ส่งคนตุลาเข้านอน

เรื่อง : สันติสุข กาญจนประกร

ภาพ : อนุช ยนตมุติ

 

ระหว่างเดินขึ้นตึกศิลปศาสตร์เพื่อหาโลเกชั่นเหมาะๆ ในการถ่ายภาพ เราถาม ‘ประจักษ์ ก้องกีรติ’ แห่งคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน สหรัฐอเมริกา ว่า ถ้าเกิดทันสมัย 14 ตุลา 16 เขาจะอยู่ตรงส่วนไหนของเหตุการณ์

อาจารย์หนุ่มชะลอฝีเท้า หัวเราะ ก่อนพูดเสียงเบา

“นั่นสินะ” เขาครุ่นคิดเล็กน้อย “ดูจากนิสัยตัวเองแล้วคงเป็นกลุ่มอิสระ”

ไม่มีใครตอบได้หรอก มันก็เป็นแค่โจ๊กเล็กๆ หลังจากที่เราสนทนากับเขายาวเหยียดในวาระการหมุนวนมาครบรอบของเหตุการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ว่ากันว่ายิ่งใหญ่ที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ประจักษ์เขียนหนังสือเล่มหนากว่า 600 หน้า ‘และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ: การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลา’ ซึ่งพยายามอธิบายการก่อตัวทางความคิดของนักศึกษาปัญญาชนก่อนเกิดเหตุการณ์สำคัญ

ผนวกด้วยเชิงอรรถกว่า 500 เชิงอรรถ บรรณานุกรมและดรรชนีอีก 60 หน้า ซึ่งไม่อาจอธิบายเป็นอื่นใด นอกจากความพยายามที่จะเข้าใจและเรียนรู้อดีตอย่างเป็นระบบ

หนังสือเล่มนี้นับว่าเป็นงานวิชาการเกี่ยวกับ 14 ตุลา ที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงยังได้รับรางวัล TTF AWARD สาขาสังคมศาสตร์ ประจำปี 2548

เป็นงานเขียนเรื่องเดือนตุลา โดยคนรุ่นหลังที่เอาจริงเอาจัง

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จึงไม่ใช่แค่การคาดเดาตำแหน่งแห่งที่ของตัวเขาเองในเหตุการณ์ 14 ตุลา แต่หมายรวมถึงการวิเคราะห์ผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวที่ส่งผลถึงปัจจุบัน พูดถึงคนเดือนตุลาโดยคนรุ่นหลัง คนรุ่นใหม่ สถาบันกษัตริย์ การรัฐประหาร และความรุนแรงในสังคมไทย

“เราไม่เคยเผชิญหน้ากับความรุนแรงในอดีต” ประจักษ์พูดอย่างนั้น

บางถ้อยคำอาจฟังดูไม่ค่อยรื่นหู แต่ทั้งหลายทั้งปวง

นี่คือการพูดด้วยความเคารพ

 

ดูเหมือนเรายังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าจะเรียกเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ด้วยคำไหน ในทัศนะอาจารย์ ตกลงเราควรเรียกอย่างไร

ตอบยากมาก ผมคิดว่า วันประชาธิปไตย ก็ไม่เลว คำว่าวันมหาวิปโยคมันไม่มีความหมายอะไร เน้นแต่ด้านโศกนาฏกรรม สังคมไทยชอบนิยามการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่มีการบาดเจ็บล้มตายแบบนี้ ว่าเป็นเรื่องน่าเสียใจ ไม่ควรเกิดขึ้น ซึ่งมันมีแต่สร้างความหดหู่เปล่าๆ ที่สำคัญ มีแนวโน้มไปลดทอนความสำคัญของเหตุการณ์ด้วย วันประชาธิปไตยก็มีความหมายดี เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้าไม่นับ 24 มิถุนา 2475 แล้ว 14 ตุลา คือหมุดหมายสำคัญที่สุดของประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ ในการสร้างประชาธิปไตยให้สังคมไทย

เพียงแต่ตอนนี้มรดกดังกล่าวถูกทำลายไปเสียมาก ส่วนหนึ่งก็โดยคนเดือนตุลาเอง คุณูปการของเหตุการณ์ 14 ตุลา คือการพยายามกันอำนาจนอกระบบออกไปจากการเมืองไทย แล้วให้มีการแข่งขันภายในระบอบ จะคิดต่างกันอย่างไร คุณก็ต้องมาสู้ภายใต้กติกานี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือการดึงอำนาจนอกระบบกลับเข้ามาใหม่ ตอนนี้กองทัพมีอำนาจยุบยับในทุกมิติ แถมเป็นอำนาจที่วิจารณ์ไม่ได้ ตรวจสอบไม่ได้ อย่างนี้วีรชน 14 ตุลา ก็อาจต้องนอนพลิกตัวไปมาในหลุมศพ ที่ต่อสู้มาเหมือนสูญเปล่า

 

แต่อย่างน้อยๆ เหตุการณ์เดือนตุลาก็ยังเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลังที่สนใจการเมือง

เป็นแรงบันดาลใจไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เราอาจต้องตั้งคำถามว่า ณ ปัจจุบันยังเป็นอย่างนั้นอยู่หรือเปล่า ตรงนี้ผมเองยังไม่ค่อยแน่ใจ ผมว่ารุ่นผมนี่ถือเป็นรุ่นท้ายๆ แล้วนะที่ได้รับอิทธิพลจากเหตุการณ์เดือนตุลา รุ่นผมคือช่วงที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาสัก 2-3 ปี เอาเข้าจริงๆ คนรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองอาจได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องอื่นๆ จากกระแสความคิดอื่นๆ ด้วยซ้ำ

กลับมาที่คุณบอกว่าเป็นแรงบันดาลใจ ผมมองว่าเป็นเรื่องดี ในแง่หนึ่ง คนไทยเองอาจไม่ตระหนักว่าจริงๆ แล้ว เหตุการณ์ 14 ตุลามันมีความยิ่งใหญ่ขนาดไหนในมุมมองเชิงเปรียบเทียบ อย่างผมไปสัมมนากับนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องขบวนการนักศึกษาในประเทศอื่นๆ แล้วพบว่า น้อยมากในประวัติศาสตร์โลกที่ขบวนการนักศึกษาจะสามารถระดมคนได้ขนาดนั้น เหนืออื่นใดคือสามารถล้มระบอบเผด็จการได้

จริงอยู่ที่มีนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวในหลายๆ ประเทศ อย่างในยุโรปช่วงสงครามเย็น ก็มีการออกมาต่อต้านรัฐบาล แต่รัฐบาลไม่ได้ล้มลงไป แค่อาจส่งผลสะเทือนบ้าง แต่ 14 ตุลาสามารถล้มระบอบเผด็จการไปเลย ซึ่งหาได้ยากมากในประวัติศาสตร์ ในเอเชียนี่อาจเป็นประเทศแรก ผมจึงไม่แปลกใจที่มันก่อให้เกิดแรงบันดาลใจกับคนรุ่นหลัง เช่นนักศึกษากรีกและอินโดนีเซียในช่วงนั้นก็ได้แรงบันดาลใจจากเรา สมัยผมเป็นนักศึกษา เพื่อนๆ ก็มานั่งอ่านบทบันทึกของ อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล มันยิ่งใหญ่ คนออกไปหลายแสนบนท้องถนนเพื่อประกาศจุดยืนร่วมกันในการเรียกร้องประชาธิปไตย โดยการนำของคนหนุ่มสาว

ถามว่ามีด้านลบไหม ผมว่ามันจะมีถ้าเราเอาเหตุการณ์ 14 ตุลามาเป็นข้อจำกัด มาเป็นตัวเปรียบเทียบ มาเป็นมาตรวัด เพราะสถานการณ์มันเปลี่ยนไปแล้ว เราไปยก 14 ตุลาขึ้นหิ้งไว้ แล้วก็มาบ่นว่านักศึกษาเดี๋ยวนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน มันเลยกลายเป็นข้อจำกัดไป หรือตัวนักศึกษาเองอย่างในรุ่นผมก็มีที่รู้สึกว่าเราทำไม่ได้เหมือนคนรุ่นก่อน รู้สึกท้อ เพราะเอา 14 ตุลามาเป็นมาตรวัดตลอด อันนี้ผมไม่เห็นด้วยนะ เพราะคนหนุ่มสาวในแต่ละยุคสมัยต้องค้นหาบทบาทของตัวเองให้เจอ ซึ่งไปจำเป็นต้องเหมือนในอดีต

 

ประจักษ์ ก้องกีรติ

มาตรวัดที่อาจารย์บอกคือเชิงรูปแบบหรือปริมาณ

ทุกอย่าง ทั้งในเชิงรูปแบบการเคลื่อนไหว เชิงปริมาณ วิธีการต่อสู้ หรือท้ายสุดความคิดที่ว่าการต่อสู้ต้องจบลงด้วยการปะทะกับรัฐ มีการสูญเสียก่อนถึงได้รับชัยชนะ ผมว่าต้องตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้ ต้องก้าวข้ามมันไปให้พ้น เพราะโจทย์ของยุคสมัยแต่ละยุคมันต่างกัน เราต้องค้นหาโจทย์ให้เจอ อีกอย่าง สมัยนี้มันมีเรื่องของเทคโนโลยีการสื่อสาร มีเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ๆ ให้ใช้สอย คุณไม่จำเป็นต้องเคลื่อนไหวเหมือนเดิมอีกแล้ว

