ข่าวที่ไม่เป็นข่าว 2022: เปิดแนวรบล้างสมอง สงครามจักรกลปั่นประสาทของ NATO บนโลกไซเบอร์

‘น้ำ-ฟ้า-ฝั่ง’ อาจจะเป็นแนวรบพุ่งระหว่างมนุษยชาติมาหลายหมื่นปี หลังช่วงเวลาของสงครามเย็นก็ยังเกิดสมรภูมิใหม่ขึ้นมาคือ อวกาศและโลกไซเบอร์ ทว่าในปัจจุบันแนวรบอื่นก็ได้ถูกพัฒนามากขึ้นแล้ว คือแนวรบใน ‘สมองมนุษย์’ ที่จะไม่มีวันจบ ไม่มีวันแพ้ และอาจจะไม่มีวันชนะ

ประเด็นนี้ได้ถูกบรรจุเป็นหนึ่งใน ‘ข่าวที่ไม่เป็นข่าว’ ประจำปี 2022 โดยกลุ่มสื่ออิสระอย่าง ‘Project Censored’ ซึ่งพยายามตีแผ่เรื่องราวที่ถูกปิดบังให้เป็นที่รับรู้ในสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิ เสรีภาพ และการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยที่ดี 

วันที่ 5 ตุลาคม 2021 สมาคมนาโตแห่งแคนาดา (The NATO Association of Canada: NAOC) ได้ให้การสนับสนุนวงพูดคุยเกี่ยวกับการสร้างอาวุธด้วยวิทยาศาสตร์ทางสมอง โดยเฉพาะการศึกษาหาจุดอ่อนของสมองมนุษย์ และใช้ประสาทวิทยาศาสตร์ (neurosciences) เพื่อควบคุมยุทธศาสตร์การสงครามให้มากที่สุด และเรียกมันว่า ‘แนวรบสมอง’ (cognitive warfare) 

หาก NAOC ทำสำเร็จ ย่อมหมายความว่า พื้นที่ปลอดภัยแหล่งสุดท้ายอย่างสมองของมนุษย์อาจถูกรุกรานได้ และจะเป็นแนวรบที่ไม่มีวันจบสิ้น อันตราย รวมถึงเริ่มถูกตั้งคำถามถึงประเด็นด้านจริยธรรมและความเสี่ยงด้านสังคม โดยเฉพาะเมื่อ NAOC พยายามมองหาการร่วมลงทุนจากบริษัททุนใหญ่เป็นจำนวนมาก

จุดร่วมของความมั่นคงกับทุนนิยม เมื่อ NAOC แสวงหานายทุนข้ามชาติ

แม้ว่าการพยายามนำการทำงานของสมองมนุษย์มาใช้เป็นเครื่องมือสงครามนั้นจะถูกตั้งคำถามแล้ว ปัญหาสำคัญคือ NAOC ยังพยายามพัฒนาโครงการนี้ผ่านความร่วมมือกับหลายบริษัททุนใหญ่ข้ามชาติที่มีความเป็นไปได้สูงว่าจะเกิดการนำไปหาประโยชน์เพิ่มเติมต่อไปอีกด้วย

จากคำให้การของผู้ร่วมโครงการอย่าง แมรี-ปิแอร์ เรย์มอนด์ (Marie-Pierre Raymond) ในฐานะตัวแทนของนักพัฒนานวัตกรรมด้านกลาโหมของกองทัพแคนาดา (the Canadian Armed Forces’ Innovation for Defense Excellence and Security Program) ได้ระบุว่า การพัฒนาประสาทวิทยาศาสตร์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือทำสงครามนั้น มีความเป็นไปได้สูงว่าจะนำนวัตกรรมด้านไอทีอย่าง Big-Data สื่อออนไลน์ และปัญญาประดิษฐ์มาใช้มากขึ้น ซึ่งเรย์มอนด์พยายามจูงใจบริษัทต่างๆ ที่เข้าร่วมพัฒนาโครงการนี้ว่า จะได้รับการเสนอรางวัลในระดับชาติและระดับนานาชาติ โดยเฉพาะการเข้าถึงตลาดในอีกกว่า 30 ประเทศด้วย

