ทบทวนความสัมพันธ์ไทย-อียู ในวันที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ

จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติวินิจฉัยให้ทำการยุบพรรคอนาคตใหม่ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 พร้อมด้วยการเพิกถอนสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคอีกมากกว่า 10 ราย (รวม ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ ปิยบุตร แสงกนกกุล ด้วย) ไม่นานหลังจากนั้นก็มีคำประกาศออกมาจากสหภาพยุโรป ที่ได้ออกเอกสารวิพากษ์สถานการณ์การเมืองภายในของไทย ว่ากำลังเดินไปในทิศทางที่ถอยหลัง จากการทำลายความหลากหลายทางการเมืองในระบอบรัฐสภา ซึ่งสหภาพยุโรป (ในฐานะคนนอก) มองเหตุการณ์ในวันนั้นว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ทำลายกระบวนการการพัฒนาของประชาธิปไตยที่รัฐบาลไทยพยายามริเริ่มมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2019 ที่ผ่านมา

พร้อมกันนั้นทางสหภาพยุโรปยังเน้นย้ำในตอนท้ายของเอกสารอีกด้วยว่า สหภาพยุโรปพร้อมที่จะขยายกรอบความร่วมมือกับทางการไทย ขอเพียงแค่ไทยเปิดทางให้แก่กระบวนการประชาธิปไตย หลักเสรีภาพของประชาชน และประเด็นทางด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆ สัญญาณที่ส่งออกมาจากสหภาพฯ ในวันนี้เป็นที่ชัดเจนว่า สหภาพยุโรปกำลังจับตาดูความเคลื่อนไหวทางการเมืองภายในของไทยอยู่อย่างใกล้ชิด คำถามสำคัญที่ตามมา คือ การวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ในวันนี้มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ทางการยุโรปมีต่อไทยหรือไม่ และจำเป็นหรือไม่ที่หมากถัดไปของสหภาพยุโรปจะเป็นการรุกคืบกดดันไทยเหมือนเมื่อกรณีการก่อรัฐประหารในครั้งที่ผ่านๆ มา

แน่นอนว่าในเรื่องของแนวโน้มความเป็นไปได้นั้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายในไทยถือว่าค่อนข้างสุ่มเสี่ยง หากสหภาพยุโรปจ้องจะเล่นงาน หรือพยายามหาเรื่องในการกดดัน และชะลอการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยใช้ข้ออ้างเรื่องกระบวนการสร้างประชาธิปไตย และประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนดังที่ได้กล่าวไว้เป็นนัยๆ จากเอกสารคำแถลงของสหภาพฯ โดยเฉพาะการที่สหภาพฯ เพิ่งจะเปิดให้เห็นถึงท่าทีที่เป็นบวกในการกลับเข้ามาสู่โต๊ะเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับรัฐบาลไทย (EU-Thai Free Trade Agreement) ในช่วงหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา ภายหลังจากแผนการดังว่าถูกพับเก็บไว้เป็นเวลากว่า 6 ปี ตั้งแต่ปี 2014

อิทธิพลของสหภาพยุโรปในยุคมังกรสยายปีก

สหภาพยุโรปเป็นหนึ่งในองค์กรทางการเมืองระดับโลกที่ขึ้นชื่อในเรื่องการมีระดับมาตรฐานทางจริยธรรมการเมืองระหว่างประเทศที่สูง ซึ่งนั่นก็แปลว่า การที่ภาคีใด รัฐประเทศใดต้องการที่จะเข้าหา หรือร่วมโต๊ะเจรจาทางการค้าและการทูตกับสหภาพยุโรปได้นั้น ทางสหภาพยุโรปในฐานะคู่เจรจา จะนำประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานทางจริยธรรมเข้ามาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาคู่ค้า หรือคู่เจรจาด้วย (ทั้งก่อนและหลังการเข้าสู่การเป็นคู่ค้า) ไม่ว่าจะประเด็นสิทธิมนุษยชน ประเด็นเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น และประชาธิปไตย เหมือนอย่างครั้งที่สหภาพฯ เคยนำเรื่องอุตสาหกรรมการประมงภายในไทยที่ถูกจัดให้อยู่ต่ำกว่าระดับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนของสหภาพฯ ในปี 2015 (จากการมีปัญหาเรื่องแรงงานทาสภายในอุตสาหกรรม) มาใช้ข่มขู่ทางการไทยว่าหากไม่มีการแก้ไข ทางสหภาพก็อาจจะต้องดำเนินมาตรการคว่ำบาตรกับไทย

