คงกฤช ไตรยวงค์: ชั่วชีวิตของการให้อภัย

เรื่อง: รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์ / ณิชากร ศรีเพชรดี
ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง

ดูเผินๆ การขออภัยและให้อภัยเป็นเรื่องภายในของมนุษย์ แต่อีกนัยหนึ่ง สองสิ่งนี้มีความสัมพันธ์กับโลกภายนอกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สองสิ่งนี้คือกลไกหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ที่มีความแตกต่างหลากหลายอยู่ร่วมกันได้ในสังคม – คำอธิบายแบบนี้อาจย่นย่อและไม่ซับซ้อน

แต่มองอีกด้าน การขออภัยและให้อภัยอาจซับซ้อนกว่าที่คิด อรุณธตี รอย นักเขียนดัง บอกว่า บางอย่างที่เป็นเรื่องง่ายก็ควรอธิบายได้ง่าย แต่หากบางอย่างซับซ้อน ก็อย่าหลีกเลี่ยงลดทอนความซับซ้อนของมันให้เหลือเล็กน้อยและเรียบง่าย

เรากำลังหาคำอธิบายของสองคำนี้ ขออภัย – ให้อภัย ในทางปรัชญา ซึ่งแน่นอนว่า ต้องมีการรื้อกระบวนการ ถอดโครงสร้าง มาดูกันเป็นชิ้นๆ หลายๆ รอบ เพื่อทำความเข้าใจหลายๆ ครั้ง

กระบวนการอย่างง่ายหลังจากผู้กระทำ ‘รู้ตัวว่าผิด’ ต้องมีการขอโทษ สำนึกผิด บันทึกเรื่องราว บอกเล่า สารภาพ ให้คนอื่นเข้าใจได้ว่า นี่คือการทำผิด ไม่ทำให้ความรุนแรงหรือความสูญเสียที่เกิดจากการกระทำเป็นสิ่งไร้ค่า แม้บางครั้งขั้นตอนและผลลัพธ์นี้อาจไม่เกิดขึ้นเลยในชั่วชีวิตคน เพราะผู้กระทำไม่สำนึก หรือเหยื่อจำฝังใจจนไม่อาจอภัยให้ได้

คงกฤช ไตรยวงค์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร บอกว่า ในหลักปรัชญาของการให้อภัย มีคำอีกหลายคำที่ควรถูกนำมาใช้อธิบายความซับซ้อนของการขออภัย – การให้อภัย เช่น account – count และ forgive – forget

อย่างไรก็ตาม “ของพวกนี้มันไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เร็ว เพราะว่ามันต้องใช้เวลา ในตะวันตก เรื่องของการให้อภัยมันใช้เวลานานมาก บางทีกินเวลาทั้งชีวิตก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้”

แต่

ถึงที่สุดแล้วมันเป็นของที่เกิดขึ้นได้ยาก แล้วบางทีมันกินเวลาเกือบทั้งชีวิต หรือทั้งชีวิตไม่สามารถให้อภัยกันได้เลย มันก็ต้องทำ

นี่คือบทสัมภาษณ์ปิดท้ายของซีรีส์ WAY to Apology การขอโทษ – ยกโทษ และ ขออภัย – ให้อภัย ในแง่มุมปรัชญา

หากพูดในมุมปรัชญา อยากเท้าความไปถึงยุคกรีก คนสมัยนั้นเขานิยาม ‘การขอโทษ’ กันอย่างไร

คนกรีกโบราณเป็นพวกนิยมความสมบูรณ์ (perfectionist) อริสโตเติลมองว่า คนเรามุ่งไปสู่ความเป็นเลิศอะไรบางอย่าง มันจึงเป็นภูมิคุ้มกันไม่ให้รู้สึกผิดที่จะต้องไปขอโทษ

แต่การขอโทษกับขออภัยมันโยงกับเรื่องของการให้อภัย ที่โยงกับความคิดทางโลก (secular) เพราะแต่เดิมการให้อภัยอยู่แต่กับศาสนา คนที่ริเริ่มความคิดแบบนี้คือ บาทหลวงที่ชื่อว่า โจเซฟ บัทเลอร์ (Joseph Butler) เวลาคนทำผิด ก็ควรมองเขาในฐานะคนคนหนึ่ง เวลาลงโทษก็ลงโทษในฐานะคน แล้วความคิดเรื่องการให้อภัยในมุมมองทางโลกก็เริ่มจากไอเดียของ โจเซฟ บัทเลอร์ จากนั้นก็เริ่มมีเงื่อนไขอื่นๆ เช่น ทำไมต้องขอโทษ และการให้อภัยคืออะไร

การขอโทษสมัยกรีกเกี่ยวกับการเป็นผู้นิยมความสมบูรณ์อย่างไร

การพยายามทำอะไรที่ perfect มันก็คือภูมิคุ้มกันที่เราจะไม่ทำผิด

การขอโทษมันจะมีความรู้สึกผิด แต่การที่เราพยายามทำให้ตัวตนของเราแสดงการกระทำออกมาโดยเติมให้มันสมบูรณ์อยู่แล้ว ในแง่นี้มันก็เลยไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิดอะไรเวลาทำผิด ก็เลยไม่มีนัยของการรอให้ใครมาให้อภัยเรา

คือไม่ผิด?

ไม่ใช่ คือไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิด แล้วต้องมีใครมาให้อภัย เขาไม่มีเซนส์แบบคริสเตียนที่ทำผิดแล้วต้องไปขอให้คนอื่นอภัยให้ ในเมื่อเราทำดีแล้ว ก็เลยไม่จำเป็นต้องรู้สึกให้ใครยกโทษหรือให้อภัย มันไม่ใช่ว่าไม่มีความรู้สึกผิด แต่มันไม่สำคัญสำหรับแนวคิดนี้

ในกรีกจะมีคำพูดถึงการให้อภัย แต่ไม่สำคัญในระบบความคิดเชิงปรัชญา เราจะเห็นได้ว่า คำพวกนี้ไม่ปรากฏในข้อเขียนของนักปรัชญา มันจะมีคำอื่น เช่น มิตรภาพ ความกล้าหาญ อะไรพวกนี้มากกว่า

พอมาถึงศตวรรษที่ 17-18 โจเซฟ บัทเลอร์ มานำเสนอการให้อภัยที่โยงกับเรื่องทางโลก เช่น เราทำอะไรผิดบางอย่างกับคนในครอบครัว หรือคนอื่น เวลาคนทำผิดในความหมายทางโลกหมายความว่า เราไม่พิจารณาเขาเป็นปีศาจ ไม่ใช่ evil ที่จะต้องจัดการ แต่เป็นคนคนหนึ่ง

ถ้าเราบอกว่า ลงโทษเขาในฐานะคนคนหนึ่ง หมายความว่า เขาคือคนที่สามารถทำพลาดได้ ถ้าคิดในแง่นี้เราก็จะลงโทษแบบหนึ่ง ถ้าคิดว่าเขาเป็นปีศาจ เราก็จะจัดการเขาอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นเขาจึงเรียกร้องให้ลงโทษในฐานะมนุษย์

มีคนเอาไอเดียเหล่านี้มาขยายต่อ เช่น กริสโวลด์ (Charles Griswold) ซึ่งเป็นนักคิดร่วมสมัย ก็เอาแนวคิดของ โจเซฟ บัทเลอร์ มาขยายต่อว่า เวลาเราจะให้อภัยใคร มันต้องมีเงื่อนไขอะไรบ้าง เงื่อนไขสำคัญอันแรกเลยคือ ต้องมีคนมาขอโทษเรา ขออภัย ถ้าไม่ขอก็ไม่รู้จะให้ยังไง แล้วก็สำนึกผิด และต้องพยายามเล่าเรื่องได้ว่าทำไมตัวเองถึงทำ มันก็มีเงื่อนไขหลายข้อ นี่เป็นเงื่อนไขเบื้องต้น แล้วทำไมต้องเล่าเรื่องให้คนอื่นฟังได้ว่าเราทำผิดอะไร ก็เพราะว่าป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก

