คุณภาพชีวิตเกษตรกรทั่วอินเดียยังน่าห่วง เพราะอัตราฆ่าตัวตายยังมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะในรัฐมหาราษฎร (Maharashtra) ทางตะวันตกของประเทศ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวเจ้าและข้าวสาลีที่เลี้ยงคนอินเดียมาช้านาน กำลังเผชิญปัญหาสูญเสียกำลังผลิตเพราะชาวนาพากันทำอัตวินิบาตกรรมเนื่องมาจากปัญหาหนี้สิน ต้นทุนเมล็ดพันธุ์และปุ๋ยถีบตัวสูงขึ้น อีกทั้งบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรพากันขึ้นราคาเมล็ดฝ้ายดัดแปลงพันธุกรรม ทำให้ชาวนาที่ไม่มีสายป่านยาวพอต้องตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง
ตัวเลขอย่างเป็นทางการจากสำนักสถิติอินเดียแจ้งจำนวนชาวนาที่ฆ่าตัวตายในปี 2010 มี 19,000 ราย และปี 2011 ลดลงเหลือ 14,000 ราย
ศาสตราจารย์ Prabhat Jha ผู้อำนวยการ Center for Global Health Research เผยว่า “แม้การฆ่าตัวตายจะเป็นเรื่องต้องห้าม แต่เมื่อเราส่งทีมงานลงพื้นที่ก็พบว่า เกษตรกรมีแนวโน้มจะฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น”
จากการประเมินในปี 2010 พบว่าทั่วทั้งอินเดียมีการกระทำอัตวินิบาตกรรมรวม 190,000 ราย ในจำนวนนั้นเป็นชาวนาประมาณร้อยละ 10 ทั้งนี้อัตราการฆ่าตัวตายเฉลี่ยของชาวภารตะอยู่ที่ 15 ต่อแสนประชากร ขณะที่แรงงานภาคการเกษตรคิดเป็น 7 ต่อแสนประชากร
นอกจากประเด็นการฆ่าตัวตายของชาวนาแล้ว ศาสตราจารย์ Jha เสริมว่า อัตราฆ่าตัวตายในกลุ่มวัยรุ่นก็สูงขึ้น ในอินเดียยังมีเด็กที่ถูกบังคับให้ค้าแรงงาน จับคลุมถุงชนตั้งแต่เข้าวัยรุ่น เรื่องเหล่านี้เป็นผลจากบริบทและแรงกดดันทางสังคม ยังมีการฆ่าตัวตายจากสาเหตุอื่นอีกมากที่ไม่ได้ถูกพูดถึงในอินเดีย
ที่มา : bbc.co.uk