ทว่าการคว่ำบาตร การข่มขู่ การใช้มาตรการการกดดันของสหภาพยุโรปต่อประเทศคู่ค้าและคู่เจรจาชนิดอื่นๆ ก็ดูจะมีความยากลำบากมากขึ้น และมีแนวโน้มความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นน้อยลง (โดยเฉพาะหากพิจารณาในภาพรวมทางยุทธศาสตร์) เนื่องจากในขณะนี้สหภาพยุโรปกำลังประสบปัญหาด้านภัยคุกคามจากจีน และตกอยู่ในสภาวะกระท่อนกระแท่นอย่างรุนแรง เมื่อจีนได้แผ่ขยายอิทธิพลของตนเองเข้ามาภายในเขตอิทธิพลของสหภาพยุโรปมากขึ้น ตั้งแต่ตะวันออกจนถึงตะวันตก เอเชียถึงยุโรป ด้วยโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่าง Belt and Road Initiative ที่ทางรัฐบาลจีนมีแผนจะขยายเส้นทางการขนส่งในระบบรางมายังทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และทะเลเหนือ (แถบเบลเยียม เนเธอร์แลนด์) เพื่อที่จะเข้าถึงทางออกสู่มหาสมุทรแอตแลนติคเหนือ

การเข้ามาของจีนนั้นไม่ได้เข้ามาเฉพาะในยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราง หรือการโลจิสติกส์แต่เพียงอย่างเดียว หากแต่การเข้ามาของจีนนั้น มักมีการเทเงินลงทุนโดยตรง (FDI) เข้ามายังประเทศสมาชิกของสหภาพฯ ภายในพื้นที่บริเวณต่างๆ ของยุโรปอีกด้วย ไม่ว่าจะแถบยุโรปตะวันออก อิตาลี กรีซ โปรตุเกส เยอรมนี ฝรั่งเศส และอังกฤษ ทำให้ประเทศสมาชิกภายในสหภาพฯ เริ่มรู้สึกได้ชัดเจนขึ้นถึงการมีอยู่ของอิทธิพลทางด้านการเงินจากจีน เมื่อบวกกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาที่รุนแรงมากขึ้นตามอุณหภูมิของสงครามการค้า สภาพความความสั่นสะเทือนทางภูมิรัฐศาสตร์โลกครั้งนี้จึงส่งผลกระทบโดยตรงมายังยุโรปด้วย จากการที่สหรัฐอเมริกา และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ามากดดันข่มขู่ประเทศในแถบยุโรปผ่านทั้งช่องทางของพันธมิตรสนธิสัญญาแอตแลนติคเหนือ (NATO) และในช่องทางของสหภาพยุโรป ทำให้สมาชิกภายในสหภาพยุโรปต้องถูกผลักให้อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเลือกข้างในการแข่งขันครั้งนี้

ตัวอย่างสำคัญ ก็คือ นโยบาย 5G ของสหภาพยุโรปในปัจจุบันที่ โดนัลด์ ทรัมป์ พยายามตามส่งสารขู่ประเทศในแถบยุโรปอยู่บ่อยครั้ง ให้ยกเลิกการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน 5G ร่วมกับทางจีน ก่อนที่จะถูกสหรัฐอเมริกาลงโทษด้วยการลดความเข้มข้นของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศบางส่วนลง (เช่น ในมิติด้านการแบ่งปันข้อมูลทางข่าวกรองระหว่างประเทศ) สถานการณ์ลักษณะดังกล่าวซึ่งดำเนินมาเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี ทำให้ทัศนคติและแง่มุมที่ชนชั้นนำภายในยุโรปเริ่มรู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องวางแผนรับมือ และมองจีนในฐานะมหาอำนาจนอกภูมิภาคที่แผ่อิทธิพลเข้ามาในยุโรปเป็นภัยคุกคาม ระดับ ‘systemic rival’ ที่จะเข้ามาสร้างความปั่นป่วนแก่พันธมิตรในกลุ่มสหภาพฯ

