8 เมษายน คือวันครบรอบ 1 เดือนที่แบตเตอรี่ในกล่องดำของเที่ยวบิน MH370 ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ จากกัวลาลัมเปอร์ไปปักกิ่ง ซึ่งหายไปจากจอเรดาร์ตั้งแต่เมื่อเช้าวันเสาร์ที่ 8 มีนาคมจะหยุดทำงานลง
แนวทางในการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับเที่ยวบินอื่นๆ นับจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและความปลอดภัยสารสนเทศมองว่า การหายของเครื่องบินจะไม่เป็นปริศนาอีกต่อไป ถ้าสามารถสตรีมมิ่งข้อมูลพิกัดจากกล่องดำบนเครื่องบินกับศูนย์ข้อมูลภาคพื้นดินได้
กล่องดำได้รับการติดตั้งไว้บนเครื่องบินตั้งแต่หลังทศวรรษที่ 1950 ปัจจุบัน เครื่องบินพาณิชย์ทุกลำต้องติดตั้งกล่องดำ โดยจะมีการเก็บข้อมูลการบิน (flight data recorder: FDR) ร่วมกับการบันทึกเสียงในห้องนักบิน สาเหตุที่กล่องดำจริงๆ มีสีส้มก็เนื่องจากเป็นสีที่สะดุดตาและง่ายที่จะค้นหาที่สุดแม้อยู่ใต้น้ำ
มาตรฐานของสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐ (Federal Aviation Administration) กำหนดให้กล่องดำต้องทำการบันทึกข้อมูลการบินกว่า 80 รายการที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลาการบิน อาทิ ความเร็วลม อัตราเร่งของเครื่องบิน ระดับความสูง
แม็ทท์ แบรดลีย์ ผู้อำนวยการ FLYHT Aerospace Solutions บริษัทด้านเทคโนโลยีอากาศยานจากแคนาดา หนึ่งในบริษัทที่พัฒนาระบบการส่งข้อมูลต่อเนื่อง หรือสามารถเปิดระบบการทำงานได้ทันท่วงทีเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันอย่างกรณีเครื่องยนต์ขัดข้องหรือเกิดความกดอากาศภายในเครื่องบิน แบรดลีย์ให้ข้อมูลว่า ค่าติดตั้งเทคโนโลยีดังกล่าวอยู่ที่ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อลำ
ระบบดังกล่าวเรียกว่า Automated Flight Information Reporting System (AFIRS) ที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มดาวเทียม Iridium ทั้ง 66 ดวงแล้วส่งข้อมูลกลับมายังภาคพื้นดิน
สำหรับค่าใช้จ่ายในการเชื่อมต่อข้อมูลจากกล่องดำไปยังดาวเทียมเพื่อส่งต่อไปยังศูนย์ข้อมูลภาคพื้นดิน น่าจะอยู่ระหว่าง 5-7 ดอลลาร์สหรัฐต่อนาที คาดการณ์ว่า ค่าใช้จ่ายที่จะทำให้ดาวเทียมสามารถติดต่อกับกล่องดำและระบุพิกัดได้ภายใน 7 ชั่วโมงน่าจะอยู่ที่ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ
ปิแอร์ จีนเนียท วิศวกรชาวแคนาดาผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีกล่องดำ และมีประสบการณ์ทำงานกับแอร์แคนาดา 40 ปี ปัจจุบันเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษา บริษัท Star Navigation Systems Group บริษัทจากรัฐอัลเบอร์ตา แคนาดาที่พัฒนาระบบกล่องดำที่คล้ายกัน
โครงสร้างพื้นฐานของระบบดังกล่าวมีมาตั้งแต่ปี 2000 แต่เพิ่งได้รับความสนใจหลังเหตุการณ์แอร์ฟรานซ์เที่ยวบินที่ 447 ที่หายไปจากจอเรดาร์เมื่อ 1 มิถุนายน 2009 ซึ่งต้องใช้เวลา 2 ปีจึงจะค้นพบกล่องดำ
แม้กล่องดำจะสามารถทนแรงระเบิดและแรงกดอากาศได้ขนาดไหน แต่เหตุการณ์ 9/11 เมื่อปี 2001 ที่เครื่องบินพุ่งชนตึกเวิร์ดเทรด พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ากล่องดำบนเครื่องบินลำดังกล่าวถูกทำลายจนหาชิ้นส่วนไม่ได้
จีนเนียทเห็นว่าการทำให้กล่องดำสามารถส่งข้อมูลกลับมายังภาคพื้นดิน และมีการติดต่อกันอยู่ตลอดน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ขณะที่ บิล นอร์วูด รองประธานบริษัท JDA Aviation Technology Solutions มองว่า ค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีความปลอดภัยสารสนเทศเหล่านี้จะถูกผลักให้เป็นภาระของผู้บริโภคเต็มๆ ด้วยการบวกรวมไปกับค่าโดยสาร
ข้อมูลจากนิตยสาร The Economist ระบุว่า ผลกำไรเฉลี่ยของสายการบินส่วนใหญ่อยู่ที่ร้อยละ 1 และสถิติในปี 2012 สายการบินจะได้รับ 4 ดอลลาร์ต่อการโหลดสัมภาระของผู้โดยสารแต่ละราย
ที่มา:
npr.org
aero-news.net
cbc.ca