แปลและเรียบเรียง: เทพพิทักษ์ มณีพงษ์
เทคโนโลยีของการสื่อสารในศตวรรษที่ 21 ที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดทำให้ผู้คนได้พูดคุยและใกล้ชิดกันมากขึ้น การส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือกลายเป็นกิจวัตรประจำวันของผู้คนทั่วโลก ข้อความหลายพันล้านข้อความถูกส่งหากันในแต่ละวัน อย่างไรก็ตามในแง่ของสุขภาพ พฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือและการส่งข้อความที่มากเกินไปอาจจะส่งผลร้ายต่อร่างกายได้เช่นกัน
สมาคมแพทย์จัดกระดูก (United Chiropractic Association: UCA) ซึ่งเป็นหน่วยงานแพทย์ทางเลือกด้านระบบประสาท กล้ามเนื้อและกระดูก ในอังกฤษ ได้เสนอผลการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบจากการใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อส่งข้อความเป็นเวลานานๆ อาจทำให้อายุขัยสั้นลง เนื่องจากเมื่อกดโทรศัพท์ ศีรษะของเราจะโน้มไปข้างหน้า หัวไหล่จะยกขึ้นสูง ซึ่งเรียกกันว่า ‘forward-leaning posture’ ท่าดังกล่าวอาจเพิ่มความเสี่ยงของอาการหลังค่อมในวัยชรา ทำให้ปอดและหัวใจทำงานได้ไม่สะดวก ส่งผลให้อายุขัยของร่างกายสั้นลงพอๆ กับโรคอ้วน
อย่างไรก็ตาม แพทย์บางท่านให้ความเห็นว่า ข้อสรุปดังกล่าวอาจฟังดูเกินความจริงและทำให้ผู้อ่านวิตกมากกว่าเหตุ เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนถึงผลของท่าทางการกดโทรศัพท์มือถือที่จะทำให้โครงสร้างของร่างกายเปลี่ยนแปลงไปในระยะยาว
แต่สิ่งที่ยืนยันได้ ณ ขณะนี้ จากศูนย์วิจัยระบบกล้ามเนื้อและกระดูก (Centre for Musculoskeletal Research) ในสวีเดนคือ ผลของการส่งข้อความมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยบริเวณหัวไหล่และหลัง เนื่องมาจากการที่ศีรษะต้องเอนมาด้านหน้ามากกว่า 10 องศา นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ใช้เกิดความเครียด ซึ่งอาจส่งผลให้มีอาการเหนื่อยล้าและนอนไม่หลับได้
อาการของความตึงเครียดและอาการเกร็งของกล้ามเนื้ออันเนื่องมาจากการส่งข้อความมากเกินพอดีกลายเป็นอาการที่พบได้บ่อยของผู้คนยุคนี้ แพทย์เรียกอาการดังกล่าวว่า ‘text neck’ และแนะนำวิธีการหลีกเลี่ยงว่า ควรเปลี่ยนไปใช้วิธีอื่นนอกเหนือจากการส่งข้อความในการสื่อสาร เช่น การนัดเจอกันหรือโทรศัพท์คุยกัน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ควรหยุดพักทุก 5 นาที และยกจอโทรศัพท์ให้อยู่ระดับเดียวกับปาก เมื่อต้องการพิมพ์ข้อความจะได้ใช้เพียงแค่สายตา ไม่จำเป็นต้องก้มทั้งศีรษะและหลังเพื่อมองหน้าจอ
ที่มา: theguardian.com