เนื่องจากกำไรของบรรดาผู้ค้าอาหารที่ไม่มีประโยชน์ หรือที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่า ‘อาหารขยะ’ (Junk Food) พอกพูนเพิ่มขึ้นมาพร้อมๆ กับระดับไขมันและน้ำตาลในเส้นเลือดของผู้บริโภค ปัญหาสุขภาพจึงเป็นราคาที่พวกเราต้องจ่ายมากกว่าการควักกระเป๋าสตางค์…แล้วหยิบเงิน
ด้วยความกรุณาของบริษัทแบรนด์ยักษ์ พวกเขาจึงช่วยชี้แนะทางออกสู่แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์นี้ว่า “คุณก็กินๆ ไปเถอะน่า แล้วไปออกกำลังกายให้เยอะขึ้นก็แล้วกันนะ”
ขณะที่กลุ่มสนับสนุนผู้บริโภคพยายามบอกสังคมว่า อาหารขยะเหล่านี้สร้างผลร้ายอะไรต่อผู้บริโภคบ้าง พ่อค้ารายใหญ่อย่าง โคคา-โคล่า แม็คโดนัลด์ รวมถึงร้านอาหารด่วนๆ เจ้าอื่น กลับพยายามจะเบี่ยงประเด็นว่า ปัญหาสุขภาพไม่ได้เกิดขึ้นจากพวกเขาเสียหน่อย
มีผู้ตั้งข้อสังเกตเปรียบเทียบกับตัวละคร Cookie Monster จากซีรีส์หุ่นชื่อดัง Sesame Street ที่ถูกปรับคาแรคเตอร์จากตัวกินคุกกี้เป็นตัวกินผัก ในภาค Healthy Habits for Life ที่เน้นให้เด็กๆ หันมาให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายและกินผัก จนคนแทบจะเรียกกันว่า Veggie Monster – แสดงให้เห็นว่าสัตว์ประหลาดคุกกี้ไม่จำเป็นต้องทำหน้าที่เป็นตัวแทนของคุกกี้เสมอไป…ผักผลไม้ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของสิ่งที่เน้นเขมือบแต่คุกกี้
ตรงกันข้ามกับกรณีของ โรนัลด์ แม็คโดนัลด์ ของร้านฟาสต์ฟู้ดเชนยักษ์ แม็คโดนัลด์ เมื่อ ‘พี่โรนัลด์’ ไปเยือนโรงเรียนต่างๆ เพื่อบอกให้เด็กๆ ออกกำลังกาย
ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะการออกกำลังกายเป็นไอเดียที่ดีเยี่ยม แต่ไม่ใช่วิธีเพื่อแนะนำว่าเป็น ‘ทางแก้’ ของการกิน แต่…มันเป็นหนึ่งในกลยุทธ์มากมายที่พ่อค้าอาหารขยะทว่าสมองใสพยายามขายสินค้าใสๆ ไร้ประโยชน์ทางโภชนาการให้กับเรา
เช่นเดียวกับ โคคา-โคล่า ที่ทุ่มทุนมหาศาลหลายล้านดอลลาร์ กับการจัดแคมเปญเพื่อสุขภาพ ผ่านชื่อ ‘Troops for Fitness’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมูลนิธิโคคา-โคล่า (Coca-Cola Foundation)
โครงการ ‘กองกำลังฟิตแอนด์เฟิร์ม’ โดยเริ่มต้นนำร่องที่สวนสาธารณะในชิคาโก ผ่านรูปแบบของเงินอุดหนุน 3 ล้านดอลลาร์เป็นเวลา 3 ปี ให้กับ สมาคมสวนสาธารณะและนันทนาการแห่งชาติ (National Recreation and Parks Association: NRPA) พร้อมจัดคอร์สฝึกหลักสูตรฟิตร่างกายแบบกองทัพที่หน่วยงาน NRPA ของแต่ละท้องที่ โดยมีอดีตทหารผ่านศึกมาคอยเป็นโค้ชให้