สมัย 14 ตุลา ถ้าเรามีโทรศัพท์มือถือ ก็อาจไม่ลงเอยอย่างนั้นก็ได้ ถ้าใครเคยอ่านบันทึกประวัติศาสตร์จะรู้ดี แค่คนหนึ่งอยู่ตรงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อีกคนอยู่ลานพระบรมรูปทรงม้าก็ติดต่อกันไม่ได้แล้ว ต้องให้คนถือสารไปบอกว่าตอนนี้อารมณ์มวลชนเป็นอย่างไร ควรเคลื่อนไปตรงจุดไหน ซึ่งสมัยนี้ง่ายกว่ากันเยอะ

นักศึกษาสมัยนั้นก็ต้องพิมพ์หนังสือเล่มละบาทยืนขายหน้ามหาวิทยาลัย ซึ่งก็ทรงพลังมากนะ แต่ตอนนี้แค่โพสต์ในเว็บ ในเฟซบุ๊ค หรือเขียนบล็อกของตัวเอง คนก็ตามอ่านกันเยอะแยะ เผยแพร่ข้อมูลความคิดได้รวดเร็วมาก ฉะนั้นรูปแบบมันสามารถพลิกแพลงไปตามยุคสมัย

ส่วนเรื่องการบาดเจ็บสูญเสีย หลายคนยังมีกรอบความคิดจากการต่อสู้แบบเดือนตุลาอยู่พอสมควร เชื่อกันลึกๆ ว่า ถ้ารัฐบาลใช้ความรุนแรงเข้าปราบปราม รัฐบาลจะเป็นฝ่ายแพ้ ซึ่งจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาเร็วๆ นี้ มันถูกพิสูจน์แล้วว่าไม่จริงเสมอไป ท้ายสุดแล้ว มันขึ้นอยู่กับว่า ชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมเลือกสนับสนุนรัฐบาลหรือเปล่า การที่เราไปยึดติดโมเดลเก่าๆ มันจึงอันตราย การปะทะ การสูญเสีย มันไม่ได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงเสมอไป

 

เอาเข้าจริง เราล้มแค่ตัวบุคคลหรือเปล่า เพราะคำว่าเผด็จการมันก็แปรรูปไปตามยุคสมัย

จริงๆ ตอนนั้นมันล้มมากกว่าตัวบุคคลนะ แน่นอน ถ้าเราพูดถึงตัวบุคคล มันคือ ถนอม ประภาส ณรงค์ แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุการณ์มันนำมาซึ่งรัฐธรรมนูญใหม่ นำมาสู่รัฐบาลพลเรือน มีการเลือกตั้ง มีรัฐสภา แม้ระบอบเผด็จการจะกลับมาอีกจากการรัฐประหาร 6 ตุลา 19 เราต้องมองๆ ดี ณ จุดนั้น ทำให้เกิดสิทธิเสรีภาพมากขึ้น ประชาชนกล้าเคลื่อนไหว กรรมกร ชาวนากล้ารวมตัว มีเสรีภาพในการชุมนุมอย่างไม่เคยมีมาก่อน สื่อเองก็มีเสรีภาพมากขึ้น พูดได้ว่ามีความตื่นตัวในทุกวงการ รวมถึงแวดวงศิลปวัฒนธรรมด้วย

 

ระบอบเผด็จการสามารถเปลี่ยนรูปไปตามยุคสมัยได้หรือเปล่า

แน่นอน ระบอบเผด็จการมันมีได้หลายรูปแบบ มีวิวัฒนาการของมัน รูปแบบที่เห็นชัดเจนระหว่างปี 2500–2516 นั่นคือเผด็จการทหารโดยกองทัพ เป็นเผด็จการแบบโบราณ อันนั้นชัดเจน เปลือยเปล่าเลย กองทัพยึดอำนาจเบ็ดเสร็จ ไม่ต้องมีการเลือกตั้ง ไม่มีรัฐสภา ไม่เปิดให้มีพรรคการเมือง จำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมทั้งหมด ปิดสื่อได้ตามใจชอบ เอาคนไปยิง ไปประหารชีวิตได้ตามใจชอบ นี่คือแบบดิบๆ หรือหลัง 6 ตุลา เรามีเผด็จการพลเรือนอย่างรัฐบาล ธานินทร์ กรัยวิเชียร

ส่วนระบอบที่เราอยู่ในปัจจุบัน มันก็เรียกไม่ได้หรอกว่าคือประชาธิปไตยเต็มรูป มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในหลายรูปแบบ จับกุมคุมขังพลเมือง ข่มขู่คุกคามคนที่เห็นต่าง ปิดสื่อที่วิจารณ์ผู้มีอำนาจ แค่อาจไม่ดิบเหมือนสมัยก่อน เพราะทหารไม่ได้ลงมาเป็นรัฐบาลด้วยตัวเอง ยังปล่อยให้รัฐสภาทำงาน ให้พรรคการเมืองมีบทบาทเคลื่อนไหว แต่ทุกคนก็รู้ดีว่ากองทัพมีบทบาทกำกับเป็นเงาทะมึนอยู่หลังฉากรัฐบาล

ในโลกปัจจุบัน เผด็จการถูกบังคับให้เปลี่ยนรูปเพื่อให้เนียนขึ้น ต้องอำพรางตัวเองมากขึ้น ที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการล้วนๆ ชนิดกองทัพมาคุมอำนาจเองเบ็ดเสร็จมันเหลือไม่กี่ประเทศแล้วในโลกนี้ เพราะมันไม่ได้รับการยอมรับ ถ้าจะปกครองอย่างทหารพม่าไปเลย มันมีราคาที่ต้องจ่ายสูงมาก ไม่มีใครในโลกคบค้าสมาคมด้วย ถามว่าชนชั้นนำไทยกล้าจ่ายราคานั้นหรือเปล่า ถ้าคิดเป็นเผด็จการเต็มรูปแบบ

 

โจทย์แบบไหนยากกว่า ระหว่างเผด็จการเต็มรูป กับแบบมาเนียนๆ

ยากง่ายต่างกัน เผด็จการเต็มรูปอย่างในสมัยก่อนนั้นเหี้ยมจริงๆ นะ มีความเสี่ยงสูงในการแสดงความคิดความเห็น ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เพราะจอมพลสฤษดิ์จับคนประหารชีวิตได้เลยตามความพอใจ เอาจริง แต่ง่ายตรงที่โจทย์มันขาวดำ เรียกได้ว่านักศึกษาปัญญาชนเกือบทั้งหมดเห็นพ้องตรงกัน ไม่ว่าจะเป็นรอยัลลิสต์ ฝ่ายซ้าย หรือเสรีนิยม ว่าเผด็จการทหารไม่มีประโยชน์ต่อใครทั้งสิ้น ไม่มีใครเสียสติเชียร์จอมพลถนอม

ภายใต้เผด็จการแบบซ่อนรูปอำพราง ความเสี่ยงในชีวิตอาจน้อยกว่า ไม่โหด เอ่อ…พูดแบบนั้นก็อาจไม่ถูกนัก เพราะเหตุการณ์ตอน 19 พฤษภา มันก็โหดร้ายมาก แต่สิ่งที่ต่างกว่าสมัยก่อนคือ การมีฉากหน้าที่ดูเหมือนเป็นประชาธิปไตยอยู่บ้าง ฉะนั้น มันจึงดูไม่เป็นขาวดำเหมือนสมัยก่อน ถ้าไม่วิเคราะห์ให้ดีก็จะมองไม่เห็น อย่างที่ชนชั้นกลางจำนวนมากที่เชียร์รัฐบาลบอกว่าปัจจุบันไม่เห็นเผด็จการตรงไหน ฉันไม่เดือดร้อน สิทธิเสรีภาพไม่เห็นถูกกระทบกระเทือน อีกอย่างคือ ในปัจจุบันมันมีความแตกแยกทั้งในวงการสื่อและวงการปัญญาชนสูงมากในการมองและวิเคราะห์ปัญหา

 

คนเดือนตุลาเองก็แบ่งขั้วความคิด ที่เห็นๆ คือ จากเคยต่อต้านทหาร กลับรับได้กับการรัฐประหาร

สำหรับผมเฉยๆ ไม่ได้แปลกใจหรือผิดหวังอะไร เพราะไม่ได้หวังอะไรมากกับคนเดือนตุลา คนเราเปลี่ยนกันได้ตลอดเวลา ผมไม่ได้คาดหวังว่าคนเดือนตุลาต้องเป็นเหมือนเดิม จริงๆ แล้ว คำว่าคนเดือนตุลาก็เป็นแค่ป้ายหลวมๆ อันหนึ่ง พูดกันอย่างตรงไปตรงมา ในสมัยนั้นมันก็มีความหลากหลายทางความคิดมาก ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน เเค่มีจุดร่วมเดียวกันคือต่อต้านเผด็จการทหาร

