เรื่อง : สันติสุข กาญจนประกร / วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์ / อธิเจต มงคลโสฬศ
ภาพ : อนุช ยนตมุติ
ข่าวไม่เล็กไม่ใหญ่เรื่องความสำเร็จของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับหนังไทยที่ไปคว้ารางวัลสูงสุด ปาล์มทองคำ ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส จากภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ สร้างความชื่นอกชื่นใจให้แก่แฟนคลับของเขาอยู่ไม่น้อย
ดูได้จาก อดีตรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมอย่าง ธีระ สลักเพชร ถึงกับอยากจะเตรียมขบวนแห่เพื่อต้อนรับการกลับบ้านของผู้กำกับหนุ่ม คนที่ท่านรัฐมนตรีเอ่ยชื่อหนังของเขาว่า
ลุงบุญมีกลับชาติมาเกิด!
แม้ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ จะบอกกับเราว่า ไม่แคร์หรอกที่ใครจะดูหนังเขาตามกระแส ชื่นชมเขาตามเพื่อน ไม่ดูไม่อาร์ต
แต่ในวันที่บ้านเมืองยังอยู่ในหมอกควันของความจริง-ความลวง
เรื่องราวแบบนี้ก็น่านำมาสนทนาอยู่ดี
หลังได้รางวัลปาล์มทองคำที่คานส์ คุณถูกสื่อมวลชนสัมภาษณ์เยอะมาก
ใช่ครับ
เยอะที่สุดในชีวิตหรือยัง
ยัง ถ้าเยอะก็คือที่คานส์หรือเวลาเปิดหนังเรื่องใหม่ ช่วงนั้นจะวางการสัมภาษณ์เป็นตารางไว้ตั้งแต่เช้าถึงเย็น ไม่หยุดเลย
จากที่ได้ตอบคำถามสื่อไทย เห็นทัศนคติอะไรที่น่าสนใจ ตื่นเต้นกับคำถามประเภทไหนเป็นพิเศษ
ก็จะมีคำถามที่เขาต้องถาม เป็นฟอร์ม เช่น รู้สึกอย่างไร รางวัลนี้จะมีผลอย่างไรต่อวงการหนังไทย ต่อตัวเอง หรือเรื่องการเมืองบ้าง ไม่ได้รู้สึกแปลกใหม่อะไรนะ อาจมีบางเล่มที่เห็นว่าอยากสัมภาษณ์ผมจริงๆ ทำการบ้านมาดี คือรู้เรื่องหนังของเราเยอะ ได้ดูจริงๆ ไม่ใช่ตามกระแส ที่สำคัญ เป็นหนังสือที่เราไม่คิดว่าจะถามอย่างนั้นด้วย เลยประทับใจและคุยได้ดี
ที่อ่านๆ มาส่วนใหญ่ก็เขียนเรื่องของคุณออกมาในเชิงบวก คิดว่าพวกเขาเข้าใจตัวหนังของคุณมากน้อยแค่ไหน
มันคงเป็นเรื่องของการที่ตัวหนังยังไม่ได้ฉายในเมืองไทยมากกว่า คนสัมภาษณ์เลยมาในแง่ของการแสดงความยินดี แต่ถ้าหนังฉายแล้วก็มีสิทธิจะถูกตั้งคำถามในแง่ลบ ซึ่งผมอยากได้ยินสื่อวิพากษ์วิจารณ์ตัวหนังจากความไม่ประทับใจ
