ผิดพริก – ผิดตัว?

 

 

ภาพประกอบ: กฤช เหลือลมัย

 

ดังที่ได้เคยคุยมาก่อนหน้าบ้างแล้วนะครับ ถึงประเด็นที่ว่า พริก (chilli) ไม่ใช่พืชพื้นเมืองดั้งเดิมของอุษาคเนย์ ดินแดนซึ่งเคยมีของเผ็ดเป็นพริกไทย กานพลู ดีปลี มะแขว่น กะเพรา ห่อวอ ฯลฯ เท่านั้น โดยของที่เผ็ดที่สุดในสมัยก่อนคือพริกไทยนั้น เคยถูกเรียกว่า ‘พริก’ ดังปรากฏร่องรอยลักษณะการเรียกกระจุกผมแบบขมวดปมกลมๆ ในโคลงชนชาติต่างภาษา ในศาลาทิศวัดโพธิ์ กรุงเทพฯ ว่า ‘หัวพริกหยิกหยาบเผ้า ผมเงาะ’ หรือ ออกขุนชำนาญใจจง ทูตไทยเรือแตกที่ต้องเดินทางระหกระเหินในป่าแอฟริกาก็บันทึกไว้ในนิราศที่แต่งขึ้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ต้นทางฝรั่งเศส ของท่านว่า ได้เห็น ‘คนหัวพริก’ เช่นกัน

พงษาวดารเมืองละแวก เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ก็มีระบุถึง ‘คนศีรษะพริก’ หมายถึงพวกที่เล่นในงานตรุษเขมร (เรือมตร๊ด) ด้วย

ครั้นเมื่อพริกเข้ามากับเรือสำเภาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 แรกเริ่มเดิมทีมันถูกเรียกว่า ‘พริกเทศ’ ก่อน ต่อมาคำว่าพริกก็ถูกพริกเทศฉวยเอาไปใช้ (ฟังดูงงดี) ทีนี้พริก (ไทย) เดิมก็เลยต้องกลายเป็นพริกไทย เพื่อให้เกิดความแตกต่างด้านนามเรียกในช่วงหลังจากนั้นไม่นาน

อักขราภิธานศรับท์ ของหมอบรัดเลย์เก็บคำว่าพริกเทศไว้ว่า “พริกเทษ, ต้นใบเหมือนพริกตุ้ม, แต่เมล็ดมันใหญ่เท่าด้ำมีดหมาก, สุกศรีแดง รศเผ็ด เปนเครื่องกับเข้า.”

เราจะเห็นว่า แม้ในช่วงต้นกรุงเทพฯ พริกก็ยังมีคำว่า ‘เทศ’ พ่วงอยู่ในวรรณกรรมหลายชิ้น เช่น สิงหไกรภพคำกลอน ที่สุนทรภู่แต่ง มีตอนหนึ่งที่แสดงความแปลกใหม่ของมันว่า “…พระไม่เคยจะเสวยพริกเทศเผ็ด เคี้ยวเข้าเม็ดหนึ่งก็น้ำพระเนตรไหล”

ใครที่ปลูกพริกเทศขาย ก็เริ่มจะถูกเก็บเบี้ยบ้ายรายทางกันแล้ว ดังอัตราเก็บอากรสมพัตสรที่กรุงศรีอยุธยาสมัยรัชกาลที่ 3 ให้ “…เก็บอากรพริกเทศไร่ละ 1 สลึง”

ในทางประณีตศิลป์ ช่วงนี้ก็เริ่มปรากฏร่องรอยเครื่องประดับกายอย่าง “…ปิ่นปักจุกพริกเทดจับปิ้ง” ซึ่งคงแสดงถึงความแปลกใหม่ของพริกเทศ จนช่างทองถึงกับเอามาทำจำลองห้อยแขวนประดับร่างกายกันเลยทีเดียว

โดยสรุป หลักฐานไทยเกือบทั้งหมดเท่าที่มี สนับสนุนสมมุติฐานการแพร่เข้ามาในสมัยอยุธยาตอนกลางของพริกเทศทั้งสิ้น…อย่างไรก็ดี มีหลักฐานเอกสารสองชิ้นที่ให้การขัดแย้งต่างออกไป เลยจะขอกล่าวถึงความไม่ชอบมาพากลของเรื่องนี้สักเล็กน้อยครับ

หลักฐานที่ว่าคือ ข้อความในจารึกอักษรเขมรโบราณ ภาษาสันสกฤต ประจำอโรคยาศาลสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์กัมพูชาสมัยต้นพุทธศตวรรษที่ 18 พระองค์โปรดฯให้สร้างโรงพยาบาลเอาไว้มากมายในพระราชอาณาเขต ปัจจุบันนักโบราณคดีพบในเขตประเทศไทยแล้วทั้งสิ้น 30 แห่ง ส่วนตัวจารึกสูญหายไปบ้าง พบเพียง 12 หลัก

