3 เรื่องที่ยังไม่เคลียร์ เรื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อำเภอองครักษ์ นครนายก

ภาพ: สมาคมพลเมืองนครนายก

วันที่ 3 กรกฎาคม 2563 เวลา 15.00 น.

ดร.นพ.สุธีร์ รัตนมงคลกุล หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และคณะชาวบ้านจากตำบลทรายมูล อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ได้เข้าร้องเรียนต่อ ตัวแทนกรรมาธิการกิจการศาลฯ พรรคก้าวไกล ถึงประเด็น โครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยเครื่องใหม่เพื่อการแพทย์ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ในพื้นที่ตำบลทรายมูล อำเภอองครักษ์ ใน 3 ประเด็น คือ 1.ความคุ้มค่าของโครงการ 2.สถานที่ตั้ง และ 3.กระบวนการประชาพิจารณ์ หลังเคยเข้าร้องเรียนและให้ข้อมูลกับคณะอนุกรรมาธิการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานขององค์กรมหาชนและกองทุนเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่ผ่านมา

1. ความคุ้มค่าของโครงการ

จากการที่สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ชื่อย่อ สทน. จ้างให้หน่วยงานภายนอกประเมินผลตอบแทนการใช้ประโยชน์จากโครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฯ ผลคือถ้าไม่ตัดสินใจดำเนินการหรือมีความล่าช้า จะสูญเสียโอกาสในทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 1,202.38 ล้านบาท

ดร.นพ.สุธีร์ ตั้งข้อสังเกตว่า การประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจข้างต้นนั้น ไม่เปิดเผยรายละเอียดวิธีการคิดคำนวณ จึงไม่มีความชัดเจนว่าได้มีการคิดรวมความเสี่ยงจากกากกัมมันตรังสี ซึ่งถ้าหากรั่วไหลแล้ว คนในพื้นที่จะได้รับอันตรายหรือไม่

นอกจากนี้การที่ สทน. ให้เหตุผลของการดำเนินโครงการฯ ข้างต้นว่า กำลังการผลิตปัจจุบันอยู่ที่ 2 เมกะวัตต์นั้นไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้รังสีภายในประเทศ ทำให้คณะผู้ร้องเรียนต้องการทราบรายละเอียดปริมาณความต้องการใช้รังสีในแต่ละภาคส่วน

2. สถานที่ตั้ง

ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) ระบุว่าการเลือกพื้นที่จัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์ฯ ต้องเลือกจากหลายพื้นที่และนำแต่ละที่มาจัดลำดับให้คะแนนในหลายปัจจัย ซึ่ง สทน. ชี้แจงว่าได้ดำเนินการไปแล้วในปี พ.ศ. 2533-2534 โดยปฏิบัติตามระเบียบของ IAEA ในช่วงเวลาดังกล่าว

การชี้แจงของ สทน. ในลักษณะนี้ สร้างความไม่สบายใจให้ชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างมาก เนื่องจากโครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฯ ซึ่งมีแผนจะเริ่มดำเนินการในอนาคตอันใกล้นี้ ไม่ควรใช้ชุดข้อมูลการสำรวจที่มีอายุกว่า 30 ปี มาตัดสินใจเลือกสถานที่ตั้ง

3. กระบวนการประชาพิจารณ์

ข้อกังวลอีกข้อหนึ่งของคณะผู้ร้องเรียนคือความไม่เป็นอิสระและความไม่ครอบคลุมของกระบวนการประชาพิจารณ์ โดยโครงการดังกล่าวได้จัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาแล้ว 2 ครั้ง อย่างไรก็ตาม นพ.สุธีร์เปิดเผยว่า กระบวนการดังกล่าวดำเนินการอย่างไม่ครอบคลุม

กล่าวคือ การจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฯ จะเกิดความเสี่ยงและผลกระทบเกิดขึ้นในวงกว้าง แต่ในเวทีการรับฟังความคิดเห็นฯ เปิดโอกาสเฉพาะบุคคลในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรจากจุดที่จะจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์ฯ เข้าร่วมเท่านั้น

นอกจากนี้มีชาวบ้านบางส่วนให้ข้อมูลว่า ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นฯ เวทีที่ 1 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2561 นั้นมีการเกณฑ์คนมาเข้าร่วม พร้อมให้ผ้าห่มและเงินจำนวนหนึ่งเป็นค่าตอบแทน ซึ่งอาจเป็นผลให้ความคิดเห็นจากชาวบ้านในพื้นที่ไม่เป็นอิสระจากข้อคิดเห็นที่ สทน. ต้องการ

Author

ศุภวิชญ์ สันทัดการ
นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยชื่อดังแถบรังสิต เป็นคนหนุ่มที่ฟังเพลงน้อยแต่อ่านมาก โดยเฉพาะการผจญภัยในสวนอักษรของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ด้วยคุณงามความดีเช่นนี้จึงมีเสียงชื่นชมบ่อยๆ ว่าเป็นพวกตกยุค

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า