ช่วงก่อน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเอ่ยชื่อคุณเยอะมาก กระทั่งคนไทยส่วนใหญ่ที่ชื่นชมคุณก็ตาม ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ไม่แน่ใจว่า หนังของคุณถูกรสนิยมคนไทยมากน้อยแค่ไหน เคยสงสัยไหมว่า เรากำลังชื่นชมอะไรในตัวคุณ
พูดยาก อย่างคุณธีระมันก็เป็นหน้าที่ของเขา ผมรู้สึกว่าเราอยู่ในขั้นตอนของการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ตอนที่ผมได้รางวัลในปี 2004 ผมต้องไปเข้าคิวในทำเนียบเพื่อรอพบรองนายกฯ นั่นเป็นการแสดงให้เห็นว่ารางวัลนี่สำคัญนะ ไม่ใช่ไปอวดโอ่อะไร ไปบอกให้หันมาดูแลหนังไทยหน่อย ก็เข้าไป ได้ถ่ายรูปนิดหน่อย เขาไม่ได้สนใจอะไร เพราะข้างหลังยังมีคนต่อคิวเข้าพบอีกหลายคณะ ทุกคนมารอคิวฟ้าประทานกันหมด
ผ่านมาถึงปีนี้ซึ่งจริงๆ มันก็ไม่กี่ปี แต่ดูเหมือนท่าทีจะเปลี่ยนไป คือรัฐรู้จักเล่นเกมมากขึ้น ไม่ว่าจะจัดฉากหรือด้วยความจริงใจก็ตาม เขาแสดงให้เห็นว่าภาพยนตร์มีความสำคัญ อย่างน้อยๆ นี่คือสิ่งที่ผมมอง และคิดว่านี่คือบันไดขั้นแรกๆ แต่นอกจากการแสดงความยินดีแล้ว ต้องมีการสนับสนุนอย่างอื่นด้วย ผู้บริหารต้องเข้าใจในวัฒนธรรมทั้งร่วมสมัยและไม่ร่วมสมัย
หลังจากที่ผมได้พบผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ก็รู้ว่าแกพยายามปรับตัว พยายามทำความเข้าใจอย่างมากในเรื่องวัฒนธรรมร่วมสมัย แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ แกมีมุมมอง มีความรู้ ได้ศึกษามาจริงๆ หลังจากที่ได้คุย ผมประทับใจ คิดว่าองค์กรนี้มันโตเร็วภายในเวลาไม่กี่ปี เร็วมาก ยิ่งในบ้านนี้เมืองนี้ด้วย
แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยมีมุมมองอย่างที่ผมว่าคือสร้างสรรค์ ขณะที่สำนักงานเฝ้าระวังกลับมีท่าทีอีกอย่าง ตรงนี้น่ากลัวสำหรับผม ซึ่งหัวใหญ่ของกระทรวงวัฒนธรรมคนใหม่ผมเองก็ยังไม่แน่ใจ ยังไม่รู้จักมากพอ เท่าที่ได้เจอก็พยายามบอกแกว่า เรามาช่วยกันนะ ผมยินดีช่วยเต็มที่ในเรื่องภาพยนตร์ ถ้าคุณอยากสนับสนุน อยากได้ข้อมูล
เรามักมองรัฐในทางลบอยู่เสมอ ซึ่งมันก็ช่วยไม่ได้ ตามที่ผมประสบมา เขาไม่เคยสนับสนุนเรา ทั้งนี้ เราก็อยู่กันได้ พอเขาเริ่มทำเข้าหน่อย มันเลยเหมือนเด็กโดนตามใจ เริ่มเหลิง ต้องการโน่นนี่ ผมอยากบอกว่า ทั้งหมดต้องใช้เวลา ต้องอดทน
