เสพติดน้ำตาล ภัยร้ายใกล้ตัว

Chocolate Cakeการตัดสินใจว่าจะกินหรือไม่กินเค้กช็อคโกแลตที่อยู่ตรงหน้าเราในครั้งต่อไป เกิดจากความเชื่อมโยงกันระหว่างสมองสองส่วนที่เกิดขึ้นอัตโนมัติ โดยสมองส่วน prefrontal cortex จะเป็นส่วนแจ้งเตือนร่างกายว่า เค้กชิ้นนี้อร่อยมาก ควรจำไว้เพื่อที่จะได้กินมันอีกในครั้งต่อไป

จอร์แดน เกนส์ ลิวอิส นักศึกษาแพทย์ปริญญาเอกด้านประสาทวิทยาศาสตร์ (neuroscience) เสนอความเชื่อมโยงระหว่างการติดน้ำตาลเข้ากับการติดสิ่งเสพติด ซึ่งจะช่วยให้เราเห็นความอยากรับประทานของหวานเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น

ในทางประสาทวิทยาศาสตร์ ถือว่าอาหารคือรางวัลจากธรรมชาติ เพื่อให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ อยู่รอดได้ กิจกรรมตามปกติของมนุษย์ อย่างการกิน การมีเพศสัมพันธ์ และการอบรมเลี้ยงดู จะช่วยให้สมองแจ่มใส ซึ่งกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้จะถูกบันทึกไว้ และทำซ้ำอยู่เรื่อยๆ

สมองของเราให้คะแนนอาหารแต่ละชนิดไม่เท่ากัน คนส่วนใหญ่มักนิยมอาหารที่มีรสหวานมากว่า รสเปรี้ยวหรือขม เนื่องจากวิวัฒนาการ ทำให้เรามีประสบการณ์ต่อรสหวานว่าเป็นของดีต่อร่างกาย เพราะเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตสำคัญ ส่วนรสเปรี้ยวหมายถึงผลไม้นั้นๆ ยังไม่สุกดี ขณะที่รสขม บรรพบุรุษของเราจะเข้าใจไว้ก่อนว่าเป็นยาพิษ

เมื่อ 10 ปีก่อน ค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำตาลที่คนอเมริกันบริโภคต่อวันอยู่ที่ 22 ช้อนชา ซึ่งจะให้พลังงาน 350 แคลอรี ขณะที่ปัจจุบัน ความสะดวกสบายในการซื้อหารับประทานเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะหลีกเลี่ยง ‘น้ำตาลที่มองไม่เห็น’ ที่มาพร้อมกับอาหารปรุงสำเร็จ หรืออาหารผ่านกระบวนการทั้งหลาย เพื่อเพิ่มรสชาติ ถนอมอาหาร หรือทั้งสองอย่าง

จากการทดสอบในสัตว์ทดลอง ลิวอิสบอกว่า ภาวะติดน้ำตาลนั้น ไม่ต่างจากที่เราเสพติดนิโคตินในบุหรี่ กระทั่งโคเคน หรือเฮโรอีน เนื่องจากมันจะเข้าไปควบคุมส่วนให้รางวัลในสมอง (brain’s reward pathway) ทำให้ผู้รับประทานต้องเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนสำคัญของสารเสพติดโดยทั่วไป มักทำให้ผู้เสพเกิดความพึงพอใจ และต้องการใช้ซ้ำอีก ซึ่งนำไปสู่การติดสารเสพติด

การทดลองกับหนู โดยให้งดอาหารวันละ 12 ชั่วโมง จากนั้นอีก 12 ชั่วโมงถัดมา หนูจะสามารถเข้าถึงน้ำเชื่อมได้ตลอดเวลา หลังการทดลองครบ 1 เดือน โดยจับสังเกตพฤติกรรมในแต่ละวันของหนู พบว่ามีพฤติกรรมไม่ต่างจากผู้ใช้ยาเสพติด ในช่วง 12 ชั่วโมงที่ต้องอดน้ำตาล พบว่าหนูมีความวิตกกังวลและอารมณ์แปรปรวนเพิ่มขึ้น

งานศึกษาในปี 2002 โดย คาร์โล โคแลทูโอนี จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ก็ให้การสนับสนุนในเรื่องนี้ โดยพบว่าหนูทดลองมีภาวะ ‘ถอนน้ำตาล’ (sugar withdrawal) หลังจากงดให้น้ำตาลและการให้ยา naloxone ซึ่งเป็นยาบรรเทาอาการจากความอยากเสพสารเสพติดที่จะเข้าไปทำปฏิกิริยากับสมองส่วนให้รางวัลโดยตรง

เราอาจอยากทราบต่อไปว่า การหักดิบของหวานต้องใช้เวลานานเท่าไร? ลิวอิสยอมรับว่า ไม่สามารถให้คำตอบชัดเจนได้ เพราะสภาพของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันเลย และยังไม่มีงานทดลองกับคนโดยตรงในเรื่องนี้

ที่มา: qz.com

logo

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า