โลกใหม่ของสัตว์กินเนื้อ

CulturedMeat

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) แถลงว่าปริมาณความต้องการเนื้อสัตว์ของประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 ใน 3 ของปัจจุบัน ในอีก 40 ปีข้างหน้า หากวิถีการผลิตในแบบปัจจุบันนั้นไม่สามารถนำไปสู่ความยั่งยืนได้ และอาหารในอนาคตมีแนวโน้มจะมีราคาแพงขึ้น หากเรายังไม่มีทางเลือกอื่นๆ เข้ามาทดแทน

การเลี้ยงปศุสัตว์เป็นสาเหตุของการปล่อยแก๊สเรือนกระจกอย่างมีเธน รวมถึงคาร์บอนไดออกไซด์ ไนตรัสออกไซด์ และเมื่อมีการผลิตอาหารเนื้อสัตว์มากขึ้น ก็เท่ากับว่าสภาพแวดล้อมก็ต้องแบกรับความเสี่ยงที่จะเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ เช่นกัน

ราวปีที่แล้ว มีการผลิตเนื้อเบอร์เกอร์เทียมขึ้นในห้องแล็บ และผู้ทดลองลิ้มชิมรสก็ระบุว่ารสชาติของมันไม่ได้แย่มาก

วอร์เรน รูเดอร์ ศาสตราจารย์ด้านพันธุวิศวกรรม จากเวอร์จิเนียร์เทค (Virginia Tech) บอกว่า เทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถสร้างกล้ามเนื้อเทียมได้ในห้องแล็บมานับทศวรรษแล้ว ตอนนี้เขาจึงเห็นว่าเทคโนโลยีลักษณะเดียวกันนั้นพร้อมแล้วสำหรับการสร้างเนื้อเทียมเป็นอาหาร แต่ปัญหาใหญ่ก็คือ ราคาของนวัตกรรมเลียนแบบธรรมชาตินี้ในรูปเนื้อเบอร์เกอร์ (In Vitro Burger) คือ 385,000 ดอลลาร์ต่อแผ่น

CulturedMeat-1ปี 2013 นักวิจัยในยุโรปสามารถคิดค้นเทคนิคที่สามารถผลิตเนื้อในระดับอุตสาหกรรมได้แล้วกับ ‘แฮมเบอร์เกอร์หลอดแก้ว’ (test-tube hamburger) ของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยมาสทริคต์ (University of Maastrict) ในฮอลแลนด์โดย มาร์ค โพสต์ นักสรีรวิทยา ที่สามารถสร้างเนื้อแผ่นได้จากสเต็มเซลล์วัว ซึ่งวิทยาการนี้ วารสาร Science Now เชื่อว่าเป็นการปฏิวัติวงการเกษตรกรรมครั้งใหญ่นับตั้งแต่เริ่มมีการทำปศุสัตว์เพื่อเป็นอาหาร

เนื้อเทียม (Cultured Meat) ผลิตจากการเก็บเซลล์ต้นกำเนิด หรือสเต็มเซลล์ (stem cell) จากกล้ามเนื้อของสัตว์ที่ยังมีชีวิต หลังจากนั้นจะนำเซลล์ดังกล่าวไปเพาะเลี้ยงให้แบ่งตัวทวีคูณ จนกลายเป็นเนื้อเยื่อซ้อนทับกันคล้ายเซลล์กล้ามเนื้อสัตว์เมื่อชิ้นส่วนของแผ่นเซลล์เรียงตัวกันเป็นชั้นเกลียวของกล้ามเนื้อถึง 20,000 มัด ก็จะได้เนื้อเบอร์เกอร์ออกมา 5 ออนซ์ หรือราว 30 กรัม

pigmeatแต่แนวคิดเรื่องอาหารทดแทนยังคงได้รับความนิยม เช่นเดียวกับความกังวลเรื่องภาวะขาดแคลนอาหาร ท่ามกลางความต้องการของผู้บริโภคที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ คาร์บอนฟุตปรินท์ และมลภาวะจากการทำปศุสัตว์ในระดับอุตสาหกรรม รวมไปถึงโรคติดต่อจากสัตว์ที่เป็นอาหาร ยังมีมากขึ้น

ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด (Oxford University) ให้ข้อมูลว่า การทำเนื้อเทียมใช้พื้นที่น้อยกว่าการทำปศุสัตว์ปกติถึงร้อยละ 99 รวมถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็น้อยกว่าการทำฟาร์มสมัยใหม่มาก

ปี 2006 ทีมงานของโพสต์ได้ทดลองสร้างเนื้อหมูเทียมในห้องแล็บ และยังพัฒนาต่อมาเรื่อยๆ ภายใต้การสนับสนุนจากทุนภายในประเทศ ขณะที่ทางด้านสหรัฐ ก็ได้รับการสนับสนุนจากองค์การนาซ่า (NASA) เพื่อหาทางให้นักบินอวกาศสามารถสร้างเนื้อเทียมเป็นอาหารขณะอยู่นอกโลกได้

