คอลัมน์ปมกฎหมาย : เจษฎ์ โทณะวณิก
Q: หลายคนสงสัยว่าภายใต้การบริหารประเทศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นั้น ประชาชนอย่างเราๆ ยังมีสิทธิและเสรีภาพอันจำเดิมมีอยู่หรือไม่
A: ข้อสงสัยประการแรกของหลายๆ คน รวมทั้งของผมก็คือ จริงๆ แล้วก่อนที่เราจะมี คปค. นั้นเรามีสิทธิและเสรีภาพในฐานะที่เราเป็นประชาชนคนหนึ่ง หรือกลุ่มประชาชนมากน้อยแค่ไหน แม้กระทั่งสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 หรือฉบับอื่นๆ ที่มีมาก่อนหน้านั้นได้บัญญัติรับรองไว้ เราได้มีโอกาสใช้มันจริงๆ หรือได้มีโอกาสสัมผัสถึง ‘ความมีอยู่’ ของมันหรือไม่ นั่นก็คงเป็น
สิ่งที่ต้องช่วยกันขบคิด และแก้ไข-ปรับปรุง-เปลี่ยนแปลง-เพิ่มเติม กันต่อไป
แต่ตอนนี้ เราลองดูปัญหาเฉพาะหน้ากันก่อน
สิทธิและเสรีภาพของประชาชนในแต่ละประเทศนั้นมีอยู่ตามทฤษฎีหลักๆ 2 ทฤษฎี ซึ่งผมก็จำชื่อทฤษฎีไม่ได้ เอาเป็นเนื้อหาก็แล้วกันว่า ทฤษฎีหนึ่ง เห็นว่าสิทธิและเสรีภาพของประชาชนนั้นมีติดตัวมาแต่กำเนิด รัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอื่นใดเพียงแต่ออกมารับรองสิทธิและเสรีภาพเหล่านั้นเท่านั้นเอง ในทำนองนี้เราจะเห็นว่าหากจะมีกฎหมายใดที่ล่วงละเมิดสิทธิและเสรีภาพของเรา แม้ตัวรัฐธรรมนูญเองก็ต้องสามารถอธิบายได้ว่าเป็นไปเพื่อความสงบสุขของผู้คน ส่วนรวม เช่น การที่ใครคนใดคนหนึ่งเป็นโจร แล้วถูกจับไปขังคุกนั่นเอง
ส่วน อีกทฤษฎีหนึ่งมองกันแบบพวกสายบทบัญญัติ หากสิทธิและเสรีภาพใด ไม่ได้มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใด ก็ถือว่าสิทธิและเสรีภาพนั้นไม่ได้มีมอบไว้ให้แก่ประชาชน
ทฤษฎีทั้ง 2 นำมาปรับใช้ได้กับหลายๆ เรื่อง ซึ่งเราอาจจะเคยได้ยินการนำมาปรับใช้กับเรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่เนืองๆ
ว่าไปแล้ว ทฤษฎีแรกก่อเกิดบนพื้นฐานของสำนักกฎหมายธรรมชาติ ส่วนทฤษฎีหลังอาศัยรากฐานแนวความคิดของสำนักกฎหมายบ้านเมือง หรือที่บางทีผู้คนก็เรียกกันว่า ‘นิติรัฐ’ นั่นเอง
ถ้ามองแบบ ทฤษฎีแรก เราก็จะเห็นว่า แท้จริงแล้วรัฐธรรมนูญแบบไม่มีลายลักษณ์อักษรของสหราชอาณาจักรหรืออังกฤษ นั้นถูกต้องที่สุด เพราะสิทธิและเสรีภาพ รวมถึงธรรมนูญแห่งรัฐนั้นอยู่กับประชาชน หรือมองกันกว้างๆ เลยก็คือ มันเป็นสิ่งที่ได้รับมาจากธรรมชาติ ไม่ใช่มนุษย์คนใดคนหนึ่ง หรืออาณาจักรใดอาณาจักรหนึ่งมอบให้ เมื่อมองแบบนี้จะมี คปค. มาอีกกี่ชุด หรือจะยกเลิกรัฐธรรมนูญอีกกี่ฉบับ พวกเราก็ยังมีสิทธิและเสรีภาพทุกอย่างที่เราจะพึงมีพึงได้ และสามารถใช้มันได้เสมอ ตราบเท่าที่เราไม่ได้ใช้เพื่อล่วงล้ำก้ำเกินสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น