คุณจะเสียใจไหมถ้าปรากฏว่าเราต้องดูหนังคุณ เพราะมันคือภาคจำเป็นของความอาร์ต พูดง่ายๆ ว่าดูไว้คุยกับเพื่อนว่าผ่านหนังของอภิชาติพงศ์มาแล้ว
ถ้าจะเสียใจคงเป็นเรื่องของการศึกษาที่สอนให้คนต้องแห่ตามกัน ต้องเชื่อผู้นำ แต่สำหรับหนังผม ผมว่าคงเป็นส่วนน้อย เอาเข้าจริงๆ ถ้าดูแล้วไม่ชอบก็คือไม่ชอบ จะเข้าไปแสดงความเห็นตามเว็บ ถึงที่สุดแล้ว จะเฟค ไม่เฟค ผมว่ามันก็ยังสร้างแรงกระเพื่อมได้ มีคนเข้าไปดู
ส่วนใครไม่ชอบจริงๆ คอลัมนิสต์คนไหนดูแล้วไม่เชื่อมกับตัวหนัง เขาก็ต้องบอกว่านี่มันหนังเหี้ยอะไร แต่ดีนะ เพราะเขาก็จะเขียนถึงผมในแง่ว่า ยังมีหนังเหี้ยๆ อย่างนี้อยู่ ถือเป็นการท้าทายสังคมอย่างหนึ่ง ว่ากูก็มีพื้นที่ตรงนี้ ให้คนพิสูจน์เองว่า เป็นหนังในแนวทางของตัวเองหรือไม่ ขอให้เข้าไปดูเถอะ
ผมคำนวณไม่ได้หรอกว่ามีคนที่ชอบจริงเท่าไหร่ ไม่ชอบเท่าไหร่ เพราะตามกระแสมันก็มี ซึ่งอย่างที่บอก มันเป็นข้อดี ย้อนกลับไปตอนเด็กๆ ผมดูหนัง ไปซื้อบางเรื่องที่ทางร้านแนะนำ ดูแล้วก็ไม่ชอบ ไม่รู้เรื่อง เเต่พอมาดูซ้ำอีกทีเมื่อโตขึ้น ก็เข้าใจ นี่ไง มันเป็นเหมือนการย้ำ ทำให้กระเพื่อม เปิดช่องให้คนหันมามอง
ในความเป็นวัยรุ่น บางครั้งเราต้องเข้าใจทางจิตวิทยา เรื่องการตามกระแส เอาที่มันดูเท่ไว้ก่อน ซึ่งผมมองในแง่บวก เป็นการสร้างความสนใจให้หนังทางเลือก ไม่ได้มีหนังของผมอย่างเดียว ยังมีของคนอื่นที่มันฮาร์ดคอร์กว่านี้ มีงานวิจัยของน้องบางคน เขาทำเรื่องแฟนหนังอภิชาติพงศ์ เอามาให้เราดู มีหลากหลายมาก ก็วิเคราะห์กันไป นี่คือสิ่งที่ผมต้องการ ให้มันมีทางเลือก
พูดให้ถึงที่สุด เฟค ไม่เฟค ไม่ใช่ประเด็นหลักสำหรับคนทำหนังอย่างผม ผมเคยพลาดตั้งแต่เอาหนังไปขายให้บริษัทที่จัดฉายหนังตามโรงตลาด เขาเองก็ไม่รู้จักหนังเราดีพอ ไม่รู้ตลาด เหมือนมนุษย์ต่างดาวที่เข้าไปในพื้นที่เเปลกๆ ที่เหมาะสำหรับหนังแอ็คชั่น
ดังนั้น ถ้าเรื่องนี้ ผมจะปล่อย ก็คงเป็นโรงเดียวในกรุงเทพฯ ในขอนแก่น หรือเชียงใหม่อะไรก็ตามแต่ ฉายให้คนที่อยากดูจริงๆ ผมพยายามปรับนะ ไม่พยายามสร้างกระแสด้วยรางวัล ระเบิดปูพรม เพราะคนเข้าไปดู ก็จะเกิดแบบสิ่งที่คุณว่า
เอาเข้าจริงๆ คุณไม่ได้ออกแบบมาให้คนไทยส่วนใหญ่ดูหรือเปล่า
