อาณานิคมอาหาร

1

เรื่อง : รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์ / อภิรดา มีเดช

                                                                                                             ภาพ : สุทธิเกียรติ สิงห์คา                                   

ยุคสมัยของโคลัมบัส และการล่าอาณานิคมพ้นผ่านไปแล้ว ทุ่งทองแห่งเสรีภาพและเอกราชของทุกรัฐชาติผลิบานขึ้นแทนที่ ความเป็นมหาอำนาจในโลกเปลี่ยนมือจากค่ายยุโรป ไปสู่ประเทศเกิดใหม่อย่างอเมริกา ที่ยึดอำนาจกุมบังเหียนโลกมาตั้งแต่หลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

หลายคนเชื่อว่า ลัทธิอาณานิคมยังไม่หมดลมหายใจ มันแค่เปลี่ยนรูปกลายร่างไปสิงสู่อยู่ในสถานะอื่น จากที่เคยถือสิทธิ์ครอบครองแค่ผืนดิน กลายเป็นควบคุมทุกอย่าง ทั้งทรัพยากรโลก และชีวิตมนุษย์ โดยไม่ต้องยาตราทัพด้วยกองเรือเหมือนสมัยก่อน และกลุ่มอำนาจใหม่นี้ แฝงฝังตัวเองอยู่ทุกที่บนโลกในรูปแบบ ‘บรรษัท’ ควบคุมบงการได้แม้กระทั่งเก้าอี้ในสภาบางประเทศ

ว่ากันว่า งานของพวกเขาในยุคโคลัมบัสที่ 2 นี้ คือ ปล้นทรัพยากรทุกอย่าง เพียงเพื่อรับใช้ความร่ำรวยของคนเพียงไม่กี่คน

วันทนา ศิวะ เชื่อว่าอาหาร และทรัพยากรของโลกนั้นเป็นสมบัติ ‘สาธารณะ’ หากใครขวนขวายพยายามทำกำไรกับสิ่งเหล่านี้ โดยไม่สนใจผลกระทบที่เกิดขึ้น คนเหล่านี้สมควรถูกต่อต้าน ในฐานะพวกปล้นผลผลิตที่ควรถูกแบ่งสรรให้คนทั้งโลก

ทิ้งอาชีพนักฟิสิกส์ที่กำลังก้าวหน้าในอินเดีย วันทนามาเป็นนักเคลื่อนไหว เข้าต่อกรกับลัทธิอาณานิคมใหม่อย่างเต็มตัว จนบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเคมีภัณฑ์เกษตรกรรม หมายหัวเธอเป็นศัตรูหมายเลข 1

ว่ากันว่า ไม่ว่าที่ใดในโลก เมื่อวันทนาปรากฏตัวบนเวทีเสวนา จะมีคนจากบริษัทเคมีภัณฑ์เกษตรยักษ์ใหญ่แฝงตัวเป็นผู้ชมอยู่เสมอ หากเธอวันทนากล่าวอ้างถึงบริษัทที่ว่าเมื่อใด คนเหล่านี้พร้อมบันทึกเสียงและภาพเหตุการณ์ไว้เป็นหลักฐาน เพื่อเอาผิดทางกฎหมาย กำจัดเธอให้พ้นทาง

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา วิกฤตการณ์อาหารเกิดทั่วโลก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่าราคาอาหารกำลังขึ้นสู่จุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ

หลายประเทศในเอเชีย กำลังอยู่ในภาวะข้าวยากหมากแพง เกิดการเดินขบวนประท้วงในหลายประเทศ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บังกลาเทศ กลุ่มคนว่างงานในแอลจีเรีย และตูนิเซีย เดินขบวนประท้วง แย่งชิงอาหาร จนกลายเป็นการจลาจล ลุกลามถึงขั้นขับไล่รัฐบาล

ใครจะรู้ว่า วิกฤตเรื่องปากท้องที่ดูเป็นเรื่องไกลตัว วันทนา บอกว่ามันกำลังเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและลุกลามไปทั่ว ในขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่กลับสุขสบาย และเดินหน้ากอบโกยผลประโยชน์จากอาหาร-ทรัพยากรแห่งมวลมนุษยชาติต่อไป

++ ช่วยอธิบายให้ฟังหน่อยได้ไหม ทำไมคุณถึงจงเกลียดจงชังบรรษัทยักษ์ใหญ่ที่เกี่ยวโยงด้านอาหารนัก

          พวกบริษัทองค์กรใหญ่ มีจุดประสงค์เพียงข้อเดียวเท่านั้น คือทำกำไรสูงสุด โดยทำในนามนิติบุคคลถูกต้องตามกฎหมาย คอยฉกฉวยแต่ผลกำไร ไม่สนใจประชาชน คนพวกนี้ต้องป่วยเป็นโรคจิตแน่ๆ เมื่อคุณคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับมวลมนุษยชาติ กับครอบครัวเรา กับสิ่งมีชีวิตอีก 300 ล้านกว่าชนิดบนโลก แล้วอะไรคือจิตสำนึกในการอยู่ร่วมกันของเพื่อนร่วมโลก เราทำให้สิ่งมีชีวิตอื่นๆ มาอยู่ในครอบครองเสียทั้งหมด ท่ามกลางแนวคิด มนุษย์มีความสำคัญไปเสียทุกเรื่อง

