เสียงดนตรีแห่งต้นทศวรรษ 2020: สงคราม การเมือง สิ่งแวดล้อม และฝันร้ายของผู้คนบนโลกอันปั่นป่วน

คงไม่ต้องสาธยายยาวเหยียดว่าดนตรีสัมพันธ์กับประเด็นสังคมมากขนาดไหน นอกจากหน้าที่ในการจรรโลงใจผู้คนแล้ว บ่อยครั้งที่เสียงดนตรีนำไปสู่การขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริงๆ เช่น การร้องเพลงปฏิวัติ (The Singing Revolution) ปลดแอก 3 ประเทศแห่งบอลติกจากการปกครองของสหภาพโซเวียต โดยประชาชนของทั้งสามประเทศต่างออกมาเกี่ยวร้อยคล้องแขนบนถนนนับร้อยๆ กิโลเมตร ด้วยการร้องเพลงเป็นกิจกรรมหลัก

กลไกสำคัญคือศิลปินนักดนตรีที่ทำหน้าที่บันทึกประวัติศาสตร์ลงบนตัวโน้ต จดเรื่องราวปัญหาด้วยปลายปากกาและเครื่องดนตรี เพื่อเป็นกระบอกเสียงป่าวประกาศอุดมการณ์และความรู้สึกของตนเองออกมา

นอกเหนือจากความรักความสัมพันธ์ที่เป็นแรงใจรังสรรค์ผลงานแล้ว ภาพผู้คนวิ่งหนีตายในสนามบินกรุงคาบูล ภาพกองขยะลอยแน่นขนัดตามคูคลองของเมืองหลวงแห่งคองโก ภาพของความฝันในวันที่สุขภาพจิตย่ำแย่ หรือภาพของการเคลื่อนไหวต้านเผด็จการของคนหนุ่มสาว เหตุการณ์เหล่านี้ก็นับเป็นอีกวัตถุดิบและแหล่งบันดาลใจสำคัญต่อนักดนตรี/ศิลปิน และอาจค่อยๆ ก่อร่างเป็นตัวแทนของคนในทศวรรษ 2020 ก็ว่าได้ 

กรันจ์ร็อคจากอัฟกาฯ ในวันที่ตาลีบันคืนสู่อำนาจ

photo: @thekatalysts

ตั้งแต่ก่อตั้งวงในปี 2008 ผลิตอัลบั้มอย่าง Plastic Words (2013), Megalomaniacs (2017), With Love from Kabul Dreams (2019) จวบจนขึ้นแสดงที่เทศกาลดนตรีระดับโลกอย่าง ‘South By South West’ ในเท็กซัส Kabul Dreams วงร็อคจากอัฟกานิสถาน อาจเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สะท้อนความทรงจำของอัฟกานิสถาน จากอดีตจนถึงวันที่กลุ่มตาลีบันกลับมาครองอำนาจอีกครั้ง

“มันยากที่จะดูนะ เพราะไม่เพียงแต่ความทรงจำมากมายหวนกลับมา แต่มันหมายความว่าสิ่งที่พวกเขากำลังเผชิญไม่ปลอดภัยเลยสักนิด มันเป็นจุดเริ่มต้นของความหวาดกลัวและความไม่แน่นอนในชีวิตไปแล้ว”

ซูไลมาน การ์ดาช (Sulyman Qardash) นักร้องนำและมือกีตาร์ บอกกับ The National ถึงภาพของฝูงชนวิ่งตามเกาะเครื่องบินสหรัฐ ที่กำลังออกตัวในสนามบินฮามิด คาร์ไซ (Hamid Karzai) 

