ทุพโภชนาการ ปัญหาสำคัญที่โลกต้องเผชิญ

bbq

ขณะนี้ปัญหาสำคัญของโลก คือการรับมือกับภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งมาในหลายรูปแบบ และเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบทั่วโลก

รายงาน 2016 Global Nutrition ‘From Promise To Impact: Ending Malnutrition by 2030’ โดยทีมศูนย์นโยบายอาหาร (Centre for Food Policy) มหาวิทยาลัยซิตี (City University) กรุงลอนดอน ร่วมกับ สถาบันวิจัยนโยบายอาหารนานาชาติ (International Food Policy Research Institute: IFPRI) วอชิงตัน ดีซี สหรัฐ ระบุว่า แต่ละประเทศขาดการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง จึงยังมีผู้คนที่ต้องประสบปัญหาอันเกี่ยวเนื่องกับอาหาร อาทิ ภาวะแคระแกร็น โลหิตจาง ปัญหาหัวใจและเบาหวาน

ในรายงานพบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรที่ทำการศึกษา ในกลุ่มผู้ใหญ่ พบได้ทั้งภาวะทุพโภชนาการและน้ำหนักเกิน ขณะที่เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ หากไม่ประสบปัญหาน้ำหนักเกิน ก็มีปัญหาน้ำหนักน้อยเกินไป ไปจนถึงภาวะทุพโภชนาการรุนแรง

แม้สาเหตุสำคัญในการเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบเกือบครึ่งหนึ่งคือภาวะทุพโภชนาการ หรือการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ แต่อีกส่วนหนึ่งคือการได้รับอาหารคุณภาพต่ำ ซึ่งอาจนำไปสู่โรคภัยในระยะยาว

ในแง่เศรษฐกิจและสังคม ภาวะทุพโภชนาการส่งผลต่อ GDP ในประเทศแถบแอฟริกาและเอเชียถึงร้อยละ 11 ต่อปี ในสหรัฐ หากครอบครัวหนึ่งมีสมาชิกคนหนึ่งน้ำหนักเกิน รายได้ครัวเรือนต้องเสียไปร้อยละ 8 เพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาล ขณะที่ในประเทศจีน การที่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน นำไปสู่การสูญเสียรายได้ราวร้อยละ 15

ภาวะทุพโภชนาการพบได้หลายรูปแบบ และไม่ใช่เฉพาะการขาดอาหารเท่านั้นที่ถือว่าเป็นทุพโภชนาการ แต่เรื่องที่ได้รับอย่างล้นเกิน ก็นับว่าเป็นปัญหาด้วยเช่นกัน

ทุพโภชนาการจึงเป็นภาวะที่เกิดขึ้นกับเด็กที่มีการเจริญเติบโตและพัฒนาการช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน ผู้ที่มีรูปร่างผอม น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ผู้ที่ขาดวิตามินและเกลือแร่สำคัญ ไปจนถึงผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และยังมีปัญหาคอเลสเตอรอล ไขมัน และเกลือในปริมาณสูง

คอรินนา ฮอว์คส์ หนึ่งในทีมศึกษาและผู้อำนวยการศูนย์นโยบายอาหาร (Centre for Food Policy) มหาวิทยาลัยซิตี (City University) กรุงลอนดอน ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ ประชากร 1 ใน 12 คนทั่วโลกเป็นเบาหวาน ขณะที่ผู้คนเกือบ 2,000 ล้านคนประสบภาวะโภชนาการล้นเกินและปัญหาน้ำหนักเกิน ฮอว์คส์แนะนำว่า รัฐบาลแต่ละประเทศควรหาทางรับมือปัญหาด้านอาหาร ซึ่งเกี่ยวข้องกับโรคเรื้อรังต่างๆ ที่ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่ส่งผลต่อสุขอนามัยประชาชนไม่แพ้โรคระบาดหรือโรคติดต่อ

ลอว์เรนซ์ อัดดาช ทีมศึกษาร่วมและนักวิจัย IFPRI เสริมว่า ส่วนสำคัญของเรื่องนี้คือการยึดโยงกับนโยบาย ถ้ารัฐบาล ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา และภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนในการแก้ปัญหาร่วมกัน การจัดการกับภาวะทุพโภชนาการนั้นเป็นไปได้

 


อ้างอิงข้อมูลจาก:
theguardian.com
globalnutritionreport.org
ebrary.ifpri.org

logo sponsor

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า