มีคนรวยๆ บางคนคอยซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ ยกตัวอย่าง  พวกบริษัทที่ทำเงินจากการขายเมล็ดพันธุ์ให้ชาวนา จะรับซื้อผลผลิตกลับมาในราคาถูกๆ ซึ่งตัวชาวนาเองก็ไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกได้ เนื่องจากติดสิทธิบัตร

ในขณะที่หลายคนคิดว่า เรื่องเหล่านี้ ไม่ค่อยมีผลกระทบอะไรกับคนชั้นกลาง แต่อย่าลืม คนชั้นกลางเองก็ต้องกิน ต้องดื่ม ดังนั้น บริษัทเดียวกันที่ฆ่าชาวนา ก็ค่อยๆ ฆ่า ‘สุขภาพ’ ของคนกลุ่มนี้ด้วย

จริงอยู่ คนชั้นกลางในกรุงเทพฯ อาจไม่ได้เป็น 1 ในพันล้านคนที่ขาดแคลนอาหาร แต่พวกเขาก็เป็น 1 ใน 2,000 ล้านคนที่กำลังเผชิญกับโรคต่างๆ อย่าง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ถ้าพวกเขาอยากมีชีวิตที่ดี ก็ต้องใส่ใจกับอาหารที่กำลังจะกินเข้าไปด้วย นอกเหนือจากนั้น ก็ต้องใส่ใจชีวิตชาวนาที่ปลูกข้าวให้พวกเขากินด้วย

แต่ทุกวันนี้ ไม่มีใครมีสิทธิ์มีเสียง เราไม่มี ธรรมชาติไม่มี โลกไม่มี มีแต่บริษัทพวกนั้นที่มีสิทธิ์ทำอะไรก็ได้ เขาต้องการแต่ความรวย นั่นคือธาตุแท้ของพวกโรคจิต

++ นักรณรงค์อย่างคุณ คอยบอกให้พวกเราหันมาบริโภคพืชผลอินทรีย์ แต่อย่างที่เรารู้กัน ผลผลิตเหล่านั้นมีราคาสูง พูดง่ายๆ เป็นกิจกรรมของคนรวยเท่านั้น

ราคาของพืชผลอินทรีย์ที่แพง ไม่ได้แพงจากต้นทุนการผลิตส่วนเดียว แต่แพงเพราะไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ สำหรับเกษตรกรมันเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะพวกเขาสามารถเพาะปลูกพืชพันธุ์ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าด้วยซ้ำ ต่ำกว่ายังไง ก็ไม่ต้องซื้อปุ๋ย ยาฆ่าแมลง พวกเขาสามารถพึ่งตนเองในเรื่องเหล่านี้ ในทุกประเทศ รวมถึงในเมืองไทยด้วย น่าจะมีการอุดหนุนงบในการเพาะปลูกแบบไม่ใช้สารเคมี

ถ้าฉันเป็นบริษัทใหญ่ที่กำทั้งปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์ไว้ในมือ แล้วยังรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกร แน่นอนว่าฉันต้องรับซื้อจากพวกเขาในราคาถูกๆ       ขณะที่บริษัทเป็นใหญ่และควบคุมทั้งระบบเอาไว้ ราคาที่เกษตรกรขายให้ ย่อมต่ำกว่าต้นทุนที่ใช้ในการผลิต ช่องว่างระหว่างราคาผลิตผลที่แท้จริงกับราคาที่เกษตรกรขายได้ ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่เกษตรกร เพราะราคาที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ตัวสินค้า

อีกประการหนึ่ง เหตุผลิตผลออร์แกนิกที่ราคาสูงกว่า ก็เพื่อทำให้ผู้ผลิตที่รวมกลุ่มกันสามารถอยู่ได้ เพราะกว่าผลิตผลจะออกไป มันมีค่าใช้จ่ายด้านการขนส่ง บรรจุภัณฑ์ ถ้าจะให้ผลผลิตเหล่านี้ราคาต่ำลงมา ต้องได้รับการช่วยเหลือและสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ โรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์

++ คุณชอบพูดถึงเรื่อง ‘การขโมยผลผลิต’ เราอยากรู้นิยามของมัน

การขโมยผลผลิตพูดกันง่ายๆ คือ ผลผลิตจะไม่กลับคืนมาสู่คุณ เพราะมันถูกเก็บเกี่ยวไปโดยพวกบริษัทใหญ่ พวกเขาไม่ต้องเดินตากแดดตากฝนปลูกข้าว แค่เอาเมล็ดพันธุ์ที่ดัดแปลงแล้วมาให้ปลูก แล้วเอาผลผลิตไปทำกำไร แค่นี้พวกเขาก็ชนะแล้ว ชาวนาแพ้ เพราะบริษัทกำหนดกระบวนการและราคาไว้ตายตัว เรื่องราวมันเป็นอย่างนั้น นั่นคือการขโมย เรื่องการขโมยนี้ไม่ได้เกิดแค่ชาวนาคนใดคนหนึ่งนะ มันเกิดขึ้นกับทั้งโลก

++ แล้วเรื่อง ‘โจรสลัดชีวภาพ’ (Bio-Piracy) กับยุคล่าอาณานิคมใหม่ ช่วยขยายความหน่อย

การปล้นทางชีวภาพ คือการทำให้รูปแบบทางชีวภาพ และความหลากหลาย ลักษณะทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ เปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่น ลักษณะเฉพาะของข้าวหอมมะลิกับข้าวบาสมาติ มีกลิ่นหอมเฉพาะตัวของมัน ซึ่งผ่านการปรับปรุงพันธุ์จากชาวนา แต่บริษัทข้าวในเท็กซัส บอกว่าเขาเป็นคนคิดค้นมันขึ้นมา นั่นคือการปล้น

