ที่นี่ เรากำลังสร้างบ้านหลังใหม่ที่มีหลังคาสีแดง มีปล่องควันให้นกกระสามาสร้างรัง และมีประตูใหญ่หลายบานเพื่อต้อนรับแขกอันเป็นที่รัก เราขอบคุณแผ่นดินที่เป็นแหล่งอาหาร ขอบคุณแสงอาทิตย์สำหรับความอบอุ่น และท้องทุ่งที่คอยย้ำเตือนเราถึงผืนหญ้าสีเขียวที่บ้าน แม้จะเจ็บปวด โศกเศร้า และรื่นรมย์ เราก็จะจดจำประเทศของเรา เพราะเราจะบอกเล่าเรื่องราวของบ้านเรา โดยขึ้นต้นไม่ต่างกับเทพนิยาย
…กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีประเทศหนึ่งได้กำเนิดขึ้นมา…
เด็กหนุ่มผู้ดูแลสวนสัตว์ในเมืองเบลเกรด ตัวแสดงจากหนังเรื่อง The Underground ที่สร้างในปี 1995 หันมาพูดกับคนดูในตอนจบของหนังที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์ของประเทศที่เคยยิ่งใหญ่อย่างสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย ผ่านความสัมพันธ์ของสองหนุ่มเชื้อสายเซิร์บที่เป็นเพื่อนกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนที่ฝ่ายหนึ่งจะทรยศหักหลังอีกฝ่าย และหาประโยชน์จากสงครามภายใต้อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ที่แผ่ขยายเข้ามาในภูมิภาคโดยอิทธิพลของสหภาพโซเวียต
หนัง The Underground สร้างโดย อิเมียร์ คุสตูริกา (Emir Kusturica) ผู้กำกับเชื้อสายเซิร์บเกิดในบอสเนียฯ ได้รับรางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในปี 1995 เลือกที่จะเล่าสถานการณ์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากฝ่ายอักษะเข้ายึดเบลเกรดเมืองหลวงของยูโกสลาเวียในปี 1941 จากนั้นในปี 1944 สหภาพโซเวียตส่งทหารเข้ามาปลดปล่อยเบลเกรด และเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาคบอลข่านและยุโรปตะวันออก จนกระทั่งถึงช่วงก่อนสงครามยูโกสลาเวียเริ่มต้นในปลายทศวรรษที่ 1980 ถึงต้นทศวรรษ 1990
ยูโกสลาเวีย
ยูโกสลาเวียเริ่มเป็นประเทศรัฐชาติอย่างเป็นทางการในปี 1918 ซึ่งขณะนั้นประกอบไปด้วยอาณาจักรของคนกลุ่มเซิร์บ โครแอท และสโลวีน (Slovene) หรือกลุ่มคนที่พูดภาษาและวัฒนธรรมสลาวิคใต้ (South Slavic) รวมถึงเชื้อชาติอื่นๆ ที่อาศัยกระจัดกระจายอยู่ทั่วทั้งภูมิภาค ในปี 1921 มีประชากร ประมาณ 12 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นชาวเซิร์บ 6 ล้านคน เป็นโครแอท 3 ล้านคน คนสโลวีน 1 ล้านคน และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ อีก 2 ล้านคน โดยมีศาสนาและภาษาที่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดกับเชื้อชาติ ขณะเดียวกันก็สร้างความสับสนได้พอสมควร เช่น คนเซิร์บที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเซอร์เบียและมอนเตเนโกร ถือเป็นกลุ่มคนพูดภาษาเซอร์เบียน แต่คนเซิร์บกลุ่มกลับเป็นชนกลุ่มน้อยประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในโครเอเชีย
ในบอสเนียฯ คนที่พูดเซอร์เบียนมีจำนวนมากกว่าคนที่พูดภาษาโครเอเชียน ขณะที่คนโครแอทเป็นชนกลุ่มน้อยในบริเวณโวจโวดินา (Vojvodina) ดินแดนแถบตอนเหนือของเซอร์เบียที่มีคนเชื้อสายฮังการีอาศัยอยู่ ในมาซิโดเนียมีกลุ่มคนเซิร์บกระจุกตัวอยู่ในตอนใต้ของประเทศ นอกจากนี้ยังมีมุสลิมที่อาศัยอยู่ในบอสเนียฯ หรือบอสนิแอก ซึ่งเป็นทายาทของชาวสลาฟที่หันไปนับถือศาสนาอิสลามสมัยการปกครองของจักรวรรดิออตโตมันของชาวเติร์ก ซึ่งมุสลิมอาจแบ่งแยกได้ตามเชื้อชาติและภาษาที่พูดอีก เช่น เป็นมุสลิมที่พูดภาษาเซอร์เบียนหรือมุสลิมที่พูดโครเอเชียน
การนับถือศาสนายังสัมพันธ์กับภาษาที่พูด ชาวเซิร์บที่พูดภาษาเซอร์เบียนและใช้ภาษาเขียนซิริลลิค (Cyrillic) ถือคริสต์นิกายออธอดอกซ์ ส่วนคนโครแอทที่พูดภาษาโครเอเชียน ที่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้แตกต่างกับภาษาเซอร์เบียนมากนัก แต่ใช้ตัวอักษรที่มีรากจากภาษาละติน นับถือคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก เช่นเดียวกับชาวสโลวีนที่เป็นคาทอลิก แต่พูดภาษาในกลุ่มสลาวิค (Slavic) คนโดยทั่วไปจึงมักนิยามอัตลักษณ์ของตนเองผ่านภาษาที่เชื่อมโยงกับศาสนา ต่างจากคนมุสลิมในบอสเนียฯ ที่มีเชื้อสายเซิร์บหรือโครแอทด้วยส่วนหนึ่งจากการอพยพมาตั้งรกรากตั้งแต่ในศตวรรษที่ 6 -7 แต่เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามเมื่อจักรวรรดิออตโตมันเข้ามาปกครองบอลข่าน หรือคนมอนเตเนกริน (Montenegrin) ที่พูดภาษาโครแอทแต่ถือคริสต์นิกายออธอดอกซ์
ขอยกตัวอย่างเพียงเท่านี้ก่อนที่จะสับสนไปมากกว่านี้
ความเกี่ยวพันซับซ้อนในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนาและภาษานี่เอง ที่ทำให้ทุกวันนี้คนที่อาศัยอยู่ในอดีตประเทศยูโกสลาเวียยังคิดสะระตะไม่ได้ว่าสงครามล้างเผ่าพันธุ์มันเกิดขึ้นจากอะไรกันแน่ที่ถูกโยงใยเป็นหุ่นชักภายใต้อุดมการณ์ทางการเมืองแบบชาตินิยมสุดโต่ง เอาเป็นว่าฉันขออธิบายบริบทของแต่ละประเทศในปัจจุบันตามตารางข้างล่างเพื่อให้เกิดความเข้าใจง่ายขึ้น
ประเทศ |
เชื้อชาติหรือชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ |
ศาสนาที่คนนับถือมากที่สุด |
ภาษาในการสื่อสาร |
ภาษาเขียน |
บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา |
บอสนิแอก | อิสลาม | บอสเนียน | ละติน |
โครเอเชีย | โครแอท |
โรมันคาทอลิก |
โครเอเชียน | ละติน |
มอนเตเนโกร | มอนเตเนกริน | คริสต์ออธอดอกซ์ | มอนเตเนกริน และ เซอร์เบียน | ซิริลลิค |
เซอร์เบีย | เซิร์บ | คริสต์ออธอดอกซ์ | เซอร์เบียน | ซิริลลิค และ เซอร์เบียนละติน |
มาซิโดเนีย | มาซิโดเนียน | คริสต์ออธอดอกซ์ | มาซิโดเนียน | ละติน |
สโลวีเนีย | สโลวีเนียน | โรมันคาทอลิก | สโลวีเนียน | ละติน |
โคโซโว | โคโซวาร์ หรือ มุสลิมเชื้อสายอัลแบเนียน | อิสลาม | อัลแบเนียน และเซอร์เบียน | ละติน |
อัลแบเนีย | อัลแบเนียน | อิสลาม | อัลแบเนียน | ละติน |
อีกปัจจัยที่สร้างความแตกแยกระหว่างกลุ่มเชื้อชาติคือ สภาพสังคมเศรษฐกิจที่คนแต่ละกลุ่มและประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำกันอย่างเห็นได้ชัด เช่น กลุ่มสลาฟในสโลวีเนีย โครเอเชีย โวจโวดินา และคนในแถบตะวันตกของคาบสมุทรบอลข่านเป็นคริสต์นิกายคาทอลิก และเคยอยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิฮับสบวร์กหรือออสโตร-ฮังกาเรียน ทำให้ได้รับอิทธิพลและเทคโนโลยีแบบยุโรปตะวันตกจากภาคพื้นทวีปตอนบน ต่างจากกลุ่มสลาฟที่เป็นคริสต์ออธอดอกซ์ที่การพัฒนาล้าหลังกว่า เนื่องจากได้รับอิทธิพลของจักรวรรดิออตโตมันเข้มข้นกว่า แม้ว่าชาวเซิร์บอาจไม่เห็นด้วยกับคำอธิบายนี้ เพราะพวกเขาภูมิใจกับรากที่มีบรรพบุรุษเป็นเกษตรกร และอาจไม่ได้มีการศึกษาสูงเท่ากับสลาฟที่อยู่ฝั่งตะวันตก