ส่วนสาเหตุที่เราควรจะให้อภัยไม่ใช่สำหรับกริสโวลด์นะ ไม่ใช่เรื่องของจิตวิทยา อย่างที่เห็นในเฟซบุ๊ค ที่มักจะมีข้อความเก๋ๆ บอกว่า ให้อภัยเถอะ เราจะได้สบายใจ จริงๆ ถ้าสำหรับกริสโวลด์ เขาจะบอกว่า อย่างนี้ยังไม่ใช่ มันเป็นเรื่องของศีลธรรม (moral) บางอย่าง เพราะเวลาเราให้อภัยใคร หมายความว่า มันสามารถทำให้คนที่เป็นผู้กระทำไม่จมอยู่กับความรู้สึกผิดนานเกินไป และเปิดโอกาสให้เขาทำอะไรใหม่ๆ ได้ ในขณะเดียวกัน ตัวผู้ถูกกระทำเอง ถ้าแค้นอยู่ ก็ไม่สามารถเริ่มอะไรใหม่ได้ แต่มันก็จำเป็นที่จะต้องไม่ลืมเหมือนกัน ที่เขาพูดว่า “forgive but not forget” ให้อภัยได้ แต่ต้องไม่ลืม คนไทยปัจจุบันมักจะบอกว่า ไปรื้อฟื้นมาทำไม ก็จบไปแล้ว มันไม่ใช่ ยิ่งที่เรื่องอภัยแล้วยิ่งต้องไม่ลืม

แต่ไม่ใช่ว่าคนจะเห็นพ้องกับกริสโวลด์หรือพวกที่พูดถึงการให้อภัยในด้านบวกอย่างเดียว มีศาสตราจารย์คนหนึ่ง เป็นนักกฎหมายกับปรัชญา เจฟฟรี เมอร์ฟี (Jeffrie Murphy) มันมีขบวนการ (movement) ทางศาสนาที่เราเห็นในวัฒนธรรมของเขา อย่างเช่น ศาสนาคริสต์เรียกร้องให้คนให้อภัย หรืออย่างที่เห็นในบ้านเรา ศาสนาพุทธก็ให้อภัย แต่บางทีฆาตกรรมเพิ่งเกิด ญาติกำลังเศร้าอยู่ นี่ไปขออโหสิกรรม ซึ่งน่าจะมีนัยใกล้เคียงกับขออภัย แต่มันก็เหมือนเป็นความรุนแรงซ้ำสอง คือเขายังไม่หายเศร้าเลย ก็พาคนทำไปเพื่อขออภัย

แล้วนัยอีกอันหนึ่ง พอไปขออภัย ถ้าไม่ให้ก็ดูเหมือนเป็นคนใจร้าย ของพวกนี้มันไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เร็ว เพราะว่ามันต้องใช้เวลา ในตะวันตก เรื่องของการให้อภัยมันใช้เวลานานมาก บางทีกินเวลาทั้งชีวิตก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้

เมอร์ฟีก็เลยบอกว่า ความเคลื่อนไหวทางศาสนาที่เรียกร้องพวกนี้ มันลืมไปว่าความโกรธแค้นก็มีนัยทางศีลธรรมเหมือนกัน เพราะคนที่ถูกกระทำมีพันธะต่อตัวเองในแง่ที่ว่า เขาต้องเคารพตัวเอง หรือ self-respect เขาต้องเคารพตัวเองว่า คุณทำฉันขนาดนี้ ทำไมถึงมาขออะไรง่ายๆ คือขอน่ะขอได้ เงื่อนไขแรกของการให้อภัยก็คือขอ แต่จะไม่ให้ก็ได้ไง ดังนั้นเมอร์ฟีก็บอกว่า ความโกรธมีนัยทางศีลธรรมเหมือนกัน อีกอย่างมันก็มีนัยทางกฎหมาย คือโยงกับเรื่อง rule of law คนผิดต้องได้รับโทษ ไม่ใช่ขอโทษแล้วก็จบๆ กันไป ไม่ใช่อย่างนั้น

ถ้าเรายกตัวอย่างในวรรณกรรม เช่น Les Miserable ตอนที่ ฌอง วัล ฌอง ไปขโมยเชิงเทียน แล้วบาทหลวงให้อภัย แล้วก็ไม่ต้องถูกลงโทษ

คือถ้าเป็นคนละกรณีกับพิธีกรรมการขอโทษ ถึงแม้ว่าคุณจะสำนึกผิดก็ต้องรับโทษทางกฎหมาย?

ใช่ครับ เมอร์ฟีก็เลยบอกว่า หลายๆ ครั้งที่เราให้อภัย แล้วคนผิดไม่ถูกลงโทษทางกฎหมาย เราก็เห็นหลายครั้ง อาจจะไม่ใหญ่โตอะไร ที่ไม่ได้ลงโทษทางกฎหมาย

เมอร์ฟีบอกว่ามันเป็นปฏิทรรศน์ (paradox) เวลาคุณให้อภัย คุณต้องให้อภัยเรื่องที่ให้อภัยได้ ดังนั้นถ้าให้อภัยได้ ก็ไม่ต้องขอก็ได้ สอง-ถ้าเรื่องไหนให้อภัยไม่ได้ ต่อให้มาขอ คุณก็ให้อภัยไม่ได้อยู่แล้ว มันก็เลยดูขัดแย้งกันเอง

ถ้าเราจะโยงเรื่องนี้กับการเมือง มันก็มีคนพูดเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน อย่าง ฮันนาห์ อาเรนดท์ ซึ่งเป็นนักปรัชญาเยอรมันเชื้อสายยิว แกโดนเล่นงาน ต้องอพยพไปอยู่อเมริกา แต่แกก็พูดเรื่องการให้อภัย เพราะว่าที่สุดแล้ว ในปริมณฑลทางการเมือง การกระทำใหม่เริ่มต้นใหม่ได้ คือการกระทำของมนุษย์สามารถผิดพลาดได้ ความสามารถผิดพลาดได้นี่แหละ ที่ยืนยันว่า มนุษย์มีเสรีภาพ แต่พอมันผิดพลาดปุ๊บ มันแก้ไม่ได้ไง มันผ่านไปแล้ว ดังนั้นวิธีหนึ่งที่เราจะเริ่มต้นใหม่ได้ก็คือ การให้อภัย ซึ่งไม่ใช่ของที่เกิดขึ้นง่าย ต้องอาศัยกระบวนการยาวนาน แกก็บอกว่า ถ้าคำสอนของศาสนาคริสต์เป็นจริงล่ะก็ มีแต่คนที่มีความรักเท่านั้นที่จะให้อภัยคนอื่นได้โดยไม่มีเงื่อนไข

แต่ทีนี้ในเมื่ออดีตมันแก้ไม่ได้ อนาคตก็ไม่แน่นอน อีกอันหนึ่งที่จะมาช่วยจัดการก็คือ คำสัญญา

มีหลายคนที่พูดเรื่องนี้ เช่น ปอล ริเกอร์ (Paul Ricoeur) นักปรัชญาฝรั่งเศส บอกว่า บางทีคนปัจจุบันเรียกร้องการให้อภัยในสถาบันการเมือง ตัวอย่างก็คือ คณะกรรมการสมานฉันท์แห่งแอฟริกาใต้ (Truth and Reconciliation Commission: TRC) บางทีมันมีความเข้าใจสับสนระหว่าง นิรโทษกรรม กับ การให้อภัย