ไม่ๆๆ ผมไม่ได้ทำหนังให้ใครดูแบบเฉพาะเจาะจง ไม่ว่าจะคนไทยหรือฝรั่ง ผมทำหนังให้ตัวเองดู เป็นความทรงจำของผม แต่ถ้ามันเชื่อมได้กับใครก็ดี ไม่อยากเอาไปเข้าประเด็นว่าทำเพื่อฝรั่ง ส่วนคนไทยต้องปีนบันไดดู เพราะนั่นเป็นการดูถูกกันด้วยซ้ำ ว่าคนไทยไม่ยอมรับอะไรที่แตกต่าง ไม่ยอมเรียนรู้อะไรใหม่ๆ
อย่างลุงบุญมีระลึกชาติ เป็นเรื่องของสิ่งที่มันหายๆ ไปในอดีต เรื่องต่อไปของผมอาจเป็นเรื่องอนาคต เรื่องที่เกิดขึ้นในเมือง ซึ่งมันก็เป็นการเจริญเติบโตในการสร้างหนัง มองแค่นี้ ผมเป็นคนทำหนัง เป็นศิลปิน แน่นอน ภาพยนตร์มันเป็นแมส แต่ในแง่ของความเป็นศิลปิน คุณแค่ต้องการแสดงออก ต้องการแชร์ในสิ่งที่คุณคิด ต้องการพื้นที่ในการแสดงออกทางศิลปะ ส่วนเรื่องกังวลอย่างที่คุณว่า ลึกๆ มีอยู่แล้ว เพราะมันเป็นงานของเรา แค่อย่าให้มากระทบกับงานจนต้องเปลี่ยนแปลงในชิ้นต่อไป ตามทิศทางที่คนอื่นต้องการ
นับเฉพาะคนไทย ระหว่างประโยคที่ว่า เรามาดูหนังของอภิชาติพงศ์กันเถอะ หมอนี่ชนะเลิศปาล์มทองคำมา กับอยากดูเพราะหนังของคุณเป็นหนังดี คุณอยากได้ยินแบบไหน
ผมเฉยๆ รางวัลเป็นผลพลอยได้ ทำให้คนที่ไม่เคยรู้จักหนังเราได้ดู และอาจมีสัก 1 ใน 100 ที่เข้าใจ รางวัลมันก็ช่วยในแง่นี้ ส่วนคนที่เป็นแฟน เขาตามดูอยู่แล้ว อีกอย่าง หนังของผมต้องดูในโรงจริงๆ เวลาดูหนังตัวเองจากดีวีดี ผมยังหลับ (หัวเราะ) ไม่ชอบ เราออกแบบมาเพื่อเสพในโรง
ถ้าหนังของคุณต้องดูในโรง อย่างนั้นตัวละครต่างๆ ที่นาบัวเขาพูดอย่างไรกันบ้างเวลาคุณไปถ่าย เพราะพวกเขาไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของคุณอยู่แล้ว
ตรงนั้นเป็นศิลปะการแสดงที่เราไปทำร่วมกัน วันก่อน ผมยังโทรคุยกับนักแสดงคนหนึ่ง เขากำลังดำนา จะปลูกข้าว ตรงนั้นเป็นเรื่องไกลตัวที่ผมพยายามทำให้เป็นส่วนตัว ถึงต้องไปอยู่ที่นั่นนาน พยายามไปคุ้ยอดีตออกมา
ที่ถามคือไม่รู้คุณมองว่ามันสามารถเชื่อมกับพฤติกรรมอื่นๆ ที่เราคุ้นเคยได้ไหม อย่างการที่เราพูดกันเสมอว่า ยินดีรับฟังความเห็นต่าง แต่จริงๆ เราไม่ได้คิดอย่างนั้น
ก็ได้นะ แต่เราต้องเข้าใจ เพราะมันมีอยู่ในทุกสังคม ยกตัวอย่างกรณีคุณธีระที่คุณว่า แกก็ได้ทำหน้าที่ของแกแล้ว ในแง่การแสดงความยินดี แม้แต่นายกฯก็ตาม แต่ถึงที่สุดแล้ว มันต้องช่วยกัน ต้องพยายามทำความเข้าใจกันและกันมากกว่านี้ นอกจากจัดฉากข้างหน้าแล้ว ต้องมีข้างหลังด้วย