รูปแบบนี้เหมือนกับตอนที่โคลัมบัสได้รับม้วนสาส์น ‘เอกสารกรรมสิทธิ์’ (Letter Patent) มาด้วย ธรรมดาแล้วสาส์นนั้นต้องถูกปิดผนึกไว้ ถ้าเราจะส่งข้อความให้กษัตริย์ฝรั่งเศสเข้าร่วมรบด้วย ก็ต้องเป็นความลับ

จดหมายนั้นจะได้รับการเปิดผนึกก็ต่อเมื่อมันกำลังจะถูกประกาศออกไป เราจะพบว่า มันคือ เอกสารสิทธิ์ที่มีเนื้อความว่า “ในนามของพระราชินี ผิวขาว ชาวคริสเตียน แห่งอังกฤษจะเข้ามาปกครอง และทำให้ทุกอย่างเป็นของคนขาวทั้งหมด” เขามีสิทธิ์ทำอย่างนั้น มันเป็นเรื่องง่ายมากที่จะล่าอาณานิคม ขับไล่คนพื้นเมืองในละตินอเมริกา แอฟริกา ออสเตรเลีย หรือพื้นที่เอเชียบางส่วน

นั่นเป็นครั้งแรกที่การส่งเอกสารสิทธิ์นี้ปรากฏ เป็นการเข้ามายึดครองพื้นที่ แต่ทุกวันนี้ฉันเรียกมันว่า ‘การปล้นทางชีวภาพ – การมาถึงครั้งที่ 2 ของโคลัมบัส’ เพราะรูปแบบคราวนี้เปลี่ยนเป็นการลงทุน และการถือสิทธิบัตร หมายความว่าไม่ใช่การเข้าไปยึดครองแค่ผืนแผ่นดิน แต่เป็นสิ่งมีชีวิตทั้งหมด

2

 

++ เราทำอะไรได้บ้าง เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ

คุณรู้ไหม ในปี 1987 เมื่อฉันเริ่มรู้ว่าพวกบริษัททั้งหลายทำการปรับปรุงตัดแต่งพันธุกรรมของพืช นั่นคือจุดที่ฉันเริ่มคิดได้ว่า ต้องปกป้องเมล็ดพันธุ์ตามธรรมชาติเหล่านั้นไว้ ฉันได้แรงบันดาลใจมาจากความเชื่อเดิมเรื่องอาหารของฮินดู จึงตั้งกลุ่ม ‘นวธัญญะ’ ขึ้นมา เป็นโครงการระดับชาติ เพื่อต่อสู้กับการผูกขาดเมล็ดพันธุ์

นวธัญญะ คือธัญพืชศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อทางศาสนา 9 ชนิด เราจะปลูกพืชเกษตรไว้ 9 ชนิดในที่ของตัวเอง เพื่อเก็บรักษาสายพันธุ์พื้นเมืองของเราไว้ ความหลากหลายของพืช 9 ชนิดนั้น หมายถึงความหลากหลายของสารอาหาร 9 อย่าง จากความหลากหลายดังกล่าว ก็กระจายไปสู่สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และเข้าสู่ร่างกายเรา ทำให้ทุกอย่างสมดุลอย่างต่อเนื่อง

กลุ่มนวธัญญะ เริ่มเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางการเกษตร วัฒนธรรมอินทรีย์เน้นเรื่องระบบนิเวศเป็นสำคัญ เราหวังว่าสักวันเกษตรกรจะได้มีเมล็ดพันธุ์ของตัวเองในมือ และใช้เมล็ดพันธุ์เพาะปลูกในที่ของตัวเองได้อย่างเสรี และระบบเกษตรอินทรีย์จะถูกสถาปนาขึ้นมาอีกครั้ง

วัฒนธรรมใหม่คือการปลูกพืชเชิงเดี่ยว (ปลูกพืชแบบเน้นเป็นอุตสาหกรรม ชนิดเดียวหลายไร่) ฉันเห็นแต่ข้าวโพดทั้งนั้นเลย ฉันเห็นข้าวโพดทะลักออกมาจากอังกฤษ ออกมาจากอเมริกา เพราะต้องการผลผลิตที่มากขึ้น เข้ามาปลูกในไทย ในอินเดีย หากเราลองนับความหลากหลายตอนนี้ดูจะพบว่า มันมีแต่ข้าวโพด

การจะยกระดับวิถีเกษตรกรรมที่เน้นความหลากหลาย (ปลูกพืชเชิงซ้อน) เราต้องเพิ่มความหลากหลายของพืชผลในพื้นที่ เมื่อผลผลิตมากและหลากหลายขึ้น หมายความว่าจำนวนผู้หิวโหยจะน้อยลง หมายความว่าคนจน คนอดอยากต้องน้อยลง ถ้าเราทำได้อย่างนี้แสดงว่าเราสามารถปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพไว้ได้ นี่เป็นตัวอย่างความสมดุลของโลก เรื่องการเกื้อกูลกัน

++ ซึ่งความหลากหลายดังกล่าว เป็นสิ่งที่บรรษัทข้ามชาติเหล่านั้นไม่เห็นด้วย    ?