อย่างผู้นำทางการเมืองในโลกปัจจุบันบางทีก็มาเรียกร้องว่า พอมันเกิดความรุนแรงขึ้น อ้าว ให้อภัยกันเถอะ เราเป็นเมืองพุทธนะ ไม่ควรที่จะอาฆาต เราจะได้เริ่มต้นกันใหม่ พูดแบบนี้มันก็ไม่เข้าใจว่าอะไรมันคือการให้อภัย เพราะจริงๆ การให้อภัยไม่ใช่การลืม ไม่ใช่ amnesty หรือ นิรโทษกรรม ซึ่งโยงอยู่กับรากศัพท์ภาษาละติน amnesia ซึ่งแปลว่าให้ลืม แต่การให้อภัยไม่ใช่การลืม แล้วก็เกิดขึ้นได้ยาก โดยเฉพาะกระทำรุนแรง

หากเหยื่อหรือผู้ถูกกระทำโดยตรงตายไปแล้ว ญาติซึ่งเป็นผู้สูญเสียจะสามารถให้อภัยได้ไหม

ในแอฟริกาใต้ มีผู้หญิงคนหนึ่ง สามีเธอถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐทำร้ายแล้วก็เสียชีวิต แล้ว อาร์คบิชอป เดสมอนด์ ตูตู (Desmond Tutu) ทำหน้าที่เป็นคนแปลข้ามภาษา มีคำถามว่า จะให้อภัยได้หรือเปล่า เธอก็ตอบว่า ให้อภัยเหรอ? ให้อภัยได้ยังไง คล้ายๆ กับพอคุยกันเรื่องนี้ เธอก็บอกว่า หน่วยงานของรัฐไม่มีสิทธิ์มาให้อภัยแทน และอีกอย่างที่ซับซ้อนกว่าคือ คนที่ถูกกระทำจริงๆ ตายแล้ว ตัวฉันเองก็ไม่มีสิทธิ์ให้อภัย ถ้าให้อภัยก็ให้ในแง่ที่เป็นเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบ นี่คือความซับซ้อนของมัน

ถ้าถามว่า การขออภัยในแง่ทางการเมืองทำได้หรือเปล่า มันก็เป็นไปได้ ปอล ริเกอร์ บอกว่า ความสำคัญมันไม่ได้อยู่ที่ว่าคุณจะได้รับการให้อภัยไหม ความสำคัญมันอยู่ที่การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์บางอย่างเพื่อที่จะทำให้คุณไม่ลืม เช่น นากยกรัฐมนตรีเยอรมัน วิลลี บรันท์ (Willy Brandt) ไปคุกเข่าที่วอซอว์ (ในกรณีนาซี) คำถามว่าใครให้อภัยได้มันอาจไม่สำคัญที่นั่น มันสำคัญที่ว่า ทำให้การแสดงออกแสดงออกเชิงสัญลักษณ์นั้นเป็นการย้อนทวนความรุนแรงที่มันเกิดขึ้นในอดีต เพื่อที่เราจะไม่ลืม เพราะว่าอะไร เพราะว่าความรุนแรงในเอาชวิตซ์ หรืออะไรก็แล้วแต่ เรามีหนี้ต่อผู้ตาย นั่นคือ หน้าที่ที่จะไม่ลืมความรุนแรงที่เกิดขึ้น

ดังนั้นในประวัติศาสตร์ เรามีคำว่า account หรือ อธิบาย ในขณะเดียวกัน มันมีคำว่า count อยู่ในนั้น ปอล ริเกอร์ บอกว่า เราต้องนับศพเหยื่อไปด้วย และต้อง account เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ให้แจ่มชัด ทำให้เราไม่ลืมความรุนแรงครั้งนั้น แล้วเราก็จะไม่ทำให้ความสูญเสียนั้นเป็นสิ่งไร้ค่า

เพราะเขาเชื่อว่า ถ้าเราสามารถที่จะจำความรุนแรงนั้นได้ มันไม่จำเป็นต้องเกิด แล้วมันไม่ใช่เรื่องที่เกิดซ้ำจำเจ หรือ banality ที่มันเกิดขึ้นได้โดยที่เราไม่สามารถป้องกันได้ เขาไม่คิดว่ามันไม่เป็นอย่างนั้น

อย่างในงานครบรอบ 40 ปี 6 ตุลา อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ก็เปิดรูปผู้เสียชีวิตทั้งหมด แล้วบอกชื่อทุกคน แบบนี้ก็เหมือนกันใช่ไหม

เรื่อง 6 ตุลา ที่ผ่านมา บางคนฟังอาจารย์ธงชัยพูด เขาก็บอกว่า รื้อฟื้นขึ้นมาทำไม อันนี้ผมเข้าใจเลยว่าทำไมถึงต้องนับชื่อคนตายทีละคน เพราะว่าเราต้องนับศพในขณะที่อธิบายหรือเล่าเรื่องทางประวัติศาสตร์ เพราะเราเป็นหนี้บุญคุณต่อผู้ตาย ไม่ใช่ในแง่ที่เขาอยู่ในความทรงจำของเราเท่านั้น แต่ในแง่ที่ว่า อะไรหลายๆ อย่าง ความคิดหลายๆ อย่าง ที่คนตายเหล่านั้นยึดถือ และพยายามที่จะสร้างสังคมขึ้นมา ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นไปตามนั้นก็ตาม แต่เราก็เป็นหนี้เขา เราสามารถเอาความหวังดีหลายๆ อย่างที่เป็นโครงการที่ไม่สำเร็จมาดูว่า มันมีอะไรดีบ้าง เพราะสิ่งที่เขาพยายามทำมันเป็นเงื่อนไขให้เกิดสังคมของเราในปัจจุบันนี้

ดังนั้นมันก็โยงไปถึงเรื่อง forget กับ forgive คือถึงที่สุดแล้ว โอเค ญาติของเหยื่ออาจจะให้อภัย แต่แน่นอนว่าเราให้อภัยแบบไม่ลืม อีกอย่างหนึ่งก็คือ แม้ 40 ปีผ่านไป แต่บางครั้งผลกระทบด้านความรู้สึกสำหรับบางคนมันนานกว่านั้น ดังนั้นยังไม่ต้องไปเรียกร้อง ไม่ต้องไปบังคับเขาให้ได้ว่าต้องให้อภัย บางครั้งของพวกนี้ไม่เคยเกิดขึ้นเลยในชั่วชีวิตคนคนหนึ่งด้วยซ้ำไป คือไม่สามารถที่จะให้อภัยได้

แต่บางคนก็เกิด เช่น กรณีแอฟริกาใต้ ผมเคยอ่านว่า มีผู้ชายคนหนึ่งได้รับฟังสื่อเป่าหูจากฝ่ายของตัวเอง แล้วสุดท้ายก็ไปลงมือฆ่าคนอีกชาติพันธุ์หนึ่ง ทีนี้ก็มีครอบครัวหนึ่งที่เขาฆ่า ผู้หญิงคนหนึ่งถูกผู้ชายคนนี้เอามีดไล่ฟัน แล้วผู้หญิงเอาแขนขึ้นมารับ โดนฟันแขนขาด แต่ไม่ตาย เวลาผ่านไป สองคนนี้มาเจอกัน เพื่อเข้าสู่กระบวนการคุย คุยๆๆ อย่างต่อเนื่อง แล้วสุดท้ายสองคนนี้ก็เป็นเพื่อนกัน ในแง่นี้เราอาจเรียกว่าการให้อภัย นี่คือความยากของมัน คือมันดีก็จริง แต่มันเป็นของที่คล้ายๆ กับ…ทำได้ก็ดี คือบางครั้งมันไม่สามารถที่จะให้อภัยได้ในช่วงเวลาอันสั้น

คนไทยเราอาจจะไม่เข้าใจ ไม่มีความสำนึกเรื่องของปัจเจก บางอย่างที่ทำให้ตระหนักว่าตัวเองมีตัวตนที่ต้องนับถือตัวเองได้ เพราะฉะนั้นคำสอนบางอย่าง เช่น ศาสนาพุทธ ให้อโหสิกรรมไป มันก็เลยเหมือนกับมีปัญหาบางอย่างที่เป็นความรุนแรงซ้ำสองต่อญาติของเหยื่อที่เราไม่ได้ตระหนักถึง

ประเด็นพิธีกรรมการให้อภัยทำเพื่อไม่ให้เกิดการลืม แต่ในไทยคำว่า ‘อโหสิกรรม’ หรือพิธีกรรมที่เกิดขึ้น คือการลบล้างมันไป มันค่อนข้างจะปะทะกัน?