“เป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขาที่ต้องพิสูจน์ว่าตัวเองกำลังตกอยู่ในอันตราย เพื่อนๆ ส่วนใหญ่ของผมที่เป็นศิลปิน มักถูกปฏิเสธคำขอลี้ภัยในยุโรป พวกเขาไม่เพียงต้องพิสูจน์ว่าตัวเองกำลังตกอยู่ในอันตราย แต่ต้องรื้อฟื้นความทรงจำเลวร้ายซ้ำๆ เพื่อให้คนคนหนึ่งตัดสินว่ามันเป็นความจริงหรือไม่”

การ์ดาชเล่าว่า เขาเกิดที่อัฟกานิสถาน เมื่ออายุได้ 3 ขวบ ครอบครัวต้องอพยพหนีภัยสงครามกลางเมืองไปประเทศอุซเบกิสถานในปี 1994 ที่นั่นเขาสมัครเข้าโรงเรียนดนตรีและเริ่มเล่นกีตาร์ ก่อนจะกลับมาอัฟกานิสถานอีกครั้งในปี 2008 หลังกลุ่มตาลีบันหมดอำนาจ ด้วยเป้าหมายที่จะฟอร์มวงร็อค

สมาชิกรุ่นก่อตั้งคนอื่นๆ ก็มีไทม์ไลน์ชีวิตลักษณะเดียวกัน คือหนีภัยสงคราม และกลับมาบ้านเกิดอีกครั้ง อย่าง ซิดดิค อาห์เหม็ด (Siddique Ahmed) มือเบสที่กลับมาจากปากีสถาน และ โมจ์ทาบา ฮาบิบี ชานดิซ (Mojtaba Habibi Shandiz) มือกลองที่เคยใช้ชีวิตในอิหร่าน เนื่องจากพวกเขาเติบโตจากต่างถิ่น จึงเล่นเพลงภาษาอังกฤษและใช้เป็นภาษาหลักในการสื่อสารกัน โดยดนตรีในยุคแรกได้อิทธิพลมาจากวง Sex Pistols, Metallica, Nirvana และ OASIS

มีเพียงศูนย์วัฒนธรรมหรือสวนสาธารณะไม่กี่แห่งเท่านั้นที่อนุญาตให้พวกเขาจัดคอนเสิร์ตได้ โดยมักมีพวกหัวรุนแรงมาข่มขู่พวกเขาเสมอ กล่าวหาว่าดนตรีที่เขาเล่นเป็นโฆษณาชวนเชื่อจากชาติตะวันตกบ้าง เป็นพวกนอกรีตบ้าง กระทั่งขู่ว่าถ้ายังเล่นต่อจะทำให้พวกเขาหายตัวไปก็มี เมื่อสถานการณ์ดูเลวร้ายลงเรื่อยๆ พวกเขาจึงตัดสินใจอพยพลี้ภัยมาที่สหรัฐอเมริกา ในปี 2013

“นี่ไม่ใช่อัฟกานิสถานเมื่อ 20 ปีก่อน” เขากล่าว

“มีหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งเรื่องเสรีภาพในการพูดและการแสดงออก ผมเคยอยู่ในประเทศเอเชียกลางอื่นๆ บอกได้เลยว่าอัฟกานิสถาน มีสิทธิในการแสดงออกมากกว่า

“นั่นก็เพราะชาวอัฟกันทำงานกันอย่างหนักเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง”

ด้วยเหตุผลนี้เอง Kabul Dreams จึงร้องเพลงในภาษาดารี (Dari – ภาษาที่ใช้กันมากที่สุดในอัฟกานิสถาน) สำหรับการเฉลิมฉลองคลายเครียดเท่านั้น เช่น แทร็คฮิตโยกหัวหลุดอย่าง ‘Fasl’ และ ‘Sadae man’ ขณะที่เพลงในภาษาอังกฤษจะใช้เพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง เช่น ‘Good Morning Freedom’ และ ‘Butcher of the City’

