เรื่อง: ไขแสง นรปติ
ทุกวันนี้ โจทย์ปัญหาใหม่ๆ เกิดขึ้นบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศตลอดเวลา อาทิ โรคระบาด สภาวะอากาศแปรปรวน การก่อการร้าย การอพยพของผู้คนที่หนีภัยสงคราม การกลายพันธุ์ของพืชและสัตว์ ฯลฯ ขณะเดียวกัน ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี สื่อใหม่ๆ เช่น ละคร ภาพยนตร์ เกม ฯลฯ ก็กลายเป็นสายพานสื่อสารปัญหาสำคัญต่างๆ มากขึ้นเช่นกัน โดยมีบทบาทตั้งแต่ชีวิตประจำวันไปจนถึงในการเรียนการสอนของการเมืองระหว่างประเทศซึ่งเกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบาย การดำเนินยุทธศาสตร์ทั้งขัดแย้งและร่วมมือ
หนึ่งในปัญหาที่ถูกหยิบขึ้นมาพิจารณาในปัจจุบันคือ ‘ปัญหาซอมบี้’ ซึ่งสะท้อนจินตนาการต่อความหวาดกลัวของมนุษยชาติ ที่ปรากฏในสื่อภาพยนตร์หรือโทรทัศน์ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา
วันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดเสวนาในหัวข้อ ‘จากซอมบี้ถึง Walking Dead: ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความมั่นคง และความ (ไม่) ตาย’ และได้มีการแนะนำหนังสือ ทฤษฎีการเมืองระหว่างประเทศและซอมบี้ (ฉบับคืนชีพ) เขียนโดย แดเนียล ดับเบิลยู เดรซเนอร์ (Daniel W. Drezner)
ในการนี้ ‘ซอมบี้’ นอกจากจะเป็นตัวละครอันน่าหวาดผวาในภาพยนตร์หลายเรื่องแล้ว ยังมีบทบาทของผู้แนะนำทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย หนังสือเล่มนี้เป็นการแนะนำวิธีและจุดยืนทางวิชาการต่อการจัดการปัญหาซอมบี้ หากเกิดสภาวะนั้นขึ้นมาบนโลก ผ่านมุมมองสำนักคิดต่างๆ อาทิ แนวคิดสัจนิยม เสรีนิยม อนุรักษนิยมใหม่ เป็นต้น ซึ่งแต่ละสำนักมีวิธีการรับมือที่แตกต่างกันไป โดยมีฉากหลังของเรื่องเป็นซอมบี้หลากหลายชนิด
อ่านซอมบี้สามรูปแบบ
ธรรมชาติ กรีอักษร นิสิตปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้แปลหนังสือ เริ่มต้นการเสวนาว่า แม้ส่วนตัวไม่เคยดูหนังซอมบี้มาก่อน แต่เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วรู้สึกชอบ สนุก จึงลงมือแปล
แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งของธรรมชาติคือ ต้องการลดซอมบี้ในโลกของความเป็นจริง ซึ่งเดรซเนอร์ ผู้เขียน บอกไว้ในหนังสือว่า
“นักเรียนสมัยนี้นับวันจะเหมือนกับซอมบี้ขึ้นทุกที เพราะซอมบี้ไม่รู้สึกว่าจำเป็นจะต้องอาบน้ำ โกนหนวด เปลี่ยนเสื้อผ้า และไม่ตัดสินกันและกันด้วยรูปลักษณ์ภายนอก ซอมบี้ไม่ดูถูกใครเพราะเชื้อชาติ สีผิว ศรัทธา ชาติพันธุ์ เพศภาพ และออกไปสังสรรค์กันเป็นกลุ่ม คือสภาพแบบนี้มันคล้ายซอมบี้มากขึ้นทุกที และลักษณะสำคัญที่นักเรียน นักศึกษาในปัจจุบันเหมือนซอมบี้นั่นคือ อดนอน”
ธรรมชาติเห็นว่าหนังสือเล่มนี้สามารถอ่านได้หลายแบบ เขาเสนอวิธีการอ่านเล่มนี้ในสามแบบ