อนิจจังอาจจะทำงานดีมากในสังคมไทย dialectic (วิภาษวิธี) ก็เลยไม่ทำงาน (หัวเราะ)

อย่างตะวันตกมันจะมีสำนึกบางอย่าง แม้แต่ในอดีตก็ตาม เรื่องของการให้คุณค่ากับการกระทำบางอย่างหรืออัตลักษณ์ของตัวตนกับเรื่องเล่า อย่างพวกยิวก็มีคัมภีร์ของเขา เล่าความเป็นมาของตัวเอง แต่คนไทยอาจจะไม่ได้มีความสำนึกในเรื่องนี้ ที่จะประกอบสร้างความเป็นตัวเองผ่านเรื่องเล่าต่างๆ แล้วพอชีวิตเป็นอนิจจังมากๆ ไม่แน่นอน มันก็เลยกลายเป็นปล่อยวาง

เมื่อเรายึดถือคุณค่าต่างกัน อย่างตะวันตกเขายึดถือว่า การให้อภัยคือการทำให้ไม่ลืม แต่ของเรายึดว่าการให้อภัยคือการลืม การลบล้างมันไป ก็เลยยึดถือคุณค่าบางประการ ทำให้เราไม่ได้สนใจว่าเราต้องรื้อฟื้นมันขึ้นมาหรือเปล่า จึงเป็นที่มาของคำพูดว่า “พูดขึ้นมาทำไม”

มีนักปรัชญาฝรั่งเศสคนหนึ่งตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่อง self ผมคิดว่าประเด็นเรื่อง self หรือตัวตน มันน่าจะโยงด้วย อย่างสังคมตะวันตกเขาจะให้ความสำคัญกับตัวตนในฐานะที่เป็นตัวรับผิดชอบต่อการกระทำที่เราแสดงออกไป ตัวตนมันก็เลยสำคัญ แต่มโนทัศน์เรื่องตัวตนของศาสนาพุทธคือ no self บางทีเราอาจจะยังเข้าใจมันไม่พอก็ได้ ว่ามันหมายความว่ายังไงกันแน่ มันเป็นไปได้ไหมที่เราจะรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเราเอง โดยเรามีความเข้าใจเรื่องไม่มีตัวตน ความไม่มีตัวตนมันเป็นไปได้หรือเปล่า จริยศาสตร์มันเป็นไปได้อภิปรัชญาแบบพุทธศาสนาหรือเปล่า

พอเราไม่ได้คิดเรื่องนี้ เราก็ยกทุกอย่างไปให้กฎแห่งกรรม สุดท้ายแล้วความยุติธรรมที่เกิดขึ้นจากผลของการกระทำมันไปที่กฎแห่งกรรมหมดเลย ไม่จำเป็นที่จะต้องไปจดจำหรือรื้อฟื้นรื้อแค้นอะไร ก็ปล่อยให้เป็นไปตามกฎธรรมชาติ บางทีปล่อยไปมันก็สบายใจดีในแง่ของศาสนา ในแง่จิตใจ ปลอดโปร่ง ไม่แค้น เราก็ทำอย่างอื่นได้

เป็นไปได้หรือเปล่าว่า จริงๆ แล้วทุกศาสนาก็อยากให้จบที่การปล่อยวางเหมือนกัน

ลึกๆ แล้ว ในแง่ของศาสนา ไม่ว่าพุทธหรือคริสต์เอง อย่างหนังเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจมาก คือ Secret Sunshine ตัวละครเป็นผู้หญิงที่สามีตาย ก็ย้ายไปอยู่ในเมืองที่สามีตัวเองอยู่ตั้งแต่เด็ก แล้วก็พาลูกไปด้วย สุดท้ายลูกโดนจับไปเรียกค่าไถ่ เพราะว่าตัวเองไปพูดเรื่องจะซื้อที่ดิน คนขับรถรับส่งเด็กก็จับเด็กคนนี้ไปแล้วฆ่า เธอก็รู้สึกผิดมากที่ปล่อยให้ลูกอยู่คนเดียว ก็นำเธอไปสู่ศาสนาคริสต์ แล้วก็พยายามเยียวยาตัวเองด้วยการเข้าไปอยู่ในกลุ่มพูดคุย สวดมนต์ สุดท้ายก็ทำใจได้ คิดว่าตัวเองจะให้อภัยได้

แล้วมีตัวละครตัวหนึ่งเป็นผู้ชาย จะคอยตามตื๊อเธอเสมอๆ ไปรับไปส่ง คนนี้ก็พาไปที่เรือนจำ เพื่อที่จะพาผู้หญิงคนนี้ไปพบกับคนที่ฆ่าลูกเธอ ระหว่างทางก็ยิ้มแย้มมากเลย เก็บดอกไม้จะเอาไปให้ แต่พอเจอปุ๊บ ทำไมคนที่ฆ่าลูกฉัน ที่ฉันจะมาให้อภัย เขายิ้มแย้มแจ่มใส ดูไม่มีความทุกข์อะไร ผู้หญิงคนนี้ก็บอกว่า ฉันมาให้อภัยคุณ ผู้ชายก็บอก พระเจ้าได้ให้อภัยฉันแล้ว นี่คือจุดตั้งต้นของปัญหา ผู้หญิงคนนี้บอกว่า พระเจ้าเป็นใคร ถึงมาให้อภัยแทนฉันได้ มันก็เลยเป็นเรื่องซับซ้อนอยู่ว่า ตกลงแล้วการให้อภัย มันคือใครให้อภัยใคร

แล้วความสำคัญของการให้อภัยคืออะไร ถ้าเรานับถือคนละศาสนา เช่น ผู้หญิงคนนี้จะให้อภัยก็ต่อเมื่อผู้ชายคนนี้ขออภัย แต่ผู้ชายบอกว่า พระเจ้าให้อภัยฉันแล้ว แบบนี้ความสำคัญของการให้อภัยในระดับจิตใจคืออะไรกันแน่

จริงๆ การให้อภัยพูดแบบกว้างที่สุดเลยก็คือ ทำให้เราอยู่กันได้ อยู่กันได้ยังไงโดยที่เรายังเป็นตัวเรา เขาก็ได้เริ่มทำอะไรใหม่ อยู่ได้โดยที่ไม่รู้สึกผิดมากเกินไป

ในศาสนาพุทธ ฟังก์ชั่นของการอโหสิกรรม ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด ผมคิดว่า เวลาคนอโหสิกรรมกัน หมายความว่า ไม่อยากให้ผลของการกระทำนั้นส่งผลอีกต่อไปแล้ว ไม่แน่ใจด้วยซ้ำ ว่าเมื่ออโหสิกรรมแล้ว คือไม่ต้องมีคนขอก็ได้ไง คือมีผลกระทบต่อตัวผู้ให้ ถ้าฉันอโหสิกรรมให้ ชาติหน้าอย่ามีผลอะไรกันเลย ก็อาจจะเป็นคนละความหมายกับของตะวันตก

