นาทีนี้สังคมไทยกำลังเผชิญปัญหาท้าทายด้านมนุษยธรรมอย่างหนักหน่วง เกิดคำถามมากมายต่อการชั่งน้ำหนักระหว่างการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ประสบชะตากรรม กับผลประโยชน์สาธารณะและผลประโยชน์ชาติ
ปัญหาด้านระบบสาธารณสุขและการบริการด้านสุขภาพของไทยก็ไม่ต่างกัน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการแสวงผลกำไรจากการประกอบธุรกิจของโรงพยาบาลเอกชน กับการคิดราคาค่ารักษาพยาบาลที่ไม่มีการกำหนดกรอบเพดานที่ชัดเจน และก่อให้เกิดคำถามถึงความมีมนุษยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของผู้คน จนกระทั่งเกิดกระแสเรียกร้องให้มีการออกมาตรการควบคุมราคาอย่างเป็นรูปธรรม
+ เสนอตั้งคณะกรรมการควบคุมราคา
สถานการณ์ความเคลื่อนไหวและความเห็นจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในช่วงที่ผ่านมา สามารถประมวลได้ดังนี้
ผู้จุดกระแสการเรียกร้องครั้งนี้ – ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ในฐานะประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ได้ลุกขึ้นมารณรงค์ให้มีการปฏิรูประบบบริการสุขภาพของภาคเอกชน โดยรวบรวมรายชื่อ 10,000 รายชื่อ ผ่านทางเว็บไซต์ change.org หรือ https://goo.gl/zb2EiI โดยมีผู้ร่วมลงชื่อแล้วเกือบ 35,000 รายชื่อ เพื่อสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมการควบคุมราคาของสถานพยาบาลเอกชน และส่งเรื่องร้องเรียนไปยังเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้พิจารณา
ปรียนันท์ระบุว่า สาเหตุของการเคลื่อนไหวครั้งนี้ สืบเนื่องจากเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ซึ่งก่อตั้งมานาน 13 ปี ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ป่วยและญาติจำนวนมาก เกี่ยวกับการคิดค่ารักษาพยาบาลที่สูงเกินจริงของโรงพยาบาลเอกชน แต่กลับไม่มีหน่วยงานใดที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบให้ความเป็นธรรมกับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเหล่านั้นโดยตรง
เครือข่ายฯ เห็นว่าหากมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและให้ความเป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่ายโดยตรง จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยส่วนรวมอย่างยิ่ง
“เคยคิดไหมว่า วันหนึ่งหากตัวเราและคนที่เรารักต้องเจ็บป่วยฉุกเฉิน เช่น ประสบอุบัติเหตุรถชน แต่โรงพยาบาลรัฐบาลตามสิทธิอยู่ไกล กว่าจะไปถึงอาจเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต และจำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาลเอกชนที่ใกล้ที่สุด
“คำถามคือ เราสู้ราคาที่ต่อรองไม่ได้ ได้ไหม ทุกรายการในบิลตรวจสอบไม่ได้ หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนโดยตรงไม่มี เมื่ออยากย้ายโรงพยาบาล แต่เตียง ICU เต็มทุกที่ จำต้องอยู่โรงพยาบาลเดิม เรามีเงินเก็บและทรัพย์สินอยู่เท่าไหร่ ลูกหลานมีเงินพอไหม มีใครพร้อมเซ็นรับสภาพหนี้บ้าง พร้อมรับหมายศาลเมื่อถูกฟ้องเรียกค่ารักษาหรือยัง”
เธอตั้งข้อสังเกตว่า การทำธุรกิจย่อมต้องมีการลงทุน เมื่อลงทุนไปแล้วก็ต้องมีการทำกำไร ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน แต่ความสมเหตุสมผลของราคาอยู่ตรงไหน และประชาชนควรมีสิทธิที่จะตรวจสอบได้หรือไม่
“หลายคนหายจากโรค แต่ต้องช็อคเพราะค่ารักษาพยาบาล หลายรายต้องผ่อนจ่าย หรือแปลงโฉนดที่ดินไปเป็นค่ารักษา”
ปรียนันท์ยกกรณีตัวอย่างที่เครือข่ายฯ เคยพบมา เช่น กรณีผู้ป่วยชายมีอาการเจ็บหน้าอก เข้าโรงพยาบาลเอกชนที่โฆษณาว่ามีหมอโรคหัวใจ 24 ชั่วโมง แต่นอนรอตั้งแต่ 2 ทุ่มถึง 8 โมงเช้า ก็ไม่มีหมอหัวใจมาตรวจ จนผู้ป่วยเสียชีวิต ต่อมาญาติฟ้องโรงพยาบาลเอกชนแห่งนั้น จึงมีการตรวจสอบบิลค่ารักษา พบว่าทางโรงพยาบาลเก็บค่าอะดรีนาลีนเพื่อกระตุ้นหัวใจ 148 หลอด ราคา 29,600 บาท แต่ในเวชระเบียนระบุว่าใช้เพียง 30 หลอด ซึ่งเกินจำนวนที่ใช้จริง