หนึ่ง – อ่านเพื่อเข้าใจทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเบื้องต้น เขากล่าวว่า ข้อดีของเนื้อหาคือ เป็นการนำเอาป๊อปคัลเจอร์มาใช้อ่านทฤษฎีระหว่างประเทศ ความสำคัญของปัญหานี้เห็นได้จากที่รัฐบาลสหรัฐเขียนบล็อกวิธีการในการรับมือกับซอมบี้ ถ้าหากซอมบี้เกิดขึ้นจริง ประชาชนจะรับมือได้อย่างไร เป็นต้น
สอง – อ่านแบบวิพากษ์ ระหว่างที่แปลหนังสือเห็นว่า หากนำเอาซอมบี้ออกไปจากสมการของเนื้อเรื่องแล้วนำสิ่งอื่นเข้ามาแทน โครงสร้างของหนังสือก็เหมือนเดิม ซึ่งเป็นปัญหาในเชิงอุปมาอุปไมยเหมือนกันว่า สรุปแล้วผู้เขียนจะมองซอมบี้ในจุดยืนแบบอุปมาอุปไมยอย่างไร เช่น ในคำอุทิศของหนังสือ ผู้เขียนบอกว่าหนังสือเล่มนี้ได้มอบให้ลูกๆ ของเขาทั้งสอง คนแรกคือ แซม บอกว่าหนังสือเล่มนี้เจ๋งมาก แต่ขอบคุณลูกอีกคน ลอเรน ที่บอกว่า ไม่มีซอมบี้อยู่จริงหรอก มันสะท้อนความกลัวของผู้เขียนว่า หากเกิดซอมบี้จริงๆ ผู้เขียนจะอยู่อย่างไร รัฐจะรับมืออย่างไร
“ถ้าอ่านแบบนี้จะเห็นว่า ทฤษฎีกระแสหลัก แม้ว่าจะสามารถให้คำอธิบายบางอย่างได้ แต่ถึงที่สุดแล้วมันจะลดความกระวนกระวายของคนในสังคมได้จริงไหม”
อีกประเด็นที่สำคัญ ผู้เขียนเป็นส่วนหนึ่งของการมองโลกผ่านรัฐเช่นกัน ดังในหนังสือเขียนว่า ผู้เขียนนวนิยายหรือคนทำงานจะให้ความสำคัญกับที่มาของซอมบี้น้อยมาก อย่าง จอร์จ เอ. โรเมโร (George A. Romero) ที่เขียนเรื่อง Day of the Dead (2008) หรือเรื่อง The Walking Dead ก็ตาม เพราะว่าเจ้าของทุนได้บังคับให้ใส่ที่มาของซอมบี้ลงไปเนื้อเรื่องด้วย ดังนั้นผู้กำกับจึงต้องใส่เนื้อเรื่องเข้าไปด้วย ด้วยลักษณะเช่นนี้เอง คนทำหนังหรือคนเขียนนวนิยายจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาซอมบี้ เพราะฉะนั้นคนที่ทำงานเชิงทฤษฎีแนววิพากษ์ก็อาจต้องเขียนงานซอมบี้อีกแนวเพื่อบอกเรื่องเล่าที่ควรจะเป็นว่าออกมาอย่างไร
สาม – อ่านหนังสือผ่านฟุตโน้ต ในฐานะที่เป็นจุดเริ่มต้นจุดหนึ่งของการเดินทางทางด้านความคิดของเรา เราก็จะเห็นข้อเท็จจริงที่สนุกอยู่หลายอย่าง เช่น ปัญหานิวเคลียร์ไม่อาจจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องซอมบี้ได้ เพราะหากเราทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ลงไป เป็นความจริงที่ว่าจะมีซอมบี้บางส่วนที่ตายไปด้วยการระเบิด แต่ก็จะมีซอมบี้บางส่วนที่ได้รับผลกระทบจากกัมมันตรังสี ก็จะกลายเป็นซอมบี้ที่อันตรายกว่าเดิม และแทนที่คนจะตายด้วยการกัดของซอมบี้อย่างเดียวก็จะตายพร้อมรังสีนิวเคลียร์ด้วย หรือกรณีการเชื่อมโยงการศึกษาความสัมพันธ์จากป๊อปคัลเจอร์กับเรื่องอื่นๆ มีการอ้างอิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับ Harry Potter หรือ The Lord of the Rings และที่น่าสนใจที่สุดคือ การอ่านแบบนี้จะช่วยเชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับทฤษฎีกระแสหลัก
หนังสือทฤษฎีที่มีกิมมิคเป็นซอมบี้
ฑภิพร สุพร จากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาได้อธิบายว่า ถ้าเราดูหนังซอมบี้ เช่น Train to Busan (2016) เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมป๊อปคัลเจอร์กับการเมืองระหว่างประเทศ
ฑภิพรยกตัวอย่างฉากหนึ่งในภาพยนตร์ดังกล่าวว่า พระเอกจะบอกลูกว่าการเอาตัวรอดเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ต้องสนใจใคร ตอนหลังเริ่มเห็นการรวมตัวกันของคน เป็นพันธมิตรกัน เมื่อพระเอกเริ่มเรียนรู้การช่วยเหลือของผู้ชายตัวใหญ่ ก็จะเห็นการเผยแพร่ของบรรทัดฐาน แต่แน่นอนที่สุด การตีความก็ขึ้นอยู่กับความรู้สึกของผู้ชม
อีกตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นลักษณะเฉพาะของสาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากหนังสือของ เคน บูธ (Ken Booth) เรื่อง International Relations: All that Matters (ฉบับแปลเป็นไทยคือ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ: รวมเรื่องที่ต้องรู้ แปลโดย จันจิรา สมบัติพูนศิริ) เป็นอีกเล่มที่น่าสนใจในการอธิบายปมปัญหานี้ของทฤษฎีการเมือง โดยบอกว่าเป็นนักเรียนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแล้วเหนื่อย ต้องรู้ประวัติศาสตร์ ทฤษฎีการเมือง เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา แต่อย่างไรก็ยังเห็นต่างออกไปนิดหน่อยว่าเหนื่อยจริงแต่สนุก
ด้วยลักษณะสาขาวิชาการเช่นนี้เองที่ทำให้เรากลับมาคิดว่า สุดท้ายแล้วนักเรียนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเรียนอะไร “เพราะถ้าคุณดูชื่อแล้ว จะมีความหลากหลาย เช่น ผมอยู่เชียงใหม่ เรียก International Affair บางที่ International Relation มี World Politics มี Global Politics ในแง่หนึ่งเราขาดความเป็นเอกภาพไม่ได้ แต่ในอีกแง่คือมันมีมิติอื่นๆ ให้เราศึกษามากกว่าความมั่นคง ยุทธศาสตร์ สงครามและความขัดแย้ง ดังนั้น ถ้าซอมบี้กลายเป็นภัยคุกคามตัวใหม่ เราจะมีวิธีการรับมืออย่างไร”
ฑภิพรย้ำว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือไร้สาระ เนื่องจากพบว่าหนังสือเล่มนี้ต่างออกไปจากที่ผู้เขียนเคยเขียนมาทั้งหมด ถ้าเราอ่านคำนำของผู้เขียน เขาจะบอกว่า หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ลูกชายชอบมากที่สุด ซึ่งหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีกิมมิคเป็นซอมบี้ ถ้าเราแทนที่ซอมบี้ด้วยอีโบล่าก็ได้ มันก็จะมีงานบางชิ้นตั้งชื่อน่ารักๆ ว่า Love in the time of Ebola ล้อกับ Love in the time of Cholera ของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (Gabriel Garcia Marquez)