แต่มันทำงานแบบเดียวกันได้ไหม คิดว่าทำได้ การให้อภัยมันก็เกิดขึ้นเพื่อให้เราอยู่กันได้นี่แหละ แต่ทีนี้ทำยังไงเราถึงจะมีเซนส์ของความเป็นสมัยใหม่ในตัวคอนเซ็ปต์เหล่านี้ให้มากขึ้น อย่างเช่น ความสำนึกว่าตัวเราเป็นคนคนหนึ่ง เป็นปัจเจก ตัวเขาด้วย ดังนั้นเราก็คุยกันในฐานะปัจเจก ไม่ใช่ในฐานะที่มีชุดคำอธิบายใหญ่กว่านั้น เพื่อที่มาจัดความสัมพันธ์ระหว่างเรา เช่น คำสอนทางศาสนา โอเค มันทำให้เราเข้าใจตัวเรากับตัวเขามากขึ้นนั่นแหละ แต่ถึงที่สุดแล้วเราก็ไม่ควรจะลืมตัวเขาในฐานะคนคนหนึ่ง ว่าคนคนหนึ่งทำอะไรได้บ้าง มีความทุกข์ มีความสุข ได้ ในระดับของปัจเจก ทำยังไงให้ตัวเราอยู่ต่อไปได้ ทำยังไงให้อีกคนหนึ่งก็อยู่ต่อไปได้เหมือนกัน แล้วอยู่ต่อไปได้ยังไง อ้าว ก็ให้อภัยเขาก็รู้สึกได้รับการปลดปล่อยแล้วจากการกระทำในอดีตของเขา เขาเริ่มใหม่ได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องอยู่ในคุกอยู่ดี เพราะว่านั่นคือ rule of law นิติธรรม

ถ้าการให้อภัยเพื่อปลดปล่อยภาระจิตใจของตัวเอง มันคือการต้องสื่อสารให้เข้าใจกันระหว่างผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำหรือเปล่า ดังที่ว่า คิดคนละคอนเซ็ปต์ นับถือคนละศาสนา

ความแตกต่างของความเข้าใจสองชุด ฝ่ายหนึ่งอ้าง forgiveness หรือการให้อภัยเป็น universal (สากล) เช่น บอกว่าหลักสิทธิมนุษยชนเป็นสากล จริงๆ คอนเซ็ปต์ของสิทธิมนุษยชนเป็นของตะวันตก มันเกิดจากการปฏิวัติฝรั่งเศส มีความสำนึกความเป็นปัจเจกเชื่อมโยงกันต่อมา แล้วก็พัฒนากลายเป็นคอนเซ็ปต์ว่า มนุษย์เหมือนกัน มีสิ่งที่มีคุณลักษณะเหมือนกัน แต่จริงๆ แล้วมันก็มีความต่าง

ที่อ้างแบบนี้มันคืออ้างแบบสากล เช่น ผู้หญิงในตะวันออกกลางต้องถูกตัดคลิตอริส คำถามคือ ผู้หญิงควรมีสิทธิ์ในร่างกายตัวเองและความพึงพอใจทางเพศไหม ถ้าอันนี้คือเราอยากให้เป็นสากล เราคิดว่ามันเป็นสากล แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ มันขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม แต่ถ้าเราคิดว่าอยากให้เป็นสากลต้องทำยังไง ก็คือต้องผ่านการสนทนา หรือว่า dialogue เพื่อที่จะหาข้อถกเถียงที่พอจะรับได้ทั้งสองฝ่าย เช่น ฝ่ายนี้คิดว่าอย่างนี้ อีกฝ่ายหนึ่งเสนอแบบนี้ ก็มาคุยกันว่าอะไรที่มันพอจะเป็นไปได้ แล้วนำไปสู่การยอมรับความเข้าใจบางอย่างที่มันจะขยายขอบเขตความเข้าใจทั้งสองฝ่าย ฉันเข้าใจเธอว่าเธอเป็นอย่างนี้ นี่ก็เข้าใจคนนี้ว่าเป็นอย่างนี้ แล้วมันก็ก่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน ในขณะที่ไม่ได้หมายความว่าจะคิดเหมือนกัน แต่ว่าเข้าใจร่วมกัน

อย่างเช่น คุณเข้าใจคอนเซ็ปต์เรื่องการให้อภัยแบบนี้ ฉันเข้าใจแบบนี้ เรามาคุยกันว่าทำยังไง ฉันอยากจะเรียกร้องสำนึกความเป็นปัจเจก แล้วก็การเคารพตัวเอง ซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานของความคิดปัจเจกชนนิยม (individualism) แล้วทำยังไงถ้าไม่มีคอนเซ็ปต์นี้ ก็มาคุยกัน คือมันมีแต่การคุย การคุยก็คือการแปลภาษาภายในของตัวเราไปเป็นอีกภาษาหนึ่ง แล้วก็รับเอาภาษาของเขามาอยู่ในความคิดของเรา เพื่อที่จะทำความเข้าใจกัน มันไม่มีทางอื่นที่เราจะทำความเข้าใจร่วมกัน

อย่างเวลาเราด่า ไม่มีใครฟังเราหรอก เพราะว่ามีแต่พวกเดียวกันที่ฟัง คือ the same ไม่เข้าใจ the other หรือคนอื่น ด่าไปก็มันตัวเอง แต่ว่าทำยังไงถึงจะคุยกัน ก็ลดความรุนแรงของภาษา และอยู่ในข้อเสนอที่รับได้ทั้งสองฝ่าย อาจจะไม่ได้เหมือนโลกสวย แต่มันจำเป็นที่จะต้องทำให้ภาษามันคุยกันได้ นี่คือศักยภาพของภาษา ในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการจัดการกับความรุนแรง แทนที่เราจะทำให้เกิดความรุนแรงทางกายภาพ เราลดทอนความรุนแรงเหล่านั้นให้อยู่ในระดับภาษา เพื่อที่จะมาคุยกัน

การคุยที่ว่าหมายถึงการหาข้อตกลงระหว่างคอนเซ็ปต์ของการให้อภัยที่ไม่เหมือนกัน เพื่อที่จะใช้ชีวิตหรือทำอะไรต่อไปได้ใช่ไหม

คอนเซ็ปต์การให้อภัยไม่เหมือนกันก็จำเป็นจะต้องคุย แล้วการคุยมันไม่ใช่กระบวนการเดียว บางทีมันอาจจะไม่ใช่การนั่งคุยกันก็ได้ อาจจะเป็นการเขียนบทความ การพูดคุยในปริมณฑลสาธารณะ เพื่อแลกเปลี่ยนกันว่า ความเข้าใจเรื่องการให้อภัย การขออภัย สิ่งเหล่านี้เราเข้าใจตรงกันได้หรือเปล่า มันนำพาไปสู่ผลเชิงปฏิบัติยังไง

แล้วความแตกต่างของการให้อภัยกับการยกโทษ?