“ตั้งแต่เราฟอร์มวงนี้ขึ้นมา เรายืนยันที่จะใช้เพลงภาษาอังกฤษเพื่อบอกกับโลกถึงประสบการณ์ที่เราเผชิญ สิ่งที่มันกำลังดำเนินอยู่ และสิ่งที่จะผ่านไป มันไม่มีเหตุผลที่จะร้องเพลงพวกนี้ในภาษาดารี เพราะคนอัฟกันไม่จำเป็นต้องถูกย้ำเตือนซ้ำๆ ถึงช่วงเวลาอันโหดร้าย”

ปัจจุบัน เมื่อตาลีบันกลับมาครองอำนาจอีกครั้ง การ์ดาชกล่าวว่า เขาจะทำเพลงเกี่ยวกับการต่อสู้ดิ้นรนของคนอัฟกันเพิ่มมากขึ้น อย่างน้อยๆ มันเป็นสิ่งที่นักดนตรีคนหนึ่งสามารถทำได้

แม้ภาพอนาคตของซีนดนตรีอิสระในกรุงคาบูลจะเลือนรางและคาดเดาได้ยาก แต่ก็ยังมีเสียงสัญญาณขอคำปรึกษาจากวงรุ่นน้องอยู่เป็นระยะ

“เรายังคงได้รับข้อความจากคนที่อยากตั้งวงดนตรี ถามว่าเราทำทั้งหมดนี้ได้อย่างไร ใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง หรือขอวิธีจับคอร์ด” การ์ดาชกล่าว “ดังนั้น เราจึงมีคำแนะนำให้พวกเขา โดยประเด็นหลักคือถ้าคุณอยากตั้งวงดนตรีในคาบูล คุณต้องมีกลยุทธ์ที่ดี

“ตอนเรากลับไปที่นั่น กรุงคาบูลยังไม่ปลอดภัยด้วยซ้ำ และมองจากสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ นักดนตรีจะต้องระวังตัวให้มากขึ้น พวกเขาต้องสามารถปกป้องตัวเอง สมาชิกวง คนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ชมด้วย”

Fulu Miziki เสียงเพรียกจากขยะรีไซเคิล

Fulu Miziki วงดนตรีสุดครีเอทจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ที่ไม่เพียงสะกดเราได้อย่างอยู่หมัดด้วยเสียงสอดประสานร่ายเวทมนตร์แหวกขนบเท่านั้น แต่ภาพลักษณ์รักษ์โลกก็สร้างความน่าสนใจไม่น้อย สารพัดเสียงที่ผสานกันเป็นท่วงทำนองโจ๊ะๆ กับจังหวะสนุกๆ ชวนลุกขึ้นมาขยับตัวเบาๆ ล้วนมีแหล่งกำเนิดเสียงจากขยะทั้งหมด อุดมการณ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเห็นได้ชัดตั้งแต่ชื่อวงอย่าง Fulu Miziki ที่ถ้าแปลอย่างตรงตัวจากภาษาลินกาลา (Lingala) แล้ว มันก็คือ ‘ดนตรีจากขยะ’ นั่นเอง

“ผมเห็นขวดและก็เห็นด้วยว่ามันจะให้เสียงที่ดี มันสามารถให้เสียงโด เร มี ฟา ซอล ลา ที โด นั่นเลยทำเป็นเครื่องดนตรีดีๆ ให้เราได้”

พิสโก เครน (Pisko Crane) ผู้ก่อตั้งวง กล่าวกับ Africa News 

“กินชาซา (เมืองหลวงของคองโก) สกปรกมาก จึงเป็นเหตุผลให้ผมเลือกใช้ขยะของเสียมาสร้างเป็นเครื่องดนตรี มันน่าสนใจที่จะเอาขยะที่รีไซเคิลได้มาทำเป็นเครื่องดนตรี เหมือนกับที่เราครีเอทเสื้อผ้าจากขยะนั่นแหละ บางคนอาจโยนขยะทิ้งๆ ขว้างๆ แต่ผมก็มองหาวิธีเอากลับมาใช้ใหม่ เพราะขยะของเสียพวกนั้นไม่ได้ดีกับสุขภาพเราเลย”