พวกนั้นไม่ใช่แค่ไม่เห็นด้วย แต่ตอบโต้กลับมาเลยต่างหาก ! (หัวเราะ)

ปี 1992 นิตยสารไทม์ มีรายงานเรื่องการเกษตร พวกเขาเดินทางไปรอบโลก และมาทำเรื่อง นวธัญญะ ในอินเดีย โดยสรุปออกมาว่า เป็นความท้าทายต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพมาก เพราะสามารถทำให้มีความหลากหลายทางชีวภาพในการทำเกษตรกรรม โดยเป็นเกษตรอินทรีย์ ไม่ต้องพึ่งสารเคมีและจีเอ็มโอ

นั่นทำให้พวกบริษัทยักษ์ใหญ่โกรธมาก พวกเขาตั้งใจจะให้รางวัลโกหก (Bullshit Award) กับฉันเลยทีเดียว ใช่…พวกเขาไม่มีความสุข เพราะพวกเขาอ้างว่าพืชตัดต่อพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอจะช่วยผู้ที่อดอยากได้ นอกจากนั้น ถ้าเกษตรอินทรีย์เกิดขึ้น ตลาดซื้อขายจีเอ็มโอก็อยู่ไม่ได้ พวกเขาเห็นเงินหลายพันล้านหลุดมือกลับไปสู่เกษตรกร ถ้าเกษตรกรสามารถควบคุมผลผลิต ทรัพยากรและกระบวนการทั้งหมดบนผืนดินด้วยตัวเองได้

แต่แน่ล่ะ พวกเขายังคงทำกำไรอย่างต่อเนื่องกับชีวิตขอเกษตรกร ชาวนา 200,000 รายในอินเดียเป็นฐานการผลิตให้พวกเขา และเมื่อกอบโกยเสร็จสิ้น สุดท้ายชาวนาก็ถูกทอดทิ้ง

ถ้าชาวนาสามารถพึ่งตนเองได้ พวกเขาก็หมดทางเข้ามาหากำไร ถ้าทรัพย์สินของเขามีพันล้าน ก็จะถูกกระจายไปสู่ชาวนามากกว่า 300 ล้านคนทั่วโลก ฉันพยายามพูดให้ชาวนาฟังว่า ‘อธิปไตยทางเมล็ดพันธุ์’ ก็คือ ‘อธิปไตยทางอาหาร’

++ ในความเป็นจริง เราจะสามารถมีชีวิตอยู่โดยไม่ต้องพึ่งพิงหรือเกี่ยวข้องกับบรรษัทยักษ์ใหญ่เหล่านั้นได้หรือ

โอ้ ! เราไม่เห็นต้องอยู่ร่วมกับเขาเลย บางบริษัทผลิตคอมพิวเตอร์ ผลิตซอฟท์แวร์ เราต้องใช้เพราะทำเองไม่ได้ บางทีเราก็ต้องทนกับ แอร์บัส หรือโบอิ้ง เพราะเราผลิตเครื่องบินเองไม่ได้ และเรายังทำเองไม่ได้ในเร็ววันแน่ๆ แต่กับการเพาะปลูก เป็นสิ่งที่เราทุกคนทำได้ เพราะมันอยู่ในวัฒนธรรมเรามาเป็นหมื่นปีแล้ว ขณะที่พวกบริษัทเคมีทางการเกษตรเพิ่งเข้ามามีบทบาทในระบบเกษตรกรรมเมื่อ 15 ปีมานี้เท่านั้น

ถ้าคุณจะเปรียบเทียบประสบการณ์ 10,000 ปี กับ 15 ปี ฉันพูดเลยว่า ในฐานะผู้มาใหม่ คุณเพิ่งเข้ามาหยิบยื่นยาพิษกับพืชจีเอ็มโอให้เรา จนวันหนึ่งอาจพูดได้ว่า อาณาจักรของเหล่าบริษัทใหญ่เป็นดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน เนื่องจากพืชผลทางการเกษตรกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ของโลกอยู่ในมือพวกเขา ฉันอยากจะอยู่จนถึงวันที่พวกเขาล่มสลาย

++ คุณทำนายว่าพวกเขากำลังจะล่มสลาย ?

ฉันไม่อยากทำนายเลย…บอกได้แต่ว่า ครั้งหนึ่ง พวกเขาตั้งเป้าว่าจะเข้าครอบครองระบบเกษตรกรรมทั้งหมดให้ได้ภายในปี 2000 แต่นี่ก็ปี 2011 แล้ว กลับมีพืชแค่ 4 ชนิด ที่พวกเขาควบคุมได้ คือ ข้าวโพด ถั่วเหลือง คาโนลา (พืชน้ำมัน) และฝ้าย พืชส่วนใหญ่บนโลกนี้ พวกเขายังเอาไปไม่ได้

ตอนนี้มีแค่ 4 ประเทศ ที่ใช้เมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอเป็นหลัก ในขณะที่ส่วนใหญ่ยังคงแบนพืชชนิดนี้ เมื่อเราย้อนกลับมาดูความจริงว่า พวกเขาต้องการอะไรกันแน่ ฉันว่าจริงๆ แล้วพวกเขาทำไม่สำเร็จหรอก พลังของประชาชนต่างหากที่จะเป็นฝ่ายชนะ

ทุกวันนี้ หลายครั้งที่กรณีพิพาทระหว่างบริษัทยักษ์ใหญ่กับประชาชน จบลงด้วยการที่พวกเขาต้องจ่ายค่าชดเชยให้เรา นั่นคือการโต้กลับจากประชาชนคนธรรมดา แล้วพวกนั้นก็เงียบไปได้สักพัก จากนั้นก็กลับมาสู้กับเราอีก

