่างยิ่งที่ควรจะมีสื่อการเรียนการสอนแบบใหม่ มีกิจกรรม เช่น ละครเวที เพราะมันจะซึมเข้าไปในตัวเด็ก มันไม่ใช่แค่ว่าเรารู้อะไรแต่มันจะสะท้อน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับทุกมิติของชีวิตเด็ก ไม่ว่าจะเป็นมิตรภาพระหว่างเพื่อน ความสุขที่ได้อยู่กับเพื่อน หรือกิจกรรมต่างๆ สิ่งนี้จะทำให้องค์ความรู้ซึมเข้าไปในตัวเด็ก” อรัญญา กล่าว
การมีตัวอย่างให้เด็กได้เห็น ได้เรียนรู้ จะเป็นการทำให้เด็กเข้าใจข้อดีข้อเสียของเพศภาวะด้วยตัวเอง รวมทั้งจะเป็นการทำให้เกิดการตระหนักรู้ในเรื่องเพศมากกว่าการสอนตามตำราที่มีกรอบจากสังคม วัฒนธรรมมากำหนด แต่ปัจจุบันในไทยยังไม่มีการเรียนการสอนเช่นนั้น เพราะยังไม่มีนโยบาย หรือหนทางแก้ไขที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้แม่วัยใสมีตัวเลขที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ผกผันกับอัตราการเกิด อีกทั้งยังมีเด็กที่ติดเชื้อไวรัส HIV สูงขึ้น
สิ่งที่ควรจะให้ความสนใจในตอนนี้คือ ทำอย่างไรให้เด็กที่เป็นแม่วัยใส หรือติดเชื้อไวรัส HIV สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ในสังคมต่อไป
+ แรงใจเป็นสิ่งสำคัญ
ปัญหาแม่วัยใส หรือเด็กติดเชื้อไวรัส HIV ที่ทำให้เด็กเสียศูนย์ มาจากการที่สังคมมองด้วยความไม่เข้าใจ หลายๆ ครั้งผู้ที่ติดเชื้อกลายเป็นคนน่ารังเกียจในสังคม ซึ่งเป็นการไปซ้ำเติมความอับอาย ทำให้เกิดความกลัวและรู้สึกถูกทอดทิ้ง
เมื่อเด็กเสียศูนย์แล้วไม่มีคนเคียงข้างหรือเข้าใจ อารมณ์ด้านลบก็จะเกิด เกิดเป็นความเศร้า และเกิดปัจจัยทางจิตวิทยา ทำให้เด็กแสดงออกด้านลบตลอดเวลา ปัญหานี้ส่งผลในระยะยาว ไม่ใช่เรื่องที่จบภายในวันเดียว แต่อย่างไรก็ตาม อารมณ์ด้านลบสามารถแปรผกผันกับการที่มีคนเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือครอบครัว เช่นเดียวกับผลวิจัยจากโครงการแม่วัยใส
“เมื่อเด็กเลยเถิดไปถึงขั้นมีเพศสัมพันธ์ และมีการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นโรคทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ หรือ HIV ถ้าเด็กไม่มีเพื่อนที่ดี ไม่มีครอบครัวที่ดี ไม่มีคุณครูที่ดี วงจรอย่างนี้มันจะสลับไปสลับมา แล้วใช้เวลายาวนาน และสุดท้ายลงเอยด้วยการทำร้ายตัวเอง กลายเป็นคนสิ้นหวัง” รศ.ดร.อรัญญา กล่าว
รศ.ดร.ปังปอนด์ เสริมว่า “เมื่อวัยรุ่นกลายเป็นแม่วัยใส สุขภาพทางจิตใจจะเป็นด้านลบ ซึ่งจะส่งผลลบต่อตัวทารกในครรภ์ด้วย ในระยะ 4-5 เดือนแรก วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์จะหลบๆ ซ่อนๆ ฉะนั้น ก่อนหน้านั้นจะไม่มีการดูแลทารกในครรภ์ เด็กก็จะไม่มีสุขภาพที่ดี และส่งผลต่อเนื่องไปถึงคุณภาพประชากร” พร้อมทั้งกล่าวว่า
“ปัญหาที่สำคัญที่สุดในประเทศไทยคือกลัวเสียชื่อเสียง ถูกคนนินทา อีกปัญหาหนึ่งคือ ด้านสุขภาพจิต ผู้สูงอายุจะมองว่าลูกหลานที่ตั้งครรภ์ทิ้งภาระไว้ มุมมองจะค่อนข้างต่างกัน และทุกกลุ่มมองว่าเป็นภาระสังคม ภาระทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะครอบครัวที่ต้องมีคนออกจากงานมาเลี้ยงดูเด็กที่เป็นแม่วัยใส”
รศ.ดร.อรัญญา กล่าวว่ามีงานวิจัยด้านจิตวิทยาไม่น้อยพบว่า คนที่ตกอยู่ในช่วงวิกฤติ จะดีขึ้นได้ถ้าได้รับแรงใจและแรงสนับสนุน
“ถ้ามีคนหนึ่งคน รับรู้ว่าเขามีชีวิตเพื่อใคร และรู้ว่าครอบครัวมีค่า ครอบครัวสำคัญ เพื่อนมีค่า เพื่อนสำคัญ สุดท้ายจะมีทางออก และจะเติบโตได้ในที่สุด”
ดิเรก ตาเตียว มูลนิธิ path2health องค์กรอิสระด้านการส่งเสริมสุขภาพ กล่าวถึงค่านิยมทางสังคมที่ถูกบิดเบือนและสภาพปัญหาในประเทศไทยว่า
“สังคมเราเป็นสังคมดัดจริต เราบอกว่าถุงยางป้องกันโรคเอดส์ ป้องกันท้อง แต่ถ้าผู้หญิงพกถุงยาง สังคมจะตีตราว่า ผู้หญิงคนนั้นสำส่อน ไม่ควรที่จะพกถุงยาง และเมื่อไปมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกันจนติดโรค หรือว่าตั้งครรภ์ ก็จะถูกมองว่า ไม่ป้องกันตัว และเราชอบโทษสื่อว่าเป็นตัวการทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ แต่เมื่อมีสื่อดีๆ เช่น ซีรีย์ฮอร์โมน เรากลับบอกว่าไม่ควรฉาย”
เมื่อเรามีข้อมูลว่าการเรียนการสอนเพศศึกษาในแบบเดิมๆ ไม่เห็นผลและไม่ยั่งยืน แนวทางการแก้ไขให้เกิดความยั่งยืน ให้เด็กได้เกิดการตระหนักรู้ ควรต้องมองในระบบใหญ่ และต้องเริ่มจากรากฐาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุขควรร่วมมือกันแก้ไขปัญหา แต่ไม่เท่านั้น ทุกฝ่าย ทุกภาคส่วนจะต้องให้ความร่วมมือด้วยความเข้าใจและไม่ปิดกั้น