เมืองที่ประสบปัญหาการจัดการขยะที่เหมาะสม จนขยะอุดตันท่อระบายน้ำ ก่อมลภาวะจากขยะภายในเมือง ทำให้พิสโกหวังว่าดนตรีของเขาจะสร้างความตระหนักรู้ในการรีไซเคิลและแก้ไขปัญหาขยะในเมืองได้

“ผมหวังจะได้เห็นดนตรีแนวนี้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกและสร้างความตระหนักถึงความสำคัญในการคัดแยกขยะ โดยเฉพาะในแอฟริกา เราต้องการตัวแทนที่ดีที่จะสามารถช่วยสื่อสารผ่านเพลงของเรา และยังช่วยให้เยาวชนฝึกการแยกขยะได้”

แม้จะพูดได้ไม่เต็มปากว่าพวกเขาสามารถแก้ปัญหาได้ แต่ Eco-Friendly-Afro-Futuristic-Punk-Ensemble วงนี้ก็แสดงจุดยืนรักษ์โลกอย่างแข็งขันในการบอกเล่าเรื่องราวผ่านเครื่องดนตรีและเครื่องแต่งกายที่รังสรรค์จากขยะ กึมบรีส์ (guembris – เครื่องดนตรีพื้นเมือง จัดอยู่ในประเภทเครื่องสาย มีลักษณะคล้ายกีตาร์) ทำมาจากเคสคอมพิวเตอร์ กลองชุดจากแกลลอนน้ำมัน คีย์บอร์ดจากท่อนไม้ สปริง และท่ออะลูมิเนียม ขณะที่เสียงแปร่งๆ ก้องๆ มีที่มาจากท่อพลาสติกหลากขนาด ซึ่งถูกตบเคาะด้วยพื้นยางรองเท้าแตะ

ปี 2021 Fulu Miziki ประกาศวางแผง EP ใหม่ ชื่อ ‘Ngbaka’ ในวันที่ 12 พฤศจิกายน เราจะสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายของอิเล็กทรอนิกา ซึ่งเป็นสไตล์ที่ต่างออกไป เพราะจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการล็อคดาวน์ในเมืองกัมปาลา (Kampala, Uganda: ที่อยู่ในปัจจุบัน) สภาวะดังกล่าวบีบให้พวกเขาซ้อมดนตรีร่วมกันได้ลำบาก จึงต้องหันเหไปที่การทดลองทางดนตรีเพิ่มขึ้น ดั่งในเพลง ‘Ok Seke Bien (ft. Sekelembele)’ แทร็คแรกของ EP ที่ปล่อยออกมาให้ชิมลางนั้น นับว่าเป็นกรูฟที่ดีต่อโสตประสาทหูไม่น้อย การค่อยๆ เร่งเร้ามวลอารมณ์ตามสไตล์อิเล็กทรอนิกส์จนจบนาทีที่ 5.51 ของเพลง เรียกได้ว่าเหมือนการผจญภัยในป่าใหญ่แห่งโลกอนาคตในเวลาอันสั้นเลยทีเดียว

ติ๊กต็อก-โพสต์พังค์ วิมานเงียบงันจากเบลารุส 

หากคุณเป็นผู้ใช้งานแอพ TikTok คงต้องเคยได้ยินเพลง ‘Sudno’ ของวง Molchat Doma เล่นงึมงัมเป็นม่านหลังฟิลเตอร์ของเหล่า TikTokker มาบ้าง เสียงร้องทุ้มลึกราวมนุษย์กำลังสวดมนต์อ้อนวอนพระเจ้า ขอพรบรรเทาความเปล่าเปลี่ยว พร้อมเครื่องเคียงที่เป็นไลน์เบสแน่นหนัก จังหวะจากเครื่องจักรดรัมแมชีนบรรเลงวนซ้ำ และเสียง lick กีตาร์โหยหวนเสียดถึงแก่น ดั่งภูตผีคำรามร้องจากใจกลางถิ่นแดนห่างไกล คำบรรยายเหล่านี้อาจเป็นส่วนผสมที่คัดกลั่นให้ ‘Sudno’ ติดหูเป็นไวรัลในช่วงขวบปีที่ผ่านมา