แต่เขาก็ยอมรับว่า หนังสือไม่ได้มีมุมมองของทฤษฎีวิพากษ์เข้ามาใน edition 1 แต่ใน edition 2 เราจะเห็นแนวคิดอย่างเฟมินิสต์แทรกเข้ามา แต่โจทย์หลักก็ยังเป็นว่าเมื่อเกิดซอมบี้แพร่กระจายขึ้นมา ตัวแสดงเช่นรัฐหรือไม่ใช่รัฐจะตอบสนองไปอย่างไร เมื่อมองผ่านแว่นของทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็จะเห็นว่าระบบโครงสร้างเดิมดีอยู่แล้ว แต่เราจะแก้ไขภัยคุกคามที่เข้ามาแทรกแซงอย่างซอมบี้ได้อย่างไร นี่เป็นโจทย์สำคัญที่คนเขียนพยายามเสนอ
ในประเด็นต่อมา ฑภิพรให้แง่มุมว่า แม้ว่าแต่ละทฤษฎีมีวิธีการไม่ต่างกัน แต่ก็ยังมีมุมมองซอมบี้ที่แตกต่างกันไปด้วย เช่น สัจนิยมจะมองภัยซอมบี้เป็นแค่ภัยคุกคามอย่างหนึ่ง ไม่สามารถเปลี่ยนไปได้ ยังไงรัฐก็เป็นตัวแสดงสำคัญอยู่
ถ้าเป็นเสรีนิยมมีการตอบสนองอย่างไร เป็นไปได้ไหมที่จะมีความร่วมมือกันบางอย่างเพื่อเข้าไปจัดการซอมบี้ หรือมีการสร้างองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในการแก้ปัญหาซอมบี้ ถ้าผู้อ่านดูในหนังสือ จะมีฉากที่ซอมบี้ไปรวมตัวประท้วงที่หน้าสหประชาชาติเรียกร้องสิทธิของซอมบี้
ในหนังแต่ละเรื่องหรือจุดกำเนิดของซอมบี้ให้ภาพรายละเอียดที่แตกต่างกัน แต่หนังสือเล่มนี้ก็จะชี้ให้เห็นว่า ถึงที่สุดแล้วซอมบี้จะกลายเป็นประเด็นข้ามชาติสำคัญที่ควรนำมาขบคิดร่วมกัน และรัฐแต่ละรัฐต้องเข้ามาตอบสนองต่อปัญหา
ซอมบี้ในฐานะภาพสะท้อนทางการเมือง
กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์ จากวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้โดยเริ่มจากคำถามหลักของหนังสือเล่มนี้คือ ถ้าเกิดวิกฤติซอมบี้ระบาดขึ้น ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสำนักต่างๆ จะมีวิธีการรับมืออย่างไร
เธอเห็นด้วยกับคำนำของหนังสือที่เขียนโดย จิตติภัทร พูนขำ ว่าหนังสือเล่มนี้มีจุดยืนมาจาก แนวคิดการมุ่งแก้ไขปัญหา (problem-solving theory) ไม่ใช่จากจุดยืนวิพากษ์หรือการตีความ ดังนั้นหนังสือเล่มนี้จึงไม่สนใจพาเราไปย้อนตั้งคำถามกับสิ่งมีชีวิตครึ่งเป็นครึ่งตายที่เรียกว่าซอมบี้ โดยทึกทักไปตั้งแต่แรกแล้วว่า ถ้ามีซอมบี้ระบาด เราจะแก้ไขอย่างไร เพราะถึงที่สุดแล้วหากดูไปที่สารบัญ จะเห็นว่ายังสามารถแทนที่ซอมบี้ด้วยภัยพิบัติข้ามชาติอื่นๆ แล้วคงไว้ซึ่งโครงสร้างของหนังสือแบบเดิมได้
แต่หากมองอย่างวิพากษ์ จะเห็นว่ากรอบความเป็นไปได้ของหนังสือเล่มนี้คือการคงไว้ซึ่งการรวมศูนย์ที่มีประสิทธิภาพ ไม่ได้กระตุ้นให้ผู้อ่านวาดฝันถึงสังคมหรือระเบียบใหม่ใดๆ ที่จะมาทดแทนโลกแบบเดิมที่เป็นมาก่อนซอมบี้ระบาด ไม่ได้ชวนตั้งคำถามว่าโลกหลังจากที่ แบรด พิตต์ แก้ปัญหาใน World War Z (2013) เสร็จแล้วจะเป็นโลกที่น่าอยู่หรือไม่ อิสราเอล เมืองที่แบรด พิตต์ ไปเยือนจะเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศของตนหรือไม่ ดูเหมือนว่ามันยังเป็นโลกที่มีเพียงอภิสิทธิ์ชนได้รับสิทธิพิเศษในการอยู่รอด หรือใน Train to Busan เราเห็นอนาคตทางเลือกความเป็นไปได้อื่นๆ ไหม นอกจากนายทุนที่เห็นแก่ตัวไม่กี่คนได้ตายไป มีพระเอก มีผู้ร้าย ตอนจบก็มีทหาร เจ้าหน้าที่รัฐ คอยช่วยเหลือเด็กและหญิงมีครรภ์อยู่ดี
