Fairphone สมาร์ทโฟนเพื่อสังคม

fairphone-4

แปลและเรียบเรียง: เทพพิทักษ์ มณีพงษ์

 

ความสามารถต่างๆ ที่บรรจุอยู่ในโทรศัพท์มือถือในปัจจุบันได้พัฒนาอย่างก้าวกระโดดด้วยวิวัฒนาการของเทคโนโลยีที่ไม่หยุดนิ่ง แต่โลกของเทคโนโลยีกลับละเลยความสำคัญในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ปัญหาด้านที่มาของวัตถุดิบที่นำมาผลิตโทรศัพท์มือถือและปัญหาด้านแรงงานเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ที่บริษัทด้านเทคโนโลยีหลายแห่งเผชิญอยู่แต่กลับละเลยและมุ่งเน้นแต่การแสวงหากำไรเพียงอย่างเดียว

จากปัญหาดังกล่าว ทำให้ บาส ฟาน อาเบล นักธุรกิจชาวดัตช์วัย 36 ปี และทีมงานอีก 10 ชีวิต ร่วมกันก่อร่างกิจการเพื่อสังคม (social enterprise) ที่มีชื่อว่า Fairphone ขึ้น เพื่อผลิตสมาร์ทโฟนที่มุ่งเน้นไปในแนวทางของการเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมและสังคมให้ดีขึ้น

Fairphone เลือกวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตโทรศัพท์จากเหมืองแร่ในประเทศคองโกที่ไม่มีปัญหาด้านการกดขี่แรงงานและปัญหาความรุนแรงจากการควบคุมเหมืองโดยกองกำลังติดอาวุธ โดยเลือกใช้ดีบุกในการเชื่อมวงจรจากเหมืองในเขตคิวูใต้ และใช้แทนทาลัมจากเหมืองทางตอนเหนือของเขตคาตังกาในการผลิตตัวเก็บประจุ

fairphone-2

นอกจากนี้ Fairphone ยังให้ความสำคัญกับแรงงานด้วยการจ่ายค่าแรงที่เหมาะสม และเข้าไปช่วยวางระบบจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในกานา กับโครงการ ‘E-waste Collection Program’ เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชนและยังสามารถนำวัตถุดิบใช้แล้วกลับมาใช้ซ้ำในการผลิตครั้งต่อไปได้

นอกเหนือจากการลดปัญหาด้านสังคม Fairphone ยังถูกสร้างขึ้นเพื่อเน้นให้ผู้ใช้ซ่อมแซมได้ด้วยตัวเอง ในเว็บไซต์ทางการของ Fairphone มีชิ้นส่วนต่างๆ แยกขายเพื่อให้ผู้ใช้สามารถซื้อไปซ่อมเองได้ เช่น ชิ้นส่วนหน้าจอ (75 ยูโร) ชิ้นส่วนกล้องถ่ายภาพ (28 ยูโร) ไปจนถึงชิ้นส่วนเล็กๆ อย่างลำโพง (1 ยูโร)

เว็บไซต์รวบรวมคำอธิบายในการถอดประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ทั้งยังเป็นชุมชนออนไลน์ที่เน้นให้ผู้คนเข้ามาแลกเปลี่ยนวิธีการในการซ่อมแซมอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยตัวเองอย่าง iFixit ประกาศความร่วมมือกับ Fairphone ในการให้คำปรึกษาทีมพัฒนาเพื่อผลิตโทรศัพท์รุ่นต่อไปให้ได้คะแนนความง่ายในการถอดชิ้นส่วนจาก iFixit ด้วยคะแนนสูงที่สุดคือ 10 คะแนน หลังจากเว็บไซต์ให้คะแนน Fairphone รุ่นแรกไว้ 7 คะแนน และยังให้ความร่วมมือในการติดตั้งแอพพลิเคชั่นของ iFixit ไว้ในโทรศัพท์ทุกเครื่องเพื่อเป็นคู่มือในการถอดชิ้นส่วนให้กับผู้ใช้ที่ซื้อไป

หลังประกาศโครงการไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว การระดมทุนครั้งแรกของ Fairphone เฉพาะในยุโรปเพื่อเป็นทุนในการผลิตจริงในราคาเครื่องละ 310 ยูโร (ประมาณ 13,900 บาท) ทำได้ 25,000 เครื่อง และในเดือนพฤษภาคมนี้จะเปิดการจองล็อตต่อไปอีกครั้ง

 

ที่มา:

treehugger.com
fairphone.com
ifixit.org

logo

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า