#Trashtag Challenge นี่คือคำท้า! เก็บขยะให้หมดโลก

ข้อมูลจาก ศูนย์นโยบายด้านเศรษฐกิจสีเขียว ระบุว่า เมื่อปี  1990 นับเฉพาะประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง มีประมาณ 220 ล้านคน คิดเป็น 13 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก คนจำนวนนี้ผลิตขยะราวๆ 300,000 ตันต่อวัน และอีก 10 ปีถัดมา ประชากรในเขตเมืองเพิ่มขึ้นเป็น 2.9 ล้านคน คิดเป็น 49 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก ทำให้มีการผลิตขยะเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านตันต่อวัน และในปี 2025 คาดการณ์ว่าขยะจากเขตเมืองจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า คงไม่น่าแปลกใจ ถ้าจะคิดเล่นๆ ว่า เราอาจนำขยะไปถมทะเลสร้างเกาะเพื่ออยู่อาศัยได้อย่างง่ายดายในอนาคต

แต่ดูเหมือนว่าการถมทะเลสร้างเกาะด้วยขยะคงเป็นเพียงความฝัน เมื่อมีกิจกรรมที่เป็นจริงได้ง่ายกว่า คือการติด #trashtag ที่กำลังกลายเป็นกระแสไวรัลไปทั่วโลก โดยกิจกรรม challenge เพื่อท้าทายตัวเองนี้ ประกอบด้วยการเก็บขยะและอัพรูป before & after ลงในโลกโซเชียลมีเดีย

การทำ challenge กลายเป็นวัฒนธรรมป็อปอย่างหนึ่งที่น่าสนใจในโลกออนไลน์ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับวิถีการบริโภคในโลกดิจิตัล การทำกิจกรรม challenge เปรียบเสมือนการสร้างตัวตนรูปแบบหนึ่งของผู้ใช้งาน การ challenge จึงกลายเป็นกิจกรรมที่ออกมามีบทบาทในโลกออนไลน์อยู่เนืองๆ

การทำ challenge มักเป็นกิจกรรมที่ท้าทายตัวเอง ที่เป็นไวรัลไปทั่วโลกในอดีต เช่น ice bugket challenge เป็นการเทถังน้ำแข็งราดตัว ท้าทายตัวเองด้วยความหนาวเย็นจากน้ำแข็ง

#trashtag ก็เช่นกัน ความยากของมันคือ การถ่ายรูปตัวเองกับกองขยะจำนวนมากที่อยู่ตรงหน้าเป็น before ก่อนจะตามมาด้วย after ที่ขยะเกลื่อนกลาดเหล่านั้นจะต้องถูกเก็บใส่ถุงอย่างเรียบร้อย

#trashtag เป็นแฮชแท็กที่เล่นคำระหว่าง trash และ hash ซึ่งมีเสียงที่คล้ายกัน โดยคำว่า trash มีความหมายว่า ‘ขยะ’ และนิยมใช้กันในภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน นอกจากคำว่า trash แล้ว ก็ยังมีคำว่า gabage ที่ใช้กันโดยทั่วไป  แต่ถ้าเป็นภาษาอังกฤษแบบอังกฤษแล้วล่ะก็ มักจะนิยมใช้คำว่า rubbish หรือ waste ขณะที่คำว่า hash ที่ใช้ใน hashtag มีความหมายว่า ยุ่งเหยิงสับซ้อน เมื่อเราใช้ hashtag เดียวกัน ก็จะสามารถเข้าถึงเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกันได้ hashtag จึงกลายเป็นจุดร่วมเชื่อมโยงกลุ่มชุมชนที่พูดถึงเรื่องเดียวกันอยู่

#trashtag เกิดขึ้นครั้งแรกจริงๆ เมื่อปี  2015 บริษัทติดตั้งไฟฟ้าชื่อบริษัท UCO ได้รณรงค์ให้มีการเก็บขยะออกจากป่า แต่ #trashtag กลับมาโด่งดังจริงๆในปี 2019 และไม่ได้จำกัดวงการเก็บขยะอยู่แค่เพียงการเก็บขยะในป่าอย่างเดียว แต่ยังลามออกมายังชายหาด ข้างทาง หรือแม้แต่การไปเที่ยวพักผ่อน ถ้าเห็นขยะอยู่ตรงไหนก็เก็บมันเสีย พร้อมกับติด #trashtag เกร๋ๆ เพื่อเป็นการสร้างชุมชนของคนที่คิดแบบเดียวกัน รักษ์โลกเหมือนกัน เก็บขยะเหมือนกัน ได้อีกด้วย

นี่คงเป็นภาพสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงของโลก เมื่อการรณรงค์ทำแคมเปญระหว่างชุมชนในอดีตมีทีท่าว่าจะเก่าเกินไป การใช้ประโยชน์จากโลกออนไลน์กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลง ถ้ากิจกรรม #trashtag ยังคงได้รับความนิยมในคนทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง เราก็อาจคลายความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ขยะบนโลกได้บ้างไม่มากก็น้อย

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
progreencenter.org
buzzfeed

Author

รุ่งรวิน แสงสิงห์
อดีตนักศึกษาการเมือง ดื้อดึง อวดดีและจอมขบถ ผู้หลงรักในการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา เธอปรารถนาที่จะแสดงออกให้ชัดเจนที่สุดโดยเฉพาะบนตัวอักษรที่ออกมาจากมือของเธอ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า