อีกหนึ่งกรณี เช่น ผู้ป่วยสามีและภรรยาคู่หนึ่งต้องไปหาหมอโรงพยาบาลเอกชนทุก 3 เดือน เสียค่ายาแต่ละครั้ง 50,000-60,000 บาทต่อคน ครั้งล่าสุดหมอจ่ายยาให้สามีเธอ 3 เดือน เป็นเงินถึง 98,000 บาท จนเมื่อเธอได้ไปสอบถามจากร้านขายยาและศึกษาพบว่า ราคากลางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้เพียง 30,000 กว่าบาทเท่านั้น แต่เธอกลับต้องจ่ายแพงกว่าเดิมถึง 60,000 กว่าบาท
“แม้โดยข้อเท็จจริงจะมีอยู่ว่า โรงพยาบาลเอกชนมีต้นทุนสูง รัฐไม่ได้เข้ามาดูแล ซึ่งประชาชนสามารถเลือกที่จะไม่เข้าโรงพยาบาลเอกชนก็ได้ แต่ในสถานการณ์เฉพาะหน้าเมื่อเจ็บป่วยฉุกเฉินขึ้นมา เราไม่สามารถเลือกโรงพยาบาลได้” ปรียนันท์ระบุ
ด้วยเหตุที่การคิดราคาค่าบริการของโรงพยาบาลเอกชนยังมีช่องโหว่ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์จึงออกแถลงการณ์พร้อมข้อเสนอ 3 มาตรการ ได้แก่
มาตรการระยะสั้น ภายใน 1 เดือน กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน
- ภายใน 72 ชั่วโมง ห้ามโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บค่ามัดจำ หรือให้คนไข้หรือญาติเซ็นรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล
- เมื่อพ้น 72 ชั่วโมง ให้โรงพยาบาลเอกชนส่งตัวคนไข้ไปโรงพยาบาลตามสิทธิ โดยห้ามให้คนไข้หรือญาติสำรองจ่าย หรือเซ็นรับสภาพหนี้
- ในกรณีที่โรงพยาบาลตามสิทธิเตียงเต็ม ให้หน่วยงานต้นสังกัด 3 กองทุนคือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และกรมบัญชีกลาง ดำเนินการหาเตียงให้กับคนไข้ หากหาเตียงไม่ได้ จำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาลเอกชนต่อไป ให้ทั้ง 3 กองทุนรับผิดชอบค่าใช้จ่าย
- ให้มีบทลงโทษหากมีการไม่ปฏิบัติตามข้อ 1 และ 2
- ประกาศรูปแบบใบยินยอมให้รักษาของทุกโรงพยาบาลให้เป็นรูปแบบเดียวกันทั้งประเทศ โดยแยกใบยินยอมให้รักษากับใบรับผิดชอบค่าใช้จ่ายออกจากกัน
มาตรการระยะกลาง
- ให้ใช้มาตรา 44 ยุบคณะกรรมการแพทยสภาชุดปัจจุบัน แล้วเลือกคนกลางเข้าไปเป็นกรรมการแทน
- ให้ปกป้องสวัสดิภาพของบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน ด้วยการผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. … ให้มีผลบังคับใช้ในเร็ววัน เพื่อลดปัญหาการฟ้องร้องระหว่างหมอกับคนไข้
มาตรการระยะยาว
- ให้เร่งยกระดับมาตรฐานโรงพยาบาลรัฐ ให้มีเตียงและอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างเพียงพอ
- เพิ่มความมั่นคงให้กับบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลรัฐ ทั้งค่าตอบแทนและการให้ทุนเรียนต่อเฉพาะทางอย่างเพียงพอ เพื่อรักษาบุคลากรในระบบ
- ให้แก้ไข พ.รบ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ให้คนนอกเข้าไปเป็นกรรมการแพทยสภาในสัดส่วน 50:50 เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้
+ เสนอเลิกเก็บเงินกรณีป่วยฉุกเฉิน
เช่นเดียวกับความเคลื่อนไหวของ ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ ที่เรียกร้องให้รัฐบาลพัฒนากลไกควบคุมค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลเอกชน โดยสุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ อ่านแถลงการณ์ของเครือข่ายว่า มีความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อตอบสนองต่อปัญหาอย่างชัดเจน โดยขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศกระทรวงตามข้อเสนอของชมรมแพทย์ชนบทและกลุ่มผู้เสียหายทางการแพทย์ กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน
ข้อเสนอระยะสั้น
- ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตามมาตรา 35 (4) ประกอบมาตรา 36 ของ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ได้แก่
– ให้โรงพยาบาลทุกแห่ง ทั้งรัฐและเอกชนยุติการเรียกเก็บเงินกับผู้ป่วยและญาติในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินภายในเวลา 72 ชั่วโมง หรือจนกว่าสัญญาณชีพจะอยู่ในภาวะคงที่หรือปลอดภัยเพียงพอที่จะนำส่งไปรักษาต่อในโรงพยาบาลต้นสังกัดตามสิทธิของผู้ป่วย ยืนยันขอให้ดำเนินกระบวนการให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน
– ให้ 3 กองทุนหลักประกันสุขภาพ (สปสช. สปส. กรมบัญชีกลาง) จัดหาเตียงสำรองให้เพียงพอ
– ให้ภาครัฐทำข้อตกลงกับโรงพยาบาลเอกชนเกี่ยวกับอัตราค่ารักษาพยาบาลในกรณีฉุกเฉิน และให้มีบทลงโทษสำหรับโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ทำตามเงื่อนไขดังกล่าวอย่างเด็ดขาด
- กระทรวงสาธารณสุขต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่า โรงพยาบาลไม่มีสิทธิบังคับผู้ป่วยและญาติให้เซ็นรับสภาพหนี้ เพราะเป็นสิทธิของประชาชนในการใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนกรณีฉุกเฉิน
- ห้ามสถานพยาบาลกักตัวผู้ป่วยหากไม่เป็นเหตุอันก่อให้เกิดภาวะคุกคามต่อชีวิต หากฝ่าฝืนถือเป็นความผิดทางอาญา
ข้อเสนอระยะกลาง (ภายในเวลา 3 เดือน)
- ให้กระทรวงสาธารณสุข ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการหนึ่งชุดที่มีองค์ประกอบจากทุกฝ่ายและมีสัดส่วนภาคประชาชนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน เพื่อติดตามตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการสถานพยาบาล และให้คณะกรรมการสถานพยาบาลรายงานผลดำเนินการต่อกรรมการชุดนี้ทุก 2 เดือน
- ให้คณะกรรมการสถานพยาบาลทำหน้าที่ควบคุมหรือการพิจารณาเรื่องร้องเรียน รวมถึงการวินิจฉัย การรักษาที่มากเกินความจำเป็น ค่ารักษาพยาบาล ค่ายา หรือค่าใช้จ่ายทางการแพทย์อื่นๆ ที่แพงเกินจริง
- ให้มีการใช้ยาชื่อสามัญ(generic) เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วย
ข้อเสนอระยะยาว 1 ปี
- ควบคุมการทำธุรกิจของโรงพยาบาลเอกชน ไม่ให้มุ่งเน้นผลกำไร แต่มุ่งเน้นการดำเนินการทางมนุษยธรรม ด้วยการสร้างแรงจูงใจให้มีการสำรองเตียงสำหรับผู้ป่วยคนไทยในทุกสิทธิ ทั้งในกรณีฉุกเฉิน และการรับส่งต่อผู้ป่วย โดยให้กำหนดราคาการรักษาพยาบาลที่เป็นธรรม ไม่ค้ากำไรเกินควร
- เปิดให้มีการสมัครใจของโรงพยาบาลเอกชนที่จะดำเนินการด้านบริการสาธารณะให้เป็นการดำเนินการแบบองค์กรสาธารณะประโยชน์ โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น
ทั้งนี้ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเห็นด้วยในการปรับปรุงคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพ แต่ไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 แต่ควรเป็นไปแบบประชาธิปไตยอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
+ บี้เอกชนแสดงราคายาและค่าบริการ
ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงพาณิชย์มีมติเรื่องการแก้ปัญหาค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนราคาแพงว่า แนวทางที่จะให้โรงพยาบาลเอกชนแจ้งอัตราค่ารักษาผ่านเว็บไซต์นั้น อาจมีช่องโหว่คือ ทางโรงพยาบาลเอกชนอาจไม่ได้แจ้งค่ายาตามความเป็นจริง ฉะนั้นต้องมีระบบตรวจสอบที่ดีด้วย เพราะยาเป็นสินค้าพิเศษ เป็นสินค้าคุณธรรม