หาก มองตามทฤษฎีที่สอง เมื่อมีรัฐ-ธรรมนูญ และกฎหมายเราจึงมีสิทธิและเสรีภาพ หากไม่มีเราก็ไม่มีสิทธิและเสรีภาพ เพราะไม่มีอะไรมารับรองความมีอยู่ของสิทธิและเสรีภาพต่างๆ ที่เราจะพึงมีพึงได้ ดังนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญถูกยกเลิกไปแล้ว ตามทฤษฎีนี้ก็เท่ากับว่าสิทธิและเสรีภาพของเราหายไปด้วยเหมือนกัน เมื่อมองผนวกกับทฤษฎีที่ว่าเมื่อเกิดการปฏิวัติ รัฐประหาร ปฏิรูป หรือยึดการปกครอง ผู้ที่กระทำการสำเร็จย่อมมีอำนาจอธิปไตยอยู่ในมือ ดังนั้นอะไรที่คณะผู้ก่อการประกาศออกมาก็ล้วนเป็นกฎหมายใช้ได้เลย จะเป็นระดับรัฐ-ธรรมนูญ หรือระดับพระราชบัญญัติ ประกาศของคณะผู้ก่อการก็ขึ้นเทียบชั้นได้เลย
หลายคนอาจจะกำลัง รู้สึกสิ้นหวังมาก หากว่า คปค. คิดจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อสิทธิและเสรีภาพของเราก็ทำได้เลยหรือ โดยเฉพาะพี่น้องสื่อมวลชนอาจจะกำลังรู้สึกว่า ไม่ยอมรับนับถือวิถีทางเช่นว่านี้เลย
แต่ถ้าเราจำกันได้ มีประกาศ คปค. ฉบับหนึ่ง ซึ่งเป็นฉบับแรกๆ เลยที่ให้การรับรองว่าประเทศไทย และ คปค. จะปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติ และบรรดา
ข้อตกลงระหว่างประเทศ ต่างๆ ที่ประเทศไทยมีพันธกรณีอยู่ สิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนก็อยู่ในบรรดาข้อตกลง ระหว่างประเทศเหล่านี้หลายฉบับอยู่เหมือนกัน อันที่ผู้คนกล่าวถึงอยู่เป็นประจำก็คือ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีเนื้อหาหลายๆ อย่างที่เคยปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และฉบับอื่นๆ ด้วย
เมื่อ คปค. ให้การรับรอง และออกประกาศมาเช่นนี้ แม้มองในรูปแบบของทฤษฎีที่สอง ก็เท่ากับว่าเรามีกฎหมายที่ให้การรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชระนาบเดียว กับที่นานาอารยประเทศเขาใช้กันอยู่ ดังนั้นเราจึงยังมีอิสรภาพทางความคิด ที่จะเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยกับสิ่งใดๆ ในบ้านในเมืองของเรา เราจะถูกจับกุม คุมขัง หรือเนรเทศไปต่างถิ่นโดยพลการ หรือโดยไม่มีเหตุผลอันชอบธรรมไม่ได้ เราจะถูกสอดแทรกในการสื่อสาร การติดต่อถึงกันโดยพลการไม่ได้
พูด ง่ายๆ สิ่งเหล่านี้ต้องผ่านขั้นตอน ซึ่งบางทีอาจจะต้องเป็นองค์กรด้านตุลาการ หรือศาลเป็นผู้อนุญาตให้ทำได้ เรายังสามารถรับ และแจกจ่ายข่าวสาร และความคิดเห็นโดยวิถีอันเหมาะสมได้อยู่
อย่ากังวลมาก เพราะพวกเราประชาชนเป็นพื้นฐาน และเจ้าของอำนาจทุกรูปแบบ อย่างไรเสีย คำตอบสุดท้ายก็ยังอยู่ที่เราอยู่ดี