พวกเขาพยายามจะยกเลิกการแบนจีเอ็มโอในยุโรป พยายามยัดเยียดพืชจีเอ็มโอให้อินเดีย พวกเราต้องมีการตั้งรับกันอย่างเป็นระบบ ต้องให้เป็นการเคลื่อนไหวในระดับโลก ไม่ใช่แค่ในระดับประเทศ

++ ลัทธิอาณานิคมใหม่มีโลกาภิวัตน์เป็นจักรกลสำคัญ แถมยังเป็นคลื่นที่เรายากต่อต้าน คุณเห็นด้วยไหม

โลกาภิวัตน์เกิดขึ้นในทศวรรษที่ 90 โดยมี ไอเอ็มเอฟ และธนาคารโลกเป็นผู้บุกเบิก สร้างเส้นทางการค้าเสรี องค์การการค้าโลก (WTO) เกิดขึ้นเพื่อเขียนธรรมนูญโลกใหม่ มีเนื้อหาแต่เรื่องการค้า และสิทธิของพวกบริษัทยักษ์ใหญ่

ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เราเห็นอะไรบ้าง เราเห็นเศรษฐกิจล่มสลาย ฟองสบู่แตก เราเห็นวิถีการบริโภคนิยมที่ไม่ยั่งยืน เพราะโลกาภิวัตน์เน้นแต่ผลกำไรของบริษัท ตั้งโรงงานในประเทศที่มีแรงงานราคาถูก อย่างที่จีนกลายเป็นโรงงานของโลก ขณะที่อเมริกาก็เป็นผู้บริโภคของโลก

เมื่อระบบเศรษฐกิจล่ม อเมริกาก็สูญเสียอำนาจการซื้อ โรงงานผลิตสินค้าถูกๆ ในจีนก็ไม่มีตลาดรองรับ ระบบก็ล่ม นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ เราเห็นกรีซเศรษฐกิจล่ม สเปนก็ตามมา ค่าเงินในยุโรปผันผวน หลายประเทศสูญเสียเสถียรภาพทางการเงิน

แทนที่อุดมคติของโลกาภิวัตน์และการค้าเสรีจะเป็นกลไกสำหรับแก้ปัญหา แต่มันกลับสร้างปัญหามากขึ้นไปอีก ทำให้ระบบเศรษฐกิจไม่มั่นคง รวมไปถึงเรื่องการเมือง เมื่อประชาชนถูกกดขี่ ถูกมองข้ามจนไม่เห็นหัว ไม่มีพื้นที่สำหรับประชาธิปไตย นั่นเป็นต้นเหตุของความรุนแรง เป็นปัญหาใหญ่

อุดมคติที่แท้ของโลกาภิวัตน์สนับสนุนให้คนบริโภคอย่างไร้ขอบเขต แต่ในความเป็นจริง การบริโภคแบบนั้นเป็นไปไม่ได้บนโลกที่มีทรัพยากรจำกัด คุณสูบแร่ธาตุจนหมด สูบเชื้อเพลิงจนหมด แล้วปล่อยมลภาวะสู่ชั้นบรรยากาศ ทำลายระบบนิเวศ สุดท้าย ระบบโลกาภิวัตน์ก็ต้องจบลง

โลกาภิวัตน์ยังทำให้กลุ่มตาลีบันออกมาเคลื่อนไหว พวกเขาพูดว่า “ไม่มีใครสามารถเข้ามาเอาอะไร (ทรัพยากร) ไปจากพวกเราได้ ยกเว้นประชาชนจะเป็นฝ่ายยกให้”  ไม่ว่าจะมองมุมไหน วิถีบริโภคนิยมก็ไม่ยั่งยืน เพราะมันส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของเรื่องอื่นๆ ทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และสุดท้าย มันก็จะย้อนกลับมาทำลายตัวเอง

++ หมายความว่าโลกาภิวัตน์คือปีศาจ ?

ใช่…ฉันคิดว่ามันคือปีศาจ เพราะโลกาภิวัตน์ถูกออกแบบมาเพื่อทำร้ายผู้คน เป็นงานออกแบบของปีศาจ ดึงความอยากออกมาจากจิตใต้สำนึก ซึ่งมีเพียงจุดประสงค์เดียวคือ ทำลายชีวิตคน หลอกล่อ และโยนเราเข้าไปสู่ตลาด ยึดครองทรัพยากรของมนุษย์ ทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิมแล้วแทนที่ด้วยวัฒนธรรมบริโภคนิยม

++ ไหนๆ เราก็เลี่ยงยาก คุณสามารถใช้โลกาภิวัตน์ช่วยงานได้บ้างหรือเปล่า

ฉันไม่ใช้ในบริบทของ ‘โลกาภิวัตน์’ แต่ฉันสามารถใช้คำว่า ‘ความร่วมมือในระดับนานาชาติได้’ การที่ฉันมาประเทศไทย ก็เป็นหนึ่งในความร่วมมือเช่นกัน

+ โลกาภิวัตน์มีข้อดีบ้างไหม หรือไม่มีเลย

ไม่…มันไม่มีข้อดีเลย สิ่งที่สร้างความสับสนมาก คือการถกเถียงกันเพื่อหาข้อดีของมัน เราไม่ต้องการให้บริษัทเหล่านั้นเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก

ในความเป็นจริง ทั้งโลกมีการแลกเปลี่ยนกันเป็นปกติอยู่แล้ว อย่างที่นี่ มีชื่อพระราม 1 พระราม 2 เรามี ‘รามายณะ’ คุณก็มี ‘รามเกียรติ์’ ตั้งแต่ศตวรรษไหนแล้ว ไม่เห็นจำเป็นต้องมีองค์การการค้าโลก มันมีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมมานานแล้ว การค้าระหว่างประเทศก็มีมาตั้งแต่โบราณเช่นกัน สิ่งดีๆ เหล่านี้มีมาก่อนที่บริษัททั้งหลายจะเข้ามามีบทบาทเสียอีก

++ คุณคิดว่าระบบเศรษฐกิจแบบใดเหมาะกับโลกเรามากที่สุด

ฉันคิดว่าระบบเศรษฐกิจที่ดีที่สุด ไม่เฉพาะในเอเชีย แต่ในอเมริกาหรือที่ไหนก็ตาม คือวิถีเศรษฐกิจชุมชน (Local Living Economy) เมื่อพูดถึงคำว่า Living Economy หมายถึง ทำแค่พอกิน ไม่เน้นกำไร ปกป้องแหล่งน้ำ ผืนดิน ความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้คนอยู่ดีกินดี

ตามธรรมดาจะมีการซื้อขายก็ต่อเมื่อเราผลิตสิ่งนั้นเองไม่ได้ แตกต่างจากการบังคับให้มีการซื้อขาย ถ้าฉันต้องนำเข้าสิ่งที่สามารถผลิตเองได้ ก็ไม่ต่างจากการทำลายตัวเอง ถ้าฉันนำเข้าถั่วเหลืองที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลสหรัฐหรืออาร์เจนตินา เกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองในประเทศฉันคงต้องตาย

เศรษฐกิจที่พึ่งตนเองในชุมชน จะช่วยอนุรักษ์และคืนชีวิตให้แก่ธรรมชาติ อาทิ ปรับปรุงดิน ปลูกป่าทดแทน ทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีคนทำมากมาย

ใครคือชาวนา…ชาวนาไม่ใช่แค่คนปลูก หรือผลิตอาหาร แต่เป็นผู้ดูแลผืนดินทั้งหมด เป็นผู้จัดการดิน น้ำ พูดเลยว่าแม้แต่ในอเมริกาก็ยังต้องการเศรษฐกิจระบบนี้

3

++ ถ้าคุณมีอำนาจสามารถควบคุมบริษัทใหญ่ๆ ได้ สมมติคุณได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ จะทำอย่างไรให้สถานการณ์อาหารโลกดีขึ้น

          สิ่งแรกที่ฉันจะทำ คือออกกฎหมายควบคุมบริษัทยักษ์ใหญ่ ไม่ให้ทำการค้าผูกขาด ทำให้พวกเขามีขนาดเล็กลง ซึ่งจะสามารถจำกัดจำนวนของเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอได้ถึง 95 เปอร์เซ็นต์ และจะสามารถควบคุมบริษัทที่จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ทั่วโลกได้ ออกเป็นกฎหมายเพื่อให้มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม (Antitrust Law)

แต่ในปัจจุบัน บริษัทเหล่านี้ยังต้องการโตขึ้นเรื่อยๆ จึงมีการตั้งองค์การการค้าโลก เพื่อทำให้ทั้งโลกเป็นตลาดรองรับ เราต้องการกฎหมาย Antitrust Law เพื่อช่วยเหลือธุรกิจเล็กๆ อื่นให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ด้วย

++ รู้สึกยังไงที่ต้องสู้กับพวกตัวใหญ่ๆ และดูไม่ค่อยเห็นทางชนะ

          ชนะสิ…เราชนะมาตั้งหลายครั้ง เราชนะบริษัทใหญ่หลายแห่งในโลก หรือเหมืองที่กดขี่แรงงาน เราชนะบริษัทเอกชนใหญ่ๆ มามากมาย 

ฉันชนะคดีความมากมายในอินเดีย เราพยายามไม่ให้พวกเขาไปมีบทบาทในองค์การการค้าโลกเรื่องจีเอ็มโอ เพราะอเมริกาใช้บริษัทใหญ่รายหนึ่งไปฟ้องยุโรป ฐานไม่ยอมใช้เมล็ดจีเอ็มโอ มีผู้ร่วมลงชื่อกับเรากว่า 16 ล้านรายชื่อทั่วโลก ส่งให้องค์การการค้าโลก บอกว่าเราจับตาดูพวกคุณอยู่ ทำให้ยุโรปยังแบนจีเอ็มโออยู่

ที่บางครั้งพวกเขาชนะ มันเพราะกลโกง และการคอรัปชั่น แต่ชัยชนะของเราทุกครั้งมาจากความซื่อสัตย์

++ ในเมืองไทยก็มีระบบผูกขาดอย่างนั้นเหมือนกัน และท่าทางคนไทยจะมีความสุขดีกับมัน ตื่นนอนก็เข้าร้านสะดวกซื้อ ก่อนนอนก็เข้าร้านสะดวกซื้อ

ประมาณปี 1994 มีกลุ่มเกษตรกรได้รับผลกระทบจากการทำนากุ้งในระบบฟาร์ม เกษตรกรกลุ่มนี้ก็มาให้ฉันช่วยทำวิจัยให้ ปรากฏว่าปัญหาในระบบนากุ้งทั้งหมดเกิดจากอาหาร ซึ่งมาจากบริษัทยักษ์ใหญ่ของคุณ ซึ่งเขาก็พยายามทำให้เป็นเครือข่ายขายอาหารสัตว์เหมือนกัน ซึ่งอาหารนี้มีโปรตีนอยู่แค่ 15 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นขยะ