เหมือนอย่างที่ผมวิจารณ์สำนักงานเฝ้าระวัง ไม่ใช่ว่าในขณะที่หลายคนชื่นชม มันก็มีอีกหน่วยงานที่คอยทำลาย ซึ่งเวลาเราทำงานกับราชการก็ต้องยอมรับความจริงบางอย่าง ยอมรับความต่างขององค์กร ด้วยกฎ ด้วยอะไรก็ตาม ที่ทำให้คนที่อยากสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์จริงๆ ไม่สามารถทำได้
เช่นกัน ในขณะที่ระบบใหญ่เรื่องการโยกย้ายเก้าอี้รัฐมนตรี ยังเหมือนเล่นเป็นเด็กๆ ตำแหน่งนี้เกรดน้อยกว่าเลยให้คุณมานั่ง เหมือนเล่นเก้าอี้ดนตรี มันเป็นระบบที่น่าสมเพช ผมเองก็พูดกับนายกฯไป ไม่รู้ว่าเขาเห็นอย่างไร แต่อย่างน้อยๆ เราก็ส่งเสียง หรือที่ผมมานั่งพูดกับคุณ นั่นก็เพราะผมคิดอย่างนี้
เหมือนอย่างที่คุณแสดงทัศนะเรื่องคนเสื้อแดง พูดเรื่องความเหลื่อมล้ำ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเสียงที่ต่าง แต่ผลที่ออกมาคุณก็โดนหลายๆ ฝ่ายตำหนิ นี่แสดงให้เห็นว่าเราไม่เอาเสียงต่างใช่ไหม
ครับ เราไม่เคารพเสียงที่แตกต่าง อย่างไรก็ตาม เรื่องเสื้อแดง เสื้อเหลือง มันเป็นประเด็นที่ซับซ้อน แน่นอนว่า ฐานของมันคือเรื่องของความเหลื่อมล้ำอยู่แล้ว ไม่ว่าเสื้อแดงจะมีกี่เฉด กี่ชั้น สังคมไทยมันอนุรักษ์นิยมมาก เป็นเหมือนหมู่บ้านที่สร้างรั้วรอบมาขังตัวเอง ไม่ยอมรับอะไรใหม่ๆ ที่เข้ามาทั้งนั้น ซึ่งมันเชื่อมกับนโยบายปรองดอง นโยบายรวมชาติทั้งหลายที่รัฐกำลังทำอยู่
ผมจำเป็นต้องส่งเสียงกันบ้าง พูดมาตลอดว่ามันไม่เวิร์ค เป็นแค่หน้ากาก ปรองดองอย่างไรทำคนเกลียดกันมากยิ่งขึ้น ผมรู้สึกว่าก็แค่แสดงความเห็น ไม่ได้เลือกข้างด้วยซ้ำ เป็นหนึ่งแนวคิดทางการเมือง ไม่ได้ทำให้เกิดความแตกแยก ไม่ได้ไล่ใครออกจากประเทศ
คุณพูดขอบคุณดวงวิญญาณ ขอบคุณผีสางบนเวทีที่เมืองคานส์ ซึ่งเป็นความเชื่อแบบคนตะวันออก ให้คนตะวันตกฟัง เปรียบเทียบกับสิ่งที่คุณพูดเรื่องเสื้อแดง คิดว่าความเข้าใจของคนมันคล้ายกันไหม เป็นอย่างศัพท์ที่คุณใช้บ่อยๆ ไหม คือมันไม่เชื่อม
บนเวทีวันนั้น ผมว่าเป็นเรื่องที่คนตัดมาแล้วไปเน้นประโยคนี้ อาจเพราะมันโดดเด่นออกมา จริงๆ ผมพูดยาวนะ ที่คุณยกมาเป็นแค่มุกหนึ่ง ซึ่งมันเชื่อมกับหนังของผมที่พูดถึงเรื่องวิญญาณ เรื่องผีในหนังไทย คนที่อยู่ในงานวันนั้น จะเข้าใจ เพราะได้ดูหนัง