กลุ่มที่ถือว่าล้าหลังที่สุดคือคนที่อาศัยอยู่ในบอสเนียฯ และโคโซโวเชื้อสายอัลแบเนียน (Albanian) เพราะกระจุกตัวอยู่ตามแนวภูเขาสูง ซึ่งทั้งสองกลุ่มพูดภาษาต่างกัน แต่บางส่วนเป็นมุสลิมเหมือนกัน สภาพภูมิศาสตร์เศรษฐกิจที่ต่างกันส่งผลต่อการเจริญเติบโตของประเทศที่ไม่เท่าเทียมกันมาจนถึงทุกวันนี้
ยูโกสลาเวียของติโต
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จากปี 1945 ถึงปี 1980 ยูโกสลาเวียเติบโตเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่เมื่อ จอมพลติโต (Josip Broz Tito) ขึ้นมาบริหารประเทศโดยรวบรวมรัฐอิสระเข้าด้วยกันภายใต้ระบบสังคมนิยมแบบยูโกสลาเวีย ในขณะนั้น ยูโกสลาเวียซึ่งตั้งอยู่บนคาบสมุทรเคยมีผู้คนที่ประกอบไปด้วยหลากหลายเชื้อชาติอาศัยร่วมกันกว่า 23 ล้านคนภายใต้การนำของติโต
ติโตมีเชื้อสายโครแอทและสโลวีน เกิดในปี 1892 เป็นผู้นำที่มีพื้นฐานเป็นแรงงานมาก่อน เคยเข้าร่วมกับกองทัพออสเตรีย-ฮังการี ก่อนแปรพักตร์ไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ในโซเวียตและถูกจับโดยกองทัพออสเตรีย-ฮังการี เขาถูกปล่อยออกมาในปี 1920 และกลับมายูโกสลาเวีย ช่วงนี้เขาเริ่มสนใจแนวคิดสังคมนิยมจากการเป็นแรงงานไร้ฝืมือจนได้ก้าวขึ้นเป็นเลขานุการของสหภาพแรงงานโลหะของโครเอเชีย (The Metal Workers’ Union of Croatia) ในปี 1927 ระหว่างนั้นติโตถูกจับเพราะทำงานร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวีย
ติโตได้รับการช่วยเหลือให้ออกจากคุกในปี 1934 จากนั้นเขาเข้าร่วมกับองค์กรคอมมิวนิสต์นานาชาติ (International Communist) ก่อตั้งโดย วลาดิเมียร์ เลนิน (Vladimir Lenin) ผู้นำของโซเวียตในปี 1919 ที่มอสโคว์ จากนั้นไม่นาน ติโตสามารถรวบรวมกลุ่มย่อยต่างๆ และก้าวขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ในยูโกสลาเวีย
ในปี 1941 เขาออกมาก่อตั้งพรรคการเมืองเองโดยรวบรวมสมาชิกได้ถึง 8,000 คน ช่วงนี้พรรคนาซีของเยอรมนีและกองกำลังฝ่ายอักษะในส่วนของอิตาลีได้เข้ายึดบางพื้นที่ของยูโกสลาเวีย ขณะที่อีกฝ่ายคือกองทัพฮังการีและบัลแกเรียก็ดำเนินการในรูปแบบเดียวกันเพื่อคานอำนาจนาซี ระหว่างนั้นกลุ่มกำลังกองโจร (militant) ในนามพาร์ทิซันส์ (Partizans) ก่อตัวขึ้นโดยการนำส่วนหนึ่งของติโตเพื่อต่อต้านกองกำลังทหารทั้งสองฝ่าย และท้ายที่สุดติโตก็เป็นฝ่ายชนะ
จอมพลติโตเริ่มก่อร่างสร้างประเทศในฐานะผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวีย และสร้างรูปแบบเฉพาะที่ไม่เหมือนกับสหภาพโซเวียต แม้ว่าช่วงต้นเขาจะได้รับอิทธิพลของ โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) ผู้นำของรัสเซีย ที่แผ่ขยายลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก แต่ยูโกสลาเวียพยายามไม่เป็นหุ่นเชิดของโซเวียตเหมือนประเทศยุโรปตะวันออกอื่นๆ และมีจุดยืนในการไม่เข้าข้างฝ่ายใด (non-alignment) ในช่วงสงครามเย็นระหว่างโซเวียตและสหรัฐ