นอกจากนี้ ผู้ร่วมโครงการอย่าง เชการ์ กอธิ (Shekhar Gothi) ในฐานะเจ้าหน้าที่ทางการทหาร หน่วยรบพิเศษของประเทศแคนาดา ได้ระบุถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องเอาไว้ว่า “ผู้ร่วมพัฒนาทุกคนจะยังคงมีสิทธิเหนือลิขสิทธิ์ในการควบคุมสิ่งประดิษฐ์นั้นอย่างเต็มที่” ซึ่งคำพูดนี้ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า NATO กำลังส่งสาสน์ถึงบริษัททุนใหญ่ทั้งหลายที่เข้าร่วมว่า พวกเขาจะยังทำกำไรจากการขยายอำนาจของ NATO ต่อไปได้ 

ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่า หากการพัฒนาอาวุธประเภทนี้สำเร็จ อาจทำให้กลุ่มทุนใหญ่เข้ามามีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหนือลิขสิทธิ์ของสิ่งประดิษฐ์ที่ว่านี้ ขณะเดียวกันก็ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะมีการนำมาใช้เพื่อการค้าด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะการนำมาใช้กับตลาดภายในของกลุ่มประเทศทั้ง 30 ประเทศที่ NATO กล่าวเอาไว้

เป้าหมายของแนวรบสมอง มุ่งทำลายสังคม เปลี่ยนคนเป็นอาวุธ

การสงครามทั่วไปอาจจะมุ่งทำลายปัจจัยทางการทหาร ทำลายเศรษฐกิจ ไปจนถึงจุดยุทธศาสตร์ของศัตรู ทว่าแนวรบสมองกลับมุ่งไปที่การโจมตี ‘สังคม’ ของศัตรูทั้งหมด ซึ่งดูค่อนข้างมีความเป็นนามธรรม ขณะเดียวกันก็ฟังดูอันตรายกว่าการรบแบบเดิมมาก

ผู้ศึกษาแนวรบสมอง ฟรองซัวส์ ดู คลูเซล (François du Cluzel) จากศูนย์นวัตกรรมของ NATO (NATO Innovention Hub) ได้เขียนรายงานถึงแนวคิดนี้เอาไว้ตั้งแต่ปี 2020 ว่า เป็นนวัตกรรมทางสงครามที่มุ่ง ‘เปลี่ยนทุกคนเป็นอาวุธ’ และ ‘ทำร้ายสังคมของศัตรู’ มากกว่าทำลายกองทัพของศัตรูตามยุทธการสงครามสมัยก่อน โดย ดู คลูเซล ระบุว่า ความน่ากลัวของนวัตกรรมนี้คือมันจะเป็นแนวรบที่ไม่มีวันสิ้นสุด เนื่องจากไม่สามารถร่างสนธิสัญญาสงบศึกในความขัดแย้งของสงครามประเภทนี้ได้ หรือแม้แต่การยอมแพ้ก็ไม่สามารถที่จะกระทำได้เช่นกัน เนื่องจากแนวรบนี้เกิดขึ้นภายในจิตใจของผู้คนในแต่ละชาตินั่นเอง

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ ดู คลูเซล ระบุชัดเจนว่า องค์กรทางการทหารจะต้องทำงานใกล้ชิดกับกลุ่มนักวิชาการมากขึ้น เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ให้กลายเป็นอาวุธ โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมศักยภาพของแนวรบสมองของฝ่ายสัมพันธมิตรของ NATO ให้ดียิ่งขึ้น ขณะที่สำนักข่าว The Grayzone ได้วิพากษ์วิจารณ์เอาไว้ว่า กลยุทธ์นี้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างถูกที่ถูกเวลา โดยเฉพาะเมื่อกลุ่มประเทศพันธมิตรเริ่มเบนเป้าหมายทางการทหารไปยังพลเมืองของชาติตนเอง และพยายามไม่ให้พลเมืองเหล่านั้นรู้สึกได้ 

ความน่ากังวลต่อไปคือ ในปัจจุบันสื่อจำนวนมาก รวมไปถึงหลายชาติพันธมิตรได้มีประกาศอย่างเป็นทางการที่มุ่งไปยังประเด็นสงครามยูเครน-รัสเซีย หรือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ NATO ทว่าด้านการรายงานของสื่อมวลชนเกี่ยวกับแนวรบสมองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2020 จนถึงปัจจุบันกลับมีน้อยมากอย่างน่าประหลาด แม้ว่าสงครามครั้งนี้จะส่งผลกับภาคพลเรือนแทบจะทุกคนมากกว่าปฏิบัติการทางการทหารในอดีตอย่างมหาศาลเพียงใดก็ตาม

ที่มา

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า