การขายพืชผลและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของชาวนาชาวไร่แก่ผู้บริโภคโดยตรงแบบไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางน่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นที่เป็นธรรมต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค และควรได้รับการสนับสนุนจากรัฐ แต่จากมุมของกระทรวงเกษตรสหรัฐ (U.S. Department of Agriculture: USDA) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (Food and Drug Administration: FDA) พวกเขามองว่า นี่แหละคือปัญหา
ทั้งนี้ก็เนื่องจากทั้งสองหน่วยงานเห็นว่าการซื้อขายทางตรงเช่นนี้เกิดขึ้นโดยเกษตรกรอิสระรายย่อยที่ไม่มีการขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อสัตว์และนม ซึ่งมีโอกาสปนเปื้อนด้วยเชื้อแบคทีเรียต่างๆ อาทิ ซัลโมเนลลา ต้นเหตุของอาการอาหารเป็นพิษ แคมพิโลแบ็คเตอร์ สาเหตุหนึ่งของอาการท้องร่วง รวมทั้ง อี. โคไล O157:H7 แบคทีเรียที่อาจเป็นสาเหตุให้ผู้รับประทานท้องร่วงแบบมีเลือดปน และในผู้สูงอายุบางรายอาจเกิดอาการแทรกซ้อนที่ไตจนถึงแก่ชีวิตได้
ผู้ตรวจการรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลาง เตรียมมาตรการลงโทษทางกฎหมายต่อเกษตรกรเหล่านี้ ในรัฐเมน เพนซิลเวเนีย วิสคอนซิน มินเนโซตา และแคลิฟอร์เนีย ซึ่งบทลงโทษดังกล่าว มีตั้งแต่ การสั่งห้ามขาย โทษปรับ ไปจนถึงโทษจำคุก
กรณีตัวอย่างเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แดน บราวน์ เกษตรกรโคนมในเมืองบลูฮิลล์ ถูกกรมวิชาการเกษตรประจำรัฐเมนฟ้องเนื่องจากไม่มีใบอนุญาต ศาลชั้นต้นของรัฐเมนตัดสินว่าบราวน์มีความผิด ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างยื่นอุทธรณ์
ด้วยนิยามความปลอดภัยที่ไม่เหมือนกันระหว่างคนกินกับคนออกกฎ ผู้บริโภคบางคนไปไกลถึงขั้นผลักดันให้จัดระเบียบการค้าขายของเกษตรกรรายย่อยโดยไม่ต้องใช้ใบอนุญาต ในรัฐเมน มีการผ่านกฎหมายสนับสนุนอธิปไตยทางอาหารที่อนุญาตให้มีการขายผลิตภัณฑ์อาหารโดยไม่ต้องจดทะเบียนได้อย่างถูกต้อง หลายเมืองในรัฐแมสซาชูเสตต์ และเวอร์มอนต์ รวมถึงเมืองซานตาครูซ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ก็ผ่านกฎหมายดังกล่าวมาบังคับใช้แล้วเช่นกัน
ขณะที่ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐ (Centers for Disease Control: CDC) ได้ออกคำเตือนกรณีเชื้อโรคในเนื้อสัตว์จากฟาร์มดื้อยาปฏิชีวนะมากขึ้น โดยอุตสาหกรรมผลิตเนื้อสัตว์ใช้ยาปฏิชีวนะราวร้อยละ 80 ของที่ใช้กันทั้งหมดในสหรัฐ สำนักข่าว Atlantic รายงานว่าปี 2012 พบความเชื่อมโยงระหว่างการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะของผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งกับเนื้อไก่ที่ตรวจพบแบคทีเรียที่เกิดการดื้อยา
ที่มา: alternet.org