สุรชัย ตรงงาม ถามตัวเอง: “เราจะมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่าต่อคนอื่นได้อย่างไร”

02
สุรชัย ตรงงาม  กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)

 

หลังจากที่มีคำสั่งศาลปกครองสูงสุดให้ กรมควมคุมมลพิษ (คพ.) ต้องฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ที่ปนเปื้อนสารตะกั่วเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556 และให้ คพ. ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้ง 22 ราย รายละ 177,199.55 บาท ล่าสุด คพ. ทำแผนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วบริเวณลำห้วยคลิตี้ประจำปี พ.ศ. 2559-2561

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา มีนัยยะบ่งบอกว่า นี่คือชัยชนะของชาวบ้านคลิตี้ล่าง แต่ สุรชัย ตรงงาม กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ในฐานะทนายความผู้รับผิดชอบคดีคลิตี้ กลับบอกว่า คำพิพากษาเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการแก้ปัญหาเท่านั้น!

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดในปี 2556 มีนัยยะบ่งบอกว่า หน้าที่ทนายความอย่างเขาได้เสร็จสิ้นแล้ว แต่ สุรชัย ตรงงาม ยังคงเดินทางไปยังหมู่บ้านคลิตี้ล่าง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อร่วมกับคณะทำงานทั้งชาวบ้าน นักวิชาการ นักสิ่งแวดล้อม สื่อมวลชน เพื่อติดตามตรวจสอบและร่วมกำหนดทิศทางการฟื้นฟูเยียวยา เพื่อให้ชาวบ้านสามารถกลับมาใช้น้ำในลำห้วยได้อย่างปลอดภัยอีกครั้ง

สุรชัย ตรงงาม บอกว่า ในฐานะนักกฎหมาย เขาเป็นเพียงฟันเฟืองตัวหนึ่งที่เชื่อมต่อกับฟันเฟืองตัวอื่นๆ ทั้งชาวคลิตี้ล่าง องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ นักสิ่งแวดล้อม สื่อมวลชน ฯลฯ ที่ทำให้คดีคลิตี้กลายเป็นกรณีตัวอย่าง หรือ สิ่งที่เขาเรียกว่า ‘คลิตี้โมเดล’

 

คุณเคยพูดว่า การชนะคดีด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชนใดชุมชนหนึ่ง เอาเข้าจริงๆ แล้ว มันไม่ใช่ชัยชนะที่แท้จริงหรอก ถ้อยคำนี้หมายความอย่างไร

การชนะคดีของชุมชน เป็นแค่จุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาใหม่ๆ เท่านั้นเอง กรณีคลิตี้ก็เป็นตัวอย่างชัดเจนอยู่แล้ว ว่าสู้คดีมา 8-9 ปี ถามว่าฟ้องอะไร เราฟ้องขอให้หน่วยงานรัฐเข้าไปดำเนินการฟื้นฟูแก้ไขการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ ซึ่งถ้าหน่วยงานทำตั้งแต่ปีที่ฟ้องคดีในปี 2547 ป่านนี้ปัญหาคงเบาบางกว่าที่เป็นอยู่ แต่เพราะเขาไม่ยอมทำ

อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาก็มีข้อจำกัดในตัวมันเอง ศาลก็พิพากษากว้างๆ ให้หน่วยงานปฏิบัติหน้าที่ เพราะศาลคงไม่สามารถลงรายละเอียดได้ว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องทำอะไรบ้าง เพราะศาลก็ไม่มีความรู้ในทางเทคนิคใช่มั้ยครับ ซึ่งก็จะเห็นว่าคำพิพากษาแบบนี้เป็นคำพิพากษาเพื่อให้เกิดการเริ่มต้นเท่านั้นเอง ดังนั้น ถ้าชุมชนไม่เข้มแข็ง ไม่เข้าไปควบคุมตรวจสอบ คำพิพากษาก็จะไม่เกิดผลสัมฤทธิ์หรอกครับ มันก็เป็นเพียงแค่คำพิพากษา

