ขอเคลียร์ นิวเคลียร์

ผศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์

เรื่อง : รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์

ภาพ : อนุช ยนมุติ

คล้ายถูกเปรียบด้วยสุภาษิตเกลียดตัวกินไข่ เมื่อชายผู้นิยมฝากท้องมื้อเที่ยงไว้กับแม่ค้าหมูปิ้ง เริ่มบ่นถึงความระเกะระกะของเหล่าบรรดาแพงลอยบนทางเท้า…เขาอยากได้บาทวิธีแห่งมหานครอันเป็นระเบียบเรียบร้อยคืนมา…

ไม่ต่างอะไรกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ใครคนที่บ่นอยากได้นักหนา กลับไม่ยินดีปรีดา หากเสาเข็มของโรงไฟฟ้าเริ่มตอกที่หลังบ้าน… “ไปสร้างที่ชายทุ่งนู่นเลยครับ” เสียงแว่วจากกลางกรุงว่าอย่างนี้

ผศ.ดร. ธวัชชัย อ่อนจันทร์ จากหน่วยวิจัยพลาสมาและฟิวชัน สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของรางวัลนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ดาวรุ่ง ปี 2552 ไม่ปฏิเสธว่าอนาคตของเราต้องการนิวเคลียร์

เมื่อพลังงานชนิดอื่นไม่อาจพึ่งพาได้ตลอดกาล เทคโนโลยีนิวเคลียร์ถูกนำเสนอขึ้นมา ภาพจำติดตาชาวโลกมีแต่เหตุการณ์ชวนขนพอง เชอร์โนบิล ฮิโรชิม่า และนางาซากิ ซ้ำด้วยเหตุแผ่นดินไหว สึนามิ ที่เป็นผลให้โรงไฟฟ้าใน ฟูกูชิมา เกิดระเบิด จนต้องอพยพคนกันจ้าละหวั่น ทำให้ตอนนี้เสียงต่อต้านดังกลบฝ่ายสนับสนุน โครงการนิวเคลียร์ของหลายชาติชะลอกระแสลง

ท่ามกลางความขัดแย้ง นักนิวเคลียร์ดาวรุ่งผู้นี้เสนอว่า อยากให้ทำความรู้จักกับเทคโนโลยีแขนงนี้ก่อน ที่จะสรุปว่า ‘เอา’ หรือ ‘ไม่เอา’

1. ญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่มีเทคโนโลยีทันสมัย และประชาชนมีวินัยสูง ถ้าเราสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีอะไรเป็นหลักประกันว่าฝีมือคนไทยมั่นใจได้

อันนี้ต้องยอมรับ ไม่มีอะไรปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ คุณซื้อรถคันไหนก็ไม่ปลอดภัย มันมีความเสี่ยงจากปัจจัยอื่นๆ สิ่งที่ทำได้คือ เราต้องสร้างระบบป้องกัน ตรวจสอบที่เข้มแข็ง เช่น เรื่องของระเบิด เมื่อระเบิดเสร็จแล้วอยู่ข้างในอาคาร ไม่ฟุ้งกระจาย ตัวอาคารต้องออกแบบให้สามารถป้องกันเครื่องบินโบอิ้งชนได้ เพราะเขากลัวผู้ก่อการร้ายบ้าจี้เอาเครื่องบินพุ่งชน ต้องหนาเป็น 2-3 เมตร

เราต้องมีการออกกฎระเบียบมารองรับก่อน ตอนนี้ยังไม่สมบูรณ์แบบ ส่วนใหญ่ก็อ้างอิงกฎของ IAEA (International Atomic Energy Agency: ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ) มีการสุ่มตรวจ ติดกล้องดู 24 ชั่วโมง เชื้อเพลิงใช้แล้วเอาไปไหน ต้องชี้แจงรายละเอียด เพราะนิวเคลียร์เป็นอันตราย แต่มันก็มีข้อดีมาก ประสิทธิภาพสูงเป็นหมื่นๆ เท่าเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงปกติ

ยอมรับว่ามีความเสี่ยงอยู่ แต่ผมมองว่า ถ้าเราตั้งใจจริง เราทำได้ ตัววิศวกรเราก็ไม่ใช่ฝีมือธรรมดา เรื่องการควบคุมผมคิดว่าทำได้ เพียงแต่ระบบตรวจสอบ ถ้าคุณไม่มั่นใจ ภาคประชาชนก็ต้องเข้มแข็งขึ้น ทุกคนต้องช่วยกัน

จริงๆ มันท้าทายศักยภาพของมนุษย์นะ ถ้าไม่คิดจะทำอะไรสักอย่าง เราก็ไม่มีอะไรเลย ผมคิดว่าคนที่จัดการนิวเคลียร์ได้ ต้องไม่ธรรมดา…เป็นเรื่องท้าทายมาก

2. ถ้าพูดในแง่ ‘ความต้องการ’ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จริงหรือ

ส่วนตัวผม…เห็นด้วย แต่เมื่อมองข้อดีข้อเสีย เราต้องแก้ปัญหาหลายๆ จุดก่อน สำหรับสังคมไทยตอนนี้มันไม่ใช่เวลาที่เรามัวบอกว่า ควรสร้าง หรือไม่ควรสร้าง ตอนนี้อยู่ที่ว่าประเทศไทยรู้จักนิวเคลียร์ดีแล้วหรือยัง ถ้ารู้จักดีแล้ว คนส่วนใหญ่ค่อยมาชั่งน้ำหนักกันว่า ข้อดีเป็นยังไง ข้อเสียเป็นยังไง ผมว่าเรายังไม่ได้อยู่ในขั้นตอนที่จะตัดสินได้ เราตื่นตระหนกมาก มากกว่าคนญี่ปุ่นด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่เราไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์

