ฉลากในฝันกับวันที่กลายเป็นจริง

lowfat-1

เรื่อง: เทพพิทักษ์ มณีพงษ์

 

ในปัจจุบัน ปัญหาสุขภาพคนไทยโดยเฉพาะในเด็กสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างน่าเป็นห่วง นอกเหนือไปจากโรคอ้วนที่พบได้ทั่วไปแล้ว เด็กไทยยังป่วยด้วยโรคไตเป็นจำนวนมาก โดยมีสาเหตุหนึ่งเนื่องมาจากการบริโภคขนมขบเคี้ยวที่มีส่วนประกอบของโซเดียมในปริมาณที่มากเกินความต้องการต่อวัน

หนึ่งสิ่งที่สามารถช่วยเหลือผู้บริโภคให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับโภชนาการและสารอาหารที่ตนเองหรือลูกหลานรับประทานเข้าไปได้ครบถ้วนคือฉลากที่ติดอยู่บริเวณซองอาหาร แต่ฉลากที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ยังให้ข้อมูลกับผู้บริโภคได้อย่างไม่ชัดเจนมากเพียงพอ ทำให้ในบางครั้งผู้บริโภคละเลยที่จะอ่านรายละเอียดในฉลากเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพของตนเอง

ในงานเสวนา ‘คุ้มครองผู้บริโภคด้วยฉลาก: ฉลากที่เป็นมิตร ทำอย่างไรให้เป็นจริง’ ฉลากโภชนาการถือประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในการประชุมสมัชชาผู้บริโภคประจำปี 2557 โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มผู้บริโภคในภาคส่วนต่างๆ เข้ารับฟังรายละเอียดของปัญหาและร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่าฉลากที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริงจะเป็นไปในรูปแบบใด โดยมี กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา อนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

snack-mix

 

+ ฉลากขนมหน้าโรงเรียน

ข้อมูลจาก จุฑา สังขชาติ ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ ระบุว่า จากการลงพื้นที่ในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อสำรวจความถูกต้องของฉลากอาหารขนมขบเคี้ยวบริเวณหน้าโรงเรียน พบว่าขนมหลายชนิดมีข้อบกพร่องของฉลากเช่น ไม่มีเลขทะเบียน อย., ไม่มีวันหมดอายุ, ใช้เลข อย. ปลอม ไปจนถึงไม่มีฉลากภาษาไทยเลย ซึ่งจุฑาให้ความเห็นว่าสาเหตุน่าจะเกิดมาจากการที่ผู้ขายซื้อขนมจากแผงขายส่งที่รับมาจากต่างประเทศโดยไม่ผ่านการตรวจสอบ

“ถ้าคนที่จะซื้อขนมไปขายเด็กหน้าโรงเรียนต้องไปที่ร้านและเลือกซื้อขนมพวกนี้เพราะเด็กชอบกิน เขารู้ว่าต้องซื้อตัวนี้ทั้งที่บางอันยังไม่มีฉลากภาษาไทย มันดูน่ากลัวมาก บางอย่างก็มาจากแนวชายแดน ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่ามาจากไหน”

ปัญหาของฉลากลวงหรือฉลากที่ไม่ครบถ้วนในมุมมองของจุฑา เธอมองว่าเรื่องเหล่านี้น่าจะจัดการได้ง่ายเพราะมีกฎหมายระบุความผิดในเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว แต่เมื่อทำจริงๆ แล้วกลับยากกว่าที่คิดไว้

เพราะกลุ่มผู้ขายบางส่วนที่เป็นผู้ปกครองของเด็กในโรงเรียนเอง และเมื่อเข้าไปตักเตือนก็จะโดนต่อว่ากลับมา จุฑาเสนอว่าปัญหาเหล่านี้ควรจะแก้ด้วยการให้ความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ขายและตัวเด็ก

“มาตรการในการจะป้องปรามเรื่องพวกนี้คือหน่วยงานกำกับที่ต้องลงไปทำความเข้าใจกับเขาว่ามันผิดอย่างไร และจะมีมาตรการอย่างไรในการจัดการกับขนมหน้าโรงเรียน มันเป็นเรื่องยาก แต่ก็ต้องอาศัยความร่วมมือกัน” เธอให้ความเห็น

“ผู้บริโภคเป็นส่วนสำคัญในการมีส่วนร่วมและเฝ้าระวัง สะท้อนปัญหาของฉลากต่างๆ ที่ยังมีข้อบกพร่อง” จุฑากล่าวสรุปพร้อมเสนอแนะว่านอกเหนือจากการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคในการจับตาและส่งเรื่องต่อเจ้าหน้าที่แล้ว การบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานในพื้นที่ควรจะเพิ่มความจริงจังมากขึ้นด้วย

 

foodlabel-1

+ ปัญหาของฉลาก GDA

พงษภัทร หงส์สุขสวัสดิ์ อนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ แสดงความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับฉลากโภชนาการในรูปแบบปัจจุบัน (ฉลาก GDA) ว่ายังมีปัญหาในเรื่องของความซับซ้อนของข้อมูลที่ทำให้ยากต่อความเข้าใจ

“ผู้บริโภคยังรู้แค่ว่ามันมีปริมาณเท่าไหร่ แต่ยังไม่รู้ว่าเราควรจะกินได้แค่ไหน” พงษภัทรกล่าว “บางทีฉลากบอกว่าควรบริโภคสองหน่วยต่อซอง ผู้บริโภคก็ไม่รู้ว่ามันหมายความว่าอย่างไร ทำให้เด็กที่มาซื้อขนมกรุบกรอบยังคงซื้อในปริมาณมากๆ อยู่”

จากการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคขนมขบเคี้ยวของเด็กในปัจจุบัน พงษภัทรพบว่าค่าเฉลี่ยของขนมที่เด็กรับประทานต่อวันอยู่ที่ 5 ซอง ซึ่งทำให้ปริมาณสารอาหารที่เด็กๆ ควรได้รับเกินความต้องการไปมาก เช่นปริมาณโซเดียมหรือปริมาณน้ำตาล

traffic-label-1แต่ภายหลังจากพงษภัทรเข้าไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับฉลากโภชนาการแบบสัญญาณไฟที่แบ่งฉลากบนขนมเป็นสัญลักษณ์สีตามปริมาณสารอาหารกับเด็กนักเรียนจากการเข้าไปทำวิจัยในโรงเรียนต่างๆ และเปรียบเทียบปริมาณยอดขายและปริมาณการบริโภคขนมขบเคี้ยวทั้งก่อนและหลังการดำเนินการวิจัย เขาพบว่าการนำฉลากสัญญาณไฟเข้ามาให้ข้อมูลโภชนาการช่วยลดปริมาณการบริโภคขนมของเด็กๆ ให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะมากยิ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

“พอเราให้ข้อมูลกับเขา เด็กจะเริ่มรู้ว่าขนมแต่ละประเภทควรจะรับประทานในปริมาณเท่าไหร่ และเรามีกิจกรรมที่ให้ความรู้เขาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เด็กตัดสินใจเลือกซื้อได้ง่ายขึ้น ในขณะเดียวกันยอดขายของขนมในร้านค้าเองก็มีความสัมพันธ์กับปริมาณการบริโภคด้วย” พงษภัทรให้ข้อมูลเพิ่มเติม

แม้ว่าการใช้ฉลากสัญญาณไฟอาจจะทำให้ผู้ผลิตขนมบางรายกลายเป็นผู้ร้ายหากผลิตขนมออกมาแล้วได้ฉลากสีแดงจากสารอาหารที่มากเกินพอดี แต่พงษภัทรไม่คิดเช่นนั้น เขามองว่าฉลากประเภทนี้จะเป็นข้อดีที่ช่วยให้ผู้ผลิตกลับไปพัฒนาสินค้าให้ดีต่อร่างกายผู้บริโภค และเป็นการทำ CSR ที่เป็นรูปธรรมต่อสังคมอีกทางหนึ่ง

“ถ้าผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนวิธีคิดของตัวเองจากการมองว่าฉลากแบบนี้จะทำให้ผลประโยชน์ของตัวเองลดลง แต่ถ้าตัวเองพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้นได้ ผมเชื่อว่าผลกระทบของยอดขายไม่น่าจะกระทบมากนัก ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการจะหยิบไปใช้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองหรือเปล่า” พงษภัทรกล่าวสรุป

 

foodlabel-2

+ ฉลากสัญญาณไฟ ช่วยได้?  

ในมุมมองของหน่วยงานภาครัฐ ภญ. พรพรรณ สุนทรธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ความเห็นว่าทาง อย. เห็นด้วยกับแนวทางของฉลากไฟสัญญาณ แต่ในทางกลับกันอาจเกิดปัญหาว่าถ้ามีอาหารที่ได้ฉลากสีเขียวอาจทำให้ผู้บริโภคคิดว่าปลอดภัยจนรับประทานมากเกินไป

“จะทำอย่างไรที่จะบอกให้รู้ว่าไฟเขียวจะกินได้เท่าไหร่ หรือถ้าไฟแดงจะต้องแบ่งรับประทานเท่าไหร่ เราอาจจะพบกันครึ่งทาง เราได้ไฟเขียวไฟแดงแต่เราก็ได้อีกส่วนหนึ่งเพิ่มมา”

การใช้ฉลาก GDA ในปัจจุบันได้มีการประเมินผลความเข้าใจของผู้บริโภค ผลปรากฏว่าเมื่อนำไปใช้จริงมีผู้ที่เข้าใจข้อมูลบนฉลากเพียงร้อยละ 49.9 ดังนั้นในความเห็นส่วนตัวของ ภญ. พรพรรณ มองว่าการใช้ฉลากไฟสัญญาณเป็นสิ่งที่ดี เพราะทำให้เห็นได้ชัด ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการพูดคุยให้เกิดความเข้าใจและยินยอมร่วมกันกับทั้งฝ่ายผู้ประกอบการและผู้บริโภคด้วย

นอกจากนี้ เนื่องมาจากเสียงสะท้อนจากผู้บริโภคที่ร้องเรียนเข้ามายัง อย. ถึงความรับผิดชอบของผู้ประกอบการที่ไม่คิดถึงสุขภาพของผู้ที่ซื้อผลิตภัณฑ์ของตนไปรับประทานที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ อย. เริ่มเปลี่ยนแปลงแนวทางในการมองปัญหาใหม่โดยร่วมมือกับภาคสังคมมากยิ่งขึ้น

“อย. ก็เหมือนกับนักเรียนในเรื่องเชิงสังคม พวกเรา (ผู้บริโภค) ต้องช่วยกันเป็นครู” ภญ. พรพรรณกล่าวปิดท้าย

logo

 

 

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า