ส่วนใครจะตีความว่ามันส่งเสียงมาถึงสถานการณ์ในไทยหรือเปล่า อย่างไร ผมไม่สนใจหรอก ที่สุดจริงๆ ผมก็เชื่ออย่างนั้น อย่างเสื้อแดง คุณจะถูกจ้างมาหรือไม่ สุดท้ายมันก็เป็นเรื่องของคนที่เขาลำบาก ไม่มีจนต้องขาย มันคือความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น การบริหารอย่างไม่เท่าเทียมในคน 2 ฝ่าย ผมเองเสียใจว่าเราไม่ยอมรับกันเสียทีว่าเรามีชนชั้น เรามีเยอะมาก จนไม่สามารถแบ่งได้แค่ว่าเป็นคนชั้นกลาง คนชั้นสูง หรือคนชั้นบ้าอะไร เหมือนอย่างที่เราพยายามใส่สีเสื้อให้คนแค่ 2 สี
มองว่าเราอยู่ในสังคมแห่งการเสแสร้งไหม อย่างที่คุณว่า คนเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับเสื้อแดงไม่ยอมรับว่าเรามีชนชั้น ไม่มีไพร่ ไม่มีอำมาตย์ สลายการชุมนุมก็ยอมให้ใช้คำสวยหรูว่ากระชับพื้นที่
มันเป็นธรรมดาของประเทศโลกที่สาม แต่มันจะต่างกันตรงที่ลักษณะของการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของประเทศอื่นๆ มันอยู่ในยุคที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต ยุคการสื่อสารยังไม่เข้มข้นเท่าตอนนี้ บ้านเราจึงเป็นกรณีพิเศษมาก ขณะที่มีสงครามทางสื่อ มีศัพท์ใหม่ๆ อย่างที่คุณว่า หลายคนก็เห็นว่า มึงเลิกเฟคได้แล้ว
แล้วตัวละครในหนังของคุณเป็นคนชั้นไหน
พอเราพูดถึงคนอีสาน ก็มักถูกเหมาว่าเป็นชาวนา จน หรืออะไรก็ตาม กลายเป็นเราสร้างภาพพจน์ให้แก่คนพวกนี้ หนังของผมพยายามไม่สร้างภาพแบบนั้น บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำงานอะไร อย่างเรื่องลุงบุญมีมันหลากหลายกว่านั้น แต่แน่นอน ไม่ใช่คนเมือง คนทำงานออฟฟิศ ในเรื่องแสงศตวรรษ ชาวบ้านก็มีความหลากหลาย ไม่ได้เหมือนที่สื่อมองว่าชาวบ้านต้องเป็นชาวบ้าน สวยงาม เขาเองก็มีความตึงเครียด มีโรคภัยไข้เจ็บเหมือนคนเมือง มีการคอรัปชั่น
เคยให้สัมภาษณ์ว่าแปลกใจกับรูปปั้นของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่บ้านเกิด ต่อไปถ้ามีรูปปั้นของ ทักษิณ ชินวัตร บ้าง คุณจะแปลกใจหรือเปล่า
จอมพลสฤษดิ์นั้น ส่วนตัวผมว่าเขาเอาความเจริญต่างๆ มาให้ขอนแก่น ทั้งถนน มหาวิทยาลัย แต่อีกมุมหนึ่งมันก็มีหลักฐานชัดเจนในด้านมืดต่างๆ แต่เราก็ยังมีรูปปั้นเขาอยู่ มีภาพนูนต่ำเหมือนในสังคมแบบฟาสซิสต์ เป็นการนับถือผู้นำเผด็จการ ที่น่าตกใจก็คือ ยังมีการแสดงความเคารพอยู่จนถึงปัจจุบัน ซึ่งผมไม่แน่ใจว่ามันเป็นประวัติศาสตร์ลวงหรือไม่