การให้อภัยต่างกับการยกโทษยังไง คำพวกนี้มันอยู่ในเซ็ตเดียวกัน แต่ความหมายไม่เหมือนกัน การยกโทษคืออย่างเช่น บาทหลวงในเรื่อง Les Miserable ที่ไม่เอาผิดกับ ฌอง วัล ฌอง อันนี้คือการยกโทษ ในขณะเดียวกันอาจจะโยงกับการให้อภัยด้วย แต่มันมีนัยของการยกโทษ เพราะคุณไม่ต้องรับผิดทางกฎหมาย มันก็ไม่ใช่สิ่งที่เรากำลังหาอยู่หรือเปล่า เรากำลังหาอะไร เราหาคอนเซ็ปต์เรื่องการเข้าใจอดีต เพราะว่า forgive กับ forget มันโยงกับของที่เกิดขึ้นไปแล้ว

บางคนถึงฟังอาจารย์ธงชัยไม่เข้าใจ เรื่องเก่าทั้งนั้น มารื้อฟื้นทำไม ลืมไป ให้อภัยได้แล้ว จะมาฟื้นฝอยหาตะเข็บทำไม บางคนก็บอกว่าโหนคนตาย ทั้งที่เป้าหมายของการพูดคือ ไม่ให้ลืม เพราะว่าทำเพื่อคนตายนั่นแหละ นั่นคือความเข้าใจที่อาจจะยังไม่ตรงกันกับคนในสังคมเรากับนักวิชาการ หรือคนที่มีวิธีคิดอีกชุดหนึ่ง

สองคำนี้ควรอยู่คู่กันเลยใช่ไหม forgive กับ forget

ใช่ครับ ในรากศัพท์ภาษาตะวันตกมันจะมี prefix อย่าง forgive / forget ภาษาเยอรมันก็มีเหมือนกัน vergessen กับ vergeben ของพวกนี้รากศัพท์มันมาคู่กัน พวกนี้เขาจะชอบเล่นคำ อย่างที่ผมพูดไป count กับ account มันก็จะโยงกัน forgive กับ forget ก็จะโยงกัน แต่ถึงที่สุดแล้วมันเป็นของที่เกิดขึ้นได้ยาก แล้วบางทีมันกินเวลาเกือบทั้งชีวิต หรือทั้งชีวิตไม่สามารถให้อภัยกันได้เลย มันก็ต้องทำ

เพราะสิ่งหนึ่งที่เราควรจะต้องมีก็คือ ความหวัง ผมพูดเหมือนอาจารย์ธงชัย เราต้องหวังว่าอนาคตมันจะดีขึ้น เราถึงรอว่าเมื่อไหร่จะให้อภัย ใช่ไหม ถึงขั้นหนึ่งเราก็คงต้องปล่อยวาง แต่กว่าจะปล่อยวางได้ มันนาน แล้วการปล่อยวางมันไม่ใช่เรื่องของการคิดเชิงเหตุผลหรือปรัชญาแล้ว แต่มันเป็นเรื่องของความรัก ซึ่งให้อภัยได้ทั้งนั้น ไม่ว่าเขาจะทำอะไรก็แล้วแต่ ก็เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันในอีกระนาบหนึ่ง

ถ้าพูดให้ฟังง่าย การให้อภัยเป็นกลไกสำคัญสำหรับที่จะทำให้คนอยู่ร่วมกัน ในขณะที่การลืมจะเป็นการบ่อนเซาะตรงนี้ใช่หรือเปล่า

ใช่ครับ จริงๆ แล้วการจำคือหน้าที่ เราไม่ใช่แค่ไปรื้อฟื้นเพื่อความรู้ทางวิชาการ เวลาเราย้อนไปดูในอดีตที่เกิดความรุนแรงขึ้น การจำคือหน้าที่อย่างหนึ่ง เป็น ethical เป็นเชิงจริยศาสตร์ด้วยซ้ำไป เพราะเราจะไม่ลืมว่า มีคนที่ตาย มีคนที่ถูกกระทำอย่างรุนแรงเกิดขึ้น ถ้าเราลืมเมื่อไหร่ มันจะมีนักวิชาการฝ่ายขวาบางพวกที่บอกว่า holocaust ไม่เกิดขึ้นจริง พูดแบบนี้น่ากลัวมาก

การขอโทษมีเงื่อนไขใดบ้างที่อยู่ในการขอโทษนั้น เช่น ต้องไม่ลืม ต้องมีการชำระข้อมูล หรือคู่กรณีต้องมารับรู้เข้าใจด้วย

มันจะต้องขอโทษ สำนึกผิด แล้วก็เล่าเรื่อง ที่ต้องทำให้คนอื่นเข้าใจว่านี่คือการทำผิด แล้วตัวเขาเองก็จะย้ำเตือนว่า อันนี้เป็นสิ่งที่ผิด แล้วจะไม่ทำอีก สัญญาว่าจะไม่ทำกับใครอีก นี่คือเงื่อนไขที่กริสโวลด์เสนอ

บางคนก็บอกว่า อีกเงื่อนไขหนึ่งที่มันสำคัญเลยก็คือ ต้องลงโทษได้ การกระทำผิดไหนที่ลงโทษได้มันให้อภัยได้ แต่การกระทำผิดไหนที่ลงโทษไม่ได้ เป็น evil เป็นความชั่วร้าย คุณไม่มีทางที่จะให้อภัยคนที่กระทำความรุนแรงต่อคนใน holocaust ในเอาท์ชวิทช์ มัน beyond อำนาจของมนุษย์ไปแล้ว

คำว่าลงโทษได้ หมายความว่าเขาต้องรับโทษได้ด้วยหรือเปล่า

ไม่ใช่ครับ การกระทำนั้นต้องลงโทษได้

อย่างรมแก๊สชาวยิว มีอาจารย์เล่าให้ฟังว่า มันไม่ใช่แค่ยิงทิ้งแล้วก็รมแก๊สธรรมดา บางทีก็ให้เดินเข้าเตาเผาเอง นี่คือมันสุดๆ แล้ว มันไม่สามารถที่จะบอกใครให้อภัยได้ ไม่รู้ใครจะให้อภัยใครได้ มันก็เลยมีลิมิตของมัน

ถ้ามีการให้อภัยกันเกิดขึ้น เช่น กรณี 6 ตุลา วันหนึ่ง ทางญาติผู้เสียชีวิตเขาเกิดให้อภัยได้ อาจจะด้วยความรัก มันจะลดทอนความสำคัญของเหตุการณ์นั้นที่มีต่อสังคมไหม

ผมว่าไม่น่าจะลด เพราะว่าการให้อภัยมันไม่ได้อยู่ในปริมณฑลทางการเมืองหรือเป็นสาธารณะ โอเค อย่างการขออภัยของนายกรัฐมนตรีเยอรมันที่โปแลนด์ มันเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่จะย้ำเตือนถึงเหตุการณ์ว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้น แต่ในระนาบของปัจเจก มันเป็นเรื่องของจริยศาสตร์ ดังนั้นญาติจะอยู่ในวิสัยจะให้อภัยก็ได้ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความสำคัญของเหตุการณ์

การให้อภัยมันสำคัญตรงที่ว่า มันปลดเราจากอดีตที่มันจบไปแล้ว มันแก้อะไรไม่ได้ แต่เราจะเริ่มใหม่ ในแง่ของศีลธรรม เชิงจริยศาสตร์ ตัวญาติก็จะได้ไปข้างหน้า ตัวผู้กระทำก็จะได้รู้สึกว่าตนเองได้รับการปลดปล่อย แล้วก็จะได้เริ่มทำสิ่งอื่น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องมีคนขอโทษ เงื่อนไขสำคัญมาก นี่คือสาเหตุที่บอกว่า การให้อภัยมันยาก บางทีก็เป็นไปไม่ได้ เพราะตัวผู้ทำไม่สำนึกว่าตัวเองทำผิด

พวกฝ่ายขวาบางคนสมัยนั้นบอกว่า ทำถูกแล้ว ถ้าแบบนั้นก็ไม่มีทางที่การให้อภัยจะเกิดขึ้นได้ มันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีคนที่ทำงานกลางคอยประสาน แล้วมาเจอกัน เป็นอย่างคณะกรรมการสมานฉันท์ ผมไม่แน่ใจว่ามันจะทำได้

แต่เราพูดในแง่ว่าเป็นการขอโทษในแง่การชำระล้างจิตใจ แต่จะมีแบบหนึ่งก็คือ การขอโทษเพื่อการเมือง เราไม่รู้หรอกว่าจะจริงใจหรือเปล่า แต่เป็นการขอโทษเพื่อไถ่บาปให้กับตัวเองแล้วก็ยังอยู่ในสังคมต่อไปได้?

