อังกฤษตั้งกระทรวงใหม่ รับมือ ‘ความหว่อง’

photo: Jad Limcaco via unsplash.com
เรื่อง: พีระพัฒน์ สวัสดิรักษ์

 

หลังการโหวต Brexit สหราชอาณาจักรได้รับฉันทามติจากประชาชนให้ออกจากสหภาพยุโรปมากว่าหนึ่งปีแล้ว ชาวยุโรปบางประเทศต่างเย้ยหยันว่าการตัดสินใจดังกล่าวทำให้อังกฤษเป็นชาติเดียวดาย กลายเป็นเกาะที่แสนโดดเดี่ยว

แต่ความจริง ความเหงาเดียวดายของอังกฤษไม่ได้เริ่มจาก Brexit เพราะสังคมอังกฤษมีปัญหาตึงเครียดเกี่ยวกับความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาเป็นทุนเดิม

คณะกรรมการความเหงาของ Jo Cox Commission on Loneliness ของอดีตรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานผู้ล่วงลับ โจ คอกซ์ (Joe Cox) เปิดเผยรายงานของ The Co-op and the British Red Cross ว่า ประชากรกว่า 9 ล้านคนในประเทศมีความรู้สึก ‘เหงา’ อยู่บ่อยๆ บางคนถึงขั้น ‘เหงาตลอดเวลา’

ประเด็นไม่ใช่เรื่องเล็ก นายกรัฐมนตรีเทรีซา เมย์ (Theresa May) ออกคำสั่งให้มีตำแหน่ง ‘รัฐมนตรีกระทรวงความเหงา’ (Minister for Loneliness) เมื่อวันพุธที่ผ่านมา “สำหรับคนจำนวนมาก ความเหงาเป็นความจริงที่น่าเศร้าของผู้คนสมัยใหม่” เมย์กล่าวในแถลงการณ์

“ฉันต้องการเผชิญหน้ากับความท้าทายในสังคมของพวกเรา และโดยเฉพาะกับทุกคนที่กำลังทำอะไรบางอย่างเพื่อขจัดปัญหาความเหงาที่ผู้สูงอายุ ผู้ดูแล และผู้ที่สูญเสียคนรักกำลังประสบอยู่ – รวมทั้งคนที่ไม่มีใครให้คุยหรือไม่มีใครให้แบ่งปันความคิดและเรื่องราวต่างๆ”

กระทรวงความเหงาที่ว่านี้จะมี เทรซีย์ เคราช์ (Tracy Crouch) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกีฬาและประชาสังคม ข้ามาเป็นหัวหน้าทีมรับมือความเหงาโดดเดี่ยวตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ซึ่งจากข้อมูลของรัฐบาล ผู้สูงอายุประมาณ 200,000 คนไม่เคยสนทนากับเพื่อนหรือญาติๆ เลยนานกว่าหนึ่งเดือน

มาร์ค โรบินสัน (Mark Robinson) เจ้าหน้าที่จาก Age UK Barnet องค์กรการกุศลที่ทำงานกับผู้สูงอายุที่ใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักร กล่าวเตือนว่า ปัญหานี้สามารถฆ่าคนได้

“มันพิสูจน์แล้วว่าความย่ำแย่สำหรับปัญหาสุขภาพคือคนเหงาที่สูบบุหรี่มากกว่า 15 มวนต่อวัน”

เบรนแดน คอกซ์ (Brendan Cox) สามีหม้ายของอดีตรัฐมนตรีผู้ถูกฆาตกรรมโดยกลุ่มคลั่งผิวข่าวเมื่อปี 2016 และน้องสาว คิม ลีดบีเทอร์ (Kim Leadbeater) คือแกนนำในการขับเคลื่อนภารกิจของคณะกรรมการความเหงา โจ คอกซ์ ซึ่งมีแนวคิดหลักให้คนกำจัดความเหงาด้วยการเริ่มสนทนากัน ‘Start a Conversation’ และ #happytochat

สำหรับหน้าที่ของกระทรวงที่ทำงานร่วมกับคณะกรรมการความเหงาคือ การส่งอาสาสมัครออกไปเริ่มสนทนา ทั้งกับผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ผู้อพยพ และชุมชนต่างๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ

นายกรัฐมนตรีเมย์กล่าวว่า “โจ คอกซ์ รับรู้ถึงขนาดของความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาทั่วประเทศ และเธอได้อุทิศตัวทำงานทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อช่วยเหลือผู้ที่กำลังเผชิญปัญหานี้”