ทักษิณเองก็ต้องมี เพราะมันเป็นเรื่องของอำนาจและความเชื่อของคน รัฐ ซึ่งมันวนไปวนมา รวมถึงในอีกหลายๆ ส่วนที่เราพูดไม่ได้
แต่ยุคนี้ข้อมูลต่างๆ มันมากกว่า เราตรวจสอบทักษิณได้ง่ายกว่าไม่ใช่หรือ
ก็จริง แต่ความเชื่อของคนมันพูดยาก ผมอยู่เชียงใหม่ หน้าบ้านมีเสื้อแดงที่หัวรุนแรงมาก แล้วอย่างไร เขาก็มีเหตุผลซึ่งเราต้องยอมรับ ในเมื่อรัฐบาลอื่นๆ โกงได้ แต่ฉันได้จากรัฐบาลชุดนี้ แล้วทำไมต้องยอม เราต้องเคารพความคิดเบบนี้ คงต้องรอให้รัฐมนตรีการศึกษาเป็นคนที่มีคุณภาพมากกว่านี้ เป็นนักการเมืองมืออาชีพจริงๆ และอย่าลืมนะว่า ประวัติศาสตร์มันจะมีการเปลี่ยนเสมอ ในประเทศอื่น รูปปั้นก็ถูกทำลายได้
มันก็ต้องพูดซ้ำในเรื่องของการสงสารตัวเองเรื่องการศึกษา รู้กันอยู่ว่าเราได้รับการศึกษามาแบบเชื่อฟัง เป็นสังคมทำตาม สังคมเชื่อฟังครูใหญ่ ห้ามเรียนรู้ ประวัติศาสตร์เราก็รู้ด้านเดียว เด็กรุ่นใหม่ก็พูดน้อยในเรื่องการเมือง เพราะไม่รู้จะพูดอะไร ไม่รู้จริงๆ
ผมเองก็ไม่รู้ จนมามีเรื่องการเมืองเสื้อเหลืองนั่นแหละ ที่กระตุ้นให้ต้องศึกษา ว่าเป็นพัฒนาการทางสังคมที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ เราต้องศึกษาว่ามันเกิดอะไรขึ้น ไม่ว่าจากหนังสือ จากเว็บไซต์ แล้วก็มาสังเคราะห์เป็นความคิดของเราเอง ว่าประวัติศาสตร์มันมีหลายด้าน หลายมุม ไม่ใช่เชื่อการสร้างภาพลวงอย่างเดียว มันทำให้ผมรู้สึกว่า เด็กรุ่นใหม่ไม่มีวิวาทะทางการเมือง เพราะไม่มีฐาน ไม่พูดดีกว่า
ทำหนังเกี่ยวกับการระลึกชาติ แล้วคุณเคยดูอดีตชาติของตัวเองบ้างหรือเปล่า
ไม่เคย (หัวเราะ) อยากดูอยู่นะ ผมไม่เชื่อในเรื่องนี้ แค่รู้สึกว่ามันเป็นวิทยาศาสตร์ที่ยังไม่มีเครื่องมือในการวัด
คุณเคยสวมเสื้อสีเหลืองมาก่อน นับว่านั่นคืออดีตชาติของคุณได้ไหม
พูดอย่างนั้นก็ได้ ผมรู้สึกว่าหนังเรื่องลุงบุญมีระลึกชาติพูดถึงเรื่องนี้ คือเปลือกของคนในสังคมไทย มีหลายชาติในชีวิตหนึ่ง มันเหมาไปถึงเรื่องการเมือง เรื่องทางสังคม อย่างตอนลุงบุญมีตาย ตัวละครตัวหนึ่งก็เปลี่ยน กลายเป็นใส่จีวร โกนหัว จนถึงจุดหนึ่ง เราก็ให้ถอดมาใส่เสื้อยืด กางเกงยีนส์ ผมอยากบอกว่ามันเป็นเรื่องของชาติต่างๆ ในหนึ่งชาติ
