ภาควิชาประวัติศาสตร์และศูนย์ไทยศึกษา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรมหาวิทยาลัย ร่วมกับโครงการ World Class University (WCU-069-HS-57) จัดงานปาฐกถาพิเศษชุด ‘วีรชนที่ถูกสร้าง-วีรชนที่ถูกลืมกับโลกทัศน์อันบิดเบี้ยวของสังคม ภายใต้ลัทธิบูชาตัวบุคคล’ ภายใต้หัวข้อเสวนาย่อยเรื่อง ขงจื๊อ : ตัวจริงในตำนาน ในปรัชญา ในสังคม และในลัทธิการเมือง โดย รศ.ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ เป็นผู้นำเสวนา
ขงจื๊อเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์จีน หลักคำสอนของเขาถูกนำมาใช้เป็นโครงสร้างการปกครองรัฐจีน เมื่อพูดถึงขงจื๊อหลายคนคงรู้จักและคุ้นหูกันเป็นอย่างดี ‘ขงจื๊อ’ มีชื่อรองว่า ‘จ้งหนี’ เป็นนักคิดและนักปรัชญาสังคมที่มีชื่อเสียงของจีน คำสอนของขงจื๊อฝังรากลึกลงไปในสังคมเอเชียตะวันออกมาเป็นเวลาถึง 20 ศตวรรษ หลักปรัชญาของขงจื๊อเน้นเกี่ยวกับศีลธรรมส่วนตัวและศีลธรรมในการปกครอง ความถูกต้องเหมาะสมของความสัมพันธ์ในสังคม
ขงจื๊อเป็นลูกนอกประเพณี พ่อของเขาอยากได้ลูกชาย ตอนเกิดตำนานเล่าว่าขงจื๊อมีโหนกเนื้อใหญ่ที่หน้าผากซึ่งตอนเกิดดูประหลาดและน่ากลัว พ่อเลยเอาไปทิ้งทั้งที่อยากได้ลูกชายแต่แม่เป็นผู้เก็บกลับมาเลี้ยง พ่อถึงแก่กรรมตอนขงจื้อ 3 ขวบ ตอนอายุ 17 แม่ก็ตาย เขาค่อนข้างยากจนต้องทำงานทุกอย่างเป็นคนใช้แรงงานทำให้เขาเรียนรู้การใช้ชีวิตจากการทำงานในวัยเด็ก เขารักการเรียนรู้ รักดนตรี ชอบร้องเพลง ขงจื๊อเริ่มรับราชการในตำแหน่งเล็กๆ ตั้งแต่ดูแลปศุสัตว์ ดูแลยุ้งฉาง เป็นนายอำเภอ ตำแหน่งใหญ่ที่สุดคือเป็นเสนาบดียุติธรรม (เพียงเวลาสั้นๆ) เมื่ออายุ 55 ปีเขาออกเดินทางจากรัฐหลู่ของตนเอง ออกเร่ร่อนอยู่ 14 ปี และกลับรัฐหลู่เมื่ออายุ 69 ปี หลังจากนั้นก็สอนหนังสือ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีกจนถึงแก่กรรมเมื่ออายุ 72 ปี
ในแง่ชีวิตของคนๆ หนึ่งเขามีความรู้จากการร่ำเรียนด้วยความพากเพียร ความขยัน อดทนและค่อยๆ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ขณะที่คนร่วมสมัยของขงจื๊อไม่ได้มองว่าเขาเป็นคนที่มีคุณค่า สติปัญญาหรือมีความรู้เป็นเลิศอะไรเลย
วีรชนผู้เงียบงัน
รศ.ดร. สุวรรณา สถาอานันท์ กล่าวว่า “ขงจื๊อเป็นตัวละครตัวหนึ่งที่น่าสนใจ ที่ทำให้เราเข้าใจความหลากมิติในทางประวัติศาสตร์ ในทางสังคม วัฒนธรรมของเราได้ ตัวบุคคลที่เรารู้จักในประวัติศาสตร์ รู้จักในสังคม รู้จักโดยทั่วไป ตัวเขาจริงๆ กับภาพลักษณ์ของเขาที่ถูกนำมาใช้ในด้านต่างๆ มีความแตกต่างกันเยอะ”
อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ กล่าวถึงแนวคิดที่พูดถึงวีรชน 3 แบบใหญ่
– วีรชนคือบุคคลที่สร้างแรงบันดาลใจและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (inspiration & change) เช่น เหลาจื๊อกับซุนวู่ (เป็นนักกลยุทธเกี่ยวกับสงคราม)
– วีรชนคือบุคคลที่มีความกล้าหาญและมีความเสียสละตนเองอย่างใหญ่หลวง เมื่อมีสถานการณ์อะไรที่เรียกร้องการเสียสละอย่างยิ่งใหญ่ ก็มักจะเป็นสถานการณ์ที่เลวร้าย เป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวงถึงขั้นมีคนตายจำนวนมาก ถึงขั้นล่มสลายทางสังคม อารยธรรมหรือต้องต่อสู้กับความทุกข์ อุปสรรคต่อเนื่องยาวนาน เช่น มหาตมะคานธี เป็นตัวอย่างของวีรชนที่เน้นเรื่องความกล้าหาญและการเสียสละตนเองอย่างใหญ่หลวง
– วีรชนคือบุคคลที่ละเมิดกฎเกณฑ์ทั่วไปทางสังคมแล้วสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แปลกประหลาดมาก เช่น บิล เกตส์ สตีฟ จอบส์
จากการศึกษาขงจื๊อมาเป็นเวลาสิบๆ ปี รศ.ดร. สุวรรณาไม่เคยนึกถึงขงจื๊อในแง่วีรชนเลย แต่ถ้าใช้ 3 เกณฑ์ข้างต้นมาวิเคราะห์ว่าขงจื๊อถือเป็นวีรชนหรือไม่ “ดิฉันคิดว่าถ้าขงจื๊อเป็นวีรชน ก็คงเป็นวีรชนที่อิหลักอิเหลื่อ (un-easy) เขาไม่ใช่วีรชนที่น่าทึ่ง (dramatic hero) แต่เป็นวีรชนที่เงียบงัน (quiet hero)”
รศ.ดร.สุวรรณาพยายามชี้ให้เห็นว่าขงจื๊อสร้างสิ่งสำคัญทิ้งไว้ในประวัติศาสตร์ที่ส่งผลต่อสังคมในยุคต่อๆ มา ทั้งสังคมจีนและสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในแง่ของวีรชนคือบุคคลที่สร้างแรงบันดาลใจและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ขงจื๊อพยายามจะฟื้นคืนอารยธรรมโจวที่เขาคิดว่าดีงาม ในสมัยยุคของขงจื๊อ เขาถือเป็นบุคคลที่ล้มเหลวทั้งในการดำเนินชีวิตและในทางการเมือง เพราะไม่มีใครนำหลักคำสอนของเขาไปปฎิบัติ แต่เขากลับมีความสำเร็จในแง่ของการเป็นครู เพราะลูกศิษย์เคารพนับถือ ทำให้ขงจื๊อเป็นคนไม่ธรรมดาที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งใช้ขงจื๊อเป็นศูนย์กลางของชีวิต ซึ่งแสดงว่าเขาต้องไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน
วีรชนคือบุคคลที่มีความกล้าหาญและมีความเสียสละตนเองอย่างใหญ่หลวง ขงจื๊อก็ไม่มีความชัดเจนในด้านนี้เพราะเขาไม่ใช่วีรชนในแง่ dramatic ที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมด ความเป็นวีรชนของขงจื๊ออยู่ที่ความลึกซึ้ง ละเมียดละไมในเรื่องธรรมดาสามัญที่สุด เช่น การกิน การนอน การพูด การแต่งตัว ความสัมพันธ์ในสังคม
รศ.ดร.สุวรรณากล่าวว่า “ตอนดิฉันอายุ 20 กว่าๆ ดิฉันคิดว่าขงจื๊อเป็นคนที่น่าเบื่อที่สุดในโลก มีใครที่น่าเบื่อไปกว่านี้มั้ย? ที่พูดเรื่องคุณธรรม จารีต ประเพณี กตัญญู จะหานักปรัชญาที่น่าเบื่อกว่าขงจื๊อคงไม่มีอีกแล้ว แต่เมื่ออายุย่างเข้า 30-40 ปี ก็เริ่มรู้สึกว่าคนนี้ขอคารวะ ไม่ธรรมดาจริงๆ หลังจากได้ศึกษาคำภีร์หลุนวี่ซึ่งเป็นบทบันทึกบทสนทนาของขงจื๊อ ก็คิดว่าคนนี้ๆ หากจะเรียกเขาว่าเป็นวีรชน ก็เรียกว่าเป็น ‘วีรชนอิหลักอิเหลื่อ’ ขงจื๊อมีบุคลิกของคนที่คอยกล่อมเกลา ขัดเกลาคน (educator) ด้วยความอดทน ในชีวิตขงจื๊อเขาไม่เคยอวดอ้างอะไรเกี่ยวกับตัวเองเลย แม้กระทั่งไม่เคยคิดอวดว่าเขามีมนุษยธรรมที่สมบูรณ์ (perfection of virtue) สิ่งเดียวที่ขงจื๊ออวดมีแค่ 2 เรื่องเท่านั้นก็คือ รักการเรียนรู้และสอนโดยไม่เบื่อ จะมีใครน่าเบื่อไปกว่านี้มั้ยค่ะ” (หัวเราะ)
ขงจื๊อไม่ได้สอนระบบจริยศาสตร์แบบว่าให้คนเสียสละตนเอง ที่ไม่มีความต้องการหรือความอยากได้ เขายอมรับความอยาก (ยอมรับความเป็นมนุษย์) เราสามารถมีความต้องการได้ อยากได้เกียรติยศ อยากได้ความร่ำรวยได้ แต่โจทย์ที่สำคัญคือ ‘เราได้สิ่งที่เราอยากได้มาอย่างถูกต้องรึเปล่า?’ ถ้าไม่ถูกต้องสิ่งของพวกนั้นก็ล่องลอยไปมา ไม่มีคุณค่า ขงจื๊อกล่าวว่า “เราทำตามใจปรารถนาได้โดยไม่ละเมิดครรลอง” เขาไม่ได้อ้างว่าความปรารถนาของเขาจะต้องถูกต้องเสมอ แต่เขาอ้างว่าทุกครั้งที่เขาทำ สิ่งที่เขาทำจะไม่ละเมิดความถูกต้อง เขาไว้ใจความปรารถนาของเขาได้ ไม่ได้ไว้ในในแง่ว่าเขาจะปรารถนาสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่ไว้ใจในแง่ที่ว่าเมื่อเขาทำตามความปรารถนา เขาจะไม่ทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง
ในแง่วีรชนคือบุคคลที่ละเมิดกฎเกณฑ์ทั่วไปทางสังคมแล้วสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ขงจื๊อไม่เคยร่ำรวย ไม่เคยประสบความสำเร็จในการบริหารบ้านเมือง ไม่เคยมีความสำเร็จที่น่าประทับใจ (Spectacular Achievements) ความเป็นคนธรรมดาของขงจื๊อยิ่งใหญ่เพราะเขาให้ภาพ (visual) 3 อย่างไว้แก่สังคม มีประโยคเล็กๆ ประโยคหนึ่งที่หนังสือเกือบทุกเล่มที่พูดถึงขงจื๊อ โดยเรียกขงจื๊อว่าเป็น ‘ครูเอกชนคนแรกของประวัติศาสตร์จีน’ ในบริบทยุค 500 ปีก่อนคริสต์ศักราช การเป็นครูเอกชนคนแรกในสังคมจีนโบราณ ยุคชุนชิว เขาสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมในสังคมอย่างใหญ่หลวง