ต่อเมื่อไปดูความคิด ทัศนคติจริงๆ จะพบว่าในขบวนการนักศึกษามีตั้งแต่ขวาสุดไปยันซ้ายสุด นั่นหมายความว่าหลายคนไม่ได้เปลี่ยนหรอก ผมขอไม่เอ่ยนาม แต่จากที่ศึกษาประวัติศาสตร์ อ่านข้อเขียนของคนรุ่นนั้นจำนวนมาก เราเห็นเชื้อมูลทางความคิดที่เป็นอนุรักษ์นิยมอยู่ในหมู่นักศึกษาจำนวนหนึ่งอยู่ตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว แต่อย่างว่า อำนาจของทหารมันดิบเกินกว่าจะสนับสนุน

ฉะนั้น ผมไม่แปลกใจ บางคนมีความต่อเนื่องทางความคิดด้วยซ้ำ คืออนุรักษ์นิยมอย่างต่อเนื่อง สรุปว่า หลายคนจริงๆ แล้วไม่ได้เปลี่ยน แต่แน่นอนว่าที่เปลี่ยนมันก็มี ซึ่งผมไม่ได้มีอาการอกหักผิดหวังเหมือนหลายๆ คน เพราะไม่ได้คิดว่าเราสามารถไปสตัฟฟ์พวกเขาไว้ว่า 30 กว่าปีที่แล้วเป็นอย่างไร ตอนนี้ก็ต้องเป็นอย่างนั้น มันเป็นไปไม่ได้

คนที่เคลื่อนไหวอยู่ตอนนี้ก็เถอะ ไม่ว่าจะในกลุ่มไหน สีไหน อีก 30 ปี ลองตามดู แต่ละคนก็จะแยกย้ายกันไปสนับสนุนอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน แยกย้ายกันไปทำในสิ่งที่มันขัดแย้งกับที่พวกเขาเคยทำใน พ.ศ. นี้ ประเด็นนี้ไม่เกี่ยวกับการไปสนับสนุนรัฐประหารและกองทัพ ซึ่งเป็นเรื่องน่าผิดหวังอยู่แล้ว ไม่ว่าเป็นคนเดือนตุลาหรือไม่

 

อาจารย์มองว่า ป้ายเดือนตุลายังเป็นเครดิตด้านบวกอยู่ไหม

สำหรับผม สังคมไทยใช้งานคนเดือนตุลามากเกินไป และคนเดือนตุลาบางคนเองก็ใช้ประโยชน์จากยี่ห้อนี้มากเกินไป คนเดือนตุลา ถ้าพูดด้วยความเคารพ อาจถึงเวลาที่ต้องพักผ่อนบ้าง เอากันในแง่อายุอานามนี่เท่าไหร่ 55-60 ก็จัดได้ว่าอยู่ในวัยเกษียณ หลายคนไม่ได้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงทางสังคมแล้ว บางคนติดอยู่ในกรอบเก่าๆ เมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว คิดแบบโรแมนติก ไม่ว่าจะในแง่ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี หรือแบบไหนก็ตาม คือก้าวไม่ทันไปกับความเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ทั้งนั้น เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ยี่ห้อเดือนตุลามีต้นทุนจริงในสังคม คำถามคือคนเดือนตุลาเอาต้นทุนนี้ไปใช้อย่างไร ใช้แสวงหาประโยชน์ให้ตัวเองหรือสร้างประโยชน์ให้ส่วนรวม ป้ายนี้ถูกนำไปใช้สร้างชื่อเสียงให้ตัวเองก็เยอะ คนเดือนตุลาจำนวนมากไปอยู่ในสถานะชนชั้นนำ เข้าไปอยู่ในโครงสร้างอำนาจที่ไม่ได้อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงมาก ต้องการรักษาระเบียบอำนาจแบบเดิมไว้ เพราะตัวเองมีผลประโยชน์ผูกพัน

การใช้ป้ายคนเดือนตุลาไปเข้าใจคนเดือนตุลาใน พ.ศ. นี้ มันไม่มีประโยชน์อะไร เพราะทุกคนเดินออกห่างจากตัวตนที่เคยเป็นในอดีตมานานมากแล้ว ผมไม่ได้คิดว่าในปัจจุบันคนเดือนตุลาจะเป็นพลังในการขับเคลื่อนสังคมสักเท่าไหร่ ที่เราคาดหวังกับพวกเขาสมัยพวกเขาเป็นคนหนุ่มสาวนั้นถูกแล้ว แต่ 40 ปีผ่านไปเรายังมานั่งฝากความหวังกับคนเดือนตุลาอีก ผมว่าแปลกแล้วนะ อย่างที่บอก เราไม่ได้กำลังพูดถึงคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวนะ มันคาดหวังยากให้คนอายุ 60 มีความคิดก้าวหน้า หรือมีความคิดอยากเปลี่ยนแปลงสังคม มันเป็นธรรมดาของคนสูงอายุทั่วโลก

คล้ายๆ คนยุค 60 ในโลกตะวันตกที่เคยเรียกร้องเสรีภาพ เคยเป็นฮิปปี้ เคยซาบซึ้งกับ จอห์น เลนนอน ตอนนี้ก็กลายเป็นซีอีโอบริษัทที่กดขี่ขูดรีดคนอื่น และพยายามรักษาโครงสร้างสังคมที่ตัวเองได้ประโยชน์ คนเดือนตุลาผมก็มองว่าเป็นแบบเดียวกัน ผมคิดว่าสังคมให้เครดิตมายาวนานและมากเกินพอแล้ว เราต้องก้าวข้ามพ้นปัญญาชนเดือนตุลา ความเปลี่ยนแปลง รวมถึงนวัตกรรมใหม่ๆ มันมาจากคนรุ่นอายุ 20-30 เราควรหวังกับคนรุ่นนี้ ที่จะนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคม

 

เวลาเราพูดถึงคนเดือนตุลา ความเข้าใจส่วนใหญ่มักจะนึกถึงเฉพาะ 14 ตุลา 2516 กรณีนี้เกิดอะไรขึ้นกับ 6 ตุลา 2519 ในแง่ความทรงจำ

ผมว่า 6 ตุลาต่างกับ 14 ตุลา ในแง่ที่เหตุการณ์ 14 ตุลาถูกจำมากกว่าในสังคมไทย อย่างน้อยมีพื้นที่เข้าไปอยู่ในสื่อกระแสหลัก มีการรำลึก ถึงขนาดมีอนุสรณ์สถานแล้ว เริ่มเข้าไปอยู่ในแบบเรียนบ้างแล้ว แต่ 6 ตุลานี่แทบไม่มีพื้นที่เลย ไม่ต้องพูดถึงอนุสาวรีย์ แบบเรียนยิ่งไม่ต้องพูดถึง ขนาดตำราวิชาการยังน้อย

14 ตุลาเป็นอะไรที่สังคมไทยรู้สึกว่าเป็นชัยชนะ โค่นล้มเผด็จการ ส่วน 6 ตุลาสังคมไทยอิหลักอิเหลื่อว่าจะจำเหตุการณ์นี้อย่างไรดี เพราะด้านหนึ่งไม่ใช่แค่รัฐบาลไปปราบปรามนักศึกษา แต่มีคนชั้นกลางจำนวนมากที่เข้าร่วมกับขบวนการฝ่ายขวา แล้วใช้ความรุนแรงกับนักศึกษา เป็นคนกระเหี้ยนกระหือรือในการปราบปรามนักศึกษา มองว่านักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นผู้ทรยศต่อชาติ เป็นสวะสังคม

ฉะนั้น การไปเปิดแผล 6 ตุลา ก็คือการเปิดแผลสังคมทั้งสังคม ผมคิดว่า มรดก 6 ตุลาส่วนใหญ่จำกัดอยู่ในหมู่คนที่ผ่านเหตุการณ์มาด้วยกัน สูญเสียมาด้วยกัน สังคมส่วนใหญ่ยังไม่ได้แชร์หรือรับมรดกมาเท่าไหร่ แต่ 14 ตุลายังเป็นมรดกตกทอดว่าครั้งหนึ่งเราเคยต่อสู้โค่นล้มเผด็จการ ยังถูกนำเอามาเป็นแรงบันดาลใจ

 

พูดได้ไหมว่า ถ้ามรดก 6 ตุลาถูกส่งต่อมาอย่างกว้างขวางขึ้น สังคมจะมีชุดความคิดที่เป็นประโยชน์ มีปัญญามากขึ้น

พูดอย่างนั้นก็ได้ ผมว่าปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของสังคมไทย คือเราไม่เคยชำระสะสางเหตุการณ์ในอดีตเลย อย่างน้อย 3 เหตุการณ์ใหญ่ที่รัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชน เราไม่เคยพยายามหาความจริงหรือความยุติธรรม ไม่มีเลย ไม่สถาปนาอะไรทั้งสิ้น ไม่มีการสืบสวน สอบสวนเอาตัวคนผิดมาลงโทษหรือเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ใช้วิธีนิรโทษกรรมหมด กระทั่งความจริงก็พยายามกลบลบทิ้ง

