กฎหมายคุ้มครองผู้สูงวัยในจีนมีผลบังคับใช้ไปเมื่อ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยกำหนดเงื่อนไขว่า ครอบครัวที่ไม่ได้พักอาศัยกับผู้สูงอายุหรือขาดการดูแลผู้สูงอายุเป็นระยะเวลานานสามารถกลับไปเยี่ยมเยียนและดูแลผู้สูงอายุได้ โดยเจตนาของกฎหมายนี้คือ “ให้การสนับสนุนและการดูแลแก่คนชรา” แต่ก็พบคำถามตามมาว่า หากไม่ปฏิบัติตามจะมีบทลงโทษอย่างไร
เจ้า เหย่าฮุย ศาสตราจารย์จากสถาบันการวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยปักกิ่ง สำรวจข้อมูลผู้เกษียณอายุในจีนพบว่า ร้อยละ 90 ของผู้มีอายุมากกว่า 60 ปียังอาศัยอยู่กับครอบครัว มีเพียงร้อยละ 6.1 ของผู้สูงอายุที่มีบุตรหลานอยู่ต่างเมือง แต่เพราะประชากรจีนมีจำนวนมหาศาล ร้อยละ 6.1 ในที่นี้ คือผู้สูงอายุที่ต้องอยู่คนเดียวราว 83 ล้านคน
จากผลสำรวจประชากรจีนอายุมากกว่า 60 ปีที่มีถึง 70 ล้านคน พบว่า ร้อยละ 40 มีภาวะซึมเศร้า การที่บุตรหลานกลับไปเยี่ยมบ่อยๆ ถือเป็นการสร้างความผ่อนคลายและลดภาวะซึมเศร้าได้ แต่ในทางปฏิบัตินั้นทำได้ลำบากและค่าใช้จ่ายสูง จึงมีคำแนะนำให้ผู้สูงอายุเป็นฝ่ายย้ายตามมาอยู่กับลูก
ปัจจุบันการย้ายถิ่นฐานยังเป็นเรื่องยุ่งยาก อุปสรรคสำคัญ ได้แก่ ประกันสุขภาพ ที่จำกัดให้ใช้ได้เฉพาะในบ้านเกิด หากออกมาอยู่ต่างพื้นที่จะไม่สามารถใช้สิทธิ์หรือทวงสิทธิ์ย้อนหลังได้
ชาวจีนส่วนใหญ่เข้าใจว่าระบบการดูแลผู้สูงอายุทางฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐ ผู้สูงอายุทั้งหมดต้องอยู่ที่บ้านพักคนชรา ทั้งที่ความจริงมีผู้สูงอายุชาวอเมริกันต่ำกว่าร้อยละ10 เท่านั้นที่ต้องพึ่งบ้านพักคนชรา
ที่มา: worldcrunch.com