ในปี 2020 ‘Sudno’ เคยไต่ชาร์ต Spotify Viral 50 และเคยขึ้นถึงอันดับ 1 ในอเมริกามาแล้ว ปรากฏในคลิป Tiktok กว่า 100,000 รายการ โดยมากจะอยู่ในคลิปที่วัยรุ่นมิกซ์แอนด์แมทช์เสื้อผ้า นำเสนอแฟชั่นหลากสไตล์ในห้องนอนตัวเอง หรือการใช้เป็นเพลงประกอบบรรยากาศหม่นมืดโลกสลายของเหล่า Doomer หรือคน Gen Z ผู้อาลัยสิ้นหวัง ซึ่งพำนักอยู่ในถิ่นฐานเหล่าประเทศอดีตสหภาพโซเวียต และมักถูกใช้เป็นเพลงพื้นหลังในคลิปท่าเต้นเวียร์ดๆ ในบริบทอิหยังวะ อย่างไรก็ตาม Molchat Doma ก็เป็นปรากฏการณ์ในตัวเองอยู่ไม่น้อย เมื่ออัลบั้ม Этажи (Etazhi) ปล่อยออกมาในปี 2019 มียอดวิวกว่า 2.8 ล้านวิวบนยูทูบ แม้จะมีปกอัลบั้มเป็นภาพตึกโรงแรมชวนขนพองสยองเกล้ากับเสียงร้องภาษารัสเซียคีย์ต่ำดิ่งลงเหวลึกก็ตาม

Жить тяжело и не уютно
Зато уютно умирать
Not cozy at all - hard to live
But cozy to die

Molchat Doma ได้หยิบยืมบทกวีของ Boris Ryzhy มาใช้เป็นวัตถุดิบเขียนเพลง ‘Sudno’

Molchat Doma เป็นวงดนตรีแนว post punk, new wave, synth-pop ฟอร์มวงในปี 2017 สมาชิกประกอบด้วย อีกอร์ ชกูทโก (Egor Shkutko) ร้องนำ, โรมัน โคโมกอร์เซฟ (Roman Komogortsev) มือกีตาร์/ซินธิไซเซอร์/ดรัมแมชีน และ พาเวล คอซลอฟ (Pavel Kozlov) มือเบส/ซินธิไซเซอร์ 

ในบทสัมภาษณ์กับ The Calvert Journal โรมันกล่าวว่า “คุณไม่จำเป็นต้องคอนเน็คกับด้านมืดที่อาจได้ยินจากเพลงของวงเราก็ได้” แต่พวกเขากลับพูดถึงบ้านสำเร็จรูปที่กระจายทั่วไปในเบลารุสมากกว่าหนึ่งครั้ง (และแน่นอนว่ามันแทบจะไม่มีผู้อยู่อาศัย) ซึ่งเผยให้เห็นอิทธิพลจากประวัติศาสตร์ยุคโซเวียตที่ปรากฏเป็นเฉดสีเทาหม่นในตัวตนของ Molchat Doma หรือในภาษาอังกฤษก็คือ houses are silent นั่นเอง