สังคมไทยใช้วิธีจัดการความรุนแรงโดยเลือกที่จะลืม ทำให้สังคมความจำเสื่อม หรือบอกให้เฉยๆ ไปซะ ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปสนใจ เราสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยทิ้งอดีตไว้ข้างหลัง ไม่ต้องจัดการ เราผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงมาแบบงงๆ และสลึมสลือแบบนี้ตลอด ตอนนี้เราก็กำลังทำแบบเดียวกันอีก อาการเดิมเลย คือ พร่ำบอกให้กลับมารักกันเหมือนเดิม ลืมๆ มันไป ให้อภัยกันเถอะ อยู่ในโหมดฟูมฟายและเรียกร้องหาความรัก ไม่กล้าเผชิญต้นตอที่แท้จริง ไม่มีสังคมไหนหรอกที่อยู่แบบนี้ได้ การปรองดองสมานฉันท์ที่ไม่เอาทั้งความจริงและความยุติธรรม เป็นการปรองดองที่กลวงเปล่า แล้วเราก็จะเดินมาซ้ำรอยเดิมอีกแน่นอน

สังคมอื่นแม้แต่ในแอฟริกาที่เราดูถูกว่าล้าหลัง อย่างน้อยยังมีความพยายามในการชำระสะสาง บางประเทศเอาผู้นำในอดีตที่เคยทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แม้เหตุการณ์ผ่านมาเป็น 10 ปี ประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างกัมพูชาเองก็ทำ ทุกประเทศอย่างน้อยๆ ต้องมีการสถาปนาความจริงเพื่อเป็นบทเรียนให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เพื่อจะไม่กลับไปซ้ำรอยเดิม แต่เราเป็นศูนย์ในเรื่องนี้

 

ไล่ตั้งแต่ 2475 มาถึงเดือนตุลา พฤษภา และเหตุการณ์เมื่อเร็วๆ นี้ พัฒนาการประชาธิปไตยไทยถือว่าก้าวหน้าหรือถอยหลัง สมมุติบันไดมี 10 ขั้น เราอยู่ขั้นที่เท่าไหร่

ผมว่าเราถอยหลัง ขั้นที่เท่าไหร่ไม่รู้ เอาเป็นว่าขั้นที่ 5 ก็แล้วกัน เป็นแบบเผด็จการซ่อนรูปอย่างที่ผมบอก ถ้าเอา 14 ตุลาเป็นตัวตั้ง ดูเหมือนตอนนั้นเรากำลังจะพัฒนาไปด้วยดี เป็นการพยายามสถาปนาระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐภา ซึ่งอย่างน้อยการขึ้นสู่อำนาจต้องผ่านการเลือกตั้ง ต้องแข่งขันภายใต้รัฐธรรมนูญ มีพรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ก็ไปต่อรองกันในเวที สิ่งที่ทุกคนเรียนรู้ร่วมกันคือเผด็จการทหารเป็นต้นตอที่ทำให้ประเทศไม่พัฒนา คุณเป็นภาคธุรกิจเอกชน คุณก็ไม่สามารถมีส่วนร่วมได้เต็มที่ เพราะมันเป็นระบอบการเมืองปิด

ช่วงนั้น ถ้าเราปล่อยให้พัฒนาไป มันก็จะเดินหน้า แต่ก็มาสะดุดตอน 6 ตุลา ถอยหลังไปอีก ใช้เวลานานกว่าจะฟื้น กำลังไปได้ด้วยดีก็มาเจอ รสช. เอาอีกแล้ว ถอยไปอีก แล้วล่าสุด เป็นการถอยหลังครั้งใหญ่ตอนรัฐประหาร 2549 ซึ่งสร้างความตื่นตะลึงให้นักรัฐศาสตร์จำนวนมากทั่วโลกที่ศึกษาพัฒนาการประชาธิปไตย ผมโดนถามตลอดว่าทำไมยังมีรัฐประหารเกิดขั้นในสังคมไทยอีก

ในแง่รัฐศาสตร์ต้องไม่เกิดการรัฐประหารขึ้นแล้วในสังคมเปิดที่มีระดับการพัฒนาอย่างบ้านเรา สังคมไทยจึงเป็นกรณีศึกษาที่ท้าทายมาก ลองไปดูประเทศอื่นที่มีรัฐประหารในรอบ 5-6 ปี ที่ผ่านมาอย่าง ฟิจิ ฮอนดูรัส เป็นประเทศที่ระดับการพัฒนาห่างจากไทยเยอะ จึงเป็นเรื่องที่ทั้งน่าตื่นตะลึงและน่าเศร้า และเรามีแนวโน้มว่าจะถอยไปอีกเรื่อยๆ ด้วยซ้ำ

 

พูดกันตรงๆ มันน่าแปลกใจหรือ ถ้ามองจากรูปแบบการปกครองบ้านเรา

น่าแปลกใจตรงที่ว่า เราคิดว่าชนชั้นนำฝ่ายนุรักษ์นิยมควรเรียนรู้บทเรียนว่าการรัฐประหารไม่สามารถหยุดยั้งพัฒนาการประชาธิปไตยได้ เเต่ก็ยังเลือกทำ ซึ่งเราประเมินต่ำไป คิดว่าชนชั้นนำฝ่ายนั้นจะฉลาด จะเลือกรับมือความเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วยวิถีทางอื่น ด้วยการต่อรอง ประนีประนอม แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ แต่ไม่คิดว่าจะใช้วิธีหักหาญ

 

เป็นไปได้ไหมว่า มรดกอีกอย่างของเหตุการณ์เดือนตุลาคือ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเรียนรู้ว่า เมื่อเหตุการณ์ร้ายๆ ผ่านไป หรือกำลังจะเกิดขึ้น ประชาชนมักร้องหาอำนาจนอกระบบ

ใช่ ที่หลายคนไม่ได้ตระหนักคือ ขบวนการนักศึกษา 14 ตุลามีผลในการไปรื้อฟื้นพลังอำนาจฝ่ายจารีตขึ้นมา ตอนนั้นหลายคนเชื่อว่า ใช้ฝ่ายจารีตเป็นแท็คติกเฉยๆ พูดง่ายๆ ไปยืมพลังอีกฝ่ายมาสู้กับเผด็จการทหาร ด้วยการสร้างวาทกรรมเรื่องราชาชาตินิยมประชาธิปไตยขึ้นมา แต่จริงๆ แล้วเวลาเราเอาพลังอื่นมาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ อย่าไปคิดว่าเราใช้พลังนั้นฝ่ายเดียว เขาเองก็ใช้คุณด้วย แล้วพลังฝ่ายจารีตก็มีชีวิตของตัวเอง มีวิวัฒนาการของตัวเอง ที่บอกว่าใช้เป็นแท็คติก คุณเองก็ไปสร้างพลังอำนาจให้อีกฝ่ายโดยไม่รู้ตัว

ขณะเดียวกัน ก็มีนักศึกษาปัญญาชนที่สมาทานความคิดแบบราชาชาตินิยม มาตั้งแต่ต้น ผมถึงไม่แปลกใจตอนที่มีข้อเสนอถวายคืนอำนาจ ม.7 เพราะจริงๆ แล้ว คนเหล่านี้เอาโมเดล 14 ตุลามาใช้ เพราะเชื่ออย่างสนิทใจตั้งแต่ยุคนั้นแล้วว่า มันควรเป็นอย่างนี้

ผลต่อเนื่องในส่วนพลังจารีตจากเหตุการณ์ 14 ตุลา จริงๆ มี 3 อย่าง คือ หนึ่ง…เกิดวาทกรรมราชาชาตินิยมประชาธิปไตย หรือกษัตริย์ประชาธิปไตย คือ ชาตินิยมไทยกับประชาธิปไตยไทยผูกติดกับองค์ราชาหรือสถาบันกษัตริย์ ไม่สามารถแยกออกจากกันได้

สอง…ไปรื้อฟื้นอำนาจที่เป็นจริงขึ้นมาให้แก่ฝ่ายจารีตนิยม หลัง 14 ตุลาเราได้รัฐบาลพระราชทาน และสถาบันกษัตริย์มีสถานะอำนาจที่สูงเด่นและได้รับความเคารพนับถืออย่างสูงอย่างที่มิเคยปรากฏมาก่อนนับตังแต่ 2475 สาม…เกิดจินตนาการทางการเมืองใหม่ คือ จินตนาการทางการเมืองเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์ท่ามกลางวิกฤติทางการเมือง ว่าองค์พระประมุขทรงมีบทบาทเป็นตัวกลางยุติความขัดแย้งทางการเมืองในภาวะที่องค์กรและสถาบันอื่นๆ ไม่สามารถเป็นที่พึ่งได้

ประจักษ์ ก้องกีรติ

 

อาจารย์กำลังหมายความว่า เรายิ่งชุมนุม ยิ่งเรียกร้อง ก็เท่ากับไปสร้างพลังให้อำนาจนอกระบบ

ผมคิดว่าตอนนี้หลายคนเริ่มหลุดจากโมเดล 14 ตุลาแล้วนะ โดยเฉพาะหลัง 19 พฤษภา ก่อนหน้านี้ใช่ เรายังเคลื่อนไหวในกรอบนั้นอยู่ ทั้งพันธมิตรฯ และ นปช. โดยคิดว่าเมื่อมีการปะทะแล้วรัฐบาลจะล้ม เพราะอำนาจนอกระบบจะเข้ามา และในแง่หนึ่งยังอิงกับสถาบันจารีตนิยมเพื่อมาคัดคานกับรัฐบาล