ล่าสุด ทีมนักวิจัยฮอลแลนด์คิดไปไกลถึงขั้นจะสร้างโรงงานผลิตเนื้อเทียม (meat factory) ในระดับหมู่บ้านขึ้น ซึ่งเนื้อที่ผลิตนั้นจะเป็นเนื้อวัว ไก่ หมู ‘เทียม’ ทั้งหมด

งานศึกษาล่าสุดของมหาวิทยาลัยวาเกนนินเกน (Wageningen University) ได้นำเสนอเครื่องมือที่สามารถสร้างเซลล์สัตว์ หรือโรงงานผลิตเนื้อเทียม (meat factory) ในระดับชุมชน ทั้งเนื้อวัว หมู และไก่ เพียงพอที่จะเลี้ยงหมู่บ้านที่มีสมาชิก 2,650 คนได้

กระบวนการผลิตเนื้อเทียมนี้ เริ่มจากการนำสเต็มเซลล์ของกล้ามเนื้อวัว หมู ไก่ มาผ่านกระบวนการทางชีวภาพในถังขนาด 20 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเซลล์จะแบ่งตัวทวีคูณอย่างต่อเนื่อง เมื่อเสร็จสิ้นแล้วจะได้เนื้อ 22 ปอนด์ต่อคนต่อปี แม้จะไม่สามารถทดแทนระบบปศุสัตว์ได้ทั้งหมด แต่เป็นแหล่งโปรตีนทดแทนได้ แถมยังสามารถสร้างรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นได้อีก โดยโครงการนี้จะพยายามทำให้งบประมาณในการผลิตเนื้อเทียมนั้นลดลงจนสามารถสร้างขึ้นได้จริงในระดับชุมชน

burger-1

ในวารสาร Trends in Biotechnology ศาสตราจารย์ด้านปรัชญา คอร์ ฟาน เดอร์ วีล เชื่อว่าเนื้อเทียมคือนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต ที่จะมาทดแทนอาหารประเภทเนื้อ อย่างไรก็ตามเธอยังเชื่อว่ามีอาหารอื่นๆ ที่เป็นแหล่งโปรตีนทดแทนในอนาคตได้ เช่น อาหารมังสวิรัติ หรือแม้แต่การแปรรูปแมลงบางชนิด เธอเคยเห็นพิพิธภัณฑ์ในฝรั่งเศสทำสเต็กจากเซลล์เนื้อกบที่เพาะเลี้ยงตั้งแต่ปี 2004

ขณะเดียวกัน เมื่อนักปรัชญาผนึกกำลังเขียนงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพ คอร์ ฟาน เดอ วีล และ โจฮันส์ แทรมเปอร์ ร่วมกันเสนอรายงานตีพิมพ์ใน Science & Society เห็นด้วยกับเทคโนโลยีผลิตเนื้อดังกล่าว เนื่องจากพวกเขาสนับสนุนสวัสดิภาพสัตว์ ขณะที่สถานการณ์ด้านการผลิตอาหารในรูปแบบปกติมีเสถียรภาพน้อยลง ทั้งยังพิสูจน์แล้วว่าการผลิตเนื้อในแล็บสามารถลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้มากกว่าการทำฟาร์มปศุสัตว์จริงๆ แต่ปัญหาอาจอยู่ที่ว่า เมื่อผู้บริโภคส่วนใหญ่รู้ที่มาของมัน พวกเขาจะยังอยากรับประทานมันอยู่หรือไม่

ฟาน เดอร์ วีล กล่าวว่าเธอเป็นห่วงเรื่องความเป็นธรรมชาติของเนื้อที่ได้หากไม่ได้ผ่านกระบวนการบด แต่เสริมว่าเทคโนโลยีนี้ก็สามารถเป็นทางเลือกให้กับผู้ประกอบการรายย่อยหรือระดับชุมชนได้

แม้จะถือว่าเป็นเนื้อจริง ไม่ใช่เนื้อสังเคราะห์ แต่ความกระอักกระอ่วนและตะขิดตะขวงใจสำหรับผู้บริโภคอาจเกิดขึ้นทันที หากเนื้อจากห้องแล็บเหล่านี้ไม่ได้ถูกบดหรือแปรรูปมาเป็นอาหารเรียบร้อยแล้ว เพราะเท่าที่ผ่านมา เบอร์เกอร์ที่ทำจากเนื้อเทียมนั้น ถูกปรุงรสด้วยเกลือ ไข่ แป้ง และใช้หญ้าฝรั่นในการแต่งสี ให้ดู ‘คล้าย’ เนื้อจริง

 

logo

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า