อันนั้นมันเหมือนกับขอโทษในอีกความหมายหนึ่ง ไม่ใช่ขออภัย ขอโทษในแบบนั้นมันเหมือนแสดงมารยาทว่าทำผิด แต่ไม่ใช่ขอโทษในความหมายว่าอยากให้ผู้กระทำให้อภัยต่อเขา

เหมือนเป็นการรักษาศักดิ์ศรี ให้สาธารณชนได้รับรู้ว่า ฉันได้ขอโทษแล้ว?

อันนั้นก็ไม่ได้อยู่ในความหมายของการขอโทษเพื่อที่จะได้รับการให้อภัย มันเหมือนกับพูดไปเพื่อแสดงมารยาท

การขอโทษมันมีหลายแบบ อย่างเช่น ทำผิด ทำหน้าที่แล้วมันบกพร่อง ขอโทษ มีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเอง คือ apologize เสร็จปุ๊บ ลาออก อันนั้นก็ไม่ใช่เรื่องของการกระทำความรุนแรงระหว่างรัฐกับประชาชน หรือระหว่างปัจเจกกับปัจเจก แต่มันเป็นความผิดพลาด อาจจะไม่ได้อยู่ในความหมายที่ผมพูดถึงอยู่ตอนนี้

อย่างกรณี 6 ตุลา ถ้าฝ่ายขวาไม่ได้รู้สึกว่าการกระทำนี้เป็นสิ่งผิด เขาจึงไม่ต้องขอโทษ แต่ว่าอีกฝั่งต้องการคำขอโทษ ฉะนั้นภาระอันหนักอึ้งนี้ก็จะไปอยู่กับคนที่ต้องการคำขอโทษมากกว่าใช่ไหม

นั้นคือสาเหตุที่ เจฟฟรี เมอร์ฟี บอกว่าความโกรธแค้นก็มีนัยพันธะทางศีลธรรม ดังนั้นคนเหล่านี้ก็มีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องให้คนที่ทำผิดเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย เรียกร้องให้เขาสำนึกผิด

อันนี้ผมคิดว่าสำคัญ ข้อเสนอของเมอร์ฟีเรื่องความโกรธแค้น เช่น มีผู้หญิงจีนคนหนึ่ง ที่สามีเธอถูกฆ่า แล้วใช้เวลา 17 ปี ตามตัวคนที่เป็นฆาตกรมาลงโทษได้ครบห้าคน อันนี้คือนัยทางศีลธรรมของความโกรธแค้น คือทำให้กฎหมายทำงาน ไม่ใช่ปล่อยไป นิรโทษกรรมทีหนึ่งก็ลืมกันไป ไม่มีใครต้องรับผิด อาจารย์ธงชัยเรียก ‘อภิสิทธิ์ปลอดความผิด’ (impunity)

ในกรณีผู้มีความผิดขอโทษต่อสาธารณชน จะเปลี่ยนใจผู้ที่ถูกกระทำได้หรือเปล่า

ก็คงเปลี่ยนได้ แต่ใครจะให้อภัยเขา คือเขาทำอะไรผิด ต้องไปดูตรงนั้น นี่เป็นสิ่งที่ผมคิดอยู่ แต่ยังไม่มีคำตอบ ฝ่ายที่พยายามเรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งขอโทษ ก่อนที่จะเริ่มต้นกันใหม่ทางสังคมการเมือง คำถามที่ยังไม่มีคำตอบของผมคือ มันต้องแค่ไหน ถึงจะต้องขอโทษ อย่างบางคนขอโทษเพราะเป็นบุคคลสาธารณะ ขอโทษกับอะไร ขอโทษต่อใคร และใครให้อภัยเขาได้

ทีนี้ ถ้าสมมุติเขาขอโทษ ทางจิตวิทยา เราคงรู้สึกว่า มันก็ยังรู้สึกสำนึกผิดเราก็พอใจ แต่สิ่งที่ติดค้างก็คือว่า เวลาเราเปลี่ยนความคิดทางการเมือง เราต้องแสดง public confession มากแค่ไหน แล้วพอพูดปุ๊บ การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์แค่นั้นใช่หรือเปล่า ต้องแสดงความรับผิดชอบอะไรบ้าง กับสิ่งที่คุณพลาด เพราะคนคือสิ่งที่ผิดพลาดได้ใช่ไหม ผมยังยืนยันเสมอว่า ประชาธิปไตยคือกระบวนการที่เป็นเรื่องของมนุษย์ แล้วมันพลาดได้ ไม่ใช่เรื่องของศีลธรรมอันดีเลิศ แล้วต้องหาคนดีมาปกครอง

บางกรณีที่ขอโทษ แล้วทำให้ยิ่งยอมรับว่าตัวเองผิด เขาจะกลายเป็นเป้าทำให้อีกฝ่ายมีความโกรธ โดนด่าหรือเปล่า หรือการขอโทษทางการเมืองแล้วฝ่ายตรงข้ามไม่ยอมรับ

นี่คือปัญหาว่า เราต้องสารภาพผิด ขอโทษในที่สาธารณะเรื่องอะไรบ้าง เพราะแต่เดิมเรารู้ว่าใครทำกับใคร อย่าง 14 ตุลา แต่ปัจจุบันปัญหาไม่ได้เป็นแบบนั้น ประชาชนทั้งสองฝ่ายไม่แน่ใจว่าจำนวนไล่เลี่ยกันหรือเปล่า แล้วก็ความคิดความเชื่อที่มันต่างกัน ถ้ามองจากจุดยืนของใคร ทุกคนก็คิดว่าตัวเองถูก ไม่มีใครคิดว่าตัวเองจะผิด ถ้าวันดีคืนดีเกิดผิดขึ้นมาก็จะเป็นคนทรยศ

มันซับซ้อนกว่าเดิม นี่คือสาเหตุที่ว่า ผมอาจจะรู้สึกไม่ค่อยมีความสุขมากนัก กับบางคนที่บอกว่า ถ้าคุณเปลี่ยนความคิดทางการเมือง ต้องสารภาพ ก็ต้องถามกันต่อไปว่าแค่ไหน ถึงกับต้องเขียนออกมาเป็นข้อเขียนหรือพูด หรือว่าคนระดับไหนถึงไม่ต้อง ผมคิดว่าอาจจะต้องแยกนิดหนึ่ง ไม่อย่างงั้นคุณก็จะโดนติดป้าย พอติดป้ายก็เหมารวมเรียบร้อยแล้ว ไม่มีทางที่คุณจะเปลี่ยนไดนามิกของการสนทนา ก็ต้องแบ่งเป็นฝ่าย แล้วก็วันที่เมื่อไหร่จะปะทะกัน

ถ้าไม่พูด อาจจะมี area คอยค้ำยันอยู่ แต่ถ้าพูดขอโทษ เส้นตรงนี้ถูกตัดออก ทำให้เกิดการปะทะ แล้วแย่กว่าเดิม

ในแง่นี้ ซีโมน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir) อาจจะพูดได้ฟัง ความคลุมเครือบางทีมันทำให้เราเป็นอย่างอื่นได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณสารภาพปุ๊บ คุณจะกลายเป็นคนผิด แล้วคุณเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากเป็นคนผิด แล้วพอเป็นอย่างนี้ก็จะกลายเป็นถูกตราว่าทำผิด แล้วก็จะเป็นเป้า โดนวิจารณ์

ประเด็นนี้ผมว่าน่าเอาไปคิดต่อ บางทีสารภาพมันก็เหมือนตีตราให้ตัวเอง ทำให้มองด้านเดียว ทั้งที่กว่าเขาจะเชปความคิดทางการเมืองหรือความเปลี่ยนแปลงของเขามันต้องใช้เวลา แล้วก็การแลกเปลี่ยนพูดคุย บางคนตั้งแต่ปี 49 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน เปลี่ยนไปมาก เราก็ควรที่จะให้โอกาสกันไหมล่ะ

