กลัวเกินไปไหม ไม่ให้เด็กๆ ใช้สมาร์ทโฟน

เรื่อง: พชร์ โพธิ์พุ่ม

 

เด็กๆ ควรใช้สมาร์ทโฟนหรือไม่? ในโลกยุคดิจิตอล

คือคำถามที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในรอบหลายปีที่ผ่านมา

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสมาร์ทโฟนทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงโลกได้ทั้งใบ ผ่านเทคโนโลยีเครื่องเล็กเพียงฝ่ามือ ส่งผลให้ผู้ใหญ่หวาดกลัวว่า ลูกหลานของเขาอาจเข้าถึงเรื่องไม่เหมาะสมกับวัยของพวกเขา อาจมีเนื้อหาอนาจารหรือรุนแรง ที่เป็นอันตรายต่อเด็กๆ ได้ ยังไม่รวมถึงปัญหาสุขภาพกายและใจต่างๆ เช่น สมาธิสั้น สุขภาพตา และพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมจากการเล่นมือถือ

ที่โคโลราโด สหรัฐอเมริกา มีกฎหมายห้ามจำหน่ายสมาร์ทโฟนให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี จากการผลักดันขององค์กรที่ชื่อว่า Parents Against Underage Smartphones (PAUS) หรือเข้าใจอย่างง่ายคือ กลุ่มพ่อแม่ที่ป้องกันไม่ให้เด็กๆ เข้าถึงมือถือก่อนวัยอันควร ซึ่งเว็บไซต์หลักขององค์กรได้รวบรวมงานวิจัยที่ระบุถึงผลเสียของการใช้สมาร์ทโฟนไว้เป็นจำนวนมาก

จากประเด็นดังกล่าว นิโคลัส โบวแมน (Nicholas Bowman) ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารจากมหาวิทยาลัยเวสต์เวอร์จิเนีย (West Virginia University) ได้แสดงความเห็นที่น่าสนใจว่า

“ผมกลับรู้สึกว่าเหตุการณ์นี้คือ อาการของความตื่นตระหนกทางศีลธรรม (moral panic) ที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในสังคม”

‘ความตื่นตระหนกทางศีลธรรม’ หมายถึง ความกลัวอย่างรุนแรงของสังคมต่อประเด็นหรือเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง

มนุษย์มีนวัตกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา และในทุกยุคทุกสมัยก็มักมีคนกลุ่มหนึ่งที่ตามไม่ทัน ความไม่เข้าใจหรือไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่พวกนี้ ทำให้พวกเขามีทัศนคติลบและต่อต้าน นำไปสู่อาการตื่นตระหนก – ความหวาดกลัวของพ่อแม่ในการใช้สมาร์ทโฟนของลูกอาจเป็นหนึ่งในนั้น

หากลองย้อนดูประวัติศาสตร์ มนุษย์มักตื่นกลัวนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ ตัวอย่างเช่น ช่วงปี 1920 ปริศนาอักษรไขว้ได้รับความนิยมอย่างสูง สังคมมีความกลัวกันว่า มันจะทำให้เกิดการใช้ภาษาไม่ถูกต้อง

หรือช่วงปี 1790 ที่ผู้คนส่วนใหญ่หวาดกลัวความนิยมนวนิยายผจญภัยที่แพร่หลายไปทั่ว จนมีกลุ่มวัยรุ่นจำนวนมากติดนวนิยายประเภทดังกล่าวกันงอมแงม พร้อมกันนั้นยังมีเกมที่ชื่อว่า ‘Death Race’ ออกมาใหม่ในปี 1976 ซึ่งมีรูปแบบการเล่นที่คล้ายกับการฆาตกรรมเสมือนจริง ส่งผลให้ผู้ใหญ่ส่วนมากเป็นกังวลว่าจะนำความรุนแรงมาสู่สังคมและผู้เล่นเอง

และปัญหาที่เกี่ยวกับผลกระทบจากเกม ไม่ว่าจะด้านสุขภาพหรือสังคม ก็ยังคงเป็นข้อถกเถียงต่อมาในปัจจุบัน

หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้มนุษย์กลัวเทคโนโลยี คือ เรามักจะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ไม่สนใจเรียนรู้จนเกิดความไม่เข้าใจ นำไปสู่ความรู้สึกแปลกแยกกับเทคโนโลยี ทั้งที่จริงๆ แล้วเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่ในสิ่งต่างๆ รอบตัวชีวิตทุกวัน

การกลัวจนเกินเหตุจะทำให้เราปฏิเสธเทคโนโลยีทั้งหมด ทำให้เราจะไม่ได้ใช้ประโยชน์จากมันไปด้วย

หากลองคิดถึงข้อดีของสมาร์ทโฟนก็มีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเป็นตัวช่วยที่ดีในการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ๆ มีแอพพลิเคชั่นเพื่อการศึกษาของเด็ก หรือสำหรับเด็กโตและนักศึกษา สมาร์ทโฟนสามารถใช้ได้ทั้งการอัดเสียง บันทึกภาพเลคเชอร์ การส่งไฟล์ข้อมูล

โบวแมนกล่าวต่อว่า แม้การจำกัดอายุของเด็กในการเข้าถึงเทคโนโลยีเป็นเรื่องจำเป็น แต่การห้ามให้เด็กเข้าถึงเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง ทั้งผู้ใหญ่และเด็กควรทำความเข้าใจเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ร่วมกัน และเรียนรู้ที่จะใช้มันในทางที่เป็นประโยชน์

สอดคล้องกับคำเตือนของสถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา (American Academy of Pediatricians) ที่เสนอแนะว่า ควรมีการจำกัดการใช้คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือการดูทีวีของเด็กๆ มากกว่าการห้ามให้เข้าถึงสิ่งเหล่านี้ อีกทั้งยังแนะนำว่า ควรมีการสร้างข้อตกลงระหว่างเด็กและผู้ปกครอง ในการใช้อุปกรณ์ดิจิตอลเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับตัวเด็ก

“ความกลัวเกี่ยวกับการใช้สมาร์ทโฟนของเด็กๆ มีความคล้ายคลึงกับการสอนเพศศึกษาแบบเก่า ที่เริ่มต้นด้วยความกลัวว่าเด็กวัยรุ่นจะมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ซึ่งทุกคนต่างรู้แล้วว่า การสอนด้วยการห้ามให้มีเพศสัมพันธ์หรือปกปิดเรื่องเพศเป็นหนทางที่ผิด นอกจากไม่สามารถแก้ไขอาการท้องในวัยรุ่นได้ ยังกลับทำให้ปัญหานี้เพิ่มขึ้นอีก” โบวแมนกล่าว

ฉะนั้น การห้ามเข้าถึงเทคโนโลยีก็มีลักษณะเดียวกัน กล่าวคือ มันอาจจะทำให้พวกเขาใช้สมาร์ทโฟนผิดวิธีมากกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ผู้ใหญ่ในยุคปัจจุบันต้องยอมรับ คือ เด็กๆ ในยุคนี้จะเติบโตไปพร้อมกับสมาร์ทโฟน มันจะกลายเป็นสิ่งที่สำคัญมากขึ้น และจะช่วยพวกเขาให้ดำรงชีวิตอยู่ในโลกศตวรรษที่ 21 ได้อย่างเท่าทันมากขึ้น


อ้างอิงข้อมูลจาก: theconversation.com

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า