ปัจจุบันหลายคนมักเข้าไปท่องเฟซบุ๊ค เช็คไอจี หรือ ชมความบันเทิงต่างๆ ผ่านสมาร์ทโฟน แทบเล็ต ก่อนเข้านอน หลายคนก็ผลอยหลับไปทั้งที่ยังไม่ได้ปิดเครื่อง
นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยี Rensselaer ในสหรัฐอเมริกา ศึกษาเรื่องการใช้งานอุปกรณ์ไอทีต่างๆ ก่อนเข้านอน และพบว่า แสงสว่างจากเครื่องมือสื่อสารต่างๆ ในตอนกลางคืน สร้างผลกระทบโดยตรงต่อสารเคมีในสมอง ซึ่งมีส่วนช่วยเรื่องการนอนหลับ โดยเฉพาะการที่ดวงตาต้องเผชิญและรับแสงจากแท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ และสมาร์ทโฟนเป็นประจำและเป็นเวลานาน จะไปลดการหลั่งของฮอร์โมนเมลาโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากสารเซโรโทนินในต่อมไพเนียล เป็นส่วนหนึ่งของสมองส่วนกลาง มีหน้าที่กระตุ้นการปรับเปลี่ยนระบบนาฬิกาของร่างกาย และช่วยเรื่องการนอนหลับ
ข้อมูลเหล่านี้ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Applied Ergonomics และอธิบายอีกว่า ในขั้นตอนการศึกษา นักวิจัยให้อาสาสมัครอ่านหนังสือ เล่นเกม และ ดูหนังผ่านไอแพด ไอแพด 2 และ แทบเล็ตต่างๆ เป็นระยะเวลาแตกต่างหลากหลาย จากนั้นจึงวัดปริมาณแสงที่ดวงตาแต่ละคนได้รับ
นักวิจัยพบว่า การที่ดวงตาเปิดรับแสงสว่างจากจอแท็บเล็ตเป็นเวลา 2 ชั่วโมง จะไปลดระดับสารเมลาโทนินประมาณ 22 เปอร์เซ็นต์
แสงสว่างที่ส่งผ่านจากเครื่องมืออุปกรณ์ไอทีเหล่านี้ หน่วยงานอย่าง American Medical Association เรียกว่า มลภาวะทางแสง
เมื่อเปรียบเทียบกับแสงสว่างที่ได้จากดวงอาทิตย์ แสงจากธรรมชาติแบบนี้มีส่วนช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนของระบบประสาท แต่แสงสว่างที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น แสงขาวหรือฟ้าจากหลอดฟลูออเรสเซนส์ กลับมีผลตรงกันข้าม คือ ไปยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนิน ที่นอกจากจะทำลายสายตาโดยตรงแล้ว สารเมลาโทนินที่หลั่งออกมาน้อยลง อาจมีผลก่อให้เกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งเต้านม และ โรคอื่นๆ ที่เกิดจากนาฬิกาชีวิตแปรปรวน เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคซึมเศร้า และ ปัญหาต่อระบบการเจริญพันธุ์
******************************************
(ที่มา : reuters.com)