ซึ่งหลัง 19 พฤษภา ผมเห็นคนจำนวนหนึ่งเริ่มมีจินตนาการทางการเมืองแบบใหม่ เพราะรู้เเล้วว่าโมเดลนั้นไม่เวิร์ค โดยเฉพาะในประเด็นการปะทะ สูญเสีย และจะชนะ นี่มีการปราบปรามขนานใหญ่ คนเสียชีวิตมากกว่าทุกเหตุการณ์ในอดีต ยอดทะลุเป้า เป็นความรุนแรงโดยรัฐที่รุนแรงที่สุดแล้วในประวัติศาสตร์ไทย แต่รัฐบาลยังอยู่ได้ เนื่องจากชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมเป็นเอกภาพ

 

รวมถึงชนชั้นกลางที่นิยมฝ่ายจารีตก็ออกมามีปากมีเสียงมากขึ้น

ผมก็เห็นแบบนั้น มันกลายเป็นแรงตีกลับ ตอนนี้ชนชั้นกลางกำลังทำหน้าที่แบบเดียวกับขบวนการมวลชนฝ่ายขวาตอน 6 ตุลา เพียงแต่ตอนนั้นจัดอยู่ในกลุ่มเฉพาะ พวกลูกเสือชาวบ้าน นวพล นักศึกษาอาชีวะ กระทั่งชนชั้นสูงจำนวนหนึ่ง แต่ตอนนี้แปรสภาพมาอยู่ในหมู่ชนชั้นกลางอย่างกว้างขวาง ซึ่งอาจมีรูปลักษณ์ที่คิกขุอาโนเนะ แต่ถ้ามองลึกถึงแก่นความคิด มันคือการผลิตซ้ำอุดมการณ์แบบมวลชนฝ่ายขวาสมัยก่อน

อย่างเพลงที่กลุ่มคนเสื้อหลากสีร้อง เช่น หนักแผ่นดิน มันคือเพลงของฝ่ายขวาสมัยก่อน มีการผลิตวาทกรรมเเบบเก่าๆ ในการด่าทอฝั่งตรงข้าม ว่าเป็นพวกหนักแผ่นดิน ไม่มีค่าควรจะอยู่ ไม่ใช่คนไทย ออกจากบ้านไป นี่คือมรดกตกทอดของฝ่ายขวา ถ้าสังคมไทยรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในช่วงเปลี่ยนผ่านด้วยการไปปลุกกระแสเก่าที่เป็นจารีตนิยมมากๆ แบบนี้ ผมคิดว่าน่าเป็นห่วง

ถ้าจะทำความเข้าใจคนชั้นกลาง ผมว่าเราอาจต้องมองในเชิงจิตวิทยา สิ่งที่คล้ายกันระหว่างชนชั้นกลางตอนปี 19 กับตอนนี้ คือความหวาดกลัวต่อการเปลี่ยนแปลง ตอนนั้น ชนชั้นกลางหวาดกลัวความเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่นักศึกษา ชาวนา กรรมกร กำลังนำมาสู่สังคมไทย เชื่อตามที่รัฐบอกว่า ไทยจะเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว  พวกนี้จะมายึดประเทศ เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองขนานใหญ่ ยิ่งชาวนามาเรียกร้องสิทธิ กรรมกรมาเรียกร้องค่าแรง ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน

ในแง่จิตวิทยามันคือความหวาดกลัวอย่างที่ผมบอก กลัวแล้วเลือกรับมือกับความรู้สึกแบบนี้โดยเข้าหาฝ่ายอำนาจ ที่คาดว่าจะหยุดยั้งความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ ในปัจจุบัน ชนชั้นกลางจำนวนมากหวาดกลัวความเปลี่ยนแปลงที่คนเสื้อแดงกำลังนำมาสู่สังคมไทย แน่นอน มันมีอีกหลายเหตุผลทางวัฒนธรรมที่คนชั้นกลางไม่สามารถอินกับคนเสื้อแดงได้ แต่ปัญหาใหญ่แล้วคือความกลัว

สังคมไทยกำลังจะเปลี่ยนแปลง และอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ ผมไม่คิดว่ามีใครไม่รู้ ยกเว้นคุณอยู่ในรู จำศีล (หัวเราะ) คำถามคือ สังคมไทยเลือกรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างไร ชนชั้นกลางจำนวนหนึ่ง เลือกรับมือด้วยการหันกลับไปหาอดีต โหยหาให้สังคมไทยเป็นเหมือนเดิมที่ทุกคนรักกัน ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็นมายาคติ และยังอยากให้สังคมไทยกลับไปเป็นสังคมอุปถัมภ์แบบเดิม

พูดตรงๆ ชนชั้นกลางไม่ได้ต้องการความเท่าเทียม ไม่ได้อยากให้คนชั้นล่างขึ้นมาเท่ากับตัวเอง แต่ตัวเองอยากขึ้นไปเท่ากับชนชั้นสูง อยากเขยิบฐานะทางสังคมขึ้นไป ฉะนั้น ชนชั้นกลางพอใจกับสังคมที่มีลำดับชั้น แค่ขอให้ตัวเองอยู่ข้างบน เลยอยากหยุดสังคมเอาไว้ ประเภทชนบทสวยงาม ซึ่งจริงๆ ชนบทมันก็เปลี่ยนไปแล้ว ไม่มีแบบซื่อใสไร้เดียงสา โง่ จน เจ็บ ไม่รู้สิทธิทางการเมือง อยู่นิ่งๆ ไปเรื่อยๆ แบบในละครไม่มีแล้ว แต่ชนชั้นกลางโหยหา อยากหมุนเวลาทุกอย่างกลับไปให้เหมือนเดิม ดังนั้น อุดมการณ์ที่จะดึงดูดใจพวกเขาที่สุดคือ อุดมการณ์ฝ่ายขวาสมัยก่อน ซึ่งเป็นอุดมการณ์ที่ต้องการรักษาระเบียบอำนาจแบบเดิมเอาไว้

 

ทั้งๆ ที่ชนชั้นกลางส่วนใหญ่มักพูดกันว่า สังคมเรามีชนชั้นที่ไหน พวกนักวิชาการอย่ามาแบ่งแยก

ณ ขณะนี้ พื้นที่การต่อสู้ที่เข้มข้นที่สุด คือการต่อสู้ในเชิงความคิด 14 ตุลาก็เป็นแบบนี้ ขบวนการนักศึกษาที่มันมีบทบาทมากขนาดนั้น ข้อถกเถียงของผมคือ ไม่ได้อยู่ที่ปริมาณ แต่อยู่ที่ความสามารถในการเสนอวาทกรรมที่เป็นทางเลือกให้แก่สังคม เป็นการต่อสู้ทางความคิด ทางวัฒนธรรมที่สามารถเปลี่ยนความคิดของสังคม ท้าทายความคิดแบบเก่าๆ ท้าทายความคิดเรื่องความเป็นไทย จารีตนิยม อนุรักษ์นิยม ท้าทายอุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบไทยของทหาร นั่นคือสิ่งที่นักศึกษาทำ ทำให้ขบวนการมีพลังขึ้นมา

ยิ่งความคิดของฝ่ายที่จะเปลี่ยนแปลงชัดเจนขึ้นเท่าไหร่ ความคิดของฝ่ายที่ต้องการหยุดยั้ง ก็จะออกมาตอบโต้อย่างรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น

 

อาจารย์โทษนักศึกษาหรือคนรุ่นใหม่ไหม ยามหน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้ ไม่ออกมาเป็นพลังขับเคลื่อนเหมือนในสมัยก่อน

ขบวนการนักศึกษามันซบเซาทั่วโลก ไม่ใช่แค่ประเทศไทย โดยเฉพาะประเทศในเเถบยุโรป ตะวันตกทั้งหลาย ซึ่งประชาธิปไตยลงหลักปักฐานแข็งแรง ในญี่ปุ่นเองซึ่งเคยแข็งแรงมากสมัย 1950-1960 ตอนนี้ไม่มีแล้ว ญี่ปุ่นนี่ยิ่งสายลมแสดงแดดกว่าเราอีก

เรื่องตลกคือ บรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยมากๆ นั้นเป็นศัตรูกับการเคลื่อนไหวของนักศึกษา เป็นบรรยากาศที่ไม่ได้เอื้อในการเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก แน่นอนอาจมีบ้าง แต่มันไม่ใช่ขบวนการทางการเมืองขนาดใหญ่ที่นักศึกษาเป็นผู้นำเหมือนในอดีต มีแค่การต่อสู้ที่เป็นประเด็นเฉพาะ อย่างเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือสิทธิสตรี

ภายใต้บรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย กลุ่มอื่นๆ ออกมาเคลื่อนไหวกันเยอะแยะไปหมด มีการเติบโตของเอ็นจีโอ การเติบโตของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ชาวบ้าน ประชาชนก็รวมตัวทางการเมืองเองแล้ว ไปดูเถอะว่าขบวนการนักศึกษาเกือบทั่วโลกที่เคลื่อนไหวมีบทบาทสูงๆ ล้วนเกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศที่เป็นเผด็จการทั้งนั้น เพราะกลุ่มอื่นๆ ถูกปิดกั้นสิทธิหมด

