ภาพ : อนุช ยนตมุติ
เมืองคาเกงาวะ ประเทศญี่ปุ่น มีการรณรงค์ให้ประชากรของเมืองใช้ชีวิตแบบแช่มช้า หรือ Slow life city Declaration ด้วยการชะลอฝีเท้าให้ช้าลง การเดินทำให้สมองคนเราผ่องใส
ในขณะที่การใกล้ชิดธรรมชาติ หายใจให้ช้าลง ตื่นเร็วขึ้นอีก 5 นาที เดินทางแบบไม่รีบร้อน คือสูตรสำเร็จของชีวิตแบบช้าๆ
สุทธิชัย สุศันสนีย์ – พนักงานการรถไฟผู้คลั่งไคล้จักรยาน รู้เรื่องพวกนี้ไหม ไม่แน่ใจ
เอาที่แน่ๆ เขาใช้จักรยานเดินทางไปไหนมาไหนตั้งแต่ปี 2528 นับนิ้วดูแบบช้าๆ
ปาเข้าไป 24 ปี แล้ว
“คนที่บอกว่าใช้จักรยานแล้วช้า เสียเวลา ไม่โก้ ไม่ทันสมัย…” สุทธิชัย เว้นวรรค “ผมบอกเลยว่าไม่ช้า บางทีเร็วกว่าด้วย ผมขี่จากบางซื่อ มาถึงตรงที่เรานัดคุยกัน (จุฬาฯ ซอย 6 ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย) ไม่เกิน 40 นาที จักรยานกะเวลาได้แน่นอน
“ส่วนที่พูดว่าสังคมสมัยใหม่เป็นสังคมเร่งรีบ เราไม่ควรไปเสียเสียพลังงานกับการเดินทางโบราณๆ อย่างนี้ ผมมองว่า การปั่นจักรยานทำให้หัวใจดี ปอดดี พอร่างกายแข็งแรง ไปทำงานตรงเวลา มันจะไม่ดีตรงไหน”
บ้านอยู่หลัง ปตท. สำนักงานใหญ่ ที่ทำงานอยู่แถวๆ หมอชิต 2 ระยะทางไปกลับ 6 กิโลเมตร สุทธิชัยปั่นจักรยานไปทำงานมาโดยตลอด นอกจากนี้ หากมีธุระปะปังที่ไหน เขาไม่เคยคิดนอกใจเจ้าสองล้อ
“ยอมรับตามตรงว่า แรกเริ่มที่ใช้จักรยาน ไม่ได้มีความคิดว่าจะช่วยลดมลพิษอะไรหรอก คิดถึงความสะดวกในการไปทำงานมากกว่า สมัยก่อนรถประจำทางเข้าไม่ถึงที่ทำงาน มีสองวิธีคือเดินกับนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้าง พอดีได้จักรยานมาจากเพื่อน เลยลองปั่นดู ก็เห็นว่าสะดวกดี
“พอได้มาเข้าชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพ ก็ได้เรียนรู้มากขึ้นว่า ทุกวันนี้มลพิษมันเยอะ การใช้จักรยานเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหาเหล่านี้ ลดการใช้เชื้อเพลิง สุขภาพก็ดี แล้วเราจะไปใช้ทำไมรถยนต์ ไอ้ปัญญาจะซื้อหามันมีอยู่แล้ว แต่จะซื้อไปทำไมล่ะ
“ทุกวันนี้ เวลาไปไหนมาไหน ไปซื้อของเยาวราช ไปหาเพื่อนแถวฝั่งธนฯ หรือทำธุระแถวสนามหลวง ผมใช้จักรยานทั้งนั้น ระยะทางใกล้ไกลไม่ใช่อุปสรรค พอเราใช้มันจนชินกับสภาพท้องถนนแล้วมันรู้สึกเฉยๆ คนนั่งอยู่บนรถเห็นเราก็บอกว่า ขี่จักรยานอันตราย แต่พอเรามาขี่จริงๆ มันมีวิธีในการใช้ถนนร่วมกัน”
นอกจากการเดินทางที่สะดวก กะเวลาได้แน่นอน ทำให้สุขภาพแข็งแรง และช่วยลดมลพิษ เมื่อถามว่ามีอะไรอีกไหมที่เขาได้จากการเดินทางบนสองล้อ สุทธิชัยบอกว่า จักรยานคือพาหนะที่มีเสน่ห์ จอดตรงไหนก็มีคนเข้ามาคุยด้วย
ถูกของเขา ยุคสมัยใหม่สร้างกรอบกรงมากักขังคนเราโดยไม่รู้ตัว เรามีไอพอดกันคนละเครื่อง ฟังเพลงกันคนละเพลง
เชย โบราณ ล้าหลัง ไม่ทันสมัย แต่อย่างน้อยๆ พาหนะสองล้อชนิดนี้ก็ไม่ขึงเขตรั้วมาขวางกั้นบทสนทนาระหว่างผู้คน
“จักรยานไม่มีประตูไง มันเปิด… อย่างน้อยๆ ก็มีเข้ามาดูรถ เพราะรถผมแปลกกว่าใครเพื่อน ไม่ใช้โซ่ แต่ใช้เพลา ระหว่างขี่ ก็คล้ายๆ ว่าได้ปลดปล่อยตัวเอง ได้ออกกำลังกาย จิตใจก็สบาย”
อาจไม่เคยได้ยินคำว่า Slow Living เลยด้วยซ้ำ อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้น สุทธิชัยไม่ได้ดัด แต่เขาทำจนมันกลายเป็นวิถี วิถีชีวิตที่เลือกจังหวะการเต้นของตัวเอง
“ผมเป็นคนสบายๆ ชีวิตประจำวันคือ ตื่นตี 5 ไปวิ่งออกกำลังกายที่สวนรถไฟสัก 2 รอบ กลับมาตักบาตร อาบน้ำอาบท่า 7 โมงไปหาข้าวกินที่ตลาด ผมไม่กินเนื้อสัตว์นะ เลิกมาได้เกือบ 30 ปีแล้ว จากนั้นก็ขี่จักรยานไปทำงาน เย็นขี่กลับบ้าน ถ้ามีธุระกับเพื่อนก็ขี่ไปหา ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไป เป็นอย่างนี้ประจำ”
สุทธิชัยบอกว่า ชีวิตเร็วๆ เป็นบ่อเกิดของความเครียด
“มันทำให้ทุกอย่างแย่ สุขภาพแย่ จิตใจแย่ ผลที่ตามมาคือต้องหงุดหงิดใส่ครอบครัว เจอเพื่อนก็พูดจากันไม่เข้าหู ความสุขที่แท้จริงของชีวิตคืออะไร ธรรมชาติคนเราเหมือนน้ำ ไหลลงสู่ที่ต่ำ ชีวิตที่เร่งรีบ มันยิ่งทำให้ทุกอย่างในสังคมเลวร้ายลง คนเอาเปรียบกัน การให้อภัยน้อยลง”
“เพราะใจเราไม่สงบ” สุทธิชัยว่า
************
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ มิถุนายน 2552)