ส่วนแนวทางการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาราคายากลาง เพื่อออกประกาศตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ควรพิจารณารายชื่อผู้ที่อยู่ในคณะทำงานอย่างถี่ถ้วน โดยไม่ควรให้มีบุคคลที่มีผลประโยชน์เกี่ยวพันกับภาคเอกชน เพราะอาจเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ขณะที่ บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การตั้งราคายาและค่ารักษาพยาบาลที่เป็นธรรม เพื่อให้ได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมการค้าภายในเตรียมส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศว่ามีการแสดงราคายาและค่ารักษาพยาบาลหรือไม่ โดยจะตรวจสอบในพื้นที่กรุงเทพฯ ก่อน จากนั้นจะขยายไปยังโรงพยาบาลเอกชนในต่างจังหวัด หากพบว่าโรงพยาบาลเอกชนรายใดไม่มีการปิดป้ายราคาที่ให้ประชาชนได้มองเห็นได้สะดวก จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท
+ เอกชนแจงลงทุนสูงกว่ารัฐ
ทางด้าน นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า การคิดราคาของโรงพยาบาลเอกชนจะเปรียบเทียบกับภาครัฐไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นค่ายาหรือค่าแพทย์ต่างๆ เพราะโครงสร้างการคิดราคาแตกต่างกัน โดยเอกชนนั้นต้องลงทุนเองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างบุคลากร ค่าสร้างอาคารสถานที่ ขณะที่ภาครัฐนั้นเงินเดือนบุคลากรร้อยละ 60 มาจากภาษี ค่าก่อสร้างอาคารก็ได้รับงบประมาณจากรัฐ เป็นต้น
นพ.เฉลิม กล่าวอีกว่า หากจะมีการคุมราคาต้องมีการศึกษาต้นทุนอย่างละเอียดถี่ถ้วน เช่น ค่าเสื่อม ค่าก่อสร้าง มูลค่าที่ดิน เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันถือว่าค่ารักษา รพ.เอกชนในไทยยังถือว่าถูกกว่าสิงคโปร์ถึง 20-35 เปอร์เซ็นต์ และโรงพยาบาลเอกชนเป็นเพียงทางเลือกที่ประชาชนสามารถตัดสินใจเองว่าจะไปรับบริการหรือไม่
+ แฉค่ายาไวรัสตับอักเสบซีเม็ดละ 30,000 ต้นทุนแค่ร้อยเดียว
อีกด้านหนึ่ง เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ร่วมด้วยมูลนิธิโอโซน มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการรักษาเอดส์ และชมรมเภสัชชนบท ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เรียกร้องให้หาแนวทางแก้ปัญหาราคายารักษา ‘โรคไวรัสตับอักเสบซี’ ที่มีราคาแพงเกินจริง เนื่องจากพบว่ามีการคิดค่ายาสูงถึงเม็ดละ 30,000 บาท ขณะที่ต้นทุนแค่หลักร้อย
สมชาย นามสพรรค ตัวแทนผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับซีเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงการรักษา แม้ว่าสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ได้บรรจุยารักษาโรคนี้ไว้แล้วตั้งแต่ปี 2557 แต่ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษามีจำนวนน้อยมาก สาเหตุจากไม่ได้เข้าสู่ระบบการคัดกรองตรวจหาเชื้อ ระบบการรักษายังไม่พร้อม รวมถึงแพทย์เองก็ไม่รู้ว่าสามารถเบิกยาได้ ส่วนสิทธิประกันสังคมก็ยังไม่ชัดเจนว่ารองรับโรคนี้หรือไม่ ที่สำคัญโรคนี้หากไม่ได้รับการรักษาก็มีแนวโน้มที่จะทำให้ป่วยเป็นตับแข็งและเป็นมะเร็งตับในที่สุด
ด้านเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล จากมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศที่พัฒนาแล้วเริ่มมียาใหม่ที่รักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีให้หายขาดได้ ระยะเวลาการรักษาสั้นลงและแทบไม่มีผลข้างเคียง แต่ยามีราคาแพงมาก เช่น ยาโซฟอสบูเวียร์ (Sofosbuvir) ตกเม็ดละ 30,000 บาท หากรักษาครบ 3 เดือน จะต้องจ่ายเงินประมาณ 2.5 ล้านบาท โดยมีนักวิเคราะห์ประเมินว่า ต้นทุนการผลิตที่แท้จริงอาจไม่ถึง 100 บาทต่อเม็ด
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ทั่วโลกได้มีการเคลื่อนไหวเพื่อประณามพฤติกรรมของบริษัทยาดังกล่าวที่ดำเนินธุรกิจอย่างไร้มนุษยธรรม โดยองค์การอนามัยโลกประเมินว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคไวรัสตับอักเสบซีประมาณ 150 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทยคาดว่ามีประชากรผู้ติดเชื้อประมาณ 1.2-1.7 ล้านคน