ขงจื๊อนำเอาความรู้ออกจากครอบครัว ออกจากชนชั้นปกครอง ออกจากอาชีพเดิมของคนทั่วไป ของบรรพชน ของคนส่วนใหญ่ หากเราต้องจินตนาการว่าในสมัยนั้น เราเกิดมาในครอบครัวแบบไหนเราก็รับรู้ถ่ายทอดอาชีพจากครอบครัวนั้น สถานภาพทางสังคมก็เป็นแบบครอบครัวนั้น สิ่งที่ขงจื๊อทำเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นยากและสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อชีวิตทางสังคม
เขาเอาความรู้เอามาแลกเปลี่ยนได้ด้วยค่าครู สอนหนังสือโดยการเก็บเงิน แต่ขงจื๊อเก็บค่าสอนน้อย ไม่สอนฟรีเพราะเขาเองก็ยากจน เขาพูดว่า “แม้มีเนื้อย่างเพียงห่อเดียว ก็ยินดีสอน” และการสอนต้องไม่แบ่งชนชั้น เขาเอาความรู้มาแลกเปลี่ยน เขาทำให้ความรู้กลายเป็นเรื่องสมัครใจ เป็นเรื่องการเลือกของคนไม่ใช่การสืบทอด เขาช่วยเปิดช่องทางให้คนเปลี่ยนวิกฤต เปลี่ยนชีวิตด้วยความสมัครใจ
ความรู้ในสมัยนั้นเป็นหนทางสู่การเข้ารับราชการ เป็นขุนนาง เป็นชนชั้นปกครองซึ่งถ้าเราอ่านประวัติศาสตร์ในยุคนั้นเราจะพบว่าที่ทำอย่างนี้ได้ก็เพราะว่า ชนชั้นปกครองกำลังอ่อนแอ ต้องการคนใหม่ๆ เข้าไปบริหาร หากชนชั้นปกครองเข้มแข็งก็จะมีแต่ลูกหลานของพวกเขา ณ จุดเสื่อมของราชวงศ์จงนั่นเอง โอกาสเหล่านี้ก็เปิดออก ขงจื๊อจึงมีลูกศิษย์มาเรียนด้วยความหวังว่าอยากเข้ารับราชการ เพราะโอกาสเข้ารับราชการ โอกาสทางวิชาชีพสามารถทำให้พวกเขามีอำนาจ มีสถานะภาพและเปลี่ยนชนชั้นในสังคมได้ เป็นการเปิดชีวิตคนด้วยโอกาสในการเรียนรู้ ซึ่งขงจื๊อเป็นคนแรกที่สร้างโอกาสเหล่านี้ในประวัติศาสตร์จีน
ขงจื๊อให้ภาพอุดมคติเกี่ยวกับชีวิตที่ดีกว่า ส่วนนี้ที่ทำให้เขาเป็นนักปรัชญา เขาไม่เพียงให้ความรู้ในเรื่องวรรณคดี เรื่องจริยธรรม การอ่านคำภีร์ประวัติศาสตร์แต่เขาฝึกคาแร็คเตอร์ บุคลิก ฝึกวิธีพูดคุยกับคน จบไปสามารถเป็นนักการทูต เป็นผู้บริหาร เป็นข้าราชการได้ ขงจื๊อกำลังทำให้โอกาสของชีวิตเปิดออกพาไปสู่ภาพชีวิตที่ดีที่เปลี่ยนไป
รศ.ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชะตากรรมของขงจื๊อในประวัติศาสตร์จีน
หากพูดถึงขงจื๊อ สุวรรณาแบ่ง 2 ช่วง คือก่อนศตวรรษที่ 20 และศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา
ช่วงก่อนศตวรรษที่ 20 ขงจื๊อถึงแก่กรรมสองปีหลังสิ้นสุดยุคชุนชิว จุดเริ่มต้นของยุคจั้นกั๋ว จีนเป็นยุคของสงคราม หลังจากนั้นก็เข้าสู่ยุคของจิ๋นซีฮ่องเต้ซึ่งรวมอาณาจักรทั้งหลายจนเกิดจิ๋น (คำว่าจีนมาจากจิ๋น) เป็นครั้งแรกที่จีนมีอัตลักษณ์เดียว ใช้ภาษา ตัวอักขระเดียวกัน ในยุคของจิ๋นซีฮ่องเต้ที่เป็นยุคของเผด็จการ ทารุณกับประชาชน สร้างกำแพงเมืองจีน ฆ่าคนเป็นว่าเล่น ราชวงฮั๋นเรียนรู้และก็เอานำขงจื๊อมาใช้ ราชวงศ์ฮั่นทำให้ปรัชญาขงจื๊อกลายเป็นลัทธิขงจื๊อ ซึ่งมีลักษณะอนุรักษ์นิยม
อีกยุคหนึ่งที่สำคัญคือราชวงศ์ซ่ง ศตวรรษที่ 12-13 จูสี่ร์ซึ่งเป็นนักคิดขงจื๊อใหม่คนสำคัญ ราชวงศ์ชิงเป็นยุคล่มสลายของอาณาจักรศักดินาเดิม มาถึงในศตวรรษที่ 20 ชะตากรรมของขงจื๊อก็เริ่มเข้มข้นอีกในช่วงทศวรรษแรก 1910-1920 ปัญญาชนจีนนักปฏิรูป ช่วง ซุน ยัตเซ็น เริ่มเถียงกันว่า ประเพณีตกทอด (heritage) จากขงจื๊อจะนำมาใช้ในโลกศตวรรษที่ 20หรือไม่ อย่างไร เพราะคำสอนของขงจื๊อมีความโบราณคร่ำครึ น่าเบื่อหน่าย ในขณะเดียวกันคำสอนต่างๆ ก็เป็นแสดงถึงวัฒนธรรมความเป็นจีน
จนปีค.ศ.1946-1966 ยุคปฏิวัติวัฒนธรรม หนังสือของขงจื๊อถูกเผาเป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์จีน (ครั้งแรกในสมัยจิ๋นซีฮ่องเต้) ต่อมาช่วงทศวรรษที่ 1980 หลังเหตุการณ์จตุรัตเทียนอันเหมิน 1989 หลังปฏิวัติวัฒนธรรมรัฐบาลจีนกลับไปบำรุงวิหารขงจื๊อใหม่ ซึ่งก็มีความอิหลักอิเหลื่อต่อไปเรื่อยๆ กับนโยบายของรัฐบาลจีน ทศวรรษที่ 1990 ก่อนหน้านั้นมีการค้นพบ ขุดค้นทางโบราณคดีและนักวิชาการในโลกภาษาอังกฤษเริ่มผลิตงานเกี่ยวกับขงจื๊อออกมา จนกระทั่งปี 2000 ขงจื๊อกลายเป็นตัวแทนของความเป็นจีนแผ่นดินใหญ่ (presenter of china)
สุวรรณาแสดงทัศนะว่า “ก่อน 1989 จีนกำลังถกเถียง (ex-parliament) เกี่ยวกับแนวคิดประชาธิปไตย มีกระบวนการนักศึกษา แต่สิ่งหนึ่งคือประชาธิปไตยมันไม่ใช่เป็นของจีน เมื่อถามว่าขงจื๊อเป็นนักประชาธิปไตยมั้ย ดิฉันขอพูดว่าไม่ใช่ ถึงแม้เขาสอนหนังสือไม่แบ่งชนชั้น ถึงแม้เขาสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆ อย่าง ดิฉันไม่คิดว่าขงจื๊อเชื่อในความเสมอภาค แต่เชื่อในการเปิดโอกาสให้คนเข้าไปอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ที่ไม่เท่ากัน แต่ไม่ได้เห็นว่ามนุษย์เท่ากันในความหมายโดยธรรมชาติ ”