ข้อความในจารึกเหล่านี้ต่างคัดลอกมาเหมือนๆ กัน กล่าวสรรเสริญถึงเกียรติคุณของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ความเชื่อในศาสนาพุทธมหายาน จำนวนเจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาล ตลอดจนตัวยาสมุนไพรหลักๆ ที่จ่ายมาจากราชสำนักเมืองพระนคร ซึ่งในจำนวนนี้ ระบุว่ามี ‘พริก’ รวมอยู่ด้วย

ถ้าเชื่อตามนี้ ก็แปลว่า ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ในกัมพูชาและไทยมีพริก (chilly) กินกันแล้ว

คำจารึกเหล่านี้ เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรอ่านและแปลไว้ แล้วมีการตีพิมพ์ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 4 (2529) ขอคัดส่วนที่มีคำว่าพริกปะปนอยู่มาให้พิจารณานะครับ

จารึกตาเมือนโต๊จ (พบที่ปราสาทตาเมือนโต๊จ สุรินทร์) ด้านที่ 3 โศลกที่ 7 มีคำ ‘ดีปลีผง’ (ปิปฺปลีเรณุ) โศลกที่ 10 มีคำ ‘พริกไทยพันธุ์ขาว’ (มริจํ) โศลกที่ 12 มีคำ ‘พริกขี้หนูก็เท่านั้น’ (มธุ ตาวานฺ ศุทฺโทถาสาวีรํ)

จารึกปราสาท (พบที่สุรินทร์) ด้านที่ 3 โศลกที่ 7 มีคำ ‘พริกผงและบุนนาค’ (ปิปฺปลิเรณุ ทีปฺยกมฺปุนฺนาค) โศลกที่ 10 มีคำ ‘พริกไทย’ (มริจํ)

จารึกพิมาย (พบที่ปราสาทหินพิมาย นครราชสีมา) ด้านที่ 3 โศลกที่ 9 มีคำ ‘พริกหนึ่งปรัสถะ’ (มริจํ ปฺรสฐ  เอกศะ)

จะเห็นว่า คำศัพท์สันสกฤตคำเดียวกัน กลับถูกแปลต่างๆ กันไปในจารึกแต่ละหลัก คือ มริจํ มีทั้งที่แปลว่าพริกไทยพันธุ์ขาว (ตาเมือนโต๊จ), พริกไทย (ปราสาท), พริก (พิมาย) หรือ ปิปฺปลิเรณุ มีทั้งที่แปลว่าดีปลีผง (ตาเมือนโต๊จ) และพริกผง (ปราสาท)

โดยเฉพาะโศลกที่ 12 ของตาเมือนโต๊จ ที่แปลออกมาได้ว่า ‘พริกขี้หนูก็เท่านั้น’ นับเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดทีเดียว

คำแปลชุดนี้จึงมีปัญหามาก และคงสร้างความสับสนงุนงงในการอ้างอิงเหตุที่มาของพริกในดินแดนแถบนี้ไปอีกนาน ตราบใดที่ยังไม่มีการทบทวนแก้ไขคำอ่าน – คำแปลให้กระจ่างกว่านี้

หลักฐานอีกชิ้นหนึ่งคือ กฎหมายพีสูทดำน้ำลุยเพลิง พ.ศ. 1889 เป็นเอกสารใบลาน ที่ถ้าดูตามตัวเลขศักราช จะมีปัญหาเช่นกัน เพราะระบุถึง “…พริกเทด กระเทียม หอม ตะไคร้ ข่า กระชาย สำหรับจะทำไก่…” ไว้ในตอนหนึ่ง อย่างไรก็ดี อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ปรมาจารย์ภาษาไทยคนสำคัญได้ตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีความเป็นไปได้ที่กฎหมายฉบับนี้จะถูก ‘ชำระ’ ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ผู้ชำระก็อาจเพิ่มพริกเทศ (ซึ่งเพิ่งแพร่เข้ามา) เสริมเข้าไปในข้อความเก่า หากยังคงศักราชเดิมครั้งแรกร่างในสมัยอยุธยาตอนต้นไว้ ตามธรรมเนียมการชำระเอกสารของบ้านเมืองแถบนี้ก็เป็นได้

เป็นเรื่องที่ต้องสะสางในทางวิชาการจารึกโบราณกันต่อไปนะครับ

เรื่องผิดพริก – ผิดตัวทำนองนี้ ชวนให้ผมนึกถึงอีกกรณีหนึ่งที่ดูเหมือนคล้ายกัน แต่ก็ไม่คล้ายเสียทีเดียวนัก