เมย์เสริมอีกว่า เป็นเรื่องดีที่รัฐบาลได้สานงานที่ โจ คอกซ์ เริ่มไว้ กับกระทรวงความเหงา ที่จะทำงานร่วมกับคณะกรรมการ องค์กรธุรกิจ และองค์การกุศล เพื่อให้รัฐบาลวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อรับมือเรื่องนี้ได้เป็นครั้งแรก

คุณจะช่วยเหลือวัยรุ่นขี้เหงาได้อย่างไร

– เอื้อมมือออกไป เตรียมพบปะตัวต่อตัวหรือพูดคุยทางโทรศัพท์

– กระตุ้นให้ผู้คนพูดคุยกัน ไม่ว่าจะเป็นการสนทนาตัวต่อตัวอย่างสั้นๆ หรือเข้าร่วมการสนทนาแบบออนไลน์

– เสนอตัวเข้าไปในชั้นเรียนหรือทำกิจกรรมกลุ่มกับพวกเขา

– แนะนำให้พวกเขาเยียวยาด้วยการพูดคุยในชุมชนเล็กๆ ของตัวเอง เพื่อช่วยในการจัดการผลกระทบด้านสุขภาพจิตและความเหงา หรือแนะนำให้สนับสนุนเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่าง elefriends.org.uk     

– ฟัง เพราะคนเราสามารถรู้สึกเหงาได้แม้ว่าพวกเขามีวิถีชีวิตที่วุ่นวายและถูกเติมเต็มอยู่แล้ว

photo: Jake Oates via unsplash.com

คุณจะช่วยเหลือผู้สูงอายุขี้เหงาได้อย่างไร

– เริ่มต้นการสนทนา พูดคุยและหยุด พูดคุยและหยุด อย่ารีบร้อน

– เสนอความช่วยเหลือด้านการปฏิบัติกิจกรรม เช่น ช็อปปิ้ง ส่งจดหมายหากัน การรับใบสั่งยา หรือเดินเล่นกับสุนัขของพวกเขา

– เสนอตัวไปทำธุระเป็นเพื่อน ทั้งนัดพบแพทย์ ไปห้องสมุด ไปร้านทำผม หรือไปโบสถ์

– แบ่งปันเวลาของคุณเป็นอาสาสมัครกับองค์กรที่บริการจับคู่กับผู้สูงอายุ โดยเยี่ยมบ้านของพวกเขาหรือโทรศัพท์คุยกัน

– ช่วยเหลืองานบ้าน เสนอตัวนำขยะออกไปทิ้ง เปลี่ยนหลอดไฟ กวาดหิมะหน้าบ้าน หรือทำรูปติดผนังบ้าน

– รับประทานอาหารร่วมกัน ตักอาหารจานร้อนๆ ที่ปรุงร่วมกันภายในบ้าน

แครอล เจนกินส์ (Carol Jenkins) อายุ 64 ปี พยาบาลเกษียณจากเบิร์คเชียร์ (Berkshire) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ กล่าวว่า เธอเริ่มรู้สึกเหงาเมื่อลูกชายย้ายไปต่างประเทศ และเธอต้องไปอยู่บ้านหลังเล็กๆ

“ที่ย้ายก็ใช้เรื่องการเงินเป็นเครื่องมือตัดสินใจ และฉันไม่ได้เป็นคนที่มีความเป็นมิตรพอจะหาเพื่อนใหม่ได้”

เจนกินส์เล่าว่า “แต่ละเดือนผ่านไป โดยปราศจากการเฝ้ามองจากเพื่อนและครอบครัว ฉันรู้สึกหดหู่และโดดเดี่ยวจริงๆ”

เธอเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเฟซบุ๊คสำหรับชาวอังกฤษที่ได้รับผลกระทบจากความเหงา ซึ่งเธอบอกว่ามันช่วยให้เธอออกจากบ้านได้มากขึ้น

“มันไม่ใช่แค่เรื่องการพบปะผู้คนบนอินเทอร์เน็ตและการสร้างเพื่อนใหม่เท่านั้น แต่เป็นอีกหนึ่งเครือข่ายที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจและชี้แนะแนวทางในการจัดการกับปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ด้วย” และเธอยังรู้สึกประหลาดใจว่าในกลุ่มนี้มีคนหนุ่มสาวมากมายหลายคนเข้ามาร่วมด้วย

“มีนักศึกษาจำนวนมากที่ขังตัวเองอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมเป็นวันๆ เพียงเพราะเขารู้สึกว่าถูกปฏิเสธและไม่เหมาะสมกับสังคม”

มันเป็นแค่เรื่องของเวลา ก่อนที่ความเหงาจะกลายเป็นภาวะซึมเศร้า และนั่นเป็นสิ่งที่อันตรายมาก


อ้างอิงข้อมูลจาก:
telegraph.co.uk
nytimes.com
bbc.com
mind.org.uk
nhs.uk

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า