พื้นฐานกำไรของพวกเขาก็มาจากการปล้นผลิตผล ไม่ต่างจากบริษัทที่ใหญ่ระดับโลก จับปลามาฟรีๆ แล้วก็ขายให้ชาวประมงกิน เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมฟาร์มอื่นๆ ของเขา ที่ใช้ทรัพยากรไปเยอะมากเมื่อเทียบกับผลผลิตที่ออกมา และในฟาร์มก็มีระบบการเลี้ยงอย่างทรมาน พวกเขาไม่ควรที่จะได้รับรางวัลอะไรเลย ควรจะโดนลงโทษด้วยซ้ำ

++ เราจะทำอะไรได้ พวกเขาใหญ่โตมาก แถมลุกลามเข้ามาจนกลายเป็นวิถีชีวิต

ใหญ่แค่ไหนก็ไม่ได้หมายความว่าทำผิดได้ตามอำเภอใจ

+ ปัจจุบันสถานการณ์อาหารในเอเชียเป็นอย่างไรบ้าง

เรามองได้ 2 ประเด็น

หนึ่ง ประชากรของเอเชียมีสัดส่วนครึ่งหนึ่งของโลก และวิถีการผลิตเปลี่ยนไป จากที่เคยใช้วัตถุดิบในการผลิต 1 ส่วนแล้วได้ผลผลิต 2 ส่วน กลายเป็นต้องใช้วัตถุดิบถึง 10 ส่วน กว่าจะได้ผลเพียง 1 ส่วน อย่างที่เป็นอยู่ในระบบอุตสาหกรรมเกษตร ยิ่งเราทุ่มลงไปมากเท่าไหร่ เราก็ใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองมากขึ้นเท่านั้น ในเอเชียใต้ยังมีคนหิวโหยอีกจำนวนมาก

สอง เพราะเอเชียมีการใช้ที่ดินผิดประเภท คือเอาที่ดินที่มีความเหมาะสมในการทำเกษตร ไปสร้างเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งพากันย้ายมาจากทั่วโลกสู่เอเชีย เป็นต้นเหตุหนึ่งของวิกฤติอาหาร และภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น น้ำท่วมในจีน ปากีสถาน และเกิดภัยแล้งหนักในอินเดีย

50 เปอร์เซ็นต์ของอาหารสูญเสียไปเพราะภาวะโลกร้อน และเพราะสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปทำให้การเพาะปลูกไม่ได้ผลผลิตตามฤดูกาลของธรรมชาติ

++ ระหว่างการโน้มน้าวคนให้หันมาเข้าใจวิถีอินทรีย์ กับการสู้กับพวกบริษัทยักษ์ใหญ่ อย่างไหนยากกว่ากัน  

ทุกวันนี้มีคนมากมายที่ทำการเกษตรโดยไม่ต้องพึ่งวิถีสารเคมี เมื่อพวกเขามีเมล็ดพันธุ์ของตัวเอง มีองค์ความรู้ แต่พวกเขาไม่รู้ว่าเขามีพลังที่สามารถต่อต้านได้อยู่ เราต้องพยายามสร้างทางเลือกอื่นให้พวกเขา


4

++ แต่ชาวนาไทยจน ให้ปุบปับไปทำเกษตรอินทรีย์ เป็นไปได้หรือ

เมื่อคุณไม่มีเงิน คุณก็ต้องสร้างระบบที่มีค่าใช้จ่ายน้อย จะบอกให้ว่า หากเกษตรกรต้องการพื้นดิน ต้องการน้ำ ต้องการความชื้น ต้องการความหลากหลายทางชีวภาพ แรงงาน ความรู้ ทรัพยากรการผลิตทั้งหลาย เราก็มีอยู่แล้วทั้งหมด ตั้งแต่สมัยโบราณแล้วที่เราไม่ต้องใช้เงินซื้อหาของพวกนี้ สิ่งที่เราต้องการเป็นทางออกคือ การเกษตรที่ไม่ต้องใช้เงินเลย

ในทุกวัฒนธรรมการเกษตรไม่ต้องมีรายจ่าย แต่ต้องใช้หาเลี้ยงชีพได้ การเกษตรตามธรรมชาติเป็นเกษตรกรรมที่ไม่ต้องลงทุน เมื่อคุณไม่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ทุกอย่างสมารถทำเองได้ ก็ไม่มีค่าใช้จ่าย ผลผลิตก็เป็นของคุณทั้งหมด

แต่ถ้าคุณต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ ซื้อปุ๋ย ซื้อเคมีภัณฑ์ คุณมีต้นทุนต้องจ่ายมากกว่าที่คุณผลิตออกมาหลายเท่า และสุดท้ายคุณก็ต้องทิ้งผืนดินของคุณ ไปอยู่สลัมในเมือง และคุณก็จะต้องทำงานหาเงินมาซื้อข้าวกิน มันเกิดขึ้นเร็วมาก

ในอินเดียเราทอดทิ้งเกษตรกร ทำให้ประชาชน 70 เปอร์เซ็นต์ไม่มีที่ทำกิน ในบราซิลมีกฎหมายสนับสนุน พยายามให้คนออกจากพื้นที่ ตอนนี้ในอเมริกาใต้มีกลุ่มเคลื่อนไหวที่เรียกว่า Sem Terra เพื่อเรียกร้องที่ดินของกลุ่มผู้ไร้ที่ทำกิน