การกลับไปบำรุงวิหารขงจื๊อเปรียบเสมือนการกลับมาหารากเหง้าของวัฒนธรรมจีน เมื่อถึงเวลาของวิกฤตอัตลักษณ์อะไรบางอย่างจีนจะกลับไปหาขงจื๊อ เมื่อปฏิเสธประชาธิปไตย การกลับไปหาขงจื๊ออย่างน้อยก็ทำให้เยาวชนเห็นว่าควรเชื่อฟังผู้ใหญ่
วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ กล่าวว่า “พอจีนเปิดประเทศแล้ว ขงจื๊อถูกขุดขึ้นมาฆ่าซ้ำในสมัยปฏิวัติวัฒนธรรม รัฐบาลจีนที่ขึ้นมาเป็นผู้นำหลังปฏิวัติวัฒนธรรม (เติ้งเสี่ยวผิง) จุดเด่นของเขาก็คือ เขาเป็นขั้วตรงข้ามกับการปฏิวัติวัฒนธรรม เขากล่าวว่าการปฏิวัติวัฒนธรรมเป็นสิ่งผิดพลาด การกลับไปบำรุงขงจื๊อก็เป็นส่วนหนึ่งของการบอกว่าการปฏิวัติวัฒนธรรมมันผิดพลาด อีกข้อหนึ่งคือขงจื๊อได้กลายเป็นส่วนสำคัญของจีน (disc-primacy) ถ้าหากว่าจีนต้องการจะโกอินเตอร์ไปหาประเทศอื่น ซึ่งมีคนจีนโพ้นทะเลอยู่ทั่วโลก สิ่งที่รัฐบาลจีนใช้คุยกับคนเหล่านั้นได้คือ รากเหง้าของความเป็นจีนอันเดียวกันซึ่งก็คือขงจื๊อ ในขณะเดียวกันที่จีนส่งขงจื๊อออกไปเป็นฑูตทางวัฒนธรรม คือการกล่าวอ้างความเป็นจีน”
สังคมไทยก็ดูจะไม่ต่างกันเพราะมีทรรศนะทางจริยธรรมที่บิดเบี้ยวเชื่อมโยงอยู่กับลัทธิบูชาตัวบุคคล ผ่านการนิยามเรื่อง ‘คนดี’ ตามคุณค่าของศาสนา สร้างจินตนาการที่บิดเบี้ยวว่าคนดีจะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในวิกฤตทางสังคมต่างๆ ทำให้เรายึดโยงอยู่กับการบูชาตัวบุคคลจนขาดความมั่นใจในตัวเองและขาดความกระตือรือร้นของการมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่ดี ดังคำกล่าวของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เปรียบ ‘ลัทธิบูชาตัวบุคคล’ ว่าเสมือน ‘มวยปล้ำ’ “ลัทธิบูชาบุคคล ก็เหมือนมวยปล้ำ ไม่เปิดให้ผู้คนคิดถึงอนาคตไกลไปกว่าตัวผู้นำ หรือฉากการ ‘แสดง’ ที่เกิดขึ้นในชั่วขณะหนึ่งๆ เท่านั้น”
สังคมที่ไม่ต้องการวีรชนคงจะดีที่สุด เพราะช่วงเวลาที่ต้องการวีรชนหมายถึงการเกิดวิกฤตที่หนักหน่วง อาจอันตรายถึงขั้นล้มสลายไม่ใช่แค่เพียงขัดแย้งเล็กๆ น้อยๆ ในสถานการณ์แบบนี้คนที่เสียสละตัวเอง คือคนที่ดีที่สุด สังคมจะเสียคนที่ดีที่สุดไป เรากลับเรียกเขาว่าวีรชนทั้งที่เค้าเป็นคนธรรมดาที่อาจเสียสละ สรรค์สร้างปั้นแต่งทำให้เขาเป็นความดีงาม เราหลอกซ้ำหลอกซ้อนด้วยวิกฤตที่เขาพยายามแก้และเขาเป็นคนที่ดีที่สุด สร้างให้เขาเป็นคนที่เลอเลิศไม่ธรรมดา สร้างภาพให้เขาบิดเบี้ยว แต่เป็นความบิดเบี้ยวในสิ่งที่เราอยากจะเห็น ซึ่งมันสะท้อนความบิดเบี้ยวในความต้องการของเราเอง