ในทางการทหาร กองกำลังทหารแดง (Red Army) ของโซเวียตได้เคลื่อนทัพเข้ายึดเบลเกรดตั้งแต่ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อต่อสู้กับฝ่ายอักษะของเยอรมนีและอิตาลี แต่โซเวียตก็สร้างนโยบายเลือกปฏิบัติกับกลุ่มคนสลาฟซึ่งเป็นพวกเดียวกันมากกว่าเชื้อชาติอื่น
ความไม่ไว้วางใจของทั้งยูโกสลาเวียและโซเวียตเริ่มก่อตัวขึ้น เมื่อต่างฝ่ายจับได้ว่าอีกฝ่ายพยายามเข้ามาหาข้อมูลเชิงสายลับของอีกฝ่าย สตาลินผู้นำโซเวียตในขณะนั้นไม่อยากแตกหักกับยูโกสลาเวีย เพราะเห็นความสำคัญของภูมิภาคบอลข่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือทางการค้า ทั้งสองฝ่ายพยายามรักษาความสัมพันธ์แต่ก็ไปไม่รอด โซเวียตเริ่มปิดช่องทางการส่งออกสินค้าของยูโกสลาเวียผ่านประเทศในฝั่งยุโรปตะวันออก ทำให้การส่งออกของยูโกสลาเวียเริ่มตกต่ำถึงขีดสุด ในที่สุด ทั้งสองฝ่ายแตกหักอย่างเป็นทางการในปี 1948 ทำให้ประเทศฝั่งตะวันตกอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสต้องยื่นมือเข้ามาช่วย
ขณะเดียวกัน สหรัฐ ในฐานะมหาอำนาจฝั่งเสรีประชาธิปไตย ต้องการคานอำนาจกับโซเซียต ใช้โอกาสนี้ส่งความช่วยเหลือมายังยูโกสลาเวียทั้งด้านเศรษฐกิจและการทหาร ทำให้ผู้นำยูโกสลาเวียต้องผ่อนปรนนโยบายต่อต้านอำนาจตะวันตกเพื่อความอยู่รอด ผสานกับนโยบายพึ่งตนเองตามแนวทาง ‘การจัดการด้วยตนเอง’ (self-management) ที่ติโตริเริ่ม ซึ่งต่างจากแนวคิดคอมมิวนิสต์ของสตาลินที่มีลักษณะรวมศูนย์และให้ความสำคัญกับผู้นำในระดับสูงมากกว่า ที่สำคัญ ติโตใช้แนวทางนี้ในการสร้างความเป็นปึกแผ่นและพยายามลดการครอบงำของชาวเซิร์บลงด้วย
ความช่วยเหลือของสหรัฐที่มีต่อยูโกสลาเวียเริ่มลดลงเมื่อสงครามเย็นเริ่มก่อตัวขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1950 และประเทศในโลกถูกแบ่งตามอุดมการณ์ทางการเมืองที่โซเวียตและสหรัฐถืออยู่คนละขั้ว
ช่วงทศวรรษ 1960 ยูโกสลาเวียแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากการยุติการค้ากับโซเวียตด้วยการส่งออกแรงงานไปยังยุโรปตะวันตก โดยเฉพาะเยอรมนีตะวันตกในการก่อร่างสร้างประเทศหลังสงคราม ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวเพื่อดึงรายได้เข้าประเทศ ชาวสโลวีนและโครแอทจำนวนมากถูกส่งออกไปเป็นแรงงานต่างประเทศ และภูมิภาคที่ได้รับการส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวคือชายฝั่งทะเลแถบดัลเมเทีย (Dalmatia) ประเทศโครเอเชียในปัจจุบัน ทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นจุดแข็งการพัฒนาของยูโกสลาเวีย แต่ยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มคนที่ต่างเชื้อชาติและต่างภูมิภาคให้ถ่างยิ่งขึ้น