ช่วงแรกๆ ที่ผมเข้าไปในหมู่บ้านคลิตี้ล่าง การฟ้องร้องคดีคลิตี้ยังเป็นการคิดแบบยุคแรกๆ ก็คือจะมีการเยียวยาความเสียหายอย่างไร เราก็ไปดูข้อมูลการเจ็บป่วยทางสุขภาพ ข้อมูลการรักษาพยาบาล เราพบว่าปัญหาของคลิตี้คือ ชาวบ้านไม่สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำในลำห้วยได้ เพราะมีการปนเปื้อนและอันตรายต่อชีวิตของเขา ซึ่งก็นำมาสู่การฟ้องในคดีปกครอง ฟ้องให้หน่วยงานเข้ามาฟื้นฟูเยียวยา ซึ่งการเยียวยาความเสียหาย อย่างค่ารักษาพยาบาลอะไรเหล่านี้มันไม่เพียงพอหรอก หลักๆ คือทำอย่างไรให้เกิดการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้อย่างจริงจัง เพราะตอนนั้นกรมควบคุมมลพิษก็เข้าไปนะ แต่เขาหยุดทำเสียอย่างนั้น เราก็เลยฟ้องเพื่อให้เขาทำงานต่อ

 

03
ลำห้วยคลิตี้ หมู่บ้านคลิตี้ล่าง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

 

คุณอยู่กับคดีคลิตี้มาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงวันนี้ คพ. ทำแผนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วบริเวณลำห้วยคลิตี้  ถ้าให้คุณช่วยสรุปประสบการณ์จากการทำคดี  ‘คลิตี้โมเดล’ ได้สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ด้านการต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง

ผมคิดว่า ‘คลิตี้โมเดล’ บอกกับเราว่า ความเข้มแข็งของชุมชนเป็นปัจจัยสำคัญ ถ้าชุมชนไม่รวมตัวเข้ามาแก้ปัญหาของตัวเอง ความสำเร็จแบบนี้ไม่มีวันเกิดหรอก

‘คลิตี้โมเดล’ บอกเราว่า สิทธิของชุมชน สิทธิของประชาชนในการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ มันมีอยู่จริงนะ อย่างน้อยที่สุดก็ได้การรับรองจากคำพิพากษา มันเป็นสิ่งที่คุณสามารถอ้างต่อหน่วยงานหรือผู้ประกอบการได้ว่า นี่คือสิทธิของชุมชนฉันนะ คุณต้องเคารพ ถ้าคุณไม่เคารพ เราก็สามารถจะฟ้องร้องบังคับให้คุณต้องกระทำการอะไรบางอย่างเพื่อแสดงว่าคุณต้องเคารพต่อสิทธิของชุมชน

‘คลิตี้โมเดล’ คือการเยียวยาความเสียหายจากมลพิษ แต่ถ้าไม่มีการเข้าไปติดตามอย่างใกล้ชิด ก็จะไม่มีการเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วและเป็นธรรมหรอก กรณีคลิตี้จะทำให้เราย้อนกลับไปมองว่า จำเป็นต้องมีระบบหรือกลไกอะไรบางอย่างที่เข้ามาเยียวยาหรือแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรายังไม่เคยมีชุมชนไหนฟ้องร้องถึงขั้นมีคำพิพากษาถึงที่สุด แล้วเริ่มมีการฟื้นฟูอย่างเป็นระบบอย่างคลิตี้ ที่ผ่านมา การฟื้นฟูขึ้นอยู่กับว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบอยากจะฟื้นฟูอะไร…ก็ทำไป แต่คดีคลิตี้มีคำพิพากษาควบคุมอยู่ มีชุมชนคอยติดตามตรวจสอบ มีองค์กรภาคประชาสังคมคอยจับตาและช่วยเหลือด้านวิชาการ

กรณีคลิตี้ทำให้เราเห็นว่า มีปัญหาอะไรบ้างที่ต้องพูดถึงในกระบวนการการเข้าไปเยียวยาแก้ไขฟื้นฟู มีความล่าช้าในกระบวนการแบบไหน เช่น กรมควบคุมมลพิษคิดแผนเสร็จ ต้องรอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติหรือไม่ ต้องรอขนาดนั้นหรือเปล่า หรือถ้ามีปัญหาการปนเปื้อนเกิดขึ้น หน่วยงานรัฐจะร่วมมือกับชุมชนอย่างไรเพื่อให้การแก้ปัญหานั้นตอบโจทย์วิถีชีวิตของชาวบ้านด้วย รวมถึงการไปไล่เบี้ย การไปหาผู้กระทำให้เกิดมลพิษ

 