อีกอย่าง นักศึกษาในยุคนั้นเป็นคนกลุ่มน้อยนะ และได้รับการศึกษาสูงกว่าคนกลุ่มอื่น ย้อนกลับไปตอน 14 ตุลา คนส่วนใหญ่ในสังคมยังไม่มีการศึกษาระดับอุดมศึกษา นักศึกษาคือชนชั้นนำ 2-3 เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งประเทศ เป็นชนชั้นนำทางปัญญา ลองไปดูพวกสุนทรพจน์ต่างๆ ของฝ่ายรัฐ เวลาพูดถึงนักศึกษา เขาจะหมายถึงอนาคตของสังคม เป็นลูกเป็นหลาน เป็นอะไรที่เราต้องปกป้อง จะไม่เลือกใช้วิธีที่เหี้ยมโหด จริงๆ นักศึกษาสมัยนั้นมันแคบ มันก็ลูกหลานชนชั้นนำทั้งนั้น พอการศึกษาขยายตัวมาก ปริญญาตรี โท เฟ้อไปหมด ไม่มีใครรู้สึกว่าต้องมาฟังนักศึกษาอีกแล้ว สำหรับผม ในยุคสมัยนี้ หากนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวถือเป็นเรื่องที่ต้องไชโยโห่ร้อง เป็นเรื่องผิดปกติ ต้องชื่นชม ยิ่งมีการจัดตั้งองค์กรแบบสมัยก่อน ยิ่งต้องชมเชย เพราะมันฝืนกระแสโลก

แต่ข้อสังเกตของผมคือ ในช่วง 1-2 ปีมานี้ เริ่มเห็นนักศึกษาหรือคนรุ่นใหม่กลับมาตื่นตัวมากขึ้น คึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะ 4-5 เดือนมานี้ เริ่มมีนักศึกษาที่เป็นนักกิจกรรมในเซนส์แบบสมัยก่อน คำถามคือมันเกิดอะไรขึ้น เป็นเพราะบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า และถ้าบรรยากาศมันยังเป็นแบบนี้อยู่ ผมทำนายได้เลยว่า จะมีคนรุ่นใหม่ออกมามีบทบาทมากขึ้น

 

คนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหว อาจารย์ว่าอย่างน้อยๆ พวกเขาต้องเคยผ่านตาเรื่องราวเดือนตุลามาหรือเปล่า ถึงอยากออกมาบ้าง

ผมไม่แน่ใจว่าคนรุ่นหลังเหล่านี้อ่าน จิตร ภูมิศักดิ์ อ่านวรรณกรรมฝ่ายซ้าย หรือกระทั่งอ่านงานอาจารย์เสกสรรค์ อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี สักเท่าไหร่ แน่นอนอาจเคยเห็นเหตุการณ์ 14 ตุลาจากในภาพบ้าง ในห้องเรียนบ้าง เคยดูวิดีโอบ้าง แต่คงไม่ใช่แรงบันดาลใจในแง่ดื่มด่ำ ซาบซึ้ง อ่านประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนเดือนตุลาแล้วต้องลุกขึ้นมามีบทบาท

คิดว่าตอนนี้แรงบันดาลใจของคนรุ่นใหม่มีที่มาหลากหลายมาก อาจจะได้จากการอ่านงานอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ปราบดา หยุ่น คำ ผกา นิ้วกลม พุทธทาส ติช นัท ฮันห์ ยังไม่ต้องพูดถึงว่าบางคนอาจอ่านวรรณกรรมต่างประเทศ มิลาน คุนเดอรา ฮารูกิ มูราคามิ หรือปัญญาชนต่างประเทศอย่าง นอม ชอมสกี นาโอมิ ไคลน์ สาทิศ กุมาร หรือบางคนกลับไปอ่านกรัมชี ฟูโกต์ ฯลฯ จจนเกิดการตั้งคำถามกับสังคม กับสิ่งต่างๆ รอบตัว เรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

 

บอกว่าเป็นเรื่องน่าชื่นชม ในขณะที่ข้อมูล แรงบันดาลใจก็หลากหลาย น่ากลัวไหมว่าจะเสนอแนวคิดผิดๆ ถูกๆ

สำหรับผมแล้วโอเคนะ เพราะอย่างที่บอกว่าคนแต่ละยุคต้องค้นหาโจทย์ในยุคสมัยของตัวเอง เป็นเรื่องของการลองผิดลองถูก ขบวนการ 14 ตุลาตอนแรกก็สะเปะสะปะ ไม่ได้มีความคิดชัดเจนถูกต้องมาตั้งแต่ต้น อย่าลืมว่าเรากำลังพูดถึงเด็กอายุ 18-19 บางคนอาจเข้าร่วมเพราะได้เฮฮาปาร์ตี้ ได้ใช้เวลากับเพื่อน บางคนอาจได้จีบสาว บางคนอาจเป็นครั้งแรกที่ได้รับอิสระจากพ่อแม่ ไปค้างคืนทำกิจกรรมกับเพื่อนรุ่นเดียวกัน แล้วมันก็จะค่อยๆ พัฒนาไปเอง

จากจุดที่ดูเหมือนไม่มีเรื่องมีราว ไม่มีสาระ แต่ด้วยกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน พวกเขาจะค้นพบอะไรบางอย่างร่วมกัน จะผิดจะถูก อย่างน้อยๆ ก็ได้เติบโตจากการทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ใช่เรื่องน่าห่วง ยิ่งหลากหลายทางความคิดยิ่งดีด้วยซ้ำ ผมไม่เห็นด้วยว่านักศึกษาต้องมีแรงบันดาลใจจาก 14 ตุลา หรือต้องนั่งอ่านแต่วรรณกรรมฝ่ายซ้าย อ่านอะไรก็ได้ที่เป็นแรงบันดาลใจให้คุณคิดและตั้งคำถามกับสังคม

ประจักษ์ ก้องกีรติ

ถ้ามีนักศึกษากลุ่มใหญ่ออกมาเคลื่อนไหวว่า ประเทศไทยต้องปกครองแบบจารีตนิยม อาจารย์จะรู้สึกเสียใจไหม

ไม่เสียใจ แต่ผมจะสนทนากับเขา (หัวเราะ) คือมันเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นต้น สำหรับการมีความคิดทางการเมืองแบบใดแบบหนึ่ง แต่เขาก็ควรสนทนาแลกเปลี่ยน และถูกตั้งคำถามด้วยเช่นกัน ว่าทำไมถึงเชื่อเช่นนั้น แล้วมองเห็นไหมว่าจะไปจบที่ตรงไหน ดีกับสังคมจริงๆ หรือเปล่า อย่างน้อยก็ต้องรู้เท่าทันความคิดตัวเองจริงๆ มากกว่าไปจะไปเกาะไปโหนกระแส นั่นแหละ เป็นเรื่องชวนเสียใจ

 

เลยกลายเป็นว่า ถ้าไม่เคลื่อนไหวไปในทิศทางแบบที่อาจารย์เสนอ ก็จะล้าหลัง

ไม่จำเป็น ผมคิดว่าเรามีทัศนะส่วนตัวของเรา แต่ก็ไม่ควรไปยัดเยียดให้นักศึกษา อย่างมากเราก็ทำได้แค่สนทนาแลกเปลี่ยนกับเขา ส่วนเขาจะเชื่อหรือจะเคลื่อนไหวอย่างไร นั่นเป็นสิทธิของเขา แล้วแต่จุดยืนว่าใครอยู่ฝ่ายไหน แน่นอนว่ามันไม่มีทัศนะไหนที่เป็นกลางหรอก ถ้าไปถามอาจารย์บางคน เขาอาจบอกว่าห่วงนักศึกษาที่มาเคลื่อนไหวแนบชิดติดกับคนเสื้อแดง แต่ถ้าไปถามอีกฝั่ง พวกเขาอาจจะห่วงนักศึกษาที่เคลื่อนไหวกับพันธมิตรฯก็ได้ แต่สำหรับผม ขั้นต้น แค่นักศึกษาไม่เฉยเมยกับสภาพสังคมก็น่าชื่นใจแล้ว

 

วิธีคิดของคนเสื้อแดง หรือนักวิชาการที่สนับสนุนคนเสื้อแดงบางส่วน เราพูดได้ไหมว่า นั่นคือวิธีคิดของคนที่ผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ซึ่งเปรียบเสมือนผู้พ่ายแพ้ อึดอัดกับรัฐ

ไม่แน่ใจ แต่ถ้าถาม ณ ตอนนี้ ผมคิดว่ามีอารมณ์บางอย่างที่เหมือนกัน ระหว่างคนที่ผ่าน 6 ตุลากับคนเสื้อแดงที่ผ่าน 19 พฤษภา พูดอย่างนั้นดีกว่า คน 6 ตุลาแพ้ถึง 2 ครั้ง ไม่เคยชนะเลย ทั้งโดนปราบ แล้วพอไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ต่อสู้ในป่าก็พ่ายแพ้อีก คืนสู่เมืองกลับมามอบตัว เป็นช่วงเวลาที่หลายคนรู้สึกว่าสูญหายไปในชีวิต

เหนืออื่นใดคือความเจ็บช้ำจากการถูกประณามว่าเป็นคนผิด ถูกพิพากษาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ อย่าลืมว่าใช้เวลาตั้ง 20 ปี กว่าจะมีการจัดงานรำลึกอย่างสมบูรณ์ เข้าใจได้ว่าปัญญาชนรุ่นนั้นมีความขมขื่น มีความไม่พอใจ อึดอัดกับรัฐ กับสังคม แล้วอารมณ์ตอนนี้ของคนเสื้อแดงที่ผ่านเหตุการณ์ 19 พฤษภา เป็นอารมณ์แบบเดียวกัน คือนอกจากถูกปราบเเล้ว ยังถูกมองว่าสมควรแล้ว ไม่มีใครสนใจไยดีสักเท่าไหร่