โคโมกอร์เซฟยอมรับว่า มีอรรถรสบางอย่างขาดหายไปแน่ๆ จากการแปลเพลงเป็นภาษาอื่น “แต่ผมรู้สึกว่าคนที่ไม่ใช่ชาวรัสเซียจะยังสามารถรู้สึกถึงมันได้ นั่นคือสิ่งที่สำคัญ บางทีพวกเขา (แฟนเพลงที่ไม่ได้สื่อสารด้วยภาษารัสเซีย) อาจไม่ได้เข้าใจทุกสิ่งอย่างตรงไปตรงมา แต่พวกเขายังสามารถคอนเน็คกับดนตรีได้ เรียนรู้ที่จะเข้าใจมัน ราวกับว่ามีเวทมนตร์อยู่ในนั้น

“เราไม่ได้เขียนเพลงให้คนที่ฟังภาษารัสเซียรู้เรื่องหรอก มันออกมาเอง เพราะเราไม่พูดภาษาอังกฤษกันน่ะ เมื่อเราต้องการแสดงออกถึงตัวตนที่ชัดเจน หนทางที่ดีที่สุดก็คือทำเพลงด้วยภาษาที่เราพูดมันนั่นแหละ” ชกูทโกเพิ่มเติม

คอซลอฟกล่าวถึงประเด็นของเพลง ‘Sudno’ ใน TikTok ต่อว่า “มันเป็นเรื่องที่ดี เราได้รับความสนใจมากมาย แต่ขณะเดียวกันเมื่อดูจากวิดีโอที่ทำกัน พวกเขาเข้าใจไอเดียของเราผิดพลาดไปหมด เรื่องของดนตรี เรื่องของจังหวะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ความหมายมันก็หายไปด้วย มันไม่ใช่เพลงของเราอีกแล้ว”

อย่างไรก็ตาม Monument (2020) อัลบั้มล่าสุดของพวกเขามีความเข้มข้นกลมกล่อมมากขึ้น เพลงส่วนใหญ่จะสะท้อนความกังวลของยุคสมัยที่มีต่อสถานการณ์รอบโลก อย่างการประท้วงลุกฮือต่อต้านรัฐบาลฝั่งขวาในหลายประเทศ ซึ่งในเบลารุสก็มีภาพของการประท้วงเรียกร้องให้ อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก (Alexander Lukashenko) ประธานาธิบดีซึ่งอยู่ในตำแหน่งนานถึง 27 ปี ลาออกทันทีและให้มีการจัดเลือกตั้งใหม่ การเคลื่อนไหวครั้งนี้มีมาตั้งแต่พฤษภาคมปี 2020 (เรื่องที่เราอาจผ่านหูผ่านตากันบ้าง คือปรากฏการณ์ทหารตำรวจเบลารุสจำนวนหนึ่งถ่ายคลิปวิดีโอเผายูนิฟอร์มแล้วมายืนข้างประชาชน) อีกทั้งสถานการณ์โควิด-19 ก็เลวร้ายลง ความกังวล ความตึงเครียดต่อสถานการณ์ได้สะท้อนปรากฏในเพลง ‘Obrechen’ ที่จับใจความเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า 

“Longing to be embraced / Revel in a touch of tenderness / You know I will fight / Sieges, seizures, do not break.”

และเมื่อถามถึงแพลนในอนาคตแล้ว พวกเขาบอกกับ Phsychedelic Baby Magazine ว่า “ฝ่าฟันปีอันเลวร้ายนี้ไปก่อน แล้วเราจะได้เห็นกัน…”

fkn bad Pt.1 โลกใบนี้มันแย่จัง?

ด้วยรางวัลอย่าง NME 100 Essential Artist ปี 2021 ขึ้นโชว์ในไลฟ์สไตล์เฟสติวัลระดับโลกอย่าง ‘Burning Man’ รวมถึงการถูกกล่าวถึงในนิตยสารดนตรีระดับโลกมากมาย ทำให้ไม่มีข้อกังขาว่า Pyra-พีรลดา สุขวัฒก์ คือศิลปินคุณภาพคนหนึ่ง ที่นอกเหนือจากความสามารถในการเขียนเพลง โปรดิวซ์ วางแผนกำกับเอ็มวี วิชวล วางแผนทัวร์ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ ฯลฯ Pyra ยังพูดถึงประเด็นทางสังคมไม่หยุดหย่อน ทั้งปมปัญหาอคติทางเพศ เชื้อชาติ สุขภาพจิต และสิ่งแวดล้อม โดยเธอเคยนิยามตัวเองอย่างกว้างๆ ว่าเป็น dark-electronic-R&B ที่เพลงของเธออาจหาจังหวะโยกย้ายส่ายสะโพกได้ลำบากสักนิดหนึ่ง

