ปลายเดือนกุมภาพันธ์ องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ FDA เสนอโครงการ เปลี่ยนฉลากโภชนาการในบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกอาหารได้มากขึ้น
โดยการขยายขนาดคำว่า “แคลอรี่” ให้ใหญ่และเข้มมากขึ้นพร้อมทั้งขีดเส้นใต้อย่างชัดเจน พร้อมกำหนดให้ฉลากใหม่นี้แสดงข้อมูลโภชนาการต่อหนึ่งหน่วยบริโภคหรือจำนวนหน่วยบริโภคต่อภาชนะบรรจุ (serving size) แนบไปด้วย
“ในทางกฎหมาย หนึ่งหน่วยบริโภคก็คือปริมาณที่คนกินเข้าไปจริงๆ ไม่ใช่ปริมาณที่ควรจะกิน” แถลงการณ์ของ FDA ระบุเช่นนั้น พร้อมยกตัวอย่างว่า คนส่วนใหญ่ซื้อน้ำอัดลมขวดขนาด 20 ออนซ์และจะดื่มหมดรวดเดียว ทั้งๆ ที่ฉลากโภชนาการข้างขวดระบุว่า น้ำอัดลมขวดนั้นสำหรับดื่ม 2 คน จึงเป็นเรื่องยากที่จะคำนวณได้ว่าปริมาณแคลอรี่ที่กินไปจริงๆ นั้นมีเท่าไหร่
ฉลากฉบับปรับปรุงใหม่ตามแผนของ FDA จะมีบรรทัดพิเศษ สำหรับปริมาณน้ำตาลที่เติมลงไปในอาหารต่างๆ ซึ่งจะทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างน้ำตาลธรรมชาติ ที่พบในผลิตภัณฑ์นมและผลไม้ และน้ำตาลทรายที่เติมลงไปในกระบวนการผลิต
ทั้งนี้ข้อมูลจาก FDA เผยว่าแคลอรี่แต่ละวันที่ชาวอเมริกันบริโภคเข้าไป มาจากน้ำตาลทรายถึง 16 เปอร์เซ็นต์
ยิ่งไปกว่านั้น FDA ยังมีโครงการที่จะเรียกร้องให้ผู้ผลิตเปิดเผยข้อมูลโภชนาการให้ละเอียดลงไปอีกว่า ถ้าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีวิตามินดี หรือ โปแตสเซียมเป็นส่วนผสมหรือไม่ เนื่องจากทั้ง 2 ธาตุนี้ชาวอเมริกันโดยเฉลี่ยยังได้รับน้อยเกินไป
การเปลี่ยนฉลากโภชนาการของ FDA ครั้งนี้มีขึ้นเพื่อลดภาวะโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน โรคอ้วน โรคเกี่ยวกับความดันและหลอดเลือด ฯลฯ ที่สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการรับประทานแต่อาหารจานด่วน
จนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่ชัดเจนว่าแผนการปรับปรุงฉลากดังกล่าวจะมีปฏิกิริยาตอบโต้จากบรรดาผู้ผลิตอาหารหรือไม่
ด้านสมาคมผู้ประกอบการร้านค้าปลีกแห่งสหรัฐอเมริกา ก็ออกมาแถลงว่า “มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่การเปลี่ยนแปลงใดๆ จะทำตามหรือยึดหลักตามกระแสในช่วงนั้นๆ แม้จะมีวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือได้รองรับก็ตาม และสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ต้องแน่ใจในสิ่งที่ทำว่า การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้มีเพื่อ ให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภค ไม่ใช่ทำให้สับสนยิ่งขึ้น”
อย่างไรก็ตาม FDA ยังเปิดรับฟังความเห็นจากสาธารณะต่อเรื่องนี้อีก 90 วัน จึงจะมีการดำเนินการทางกฏหมาย
…………………………………………………………
ที่มา : npr.org,treehugger.com