 

พูดตรงไปตรงมาคือนักวิชาการที่เคยผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลามาล้างแค้นเอาคืนกันตอนนี้

ผมไม่แน่ใจว่าจะสรุปอย่างนั้นได้ อย่าลืมว่าปัญญาชน 6 ตุลาจำนวนมากก็ไปเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับพันธมิตรฯ ขึ้นเวที เป็นกุนซือ คนรุ่นนั้นเพียบไปหมด ถ้าพูดอย่างคุณว่า คนพวกนั้นก็ไม่ได้เคียดแค้น ใช่ว่าปัญญาชน 6 ตุลาจะมองเห็นปัญหาในแบบเดียวกันว่า อะไรคือต้นตอปัญหาของสังคมไทย

 

ความขัดแย้งทางการเมืองตอนนี้ จะผลิตมรดกอะไรต่อไปในอนาคต

ผมว่าไม่มีใครรู้ แม้แต่ชนชั้นนำ เพราะไม่มีใครสามารถคุมทิศทางการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งหมด เราอาจจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นเผด็จการแบบพม่าหรือเกาหลีเหนือก็ได้ใครจะรู้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นเราคงต้องวกกลับมาที่การรัฐประหาร ว่านั่นแหละ คือ มรดกที่ทิ้งเอาไว้

กลัวแต่ว่าเผด็จการไทยไม่ได้ก้าวหน้ามากขึ้นไหร่ หมายถึงฝ่ายที่ต้องการรักษาระเบียบอำนาจเดิมไว้ ถ้าเราพูดว่าการเคลื่อนไหวภาคประชาชนมี 14 ตุลาเป็นโมเดล ชนชั้นนำเองก็มีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นโมเดล และคิดว่าสามารถย้อนรอยไปสู่จุดนั้นได้ คือการเอาทหารมาเป็นผู้นำ ปกครองแบบเข้มแข็งเด็ดขาด กำราบคนให้ไม่กล้าเคลื่อนไหว

ในขณะเดียวกันสฤษดิ์ก็ดึงเทคโนแครตมาทำงานให้ มีแบงก์ชาติ มีสภาพัฒน์ แล้วเศรษฐกิจก็เจริญเติบโต มีการขยายตัวของอุตสาหกรรม คือทำให้ภาคการเมืองนิ่งที่สุด ไม่ให้ภาคประชาชนเคลื่อนไหวได้ ไม่ชอบการเมืองแบบมีรัฐสภา มีการเลือกตั้ง มันวุ่นวาย เลิกซะ เรามาจัดระเบียบทางการเมืองให้คุณ แต่เราอำนวยชีวิตคุณให้ก้าวหน้าขึ้น กินดีอยู่ดี ไม่ต้องเดือดร้อน ชนชั้นนำไทยมีโมเดลแบบนี้ คิดเอาง่ายๆ ว่าถ้าทำได้แบบนี้ คนก็น่าจะยอมรับ ถ้าเวอร์ชั่นอ่อนๆ ก็คล้ายแบบสิงคโปร์ คือ ปิดทางการเมือง แต่เปิดทางเศรษฐกิจ นี่ผมมองโลกในแง่ดีว่าชนชั้นนำไทยไม่ได้เอาพม่าเป็นโมเดล

อย่างนักวิชาการรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่ในวงการต่างๆ ที่เติบโตขึ้นมา คนเหล่านี้แหละจะนำความเปลี่ยนแปลงทางสังคมมาให้ ผมเห็นศักยภาพ ถ้าลองไปสัมภาษณ์ ความคิดแบบเดือนตุลาจะเป็นแค่ปีกหนึ่งเท่านั้นของแรงบันดาลใจ พวกเขาอ่านอะไรกันหลากหลายมาก ค้นหาแรงบันดาลใจจากทุกทาง อาจดีกว่าด้วยซ้ำ เพราะสังคมตอนนี้ซับซ้อนมาก มากกว่าไปใช้กรอบแค่ประชาชนสู้กับรัฐ อำนาจตอนนี้แนบเนียนอำพรางมากขึ้น ชีวิตปัจเจกชนที่ต้องต่อสู้กับการกดขี่ในหลายๆ แบบ ผมคิดว่ากรอบความคิดแบบเก่าไม่สามารถช่วยเราได้

รุ่นผมน่าจะเป็นรุ่นท้ายๆ แล้วที่อินกับเหตุการณ์เดือนตุลา

 

คนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้ผ่านวรรณกรรมเพื่อชีวิตก็ไม่ถือเป็นเรื่องผิดบาป

ไม่ผิด ต้องอย่าลืมว่า วรรณกรรมเพื่อชีวิตไทยนี่น่าเบื่อที่สุด อันนี้พูดด้วยความเคารพอีกเช่นกัน งานของนักเขียนดังๆ สมัยก่อน ที่มีวรรณศิลป์ที่ดีเกือบทั้งหมดไม่ใช่งานการเมือง ส่วนงานที่ต้องการปลูกฝังความคิดทางการเมือง อ่านแล้วจะหลับตั้งแต่ 20 หน้าแรก ถ้าผมไม่ต้องทำวิทยานิพนธ์ คงไม่ทนอ่านจนจบ มันเป็นวรรณกรรมแบบที่ผมเรียกว่าเลคเชอร์ ตัวละครเทศนาอย่างเดียว หาวรรณกรรมเพื่อชีวิตสนุกๆ มีวรรณศิลป์ได้ยาก

สำหรับผม ขึ้นชื่อว่าวรรณกรรม ต้องทำหน้าที่ต่างจากตำราวิชาการ ต้องมีความสวยงาม มีศิลปะ ไม่ใช่มาเทศนา ผมเลยไม่แปลกใจว่าคนรุ่นหลังไม่อ่านงานเหล่านี้

 

อย่างนั้นเราก็ควรปล่อยให้ตายไป ไม่ควรตกทอดมาเป็นมรดก

ไม่ใช่ๆ งานเขียนเหล่านั้นมันเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ในตัวเองไง จะสนุกหรือไม่ มันก็มีคุณค่าในแง่ประวัติศาสตร์ ถ้าคุณอยากรู้ความคิดของยุคสมัยว่า คนสมัยนั้นคิดอย่างไร อ่านแล้วเราก็จะเห็น แต่อย่าไปเรียกร้องให้คนรุ่นใหม่ต้องมานั่งอ่าน ไม่ใช่เรื่องผิดบาปที่เขาจะอ่าน ชาติ กอบจิตติ ศุ บุญเลี้ยง โน้ต อุดม ปราบดา หยุ่น นิ้วกลม หรือวรรณกรรมต่างประเทศ อย่าไปตีกรอบวรรณกรรมเพื่อชีวิตเอาไว้ในกรอบแคบๆ ว่าจะต้องเท่ากับวรรณกรรมฝ่ายซ้าย หรือวรรณกรรมเดือนตุลา วรรณกรรมทุกชิ้น ผมว่าในความหมายกว้างที่สุด มันพูดถึงเรื่องชีวิตทั้งนั้น

 

เมื่อเราพูดถึงการต่อสู้เคลื่อนไหวทางการเมือง แน่นอนว่า จินตนาการของคนไทยมีแค่เหตุการณ์เดือนตุลา อย่างนี้อาจารย์มองว่าประเทศเราจะเป็นสังคมที่อ่อนแอไหม เพราะรากสั้นมาก

ใช่ ถ้าย้อนไปได้สั้นมันก็อ่อนแอ แต่ผมกลัวว่าบางคนไม่ย้อนเลยน่ะสิ แค่ 14 ตุลาก็ยังดี เพราะสมัยนี้ นักศึกษาที่เกิดราวๆ ปี 2535 ตอนพฤษภาเพิ่งขวบเดียว เวลาผมยกประวัติศสาสตร์ตุลาขึ้นมา เหมือนเป็นเรื่องอันไกลโพ้น คล้ายพูดถึงสมัยอยุธยา สุโขทัย (หัวเราะ) ถ้าพูดเรื่องพฤษภา สำหรับเขาก็คือตุลาของคนรุ่นผม ผมกลัวว่าคนจำนวนนากไม่ย้อนอะไรเลย และไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย

แนวโน้มอันหนึ่งที่น่าสนใจคือ 3-4 ปีที่ผ่านมา คนไทยเริ่มย้อนกลับไปไกลขึ้น มีการรำลึกถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีการพูดถึง มีจัดเสวนา อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน คนฟังก็เป็นวัยรุ่นหนุ่มสาวด้วย  มีหนังสือประวัติศาสตร์ตีพิมพ์ออกมาเยอะ บางเล่มนำมาพิมพ์ซ้ำใหม่ มีการพยายามกลับไปต่อสู้ในแง่ของการให้ความหมายใหม่ มีการพูดถึงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การปฏิวัติ 2475 จอมพลสฤษดิ์ เอามาเปรียบเทียบกับปัจจุบัน เพราะคนรู้สึกว่า จะเข้าใจการเมืองปัจจุบัน กลับไปแค่ 14 ตุลามันไม่พอ

 

