เสรีภาพในการแสดงออก: อยู่แบบไหน-ก้าวต่อไปอย่างไรดี

amnesty-talk-1
เรื่อง: ณิชากร ศรีเพชรดี / ภาพ: อนุช ยนตมุติ

 

สุนทรพจน์*ของ ชาร์ลี แชปลิน ในภาพยนตร์เรื่อง The Great Dictator ถูกเปิดขึ้นเพื่อเรียก ‘เสียงหัวเราะ’ ให้ ‘น้ำตาริน’ และเพื่อเป็นนิมิตหมายของการนำเข้าสู่วงสนทนา ‘เสรีภาพในการแสดงออก: อยู่แบบไหน-ก้าวต่อไปอย่างไรดี?’ ในโอกาสครบรอบ 55 ปีขององค์การแอมเนสตี้ เมื่อวันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ก่อนที่ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ข่าวจาก Voice TV ผู้นำวงสนทนาวันนี้จะจับไมค์และเปิดวงคุยด้วยมุกที่ว่า

“ในช่วงที่ผมเรียนปริญญาตรี ประมาณปี 34-35 หนังเรื่องนี้ของ ชาร์ลี แชปลิน เป็นหนังที่นักศึกษารุ่นผมไม่ดู เพราะคิดว่าประเทศไทยได้เลยความเป็นเผด็จการแบบนั้นไปจนเราไม่ต้องดูหนังเผด็จการที่ถูกล้อด้วย ชาร์ลี แชปลิน อีกแล้ว ตลกดีที่วันนี้เราต้องกลับมาดูหนังล้อเผด็จการเรื่องนี้อีกครั้ง”

amnesty-talk-2

ถูกคุกคามด้วยความกลัว

หทัยรัตน์ พหลทัพ ผู้สื่อข่าวทีวีสาธารณะ ThaiPBS เล่าให้เห็นภาพการทำงานของสื่อมวลชนในปัจจุบันว่า ไม่เพียงแต่การทำงานของเธอจะถูกจำกัดสิทธิจากรัฐบาลทหาร หากเธอยังถูกคุมคามด้วยความกลัวจากพี่น้องสื่อมวลชนด้วยกันเอง

“ย้อนไปเมื่อปีที่แล้ว เราตั้งใจจะทำสารคดีเรื่องหนึ่งปีรัฐประหาร มีธีมว่า อยากจะไปสัมภาษณ์ประเด็นที่ไทยที่ลี้ภัยไปอยู่นอกประเทศ เช่น อเมริกา เพราะการจำกัดสิทธิเสรีภาพมากเกินไป เราคิดว่าการสื่อสารผ่านความคับข้องใจในกรณีนี้จะสื่อสารและให้ภาพอะไรบางอย่างได้ ในช่วงแรกก็มีการตั้งทีมที่ขนาดใหญ่และมีสมาชิกจำนวนหนึ่ง ท้ายที่สุดประเด็นเรื่องนี้ก็ถูกถอดออกไป เพราะไม่มีใครกล้าทำ

สิ่งที่เราตกใจคือ เพื่อนร่วมอาชีพของเราเองเดินมาบอกว่า เธอจะทำหรือ ระวังทหารจะไม่ชอบและถูกยุบช่องนะ

บรรยากาศความกลัวที่หทัยรัตน์ว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากช่วงระยะแรกของการรัฐประหาร ที่นักวิชาการและสื่อมวลชน ถูกเรียกเข้าไปปรับทัศนคติรายวัน รวมทั้งประกาศจาก คสช. ที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง อันมีผลต่อการกำหนดให้สื่อมวลชนทำและทำอะไรไม่ได้บ้าง