สภาวะเศรษฐกิจกลับมาสะดุดอีกครั้งในทศวรรษ 1970 จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก เยอรมนีเริ่มส่งคนงานต่างประเทศ 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมดกลับประเทศต้นทาง ทำให้เศรษฐกิจภายในยูโกสลาเวียที่เคยรุ่งเรืองจากเงินสกุลดอยช์ มาร์ค (Deutsch Mark) ของเยอรมนี จากแรงงานต่างประเทศที่ไปทำงานที่นั่นลดลงไปด้วย และเพิ่มอัตราว่างงานในยูโกสลาเวียตามมา
ติโต ในฐานะผู้คุมบังเหียนของประเทศ ต้องใช้ยุทธศาสตร์คล้ายกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคยุโรปตะวันออกและลาตินอเมริกาที่ประสบปัญหาเดียวกัน คือกู้ยืมเงินต่างประเทศเพื่อมาโปะสร้างรายได้ของประเทศที่หายไป จนกลายเป็นมีหนี้สาธารณะมหาศาล จาก 2.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 1971 เป็น 21 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 1981 ขณะเดียวกัน สหรัฐและธนาคารโลกที่ให้กู้ยืมก็พยายามกดดันให้ประเทศเหล่านี้ใช้หนี้ แนวทางของยูโกสลาเวียในการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นคือพยายามลดค่าเงินเพื่อสร้างรายได้จากการส่งออก ตัดทอนค่าใช้จ่ายภาครัฐในการสนับสนุนกิจการสาธารณะและสวัสดิการในด้านอาหาร ขนส่งสาธารณะ และพลังงาน ขณะเดียวกัน รัฐเพิ่มรายได้เข้าภาครัฐด้วยการขึ้นภาษีเพื่อนำมาใช้หนี้ แนวทางแก้ไขปัญหายิ่งทำให้เศรษฐกิจตกต่ำลงไปอีกจากการขาดแคลนสินค้านำเข้าอย่างพลังงาน การถอนการลงทุน และอัตราการว่างงานที่พุ่งสูงขึ้น
ยูโกสลาเวียของมิโลเชวิช
ยูโกสลาเวียเป็นประเทศที่เติบโตด้วยแนวทางของตัวเอง แต่ในทางเศรษฐกิจก็ตกต่ำภายใต้การบริหารของติโต จนเขาถึงแก่อสัญกรรมในปี 1980 รวมเป็นเวลา 35 ปีที่เขาบริหารประเทศอดีตยูโกสลาเวีย ก่อนที่ผู้นำคนใหม่คือ สโลโบดัน มิโลเชวิช (Slobodan Milošević) ผู้มีเชื้อสายมอนเตเนกริน (Montenegrin) ก้าวขึ้นเป็นผู้นำ และพาประเทศเข้าสู่อุดมการณ์ชาตินิยมเชิงชาติพันธุ์ (ethno-nationalism) แบบสุดโต่ง เขาสร้างความชอบธรรมและอำนาจให้กับกลุ่มคนเชื้อสายเซิร์บ ร่วมกับองค์กรการเมืองอย่างสันนิบาตคอมมิวนิสต์เซอร์เบีย (Serbia League of Communists) นำมาซึ่งการแบ่งแยกทางชาติพันธุ์ที่อยู่บนความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ขบวนการแยกตัวเป็นรัฐอิสระเริ่มเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ขณะที่อุดมการณ์ชาตินิยมขยายตัวอย่างเข้มข้น และพัฒนาเป็นความขัดแย้งรุนแรงและสงครามกลางเมือง ทำให้ต้องมีการเจรจาสันติภาพ ในที่สุดหกรัฐที่ประกอบเป็นยูโกสลาเวียก็กลายเป็นประเทศอิสระในเวลาต่อมา
ลำดับเหตการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนฉากสุดท้ายของหนังเรื่อง The Underground ที่จบลงด้วยตัวแสดงทั้งหมดมาฉลองร่วมกันอย่างสนุกสนานบนทุ่งกลางแจ้ง ให้ภาพความอบอุ่นของเวลากลางวันจากแสงอาทิตย์ ตัวละครกินดื่มและเต้นรำอย่างสนุกสุดเหวี่ยง ความรื่นเริงยังคงดำเนินต่อไป แล้วเจ้าหนุ่มดูแลสวนสัตว์คนเดิมก็หันมาพูดกับคนดู
…กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีประเทศหนึ่งถือกำเนิดขึ้นมา…
ขณะที่แผ่นดินที่พวกเขากำลังร้องเล่นเต้นรำกันอย่างรื่นเริงค่อยๆ แยกตัวอย่างช้าๆ ออกจากผืนแผ่นดินใหญ่