นอกจากนี้สิ่งที่กำลังทำให้สหภาพยุโรปแสดงออกถึงความกังวล และรู้สึกถึงความจำเป็นในการเตรียมนโยบายในการรับมือกับภัยจากจีนก็คือ ‘โครงการ 17+1’ ที่หมายถึง China-CEEC Initiative เป็นแผนที่จีนตั้งใจจะขยายกรอบความร่วมมือกับประเทศแถบยุโรปกลาง และยุโรปตะวันออกทั้งหมด 17 ประเทศ (แอลเบเนีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา บัลแกเรีย โครเอเชีย เช็ก เอสโตเนีย กรีซ ฮังการี ลัทเวีย ลิทัวเนีย นอร์ธมาสิโดเนีย มอนเตเนโกร โปแลนด์ โรมาเนีย เซอร์เบีย สโลวาเกีย และสโลวิเนีย) เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และพัฒนาพื้นที่ยากจนในมุมมืดทางฝั่งตะวันออกของสหภาพยุโรปให้มีความพร้อมต่อการเป็นสะพานในการเชื่อมระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันตกและยุโรปตะวันออกเข้าหากัน ซึ่งจีนอ้างว่าทุกฝ่ายจะได้รับผลประโยชน์อย่างเท่าเทียม ตัวจีนเองจะได้แต้มต่อในเกมการยึดพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ของอนุภูมิภาคในแถบนี้ (17 ประเทศที่กล่าวถึงนั้นคือ กลุ่มประเทศที่มีสถานะเป็นกำแพงที่กั้นระหว่างยุโรปกับเอเชีย ระหว่างมหาอำนาจตะวันตกและมหาอำนาจตะวันออก หากจีนสามารถแผ่อิทธิพลเข้าไปอยู่เหนือ 17 ประเทศดาวเคราะห์น้อยเหล่านั้นได้ จีนก็จะได้เปรียบไปเต็มๆ)

เช่นเดียวกันกับประเทศในกลุ่ม CEEC-17 นั้น การมีกรอบความร่วมมือกับทางการจีน ช่วยให้ประเทศเหล่านี้ ซึ่งโดยปกติไม่ค่อยมีสิทธิมีเสียงมากนักบนเวทีระหว่างประเทศ และเวทีการจัดระเบียบระดับภูมิภาค (เมื่อเทียบกับมหาอำนาจในกรอบ E3 อย่างอังกฤษ เยอรมนี และฝรั่งเศส) สามารถมีข้อต่อรองที่มากขึ้นต่อทางผู้บริหารและประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป อีกทั้งท่าทีที่รัฐบาลฝรั่งเศส และเยอรมนี อย่าง เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) และ อังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นั้นแสดงออกอย่างเปิดเผยในการพาเจ้าหน้าที่ทางด้านการค้าของประเทศแถบยุโรปตะวันตกเข้าไปเจรจาข้อตกลงทางเศรษฐกิจและการขยายความร่วมมือกับรัฐบาลจีนได้อย่างอิสระ ทำให้รัฐบาลในประเทศแถบยุโรปตะวันออก (ทั้งที่เป็นสมาชิกสหภาพฯ และไม่ได้เป็นสมาชิก) เริ่มรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมในการจัดระเบียบของภูมิภาคที่ตนเองแทบไม่มีบทบาทนำใดๆ จนต้องมีการปรับยุทธศาสตร์นโยบายต่างประเทศของตนเองไปหาจีน

จุดยืนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุดยืนของสหภาพยุโรป

และเมื่อหันมามองที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะกับกลุ่มประเทศอาเซียนอย่างพม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซีย เวียดนาม มาจนถึงไทย ต่างก็เป็นประเทศที่ยินดีจะเข้าร่วมเป็นภาคีกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภายใต้ Belt and Road Initiative ของจีนทั้งสิ้น หลายๆ ประเทศข้างต้นนั้นในปัจจุบันเองก็กำลังตกอยู่ในสภาวะที่สั่นคลอน จากผลของสงครามการค้า และการถูกบีบบังคับให้เลือกข้างระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาอยู่ไม่น้อยไปกว่ากลุ่มประเทศในแถบสหภาพยุโรป การมีทิศทางของนโยบาย และความพร้อมที่จะเอียงค่อนไปทางจีนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จากการมองจีนเป็นมหาอำนาจที่ใหญ่ที่สุดภายในภูมิภาค ทำให้ความเป็นไปได้ในวิธีการเข้าหาประเทศในภูมิภาคแถบอาเซียนของสหภาพยุโรปด้วยวิธีรูปแบบเดิมๆ เช่น การใช้มาตรฐาน หรือ บรรทัดฐานระหว่างประเทศ อย่างมาตรการด้านสิทธิมนุษยชน มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเข้ากดดันประเทศในภูมิภาคนี้ย่อมมีโอกาสสำเร็จน้อยลง