“หลังจากประกาศ คสช. ฉบับที่ 14/2557 ประกาศออกมา เป็นช่วงที่ผู้บริหารไทยพีบีเอสถูกเรียกตัวเข้าไปพูดคุยกับทหาร หลังจากนั้นทีม บก. ถูกเรียกตัวเข้าไปประชุมเพื่อประกาศนโยบายว่า ต่อจากนี้ห้ามรายงานข่าวที่มีการสัมภาษณ์ความเห็นจากนักวิชาการหรือบุคคลใดก็ตาม ให้นำเสนอเพียงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น เพื่อให้เป็นไปตามประกาศ คสช. ฉบับนั้น รายการเถียงให้รู้เรื่องและตอบโจทย์จึงถูกถอดออกไป และหลังจากนั้นท่าทีในการทำข่าวก็ค่อยๆ เริ่มมีการเซ็นเซอร์ตัวเองมากขึ้น

สิ่งที่ตกใจที่สุด ที่วัดจากประสบการณ์การทำงานสื่อกว่า 10 ปีคือ เราไม่เคยถูกขอดูบทก่อนออกอากาศมาก่อนเลย แต่ก็ได้เกิดขึ้นในช่วงรัฐประหารครั้งนี้

ความกลัวที่เกิดขึ้นจากการโดนคุกคามทั้งจากรัฐและเพื่อนร่วมอาชีพ หทัยรัตน์กล่าวว่าหากวัดจากประสบการณ์การทำข่าวกว่า 10 ปี ตั้งแต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทั้งจากตระกูลชินวัตรและทั้งสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์ปกครอง ครั้งนี้เป็นบรรยากาศที่น่ากลัวที่สุด เพราะถูกบังคับทั้งจากประกาศของ คสช. ที่เป็นลายลักษณ์อักษร ที่ไม่รู้ว่าสื่อมวลชนควรจะเดินไปในทิศทางไหน บรรยากาศความกลัวที่สื่อมวลชนพากันเซ็นเซอร์ตัวเอง เนื่องจากคาดเดาไม่ได้ว่าสิ่งที่ทำหรือการรายงานข่าวที่ออกไปนั้น อะไรคือสิ่งที่ทำได้และทำไม่ได้

“อย่างไรก็ตาม เราก็มีความละอายที่สื่อสาธารณะไม่ได้ยืนยันที่จะทำหน้าที่สื่อมวลชนอย่างที่ควรจะเป็น แต่เรายังเชื่อว่าถ้าสื่อมวลชนร่วมกันทำหน้าที่ในการตรวจสอบและทวงถามเรื่องสิทธิมนุษยชน ค่อยๆ ผลักดันเส้นเสรีภาพให้ค่อยๆ ขึ้นไป ถ้าเราเริ่มต้นฝ่าเพดานความกลัวออกไป จะเห็นว่ามีคนจำนวนมากที่อยากจะฝ่าเพดานความกลัวไปด้วยกัน แต่คนแรกที่เริ่มขยับจะเป็นแบบไหนและเริ่มอย่างไร” หทัยรัตน์กล่าว

amnesty-talk-3

ความจำเป็นของเสรีภาพ

ในขณะที่ประเทศดูเหมือนจะถูกปกคลุมไปด้วยความกลัว หาก ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่าความกลัวที่ว่านี้ดูเหมือนจะปกคลุมแค่บุคคลเฉพาะกลุ่ม

“การที่เราเห็นทหารหรือกระทั่งรัฐบาลพลเรือนเองใช้อำนาจเกินขอบเขตนั้นเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องดีหรือรับได้ ขอย้ำว่ามันเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่าอะไรทั้งหมดคือความรู้สึกที่ว่าเสรีภาพไม่ใช่สิ่งจำเป็น” ปองขวัญกล่าว

โดยเธอเห็นว่า อาจจะต้องยอมรับว่าไม่ได้มีแค่คนที่เห็นว่าบ้านเมืองขณะนี้ไม่ชอบมาพากล และรู้สึกว่าเขาถูกลิดรอนประชาธิปไตย การที่สื่อ นักวิชาการ หรือนักเคลื่อนไหวทางการเมืองจะปลุกตัวเองออกจากความกลัวแล้วออกไปต่อสู้นั้น เป็นเรื่องที่ต้องทำ แต่การสู้ก็ต้องมีเทคนิคด้วย เพราะการต่อสู้เป็นเรื่องของขบวนการ