บรรยากาศของคดีความด้านสิ่งแวดล้อมก่อนที่จะมี EnLAW ในปี 2544 หรือก่อนจะมีรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นอย่างไร

ผมเข้ามาเป็นทนายใหม่ในปี 2532 เป็นยุคก่อนจะมีรัฐธรรมนูญ 2540 การฟ้องร้องด้านสิ่งแวดล้อมยังมีน้อย คดียุคแรกเป็นคดีเกี่ยวกับการเยียวยาความเสียหาย พูดง่ายๆ ว่าเกิดความเสียหายแล้วค่อยมาเรียกร้องฟ้องกัน ยกตัวอย่างเช่น คดีระเบิดสารพิษที่คลองเตย ก็จะเป็นคดีเกี่ยวกับการเรียกร้องค่าเสียหาย คดีในยุคแรกๆ จะเป็นแบบนี้ ข้อพิพาทจะเป็นระหว่างชุมชนกับบริษัทเอกชน การฟ้องร้องให้หน่วยงานรัฐมากำกับดูแล เป็นเรื่องยากมาก

ยุคหลังรัฐธรรมนูญ 2540 การสร้างกลไกที่รองรับเรื่องสิทธิเสรีภาพ ทั้งเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย การตีความกฎหมายของศาล รวมถึงมีการสร้างองค์กรใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น องค์กรศาลปกครอง ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น มันก็ทำให้สิทธิของประชาชนและชุมชนด้านสิ่งแวดล้อมเปิดวงกว้างมากขึ้น พูดง่ายๆ ว่าจากการฟ้องเยียวยาความเสียหายก็เป็นการฟ้องในเชิงการป้องกันมากขึ้น เช่น จะมีการเกิดโครงการหนึ่งขึ้นมา คำถามแรกที่จะเกิดก็คือมีการดำเนินการตามกฎหมายอย่างถูกต้องหรือไม่ การฟ้องร้องก็มีการฟ้องต่อหน่วยงานรัฐด้วย ฟ้องว่ารัฐควรกำกับควบคุมดูแลอย่างถูกต้องไปตามกฎหมาย ไม่ต้องรอให้เกิดผลกระทบก่อน พูดง่ายๆ ว่าพอจะมีโครงการเกิดขึ้นก็ฟ้องก่อนเลย โครงการรับฟังความคิดเห็นชุมชนไหม มีการทำการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือไม่ รวมถึงว่าถ้าเกิดผลกระทบเสียหาย หน่วยงานรัฐกำกับดูแลดีไหม ตรวจสอบดำเนินการอย่างไร หลังรัฐธรรมนูญ 2540 คดีด้านสิ่งแวดล้อมจะมีลักษณะในเชิงป้องกันมากขึ้น

ในส่วนของการเยียวยา ก็จะผนวกไปกับการควบคุมตรวจสอบ ให้หน่วยงานรัฐปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย การเยียวยาก็หมายถึงการให้หน่วยงานรัฐต้องกระทำการบางอย่าง เช่น การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมของชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งสมัยก่อนเวลาฟ้องร้องคดีด้านสิ่งแวดล้อมจะไม่มีคำขอแบบนี้ มีแต่คำขอให้ชดใช้เงิน

 

ยุคหลังจากรัฐประหาร 2549 จนถึงปัจจุบัน บรรยากาศด้านคดีสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไหม

ผมคิดว่าประเด็นหลักไม่เปลี่ยน เราเห็นการตื่นตัวขึ้นมาใช้สิทธิจำนวนมากของชุมชนต่างๆ จากการที่เขาไม่เคยจะมาฟ้องร้องหน่วยงานรัฐ ให้หน่วยงานรัฐปฏิบัติหน้าที่ หรือการฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามรัฐธรรมนูญ สิทธิในการได้รับประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ หรือสิทธิที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มันแทบจะไม่เคยมีมาก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 แต่การรัฐประหารครั้งล่าสุดนี้ ก็จะพบว่าจะมีปัญหาที่มากขึ้น เพราะเป็นการกระทำของรัฐโดยตรง ซึ่งรัฐก็กระทำการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนด้วย หรือทำให้การชุมนุมเป็นไปไม่ได้ การชุมนุมในที่สาธารณะก็จะมีการควบคุม…อะไรก็ว่าไป ซึ่งผมคิดว่าบรรยากาศปัจจุบันมันเป็นลักษณะเฉพาะ มันเป็นการเข้ามากำกับควบคุมโดยรัฐเผด็จการมากขึ้น ซึ่งทำให้การขับเคลื่อนของชุมชนในด้านสิ่งแวดล้อมยากลำบากมากขึ้น