กรพินธุ์ชวนให้ผู้ร่วมเสวนาคิดถึงซอมบี้ในฐานะภาพส่องสะท้อนทางการเมือง จากมุมมองทฤษฎีวิพากษ์สามกลุ่ม หนึ่ง – มุมมองแบบมาร์กซิสต์ แม้ว่าหนังสือเล่มนี้อ้างมาร์กซ์ไม่กี่บรรทัด แต่อาจจะสามารถขยายความจากมุมมองแบบมาร์กซิสต์ได้อีกสองแบบ อย่างแรกคือ ขึ้นชื่อว่าผีดูดเลือด สูบเลือดกินเนื้อคน งานเขียนของมาร์กซ์จะนำไปเปรียบกับนายทุน อสูรกาย สิ่งมีชีวิตที่ไม่มีหัวใจ แต่อีกด้านหนึ่งกองทัพซอมบี้จำนวนนับไม่ถ้วน เสื้อผ้าขาดรุ่งริ่ง ก็เทียบได้กับสิ่งที่มาร์กซ์เรียกว่า ‘reserve army of labour’ หรือกองทัพสำรองของแรงงานในระบบทุนนิยม เป็นประชากรส่วนเกินที่ถูกกีดกัน ไร้ทางออก ไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ
สอง – มุมมองของชีวิตที่เปลือยเปล่าหรือสิ่งมีชีวิตที่เปราะบาง คือชีวิตที่ถูกฆ่าได้โดยอำนาจอธิปัตย์โดยปราศจากความผิด ผู้ถืออำนาจอธิปัตย์คือผู้กำหนดว่าชีวิตใดมีคุณค่าที่จะอยู่ หรือชีวิตใดไม่มีคุณค่า ซอมบี้จึงเป็นกลุ่มคนที่ถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ ชีวิตแบบนี้คล้ายกับคนยิวในค่ายกักกัน คนดำชนชั้นล่างที่นิวออร์ลีนส์หลังพายุแคทรีนา ตัวอย่างใกล้ตัวอาจจะเป็นชาวโรฮิงญา หรือแรงงานพม่าในหนังเรื่อง 5 แพร่ง
สาม – มุมมองตามทฤษฎีวิพากษ์ (critical theory) สำนักแฟรงค์เฟิร์ต (Frankfurt School) ฝูงซอมบี้อาจเป็นภาพสะท้อนมวลชนที่ถูกมอมเมา ที่ถูกทำให้เหลือมิติเดียว ภายใต้ระบบทุนนิยม อุตสาหกรรมวัฒนธรรม และภายใต้ระบบเผด็จการฟาสซิสต์ ซึ่งในงานเขียนของ ธีโอดอร์ ดับเบิลยู. อดอร์โน (Theodor W. Adorno) เสนอว่า มนุษย์เผด็จการอำนาจนิยม มีลักษณะเหมือนๆ กันหมด ซึ่งจะแตกต่างกับมนุษย์ประชาธิปไตย ซึ่งมนุษย์เผด็จการด้านหนึ่งก็มีความเป็นปัจเจก แต่อีกด้านก็กลัวเหลือเกินที่จะแตกต่าง และพวกเขาพร้อมที่จะระเบิดความรุนแรง
กรพินธุ์สรุปภาพสะท้อนซอมบี้จากสำนักคิดนี้ว่า มันทำให้นึกถึงนิยายเรื่อง ดินแดนคนตาบอด (The Country of the Blind) ซึ่งหากคนตาดีหลงเข้าไปอยู่ในประเทศที่มีแต่คนตาบอด ถ้าอยากจะอยู่รอด โดยไม่โดนรุมทึ้ง คุณก็ต้องแกล้งทำตัวบอดใบ้ให้เหมือนพลเมืองประเทศนั้น หรือต้องควักลูกตาตัวเองออกมา ด้วยเหตุนี้ เมื่อใดที่เราเห็นเหล่าตัวเอกในหนังซอมบี้ แกล้งเดินโซเซ ร้องไม่เป็นภาษา อาบเลือดซอมบี้ ทำตัวให้เหม็นเน่าเพื่อฝ่าฝูงซอมบี้ออกไปให้ได้ เราอาจจะหวนมานึกถึงชีวิตของคนในสังคมเผด็จการอำนาจนิยม หรือตั้งคำถามกับตัวเองว่า เรากำลังอาบเลือดซอมบี้ เอาไส้ห้อยคอ ดำเนินชีวิตปกติในสังคมที่ไม่ปกติหรือไม่