ขบวนการที่เธอว่า คือการสื่อสารในภาษาเดียวกันกับคนที่เห็นต่าง คือการทำให้เห็นว่าสิทธิเสรีภาพได้รับการรับรู้ในความหมายเดียวกัน

คนที่ไม่เข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพในความหมายเดียวกับเรา เพราะเขามองเรื่องสิทธิเสรีภาพด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว เสรีภาพที่เขาเข้าใจ คือเรื่องที่รัฐบาลจะไม่เข้ามายุ่งกับเศรษฐกิจของเขา เขาสามารถที่จะทำงานได้เงินและใช้เงินได้ในฐานะปัจเจก ตราบใดที่รัฐไม่เข้ามาแทรกแซง นี่คือสิ่งที่เขาคิด เราจะเชื่อมสองอย่างนี้ให้เข้ากันได้อย่างไร และเศรษฐกิจหรือสิ่งที่เขากลัวว่าจะถูกแทรกแซงนี้ จะได้รับผลกระทบ ถ้าหากประเทศไม่มีประชาธิปไตย และประชาธิปไตยเป็นสิ่งเดียวที่เปิดโอกาสให้เราได้ต่อสู้ถกเถียงได้

ปองขวัญนำเสนอประเด็นความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจและการเป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตย โดยยกตัวอย่างหนังสือ เสรีนิยมกับประชาธิปไตย เขียนโดย นอร์แบร์โต บอบบิโอ (Norberto Bobbio) แปลโดย เกษียร เตชะพีระ ที่มีเนื้อหาว่าจุดเริ่มต้นของเสรีนิยมกับประชาธิปไตย แท้จริงแล้วไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

เธออธิบายว่า เพราะจุดตั้งต้นของเสรีนิยมต้องการให้รัฐมีขนาดเล็ก ทุกคนสามารถมีเสรีภาพในทางเศรษฐกิจเต็มที่โดยที่รัฐไม่ต้องเข้ามายุ่ง ขณะที่คำว่าประชาธิปไตยต้องการการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงต้องใช้พื้นที่ทางการเมืองในขนาดหนึ่ง

“แต่มันกลายเป็นสิ่งเดียวกันในตอบจบ เพราะว่าทุกคนเริ่มตระหนักว่าการที่จะมีสิทธิเสรีภาพทางเศรษฐกิจได้ ต้องมีหลักปกครองประชาธิปไตย เพื่อที่จะกันอำนาจของผู้มีอำนาจให้อยู่ในที่ขอบเขตของมัน ขณะเดียวกัน ประชาธิปไตยจะอยู่ได้ ทุกคนต้องมีหลักปัจเจกหรือเสรีภาพ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่คู่ขนานไปด้วยกัน”

ปองขวัญเปรียบเทียบความแตกต่างทางความคิดว่าคล้ายๆ กับการอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ที่ไม่ได้มีรสนิยมด้านอาหารเหมือนเรา แต่เมื่อเห็นเขากินอาหารที่เราไม่ชอบ เราไม่ได้ไล่ให้เขาไปกินที่อื่น แต่ยอมรับ คือให้เขากินได้ และสามารถกินในพื้นที่ของเราได้ด้วย

amnesty-talk-4

ถูกคุกคามผ่านเครือข่ายในอากาศและประกาศ คสช.

“วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 กฎอัยการศึกถูกประกาศใช้ ถัดมาวันที่ 21 พฤษภาคม ผู้ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตถูกเรียกเข้าไปประชุมร่วมกันที่ กสทช. เพื่อขอความร่วมมือเรื่องขอให้ควบคุมเนื้อหาที่อยู่ในสื่อออนไลน์ ที่หากพิจารณาแล้วเห็นว่าอาจก่อความไม่สงบก็ให้คัดกรองด้วย และถัดจากนั้นหนึ่งวัน 22 พฤษภาคมก็รัฐประหารเลย”