ถ้ามีใครสักคนเสนอทฤษฎีว่า ประชาชนเป็นแค่เบี้ย ทิศทางต่างๆ ถูกกำหนดโดยชนชั้นนำหมดแล้ว ไม่ว่าจะตุลา พฤษภา หรือปัจจุบัน อาจารย์จะว่าอย่างไร

ไม่เห็นด้วย ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความขัดแย้งในปัจจุบันมีหลายชุด มีความขัดแย้งในชนชั้นนำอยู่จริง แต่ก็มีความขัดแย้งระหว่างประชาชนด้วยกัน และระหว่างประชาชนกับชนชั้นนำด้วย ตอน 14 ตุลา และ 6 ตุลาก็เป็นอย่างนี้ ผมคิดว่า ประชาชนเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องตกเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำเสมอไป การต่อสู้ทุกอย่างเชื่อมโยงกัน ไม่ได้เป็นอิสระจากกัน

อย่าง 14 ตุลา มีคนอธิบายว่าไม่ใช่ชัยชนะของนักศึกษาประชาชน แต่เป็นชัยชนะของชนชั้นนำฝ่ายหนึ่ง ที่ชนะเพราะมีชนชั้นนำฝ่ายหนึ่งไม่เอาด้วยกับ ถนอม ประภาส ณรงค์ ต่างหาก ชัดๆ คือ พลเอกกฤษณ์ ศรีวรา ที่ทำรัฐประหารเงียบ แต่ลองมองกลับกัน ถ้าไม่มีการเคลื่อนไหวของนักศึกษาต่อเนื่อง 2-3 ปี ชนชั้นนำก็คงไม่แตกแยกกัน หรือแตกแยกจริง ก็ไม่มีโอกาสในการแตกหักกัน ชนชั้นนำเองก็ต้องอาศัยการเคลื่อนไหวของนักศึกษาปัญญาชน ไม่มีใครได้ประโยชน์อยู่ฝ่ายเดียว เพราะประชาชนก็ได้สิทธิเสรีภาพและโอกาสในชีวิตที่ดีขึ้นจากการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการด้วย

ฉะนั้น ถ้าชนชั้นนำในปัจจุบัน ไม่ว่าฝ่ายไหนคิดว่า เมื่อเกิดความขัดแย้งเเล้วสามารถตกลงซูเอี๋ยกันเองได้ แล้วทุกอย่างจะยุติ นั่นเป็นวิธีคิดที่ผิดพลาด เพราะประชาชนเองไม่ว่าสีไหน มีความเป็นอิสระจากชนชั้นนำมากพอสมควรแล้ว แนวทางการเคลื่อนไหวจะผิดจะถูกเป็นอีกเรื่อง แต่วาทกรรมที่ว่า ประชาชนเป็นเบี้ยให้ชนชั้นนำ เป็นความคิดที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และเป็นข้ออ้างของคนที่อยากอยู่เฉยๆ ไม่ต้องการเคลื่อนไหวอะไร เพราะเชื่อว่าจะไปเป็นเครื่องมือให้คนอื่น

ประจักษ์ ก้องกีรติ

ในทางรัฐศาสตร์ มันจำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่ต้องออกมาบนท้องถนน เพราะชนชั้นกลางเบื่อม็อบแล้ว

ไม่จำเป็นเสมอไป วิธีการต่อสู้มีได้หลากหลาย แต่มันก็มีเหตุผลที่ทำให้เข้าใจได้อยู่ว่า ทำไมถึงต้องออกไปบนท้องถนนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะพื้นที่ทางการเมืองอย่างอื่นมันถูกปิดหมด รัฐเป็นคนสร้างเงื่อนไขเอง ในการทำให้คนออกมาบนถนน ในระบอบประชาธิปไตย ถ้าคุณเปิดพื้นที่สิทธิเสรีภาพอย่างกว้างขวางผ่านช่องทางที่หลากหลาย คนก็ไม่จำเป็นต้องออกไปบนท้องถนน เพราะความต้องการของคนสะท้อนออกไปได้หลายทาง

แต่ถ้าสังคมปิดกั้นช่องทางอื่นๆ หมด ไม่เหลือพื้นที่ทางการเมืองให้คนได้เคลื่อนไหว คนก็ต้องออกไปบนท้องถนน เพราะรู้ว่านั่นเป็นช่องทางเดียวในการสร้างอำนาจต่อรอง ถ้ารัฐเปิดให้แสดงความเดือดร้อนผ่านหลายๆ ช่องทาง ตัวเลือกทางถนนก็จะถูกใช้น้อยลง

 

ควรมีใครต้องตายเพื่อประชาธิปไตยอีกไหม

ถ้าเรียกร้องได้มาโดยไม่ต้องสูญเสียเลือดเนื้อ อย่างนั้นดีที่สุด ชีวิตคนทุกคนมีคุณค่า นั่นคืออุดมคติที่สุด แล้วเราต้องช่วยกันค้นหาวิธีเหล่านั้น แต่ถ้ามันเกิดขึ้นไปแล้ว ก็ต้องหาความจริงและความยุติธรรมให้ผู้สูญเสีย ไม่ใช่แค่เหตุการณ์ปัจจุบัน แต่ทุกเหตุการณ์ที่ผ่านมา

ถามว่าทำไมสังคมไทยยังต้องมีการบาดเจ็บล้มตาย เพราะว่าเราไม่เคยชำระสะสาง มันกลับไปที่ปัญหาเดิม ถ้าสังคมไทยทำให้ความรุนแรงของรัฐเป็นเรื่องไม่ชอบธรรม สร้างบรรทัดฐานไว้ว่า หากคนออกมาชุมนุมทางการเมือง ไม่ว่าจะผิดจะถูก รัฐไม่มีสิทธิ์ในการไปเข่นฆ่าพรากชีวิตพวกเขา ทำได้อย่างนี้เราก็จะก้าวไปข้างหน้าได้โดยไม่กลับมาซ้ำรอยเดิม

การชุมุนมที่ไหนในโลกมันผิดกฎหมายอยู่แล้ว ผมเคยคุยกับอาจารย์เสกสรรค์ แกบอกว่า ถ้าเอาเรื่องกฎหมายมาพูด ขบวนการ 14 ตุลาผิดกฎหมายตั้งแต่ต้นจนจบ แค่ตอนนั้นสังคมเอาด้วยกันหมด ไม่มีใครมาสนใจกับเรื่องหยุมหยิมประเภทปิดถนนปิดการจราจร

สิ่งสำคัญสุดในระบอบประชาธิปไตยคือ สิทธิในชีวิตและร่างกาย ตรงนี้รัฐไม่สามารถไปละเมิดได้ นี่คือสิ่งที่อยู่เหนือสิทธิอื่นๆ ทั้งสิ้น อยู่เหนือสิทธิในการช็อปปิ้ง อยู่เหนือสิทธิในการคืนความสงบให้สังคม เพราะถ้าคุณมีความสงบ โดยต้องแลกกับการฆ่าพลเมืองร่วมชาติไปจำนวนหนึ่ง มันจะมีประโยชน์อะไร

บทเรียนสำคัญคือ เราอย่าเอาทหารมาควบคุมการชุมนุม เพราะเขาถูกฝึกมาในหมวดของการสู้รบ เห็นผู้อื่นเป็นศัตรูอยู่แล้ว แค่หลักการพื้นฐานก็ผิดแล้ว ฉะนั้นจึงยังมีการบาดเจ็บล้มตายที่ไม่ควรเกิดขึ้น ถ้าคุณปล่อยให้รัฐละเมิดสิทธิกับคนอื่นได้ ท้ายสุดคุณอย่าคิดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ

ลองไปดูตัวอย่างในภาคใต้ก็ได้ เราปล่อยให้รัฐละเมิดสิทธิพลเมืองมาอย่างยาวนาน ถึงจุดหนึ่ง เมื่อคนกลุ่มหนึ่งเลือกลุกขึ้นมาตอบโต้ด้วยความรุนแรง ไม่ว่ากลุ่มไหนก็ตามแต่ มันเลยกลายเป็นสภาพที่กฎหมายบังคับใช้การไม่ได้ ไม่มีขื่อมีแป ถึงจุดนั้น ทุกคนได้รับผลกระทบหมด ทุกคนมีสิทธิ์ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ผมกลัวว่ามันจะเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ดูจากข่าวระเบิดช่วงนี้ก็ได้

นี่เป็นเพราะเราไม่เคยเผชิญหน้ากับความรุนแรงของรัฐในอดีต เลยส่งผลให้สังคมไทยจะต้องอยู่กับวงจรของความรุนแรงไปอีกนานเนิ่นนาน

 

*******************************
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ ตุลาคม 2553)

Author

สันติสุข กาญจนประกร
อดีตบรรณาธิการเครางาม ปลุกปั้นและปล้ำ WAY มาในยุคนิตยสาร นักสัมภาษณ์ที่ไม่ยอมให้ข้อสงสัยหลงเหลือในประโยคพูดคุย เรียบเรียงถ้อยคำความหล่อบนบรรทัดด้วยทักษะแบบนักประพันธ์ หลังออกไปบ่มเพาะความคิด สันติสุขกลับมาพร้อมรสมือและกลิ่นกายที่คุ้นชิน และแน่นอน ทักษะด้านการเขียนที่ผ่านการเคี่ยวกรำมาย่อมแม่นยำกว่าเดิม

Author

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า