ถ้าจะอยู่ด้วยกันต้องพูดคุยให้มากขึ้น ถ้าคุยแต่ฝ่ายตัวเองเป็น narcissus ก็ได้ยินแต่เสียงตัวเองก้องไปก้องมา ไม่ได้ยินเสียงอีกฝ่ายหนึ่งว่าเขาต้องการอะไร

ผมสังเกตเห็นบางคนเขาก็ค่อยๆ เปลี่ยน ก็ค่อยๆ คุย เขาก็จะเห็นว่าสิ่งที่เราต้องการสื่อคืออะไร ขณะเดียวกันเราก็ต้องฟังเขา ฟังแบบจริงๆ ว่าเขาต้องการอะไร

ถ้ามองในสังคมการเมืองของไทย การให้อภัยกันแสดงถึงความใจกว้างด้วยใช่ไหม

ใช่ครับ บางทีเราพูดคุยกัน คือคนเรามันผิดได้ไง แล้วทีนี้เขาจำเป็นแค่ไหนก็เป็นคำถามที่เราจะต้องมาคิดว่าต้องสำนึกผิด แล้วต้องขอโทษในที่สาธารณะ บางทีมันไม่ใช่ความผิดของเขาหรือเปล่า บางคนก็ควรจะผิด เป็นบุคคลสาธารณะ พูดอะไรมีผลกระทบเยอะแยะ

แต่การให้อภัยแสดงถึงความใจกว้างหรือเปล่า อันนี้ก็เป็นปัญหาอีก เช่น เวลาไปขออภัย โกรธมากเลยนะ แต่เราจำเป็นต้องให้อภัย ประสบการณ์ส่วนตัวเห็นได้ชัดเลย ว่าเวลาโกรธ จะไปขอให้เขาคุยทันทีทันใด เป็นไปไม่ได้ มันต้องใช้เวลา นี่คือสิ่งที่ผมพูดถึงคำว่า self-respect ความเคารพตัวเอง ก็ต้องให้เวลาเขา เป็นขั้นตอนหนึ่ง ถึงเวลาก็คุยกัน

ดังนั้น เวลาเราบอกว่า ให้อภัยเถิด คนไทยเป็นชาวพุทธไม่ใช่เหรอ ไปโกรธแค้นทำไม โกรธแค้นแล้วมันไม่ดีกับตัวเอง เป็นยาพิษ พอพูดแบบนี้ก็ อ้าว ต้องให้อภัย

ผมชอบมาก มีอยู่ครั้งหนึ่ง เด็กวัยรุ่นคนหนึ่งไปทำผิดอะไรกับพระสักอย่าง คนนี้ไปขอโทษ พระก็ถีบ คือไม่ค่อยดีหรอกนะ แต่มันให้ภาพที่มัน contrast กับความคาดหวังของคนบ้างก็ดี คือไม่ใช่ว่าไปขอโทษแล้วคุณจะได้รับการให้อภัยตลอด โดยเฉพาะมีคนไปถ่ายรูป ตามข่าว

ผมก็เลยคิดว่า บางทีการขอโทษเอง ถ้ามันถูกทำให้เป็นสาธารณะ แล้วมีข้อเรียกร้องว่าจำเป็นที่จะต้องให้อภัย มันเป็นความรุนแรง เพราะไปพรากเอาอำนาจที่เขาพึงมีได้ เขาอาจจะเสียอะไรไปมากมาย สิ่งหนึ่งที่เขาให้ได้ก็คือ การให้อภัย คุณจะไปพรากเอามาจากเขาอีก นี่มันรุนแรงสองเท่าเลยนะ

ถึงที่สุดแล้วก็ เขาสูญเสียไปแล้ว ก็ควรจะมีของบางอย่างในตัวเขาที่อยู่ในอำนาจเขาจะให้หรือไม่ก็ได้ แต่พออภัย ขออโหสิกรรม เออ ไม่เป็นไรหรอก แต่ในใจแค้น มันไม่มีประโยชน์อะไร

จริงๆ แล้วการให้อภัยดูเป็นเรื่องง่าย แต่พอเราอ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จบลง มันอาจจะมีคำถามขึ้นว่า ทำไมต้องทำให้เรื่องง่ายๆ กลายเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและต้องคิดลึก ต้องคำนึงถึงอะไรมากมาย

ผมคิดว่าปัญหาอย่างหนึ่ง คือสังคมไทยเราอาจจะขาดสิ่งที่เรียกว่า seriousness คือความจริงจังบางอย่าง จนทำให้คิดว่าสิ่งต่างๆ เป็นสิ่งเล็กๆ

ผมชอบงานของ อรุณธตี รอย อันหนึ่ง เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ มันมีข้อความที่เขาพูดว่า อะไรที่เป็นเรื่องง่ายก็ทำมันในฐานะที่เป็นเรื่องง่าย อะไรที่มันซับซ้อนก็ต้องคิดว่ามันซับซ้อน อย่างทำให้เรื่องซับซ้อนเป็นเรื่องง่าย หรือเรื่องง่ายเป็นเรื่องซับซ้อน แล้วผมก็คิดว่า การให้อภัยไม่ใช่เรื่องง่ายๆ มันเป็นเรื่องซับซ้อน เพราะมันมีคนถูกกระทำจริง แล้วคนทุกข์มันไม่ได้มีแค่คนถูกกระทำ คนกระทำก็ทุกข์ ดังนั้นทำยังไงถึงจะเข้าสู่กระบวนการคุยกันได้ แล้วนำไปสู่การให้อภัย แล้วได้เปิดศักยภาพของความเป็นคนของทั้งสองฝ่าย อีกคนหนึ่งก็จะได้รักคนอื่นได้ เปิดโอกาสให้ตัวเองไปปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น

คำพูดหนึ่งของ จูดิธ บัทเลอร์ (Judith Butler) เมื่อสองปีที่แล้ว ในงาน PEN สมาคมภาษาและหนังสือ แกพูดว่า คนเราสูญเสียคนที่ตัวเองรักไป ที่เราโกรธแค้น ไม่ใช่เพราะเราสูญเสียคนคนหนึ่งไป แต่มันเสียตัวเราส่วนหนึ่งไปด้วย สูญเสียตัวเอง บางคนถึงเป๋ นี่คือสิ่งที่มันรุนแรง สิ่งที่กระทำต่อตัวเรามากที่สุด

แต่เราก็ไม่ควรที่จะแค้นนานเพราะอะไร เพราะสิ่งที่เรารักที่จากเราไปแล้วให้ไว้ในตัวเราที่ล้ำค่ามาคือ ความจริงของชีวิตที่ว่าชีวิตมันไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นคนที่เรารักหรือเป็นคนที่เราเกลียด สักวันก็ต้องสูญเสียไป ดังนั้น เราก็ควรที่จะเปิดตัวเองเพื่อเริ่มความสัมพันธ์ใหม่ การเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ก็คือการเริ่มต้นการกระทำใหม่

นี่คือทำไมปรัชญาหรือพวกนักทฤษฎี พวกคิดเชิงสังคมทั้งหลาย ถึงคิดเรื่องที่ง่ายๆ สำหรับคนไทย ไปคิดให้มันซับซ้อนทำไม จริงๆ แล้วมันไม่ใช่คิดให้มันซับซ้อน

Author

รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
จากผู้อ่าน WAY อดีตภูมิสถาปนิก ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตมาทำงานหนังสือ ต้นทุนด้านการอ่าน ความสนใจที่หลากหลายและลงลึก เขาจึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ทุกคนในองค์กรยอมรับ ยกเว้นรสนิยมทางดนตรี เพราะทุกวันนี้ยังต้องใส่หูฟังคนเดียวเงียบๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า