คือสิ่งที่ อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต พยายามอธิบายให้เห็นความเชื่อมโยงบางอย่างเพื่อบอกว่าการจัดการควบคุมสื่อออนไลน์ อาจถือเป็นมาตรการสำคัญที่คณะรัฐประหารให้ความสำคัญมาตั้งแต่ต้น

หากย้อนกลับไปเมื่อการรัฐประหารปี 2549 มีประกาศของ คปค. (คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ฉบับที่ 5 ออกมาเกี่ยวกับการจำกัดควบคุมสื่ออินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะ ทำให้เห็นว่าคณะรัฐประหารให้ความสำคัญกับสื่อออนไลน์มาพักใหญ่ๆ แล้ว

“สังเกตว่าประกาศฉบับดังกล่าวเป็นตัวเลขตัวเดียว หมายความว่ามันต้องถูกจัดลำดับให้มีความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ ซึ่งเป็นเรื่องจริง เพราะในขณะนั้นอินเทอร์เน็ตถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปลุกระดมที่มีพลังและได้ผลมาก อย่างกระทู้ต่างๆ หรือเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์”

คล้ายกันกับรัฐประหารครั้งนี้ ที่ประกาศ คสช. ฉบับที่ 26/2557 มีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อควบคุมสื่อออนไลน์ และมีการระบุคำว่า ‘โซเชียลมีเดีย’ เป็นครั้งแรก

นอกจากประกาศของ คสช. หลายๆ ฉบับที่ออกมาเพื่อควบคุมสื่อโดยเฉพาะแล้ว ยังมีเรื่องการเข้าไปจัดสรรองค์กรของคณะทำงานของ คสช. ที่จะจัดสรรหน่วยงานต่างๆ เข้าไปให้คำปรึกษาและช่วยเหลือดูแลกระทรวงต่างๆ ซึ่งสิ่งที่อาทิตย์เห็นว่าน่าสนใจคือ ในกลุ่มงานด้านความมั่นคง มีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ผูกผนวกรวมเข้าไปด้วย

amnesty-talk-5

จุดกำเนิด Single Gateway

จากประกาศฉบับที่ 26/2557 มาสู่ฉบับที่ 163/2557 อาทิตย์อธิบายว่า เป็นประกาศที่ตั้งคณะทำงานเพื่อขอติดตั้งอุปกรณ์ในการปิดกั้นบางเว็บไซต์ ที่คณะทำงานให้เหตุผลว่าเพราะสื่อออนไลน์ทุกวันนี้มีเทคโนโลยีและวิธีการใหม่ๆ ในการปิดกั้นเว็บ ซึ่งเป็นการยากที่คณะทำงานจะเข้าไปตรวจสอบ จึงได้ขอเข้าไปใช้อุปกรณ์บางอย่างมาทำให้การทำงานลุล่วง คณะกรรมการของกระทรวงไอซีทีจึงถูกแต่งตั้งขึ้นมา

หน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้คือการตรวจสอบเว็บไซต์ต่างๆ ประสานกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต รวมถึง ประตูที่เชื่อมระหว่างอินเทอร์เน็ตไทยกับโลก (international internet gateway) จากนั้นปี 2558 แนวความคิด digital gateway ได้ถือกำเนิดขึ้น

มันเกิดขึ้นอย่างมีลำดับ เขาตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อทำงานด้านการสกัดข้อมูลและขอติดตั้งเครื่องมือเพื่อตรวจสอบก่อน จากนั้นกระทรวงไอซีทีก็ประกาศในกลางปี 2558 ว่าต้องการจะทำเรื่อง single gateway เพื่อสกัดกั้นคัดกรองข้อมูลต่างๆ ที่คาดว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคง

นอกจาก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งมีการใส่แนวความคิดเรื่องซิงเกิลเกตเวย์ที่เห็นซึ่งหน้าแล้ว ลึกลงไปในตัวโครงสร้างอย่างการจัดสรรองค์กรใหม่ของ คสช. ก็เป็นเรื่องที่อาทิตย์พยายามอธิบายเพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงด้วย โดยเขายกตัวอย่างการจัดสรรองค์กรไอซีทีให้เข้าไปอยู่ในหน่วยงานความมั่นคง การจัดสรรโครงสร้างที่เกี่ยวกับธุรกิจดิจิทัลใหม่มีผลให้นโยบาย กสทช. ต้องสอดคล้องกับคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