ผมมองว่าเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไม่ได้มีปัญหา เราสามารถจัดการได้ และสำหรับประเทศไทยเราควรจะมีทางเลือกหลายๆ อย่าง ไม่ควรคิดแค่พลังงานน้ำ ถ่านหิน หรือก๊าซธรรมชาติ หรือพลังงานหมุนเวียน ควรเอาทุกอย่างเลย ในสัดส่วนที่กระจายๆ กันไป เผื่อเกิดปัญหาเราจะได้มีทางเลือก

3. ถ้าภาคอุตสาหกรรมคือผู้บริโภคพลังงานรายใหญ่ เหตุใดจึงผลักภาระโรงไฟฟ้าไปให้ชาวบ้าน คือไปสร้างในเขตต่างจังหวัด ชาวบ้านต้องแบกรับความเสี่ยง

อันนี้ถูกนะ…ผมคิดว่าเขามองอย่างนั้นก็ถูก คือมันต้องเลือกผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก เช่น จะสร้างรถไฟฟ้า  ทำไมต้องผ่านบ้านเรา ไปผ่านที่อื่นไม่ได้เหรอ ถ้าพูดกันอย่างนี้มันก็ไม่จบ

เราต้องยอมรับว่าประเทศจะพัฒนาต้องใช้พลังงาน เราก็ต้องหาพลังงานในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งมาผลิตไฟฟ้า ไม่มีไฟฟ้าเราก็อยู่ไม่ได้ ต้องมีคนเสียสละ เพราะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ได้สร้างได้ทุกที่ แต่ต้องเห็นใจคนที่อยู่บริเวณนั้น มันมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง ก็ต้องทำใจยอมรับตรงนั้นด้วย เท่าที่ทราบทางรัฐบาลก็มีนโยบายในลักษณะการตอบแทนที่ค่อนข้างดีทีเดียว เมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าชนิดอื่น คือเป็นกองทุนในการพัฒนาคนรอบข้าง

4. ตัวอย่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีในหลายประเทศ ทำไมเราต้องไปดูงานที่ประเทศเกาหลี

เทคโนโลยีเกาหลีใต้ราคาไม่แพง การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มันเป็นสัญญาที่ยาวนาน เลยเป็นเรื่องข้อผูกพันกันระหว่างรัฐต่อรัฐ ช่วงแรกต้องให้เขามาสร้างให้ก่อน ต่อมาก็สร้างเอง แล้วค่อยพัฒนาเอง ทั้งจีนและเกาหลีใต้ใช้วิธีนี้ ดีบ้างไม่ดีบ้างก็ว่ากันไป เราไปดูงานในหลายส่วนของเขา ทั้งเทคโนโลยี ทั้งการจัดการ การสร้างความยอมรับในภาคประชาชน

ที่น่าสนใจคือ เมื่อตอนเกาหลีใต้เริ่ม เขามาดูงานที่อ่าวไผ่ เรามีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่นั่น เขาตามหลังเรา มาดูว่าเราทำยังไง เพราะตอนนั้นเราเริ่มไปจนเลือกแบบโรงไฟฟ้า สถานที่ กำลังจะสร้างอยู่แล้ว แต่เราพับแผนเก็บ เพราะไปเจอแก๊สธรรมชาติ สุดท้ายเราก็ต้องไปดูงานของเขา

5. พลังงานรูปแบบใหม่อย่างนิวเคลียร์ฟิวชัน ที่ว่ากันว่าเป็นการสร้างดวงอาทิตย์ขึ้นบนโลก เราสามารถตั้งความหวังกับมันได้หรือเปล่า

โดยปกติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วไปเป็น ฟิสชัน (Fission) คือ เอาธาตุที่มีขนาดใหญ่อย่างยูเรเนียมแยกออกเพื่อให้ได้พลังงาน ส่วน ฟิวชัน (Fusion) คือ การเอาธาตุเล็กๆ อย่างไฮโดรเจนมารวมตัวกันเพื่อเกิดพลังงาน ตัวอย่างก็คือ ดวงอาทิตย์ ซึ่งเมื่อเทียบกันมวลต่อมวล ฟิวชั่นให้ประสิทธิภาพสูงกว่ามาก และเป็นพลังงานสะอาด ไม่ต้องห่วงเรื่องสารกัมมันตรังสี

เชื้อเพลิงก็หาได้ง่าย อย่างไฮโดรเจนที่พบในน้ำทะเล ซึ่งมีเยอะมาก หรือมองในอนาคต หากเราอยู่บนโลกไม่ได้แล้ว ต้องเดินทาง ในอวกาศก็มีแต่ไฮโดรเจนอย่างเดียว

แต่ฟิวชันต้องใช้อุณหภูมิระดับหลายร้อยล้านองศาเซลเซียส ปัญหาอยู่ที่จะควบคุมอุณหภูมิขนาดนั้นยังไง ปัจจุบันเราควบคุมให้มันเกิดพลังงานได้ในระดับวินาที หรืออย่างมากก็นาที เสร็จแล้วมันก็หายไป เพราะว่ามันร้อนมาก พยายามหนีออกไปตลอดเวลา จะให้ควบคุมง่าย โรงไฟฟ้าก็ต้องขนาดใหญ่ ต้นทุนสูง ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมาก

จากที่ศึกษามา ผมว่าถ่านหินกับนิวเคลียร์จะเป็นคำตอบให้กับอนาคตอันใกล้กว่า และฟิวชันจะเกิดขึ้นตามแผนเป็นพลังงานไฟฟ้าที่จ่ายได้เลยประมาณปี 2050 หรืออีก 40 ปีข้างหน้า

******************

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ มีนาคม 2554)

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า