มีคนยุโรปและอเมริกาหลายคนพยายามเข้ามาเรียนรู้กับเรา เขาอยากเป็นเกษตรกร บางคนก็เรียนฟิสิกส์มา จบด็อกเตอร์มา แต่เขาต้องการทำเกษตรอินทรีย์ เพราะในมหาวิทยาลัยไม่มีสอน และแน่นอน…เขาจะกลับออกไปเป็นเกษตรกรที่ดีได้

เกษตรกรเป็นอาชีพที่ไม่ควรถูกปล่อยทิ้งไว้ให้สูญพันธุ์ มีข้อพิสูจน์ทางประวัติศาสตร์ให้เห็นว่า ผู้คนต่างต้องการที่ทำกิน ถ้าคุณมีทางเลือกที่จะเข้าไปทำได้ ถ้าเขาขายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรม ทำไมพวกเขาจะไม่อยากอยู่ทำกินในพื้นที่ของตัวเองล่ะ

++ แต่มันยากที่จะบอกใครๆ ว่าควรเปลี่ยนจากระบบเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์ ในเมื่อรัฐบาลมีส่วนได้ส่วนเสียกับอย่างแรก ยังสนับสนุนระบบเคมี

มันไม่ยากหรอก แต่ต้องพยายามเข้าไปช่วยเกษตรกร ดึงเขาไปหาผืนดิน สร้างความมั่นใจ เพราะพวกเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญอยู่แล้ว เขารู้มากกว่าพวกศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยเสียอีก เพราะไม่มีมหาวิทยาลัยไหนสอนคนให้รู้เรื่องเกษตรทั้งระบบได้เหมือนที่เกษตรกรเรียนรู้เองจากประสบการณ์

นักวิทยาศาสตร์บางคนรู้เรื่องศัตรูพืช บางคนเชี่ยวชาญเรื่องพืช แต่ก็แค่นั้น ไม่มีใครเอาความรู้พวกนี้มาเชื่อมโยงกัน คุณก็จะมีแต่ผู้เชี่ยวชาญด้านแมลง ไม่ใช่เกษตรกรที่เข้าใจความสัมพันธ์ของทุกสรรพสิ่งอย่างลึกซึ้ง ทั้งดิน น้ำ กลับกัน พวกเขาถูกกระทำจนสูญเสียความมั่นใจไปหมด ทำให้ต้องฟังแต่ผู้เชี่ยวชาญ

แต่โชคดีที่ยังมีศาสตร์ใหม่ เรื่องดินกับนิเวศวิทยาที่ยืนยันภูมิปัญญาของเกษตรกร ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีรายงานจากสหประชาชาติ บอกว่าการเกษตรแบบดั้งเดิมนั้น ให้ผลผลิตมากที่สุด รองรับโดยการค้นคว้าของทีมนักวิทยาศาสตร์ที่มาร่วมศึกษากว่า 400 คน จากนั้นก็มีการกระจายองค์ความรู้นี้ไปสู่เกษตรกร เป็นข้อยืนยันในระดับโลกว่า ‘คุณคือผู้เชี่ยวชาญ’

คุณต้องร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ถูกชี้นำโดยพวกเขา เราให้เกษตรกรอยู่ในฐานะผู้ผลิตของผืนดิน ของโลก การทำเกษตรของพวกเขาไม่สร้างปัญหาต่อกับระบบนิเวศ นั่นคือวิถีธรรมชาติ

++ คุณมีอะไรอยากฝากถึงชนชั้นกลางในเมืองไทยไหม ว่าอะไรเกิดขึ้นบนโลกนี้

เมืองไทยเป็นสังคมที่มีความเห็นอกเห็นใจกัน โลกก็ต้องการการดูแลอย่างเอาใจใส่ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในเมือง เป็นชนชั้นกลาง หรือคนจน คุณก็มีหน้าที่ต้องปกป้องผืนดิน

——————————————————————————————————————-

++ วันทนา ศิวะ (Vandana Shiva) เป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม เป็นผู้นำในเวทีระหว่างประเทศว่าด้วยโลกาภิวัตน์ ร่วมกับ ราฟ เนเดอร์ (Ralph Nader) และ เจเรมี ริฟกิน (Jeremy Rifkin) เธอได้รับรางวัลสัมมาอาชีวะ (Alternative Nobel Peace Prize หรือ the Right Livelihood Award) ในปี 1993 และรางวัล Sydney Peace Prize สำหรับความมุ่งมั่นเพื่อความยุติธรรมทางสังคม

ปี 1982 วันทนาได้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนิเวศวิทยา (The Research Foundation for Science, Technology, and Ecology) ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งขบวนการนวธัญญะ (Navdanya) ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ สิทธิเกษตรกร และการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พื้นเมือง

มีผลงานเขียนหลายเล่ม รวมทั้งเรื่อง Water Wars: Privatization, Pollution, and Profit (South End Press, 2002, หรือ สงครามน้ำ การเปลี่ยนถ่ายอำนาจจากชุมชนสู่เอกชน มลพิษ และผลประโยชน์ ,สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา) Protect or Plunder? Understanding Intellectual Property Rights (Zed, 2001) Stolen Harvest: The Hijacking of the Global Food Supply (South End Press, 2000, หรือ ปล้นผลิตผล: ปฏิบัติการจี้ยึดเสบียงอาหารโลก ,สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา)

ก่อนมาเป็นนักเคลื่อนไหว  วันทนาเป็นนักฟิสิกส์ชั้นนำคนหนึ่งของอินเดีย

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ 2554)

 

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า