การทำงานของ กสทช. ที่แต่เดิมถูกตั้งขึ้นมาเพื่อให้มีความอิสระ จะทำงานอย่างมีอิสระได้อย่างไร หากนโยบายที่กำหนดขึ้นต้องสอดคล้องกับบอร์ดใหญ่ที่มีนายกฯ เป็นประธานอีกชั้นหนึ่ง

โดยอาทิตย์ทิ้งท้ายด้วยมุกเรียกเสียงหัวเราะว่า “เมื่อสักครู่ผมเพิ่งคุยกับเพื่อนๆ เขาถามว่าเมื่อไรเราจะมีการเลือกตั้ง ผมตอบขำๆ ว่าผมไม่รู้ แต่คิดว่าตราบใดที่เขาย้ายประกาศทั้งหมดไปไว้ในรัฐธรรมนูญได้ ตราบนั้นเขาก็คงจะไป เพราะอำนาจของเขายังอยู่ครบทั้งหมด”

 


The Great Dictator’s Speech
I’m sorry, but I don’t want to be an emperor. That’s not my business. I don’t want to rule or conquer anyone. I should like to help everyone – if possible – Jew, Gentile – black man – white. We all want to help one another. Human beings are like that. We want to live by each other’s happiness – not by each other’s misery. We don’t want to hate and despise one another. In this world there is room for everyone. And the good earth is rich and can provide for everyone. The way of life can be free and beautiful, but we have lost the way.
Greed has poisoned men’s souls, has barricaded the world with hate, has goose-stepped us into misery and bloodshed. We have developed speed, but we have shut ourselves in. Machinery that gives abundance has left us in want. Our knowledge has made us cynical. Our cleverness, hard and unkind. We think too much and feel too little. More than machinery we need humanity. More than cleverness we need kindness and gentleness. Without these qualities, life will be violent and all will be lost…
The aeroplane and the radio have brought us closer together. The very nature of these inventions cries out for the goodness in men – cries out for universal brotherhood – for the unity of us all. Even now my voice is reaching millions throughout the world – millions of despairing men, women, and little children – victims of a system that makes men torture and imprison innocent people.
To those who can hear me, I say – do not despair. The misery that is now upon us is but the passing of greed – the bitterness of men who fear the way of human progress. The hate of men will pass, and dictators die, and the power they took from the people will return to the people. And so long as men die, liberty will never perish. …
Soldiers! don’t give yourselves to brutes – men who despise you – enslave you – who regiment your lives – tell you what to do – what to think and what to feel! Who drill you – diet you – treat you like cattle, use you as cannon fodder. Don’t give yourselves to these unnatural men – machine men with machine minds and machine hearts! You are not machines! You are not cattle! You are men! You have the love of humanity in your hearts! You don’t hate! Only the unloved hate – the unloved and the unnatural! Soldiers! Don’t fight for slavery! Fight for liberty!
In the 17th Chapter of St Luke it is written: “the Kingdom of God is within man” – not one man nor a group of men, but in all men! In you! You, the people have the power – the power to create machines. The power to create happiness! You, the people, have the power to make this life free and beautiful, to make this life a wonderful adventure.
Then – in the name of democracy – let us use that power – let us all unite. Let us fight for a new world – a decent world that will give men a chance to work – that will give youth a future and old age a security. By the promise of these things, brutes have risen to power. But they lie! They do not fulfil that promise. They never will!
Dictators free themselves but they enslave the people! Now let us fight to fulfil that promise! Let us fight to free the world – to do away with national barriers – to do away with greed, with hate and intolerance. Let us fight for a world of reason, a world where science and progress will lead to all men’s happiness. Soldiers! in the name of democracy, let us all unite!

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า