 

เริ่มต้นเป็นทนายสิทธิมนุษยชนในช่วงต้นทศวรรษที่ 2530 หลังรัฐธรรมนูญปี 2540 คุณเข้ามาทำ EnLAW ผันตัวมาจับคดีสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร

EnLAW เป็นผลผลิตของการลุกขึ้นมารับรองสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม ก่อนหน้าภาวะปัญหาทางสิ่งแวดล้อมมีอยู่มากมายในหลายๆ ด้านอย่างที่เล่าไป

งานสิทธิมนุษยชนหรืองานด้านสิ่งแวดล้อม จริงๆ แล้ว ทิศทางต้องนำไปสู่การผลักดันในเชิงนโยบายหรือต่อสาธารณะ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะการทำคดีใช้ระยะเวลานาน สุดท้ายต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบบางประการอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นนโยบายหรือกฎหมาย หรือการสร้างนักกฎหมายด้านสิทธิฯรุ่นใหม่ เนื้องานจะไม่ได้มีเฉพาะการทำคดีเพียงอย่างเดียวแล้ว

เราเลือกแนวทางการทำงานที่การโฟกัสชัดขึ้น แต่เดิมผมเติบโตมาในยุคความเชื่อเรื่องความเป็นธรรม ความเชื่อเรื่องสังคมนิยม เราจะได้รับอิทธิพลความคิดแบบนี้ แต่สุดท้ายมันก็คือความเชื่อในเรื่องที่ว่า เราจะมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่าต่อคนอื่นต่อสรรพสิ่งได้อย่างไร ผมเรียนกฎหมาย กฎหมายก็เป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญในการปกป้องสิทธิของชุมชนสิทธิของประชาชน ดังนั้นเราก็ควรใช้ความรู้ของเราที่มีตรงนี้มุ่งไปทำงานให้เกิดผลลัพธ์ชัดเจนมากขึ้น

เดิมเราก็รู้สึกว่า แค่ทำคดีช่วยเหลือเป็นรายบุคคลก็ภาคภูมิใจแล้ว ตอนนั้นไม่รู้ว่าเราจะไปเปลี่ยนแปลงอะไรใหญ่โตได้อย่างไร แต่หลังการเปลี่ยนแปลงของรัฐธรรมนูญ 40 ก็ทำให้เราเห็นว่า มันมีการเปลี่ยนแปลงหลายรูปแบบผ่านกระบวนการทางกฎหมาย ผ่านกระบวนยุติธรรมนะ เราสามารถฟ้องเพิกถอนได้ถึงขั้นประกาศกฎหมายบางอันได้เลยนะ เพิกถอนกฎหมายระดับพระราชบัญญัติยังได้เลย ถ้าเราเห็นว่ามันไม่เป็นธรรม

ลักษณะแบบนี้จะส่งผลในวงกว้างมาก มันเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นคานงัดอีกแบบหนึ่ง ถ้าเราใช้ความรู้ความชำนาญของเรามาโฟกัสในจุดแบบนี้ ผมคิดว่าความเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดจากฟันเฟืองเล็กๆ อย่างเราได้ การทำงานนี้สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าการทำคดีที่เป็นผลประโยชน์ของคู่ความเฉพาะคดี ถ้าเราเป็นฟันเฟืองตัวหนึ่งซึ่งไปต่อกับฟันเฟืองอื่นๆ มันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับที่ใหญ่โตได้มากขึ้น และเป็นประโยชน์ในวงกว้างมากขึ้นได้

การผลักดันทางกฎหมายไม่สามารถใช้ความรู้ทางกฎหมายได้เพียงอย่างเดียว นักกฎหมายก็ต้องเข้าไปร่วมมือกับอีกหลายสาขาวิชาชีพในการทำความเข้าใจชุมชน เข้าใจปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชน ทั้งนี้เพื่อตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคมให้ทัน ทำให้การต่อสู้ด้านกฎหมายมีพลัง การทำงานด้านกฎหมายก็เป็นเพียงฟันเฟืองหนึ่งในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเท่านั้นเอง.

 

 

 

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า