เพราะประเทศเล็กๆ ในแถบอาเซียนนี้ก็มีจุดยืน และมุมมองคล้ายกับประเทศกลุ่มดาวเคราะห์น้อยที่กระจายตัวอยู่บริเวณรอบยุโรปตะวันออก ประเทศเหล่านี้แบกรับความอึดอัดของการแข่งขันในหมู่ประเทศมหาอำนาจและคอยสังเกตการณ์อยู่ห่างๆ พร้อมไปกับการปรับตัวเข้าหาสภาพเงื่อนไขทางภูมิรัฐศาสตร์ เมื่อรัฐประเทศขนาดเล็กเห็นว่ามีการแข่งขัน หรือขับเคี่ยวกันระหว่างประเทศมหาอำนาจ 2 กลุ่ม ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประเทศกลุ่มดาวเคราะห์น้อย จะดึงเอาความขัดแย้ง การแข่งขัน หรือเกมการแย่งชิงพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ ของมหาอำนาจ 2 กลุ่ม (sphere[s] of influence) มาพัฒนาเป็นข้อต่อรองหรือไพ่ในมือของตนเอง เพื่อหาข้อได้เปรียบในเชิงนโยบาย หรือเป็นตัวประกันได้ จะสังเกตได้ว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงภายในรัฐบาลพม่าไม่ว่าจะ ออง ซาน ซู จี หรือชนชั้นนำฝ่ายทหารภายใน ตะมะดอว์ (Tatmadaw) นั้น ไม่เดือดร้อนอะไรกับการที่ตนเองถูกกดดัน ถูกข่มขู่จากโลกตะวันตกเลยในเรื่องคดีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา กัมพูชาก็เช่นกัน ฮุน เซน ไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนกับการที่สหภาพยุโรปออกแถลงการณ์ข่มขู่กัมพูชาในสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพสื่อภายในกัมพูชา

ส่วนกรณีของมาเลเซียกับอินโดนีเซียที่ถูกสหภาพยุโรปข่มขู่ด้วยมาตรการทางการค้าและความพยายามในการปิดกั้นสินค้าหลักอย่างน้ำมันปาล์มจากทั้งสองประเทศไม่ให้เข้าสู่ตลาดของสหภาพยุโรป โดยอ้างเรื่องมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมนั้น ก็ไม่ได้ผลอีกทั้งยังมีมาตรการตอบโต้กลับมาจากทางฝั่งมาเลเซียด้วยการนำประเด็นทางการค้าและการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับทางฝั่งยุโรป (EU-Malaysia Free Trade Agreement) มาขู่อีกด้วย ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่ามาตรการการกดดัน และการข่มขู่ด้วย ‘มาตรฐานแบบ EU’ นั้นเริ่มจะใช้ไม่ได้ผลกับประเทศพันธมิตรและคู่เจรจาทางการค้า เพราะประเทศเหล่านี้มีความพร้อม และแผนสำรองไว้ในตัวเลือกทางนโยบายอยู่แล้ว ซึ่งก็คือ นโยบายการเข้าหาจีน และการนำจีนมาเป็นข้ออ้าง/ข้อต่อรอง การที่สหภาพยุโรปจะถอนสิทธิพิเศษทางการค้าอย่าง Everything But Arms Initiative หรือสิทธิ EBA (มาตรการช่วยเหลือทางการค้ากับประเทศด้อยพัฒนา) ออกจากกัมพูชา หรือปรับลดความสัมพันธ์กับพม่าลงจึงไม่ได้เป็นตัวเลือกทางนโยบายที่สมเหตุสมผลในเชิงยุทธศาสตร์มากนัก ในทางกลับกันมันมีโอกาสที่สูงมากที่กลยุทธ์ดังกล่าวจะย้อนกลับไปเป็นผลเสียต่อสหภาพยุโรปเอง ออง ซาน ซู จี  และ ฮุน เซน หรือแม้แต่ มหาธีร์ มูฮัมหมัด เองนั้นไม่เคยลังเลที่จะหันหน้าไปหาจีน ไปพึ่งพาขอความช่วยเหลือและการดึงจีนเข้ามาเป็นข้อต่อรอง (อย่างกรณีการเยือนจีนของฮุน เซนเมื่อเดือนที่ผ่านมาเป็นตัวอย่างที่ดี)