ราวเกือบ 10 ปีก่อน ผมได้ไปดูสวนพริกอินทรีย์ที่สมุทรสาคร ลุงคนสวนปลูกพริกหลายชนิดโดยไม่ใช้สารเคมี ทั้งยังพยายามสร้างเครือข่ายตลาดและการขนส่งเพื่อจัดจำหน่ายเองอย่างน่าชื่นชม แกชี้ให้ผมดูพริกขี้หนูเม็ดใหญ่ ผลยาวในแปลง แล้วบอกว่า “อันนี้ไง ที่ว่า ‘พริกขี้นก’ น่ะ”

ผมไม่ได้โต้แย้งอะไรในตอนนั้น ได้แต่เอามาเล่าสู่กันฟังกับเพื่อนๆ พี่ๆ ที่บางคนเป็นกูรูการกิน พวกเขาเห็นพ้องกันว่าเรื่องนี้ผิดแน่ๆ เพราะพริกขี้นกที่รับรู้กันมา คือพริกขี้หนูเม็ดเล็กๆ ที่ขึ้นเองในป่า เนื่องจากพวกนกไปกินพริกแล้วถ่ายมูลออกมา ในที่สุดเม็ดพริกในขี้นกก็งอกงามเป็นต้น ให้ฝักให้ผลที่เชื่อกันว่าเผ็ดจัดกว่าพริกธรรมดาที่คนปลูกทั่วไป พี่คนหนึ่งถึงกับเสนอว่า “นายต้องรีบไปบอกลุงเขานะ ว่าเขาเข้าใจผิด”

อย่างไรก็ดี ในภายหลัง ผมได้เห็นข้อความในเอกสารเก่าฉบับหนึ่ง (ต้องขอสารภาพว่า ขณะนี้ผมยังค้นต้นตอไม่ได้ว่าเป็นเอกสารอะไร แต่จำได้ติดตาติดใจเลยล่ะครับ สัญญาว่าถ้าหาพบจะรีบนำความมาแจ้งให้ทราบทันที) ที่บอกว่า พริกขี้นกนั้น ที่จริงเป็นพริกไทยจากมูลของนกที่กินเม็ดพริกไทยแก่แล้วถ่ายไว้ พวกหมอยาไทยนับกันว่าเป็นของวิเศษที่มีสรรพคุณในทางสมุนไพรอย่างดีเลิศกว่าพริกไทยทั่วไป

นิทานเรื่องพริกขี้นกนี้สอนให้รู้ว่า ของบางอย่าง กว่าจะมาถึงจุดที่เราเข้าใจเอาเองว่าใช่ ว่าเป็นนี้ มันอาจผ่านการเปลี่ยนแปลงมาแล้วหลายต่อหลายรอบ ดังนั้น การเที่ยวได้ไปชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ ชี้พริกขี้หนูเป็นพริกขี้นก ฯลฯ ก็ต้องระวังด้วยว่า จะเป็นการเอาความคุ้นชินของตัวเองไปครอบให้คนอื่นเขาหรือเปล่า

อันที่จริง เรื่องนี้ก็เป็นบททดสอบที่ท้าทายว่า เรา – ในฐานะปัจเจกบุคคล จัดการกับความเป็นอื่นทางวัฒนธรรมอาหารกันอย่างไร ครุ่นคิด ยอมรับ หรือกดขี่ ปฏิเสธความแตกต่างนั้น

ถ้าอยากลองทำแบบฝึกหัดเรื่องทำนองนี้ ลองใช้กรณี ‘พริกกะเหรี่ยง’ ที่ตอนนี้เริ่มเปลี่ยนแปลงคลี่คลายนิยามความหมายกันอย่างค่อนข้างหลากหลายดูก็ยังได้ครับ…

Author

กฤช เหลือลมัย
กฤช เหลือลมัย เป็นนักโบราณคดีผู้ขุดลึกลงไปในชั้นดินของความรู้ทางประวัติศาสตร์อาหารและรสชาติ เป็นทั้งนักเขียน-กวี เขียนรูป ทำอาหาร และนิยมเดินทางด้วยจักรยานไปตามพื้นที่รกร้าง เพื่อสอดส่ายสายตาหาพืชผักเพื่อนำมาประกอบอาหาร ในพื้นที่ของ WAY กฤช เหลือลมัย ได้ออกไปสำรวจพร้อมกับเครื่องมือขุดค้นทางโบราณคดี เพื่อนำหลักฐานทางอาหารและรสชาติมาวิเคราะห์สไตล์กฤช เหลือลมัย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า