นอกจากนี้ โคคา-โคล่า ยังทุ่มเงิน 1.5 ล้านดอลลาร์ ให้กับกลุ่มการกุศลสายคาทอลิก สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในกิจการด้านการออกกำลังกาย สุขภาพและโภชนาการ ฝึกอบรมโค้ชกว่า 26,000 คนทั่วนิวยอร์ก รวมถึงการจัดหาอุปกรณ์ออกกำลังกายสาธารณะให้กับสภาเมืองซานอันโตนิโอด้วยงบ 1.2 ล้านดอลลาร์
เสียงแสดงความจริงใจของทางกองทุนบริษัทเครื่องดื่มยักษ์ยืนยันว่า นี่เป็นการทำงานรับใช้สังคม ส่งเสริมสุขภาพ และสร้างภาวะผู้นำให้กับคนในชุมชน เพื่อสนับสนุนให้คนประมาณ 3 ล้านหันมาสนใจการออกกำลังกายในช่วงหน้าร้อน…แล้วดื่มโค้กตามไปด้วย
ด้านล่างคือ รายชื่อองค์กรบางส่วนที่รับเงินจาก ‘กองทุนเพื่อสุขภาพ’ ของโคคา-โคล่า
- San Antonio Food Bank เมืองซานอันโตนิโอ – 300,000 ดอลลาร์
- National 4-H Council เมืองเชวีเชส – 250,000 ดอลลาร์
- Girls, Inc. เมืองนิวยอร์กซิตี้ – 100,000 ดอลลาร์
- American College of Sports Medicine เมืองอินเดียนาโปลิส – 90,000 ดอลลาร์
- AmeriHealth Mercy เมืองฟิลาเดลเฟีย – 25,000 ดอลลาร์
- Los Angeles County Bicycle Coalition เมืองลอสแองเจลีส – 25,000 ดอลลาร์
- Philadelphia Youth Network เมืองฟิลาเดลเฟีย – 25,000 ดอลลาร์
- Team Mates เมืองโอมาฮา – 25,000 ดอลลาร์
- YMCA of Atlanta เมืองแอตแลนตา – 25,000 ดอลลาร์
เรื่องของเรื่องคือ เหนือสิ่งอื่นใด ก่อนจะพูดเรื่องการออกกำลังกาย เรา – ผู้บริโภค ควรตั้งคำถามใส่ภาพโฆษณาในเว็บไซต์ของเครื่องดื่มยี่ห้อดัง ที่บรรยายภาพเท้าของคนหนุ่มสาวขณะหย่อนอิริยาบถ พร้อมคำโปรยว่า “Are you sitting on a solution?” – แต่…ไม่ต้องไปแก้ปัญหาที่ไหนหรอก ขวดโค้กที่พวกเขาถืออยู่นั่นแหละตัวปัญหา
โครงการรักสุขภาพของ โคคา-โคล่า สามารถแปลเป็นภาษาชาวบ้านง่ายๆ ว่า “เรื่องปัญหาสุขภาพของคนอเมริกาไม่เกี่ยวกับพวกเรานะขอรับ” พวกเขาพยายามจะบอกเราว่า ไม่ต้องสนใจคำแนะนำที่สมาคมโรคหัวใจ (American Heart Association) บอกหรอกว่า คนเราไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกินวันละ 6 ช้อนชา สำหรับผู้หญิง และ 9 ช้อนชาสำหรับผู้ชาย – ในโค้ก 1 กระป๋องมีน้ำตาลช่วยสร้างความหวานชื่นอยู่ประมาณ 10 ช้อนชาเท่านั้นเอง
การประชุม BlogHer ซึ่งเป็นการรวมตัวของบล็อกเกอร์และกลุ่มสื่อมวลชนสายสตรี พวกเขาประกาศอย่างหน้าชื่นตาบานว่า โคคา-โคล่า เป็นสปอนเซอร์สนับสนุนงานนี้ ด้วยการแจกเครื่องนับจังหวะก้าวเดินให้ผู้เข้าร่วมประชุมฟรีๆ เช่นเดียวกับของรางวัลอื่นๆ เช่น เสื่อโยคะ และเชือกกระโดด (เช่นเดียวกับการแจกจ่ายโรคเบาหวานประเภท 2 หรือ Type II diabetes ที่เกิดจากโรคอ้วน ด้วยการเสิร์ฟโค้กตลอดงาน)