กล่าวอย่างถึงที่สุด หากสหภาพยุโรปยังยืนยันที่จะยึดวิธีการแบบเดิมในการเข้าหาหรือปฏิบัติต่อประเทศพันธมิตร ก็ต้องพบกับความเสี่ยงที่ประเทศเหล่านั้นจะถีบตัวเองออกจากสหภาพยุโรปแล้วเอนเอียงไปหาจีนมากยิ่งขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ไทยซึ่งเป็นพันธมิตรอันดับต้นๆ ของประเทศฝั่งตะวันตกมาตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น การกดดันรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ของประเทศในแถบสหภาพยุโรปนั้นรังแต่จะผลักให้ไทยเลือกเดินเข้าไปอยู่ในวงโคจรทางอำนาจของจีนมากขึ้น

การอยู่ในภาวะระส่ำระสายภายในองค์กรจากผลของความตึงเครียดทางยุทธศาสตร์ที่มีต่อจีนภายในทั้งภูมิภาคยุโรปและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสหภาพยุโรปนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่บีบให้สหภาพยุโรปต้องปรับกลยุทธ์และยุทธศาสตร์ทางนโยบายของตนเองต่อประเทศพันธมิตรในไม่ช้า สหภาพยุโรปควรจะเรียนรู้จากกรณีศึกษาภายในภูมิภาคที่ผ่านมาได้แล้ว ว่ามาตรการกดดันหรือการข่มขู่ด้วยการค้านั้นไม่ค่อยมีประสิทธิภาพหากมองจากภาพรวมของทั้งภูมิภาค

ยิ่งในเวลาที่อังกฤษได้ตัดสินใจแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปไปเป็นมหาอำนาจเดี่ยวด้วยตัวเอง (separated European power) แล้วมีความสนใจในยุทธศาสตร์และเขตการค้าเสรีกับทางฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น (รวมถึงการกลับเข้าสู่อาเซียนของ Boris Johnson) ก็ยิ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ตอกย้ำว่าสหภาพยุโรปนั้นควรหันมาคำนึงถึงความจำเป็นในการทบทวนนโยบายการเข้าหาพันธมิตรฝั่งเอเชียมากขึ้น สภาพแวดล้อมและเงื่อนไขทางนโยบายในปัจจุบันของสหภาพยุโรปถูกจำกัดให้มีน้อยลง โดยในปี 2020 นี้ไม่ได้มีแค่รัสเซียเป็นปัจจัยภายนอกหลักแต่เพียงปัจจัยเดียว แต่ยังมีจีนเป็นผู้เล่นหลัก และยังมีอังกฤษที่เพิ่งออกจากสหภาพฯ ไปเพิ่มขึ้นมาด้วย ความจำเป็นที่จะปรับระดับหรือชะลอความสัมพันธ์กับทางการไทยด้วยเหตุเรื่องของการยุบพรรคการเมืองนี้จึงถือว่ามีน้อย ขาดซึ่งวิสัยทัศน์ทางยุทธศาสตร์ในระยะยาว และมีแต่ผลเสียที่จะตามมาหากพิจารณาจากฐานของสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ระดับภูมิภาคภายในปัจจุบัน

Author

ปรีชภักดิ์ ทีคาสุข
อดีตนักวิจัยฝึกหัดจากสถาบัน Richardson ประเทศอังกฤษ สนใจในประเด็นทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ กับยุทธศาสตร์ทางด้านการทูตของจีน และไต้หวัน รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายต่างประเทศ มีประสบการณ์ทางด้านมานุษยวิทยาเล็กน้อย ปัจจุบันกำลังศึกษาประเด็นเกี่ยวกับโรฮิงญา และความเป็นไปทางภูมิรัฐศาสตร์ของการเมืองโลก

Illustrator

เสฎฐวุฒิ โกมารกุล ณ นคร
บีชบอยจากบางแสนผู้ใช้เวลาว่างไปกับการการเสพดราม่าของประเทศไทย บางครั้งถ้าสิ่งที่เสพเข้าไปเป็นพิษ ก็จะขับถ่ายมันออกมาเป็นงานศิลปะและการ์ตูนแนวเสียดสีสังคม ภายใต้ชื่อ Sukhumvit Dangerous :): ติดตาม Dangerous Comics ได้ที่ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า