ขณะที่การรอคอยสิ้นสุดลงเมื่อ EP ‘fkn bad Pt.1’ ปล่อยออกมาเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ราวกับว่าทุกแฮชแท็กร้อนสังคมไทย ทุกความอัดอั้นตันใจ และพลังงานด้านบวกทุกโมเลกุล (เท่าที่หาได้บนโลกขณะนี้) ถูกมัดรวมกันเป็นความ Dystopian Pop ที่คงความยูนีคแพรวพราวงดงาม

เปิดหัวด้วยการประกาศกร้าวว่า ไม่กลัวใครหน้าไหนทั้งนั้นกับเพลง ‘bangkok’ ร่วมผนึกพลังต้านพวกเหยียดเพศด้อยค่าผู้หญิงเอเชียกับ Ramengvrl และ YAYOI DAIMON สองแร็ปเปอร์จากอินโดนีเซีย และญี่ปุ่น ในทริปดัดนิสัย ‘yellow fever’ ต่อด้วยความเอือมระอากับคำสัญญากลวงโบ๋ของท่านผู้หนึ่งในเพลง ‘paper promises’ จากนั้นก็ร่วงหล่นสู่สังคมบริโภคนิยมเปี่ยมวัตถุนานาแบรนด์อย่าง ‘plastic world’ ก่อนไต่บันไดเข้าสู่แดน ‘dystopia’ ซึ่งเปียกปอนด้วยหยดฝนวันโลกาวินาศ ชวนเรานั่งครุ่นคิดว่าโลกมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ก่อนเสียงสัญญาณของการอยากมีชีวิตอยู่ต่อจะแทรกปรากฏใน ‘suicide spirits’ แทร็คลำดับสุดท้าย ปิดฉากการเดินทาง 6 แว่นแคว้นในโลกมืดหม่น (ที่สดใสและมีความหวังแฮะ) 

ที่น่าสนใจคือ Pyra เปิดเผยใน TikTok @onlypyra ว่าเพลง ‘suicide spirits’ ที่เป็นเพลงโปรดใน EP นั้น ได้แรงบันดาลใจจาก lucid dream (ฝันที่เจ้าตัวรู้และควบคุมตนเองในฝันได้) ในช่วงที่เธอมีอาการซึมเศร้า เธอฝันเห็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่อยู่ในบ้านของเธอ กดขี่ทรมานเธอสารพัดวิธี ดังนั้นเธอจึงรวบแรงเฮือกใหญ่ ดึงดาบคาตานะออกจากฝัก ฟาดฟันเด็กผู้หญิงคนนั้นทิ้งถึง 3 รอบ 3 ครา นับแต่วันนั้นผ่านมา 3-4 ปี เธอก็ไม่มีประสบการณ์ lucid dream และไม่มีอาการซึมเศร้าอีกเลย

“...so no no, bring me back to life.”
อ้างอิง

Author

ยสินทร กลิ่นจำปา
ผู้ปกครองของแมวน้อยวัยกเฬวราก จิบเบียร์บ้างตามโอกาส จิบกาแฟดำเป็นครั้งคราว จิบน้ำเปล่าเป็นกิจวัตร เชื่อว่าสิ่งร้อยรัดผู้คนคือเรื่องราวและความหวัง พยายามเขย่าอัตตาตนเองด้วยบทสนทนากับคนรอบข้าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า