บางทีแคมเปญจากกองทุนนี้อาจพยายามพูดตรงไปตรงมาให้อเมริกันชนฟังว่า “อย่าไปสนใจข้อมูลพวกนั้นเลย นานแล้วนะ ที่พวกเรามียอดขายมากขึ้นเรื่อยๆๆๆ มานี่ครับ…เข้ามาใกล้ๆ เรามีคำแนะนำเล็กน้อยที่อาจช่วยคุณได้ จงออกกำลังกายเยอะขึ้นอีกหน่อยสิ คุณจะได้ไม่ต้องสนใจว่าสินค้าของเราทำอะไรกับคุณบ้าง จงดื่มโค้กต่อเถอะนะ ส่วนเรื่องอื่น…ช่างมัน”
สำหรับร่างกายและสุขภาพ สิ่งที่ต้องคำนึงถึง ไม่ใช่แค่การเลือกบริโภคและการออกกำลังกาย แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก เช่น การไม่สูบบุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ แม้กระทั่งแปรงฟันให้สม่ำเสมอ ซึ่งการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีต้องการสิ่งเหล่านี้พอๆ กัน
เพราะฉะนั้น พักเรื่องออกกำลังกายเอาไว้ก่อน แล้วมาพูดเรื่องของกินและการบริโภคอย่างจริงจังดีกว่า
ในปี 2012 อเมริกันชนบริโภคผลิตภัณฑ์ของค่าย โคคา-โคล่า เฉลี่ย 401 ครั้งต่อคน นั่นรวมถึงน้ำหวานรสอื่นๆ ทั้งอัดลม น้ำผลไม้ และเครื่องดื่มเกลือแร่ เอาแค่ 4 แบรนด์หัวแถวจากค่ายโคคา-โคล่าก็สามารถทำเงินเข้ากระเป๋าพวกเขาได้ระดับหมื่นล้านดอลลาร์ต่อปีแล้ว
ขณะที่สินค้าขายดีของแม็คโดนัลด์ คือ เฟรนช์ฟรายส์ และ บิ๊กแม็ค พวกเขามักจะพูดคำว่า ‘สุขภาพดี’ แต่นั่นก็คือ พวกเขากำลังมอบสิ่งไม่ดีให้กับสุขภาพผู้บริโภคเช่นกัน
คนอเมริกันจำนวนมากยังคงใช้ชีวิตสนุกสนานอยู่กับการกินอาหารไร้ประโยชน์และเครื่องดื่มที่ไม่เป็นมิตรต่อสุขภาพ…ถ้าคนอเมริกันดื่มโซดาพร้อมกับกินนาโชนานๆ ครั้ง มันไม่สามารถฆ่าใครได้หรอก แต่ในความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะอาหารเพื่อสุขภาพคือของกินระดับ ‘ไฮ-เอ็นด์’ ที่มีราคาค่อนข้างแพง เน่าเสียง่าย เก็บรักษายาก และรสชาติไม่ดึงดูด เมื่อเทียบกับอาหารมื้อด่วน ซึ่งเปิดบริการ 24 ชั่วโมง บวกกับความง่ายในการไดรฟ์อิน – วีถีรีบเร่งและมากด้วยปัญหาค่าครองชีพแบบอเมริกาคงให้คำตอบได้ว่า คนนิยมเลือกแบบไหนมากกว่า
อาหารทำลายสุขภาพเข้าขั้นวิกฤติแล้ว ในขณะที่เราควรจะถกเถียงกับผู้ขายอาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้ได้ว่า พวกเขานั่นแหละเป็นตัวสร้างวิกฤติสุขภาพ – คำตอบมันชัดเจนกว่าน้ำสไปรท์ที่พวกเขาขายอีก
ผู้จัดส่ง ผู้ขาย ทั้งอาหารขยะและมื้อกินด่วน ควรจะต้องมีส่วนรับผิดชอบกับเรื่องนี้ด้วย – แต่นั่นแหละ จริงๆ พวกเขาก็รู้ จึงจำเป็นต้องแสดงท่าทีกังวลออกมาผ่านโครงการ ‘หน้าตาดี’ ต่างๆ
บรรดาบริษัทแบรนด์ยักษ์เหล่านี้จึงพยายามจะเบี่ยงประเด็น โดยพยายามจะบอกว่า
“มันเป็นความผิดของคุณเองนะ ที่ไม่ยอมวิ่งมาราธอนเพื่อเผาผลาญแคลอรีที่ได้มาจากอาหารเองต่างหาก – เราไม่เกี่ยว”
แปลและเรียบเรียงจาก
บทความของ Jill Richardson จาก alternet.org
อ้างอิงข้อมูลและภาพจาก coca-colacompany.com