จะกลายเป็นฟอร์มไหม พอเราอยู่ในชาติปัญญาชนหัวก้าวหน้า รู้มากขึ้น เราก็ต้องมาสวมเสื้อสีแดง ออกลูกเห็นอกเห็นใจคนจน
อืม…ตรงนี้น่ากลัว แต่มันไม่เสมอไป เพื่อนผมที่มีการศึกษาก็เป็นเสื้อเหลืองเยอะแยะ อย่างที่บอก ผมเลยพยายามไม่แบ่งว่าตรงนี้คนชั้นกลาง ตรงนี้สีนี้ มันเป็นเรื่องของการพยายามกระจายข้อมูลให้ถูกต้องมากกว่า มีบางกลุ่มแอนตี้คนไม่เลือกข้าง ไม่เลือกสี ก็ไหนๆ กูไม่มีที่ยืนเเล้ว มึงจะมาบังคับให้กูยืนในที่ที่ไม่อยากยืนทำไม
เรื่องชาติภพในหนังที่คุณทำ คิดว่าสามารถอธิบายความรุนแรงทางการเมืองได้ไหม คือมันเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก
ในหนัง ชาติภพเป็นแค่ส่วนเดียว ผมมองในแง่ความทรงจำมากกว่า ความทรงจำที่เหมือนกับการถูกลืม ประวัติศาสตร์ถูกลบ ถูกสร้างภาพขึ้นมาใหม่ กระทั่งสิ่งที่เกิดขึ้นในนาบัว ชาวบ้านหลายคนก็พยายามลืม เพราะมันเจ็บปวดจากสิ่งที่ถูกกระทำ มันเลยน่าสนใจสำหรับผมในการทำงานที่นาบัว เทียบกับปัจจุบัน มันก็อาจถูกลบไปอีก แม้แต่ความทรงจำที่เป็นประสบการณ์ตรงที่คนบางคนถูกทำร้าย ตัวเขาเองก็อาจอยากลบมันทิ้ง มีทั้งส่วนที่อยากจำและอยากลืม
อย่างไรก็ตาม หนังเรื่องนี้ไม่ได้พูดถึงเรื่องการเมืองมาก แม้แต่ชาติภพเองยังไม่ได้แบ่งชัด
คุณเล่นเฟซบุ๊คไหม คิดเห็นอย่างไรที่มีการตั้งกลุ่มไม่เอาโน่นนี่ในสังคมออนไลน์
ผมไม่รู้จักมันมากนัก เพื่อน แฟน คนใกล้ตัวมีเฟซบุ๊คหมด ยกเว้นผม ถ้ามองอย่างคนนอก รู้สึกดีนะที่มีช่องทางเพื่อความหลากหลาย เพราะเราไม่รู้จริงๆ ว่าตัวเองยืนอยู่ในสังคมแบบไหน พอได้ข่าวว่ามีเฟซบุ๊คตามล่าคน สนับสนุนให้คนฆ่ากัน ทำให้เรารู้ตัวมากขึ้นว่าสังคมไทยมีความรุนแรงที่อัดอั้นอยู่ สภาพจิตของคนในสังคมมีความรุนแรง ผมว่ามันมีประโยชน์ ยิ่งเป็นสังคมที่กำลังพัฒนาด้วย มันส่งผลดีมากกว่ามานั่งหลอกตัวเองว่าเป็นประเทศที่เจริญแล้ว ทำให้เราระมัดระวังมากขึ้น
ไม่น่ากลัวหรือ
แน่นอนว่าน่ากลัว ยิ่งเป็นเรื่องสถาบัน ผมพูดเสมอว่า เป็นการเอาบางสิ่งมาทำร้ายกัน ซึ่งถ้าเรารักจริงๆ ไม่ควรเอามายุ่ง พอเอาความรักมาเป็นเครื่องทำร้ายกัน ไม่ว่าทางจิตวิทยาหรือฆ่าแกงกันจริงๆ มันไม่ถูกต้อง อย่าว่าแต่สถาบันเลย แค่เอาคำว่าชาติมารับใช้ ก็แสดงความล้าหลังแล้ว
มันทำให้ผมสับสน ผมมีเพื่อนที่เลือกข้างอย่างชัดเจน บางคนก็อยู่ในกลุ่มล่าแม่มดด้วยซ้ำ เวลาไปกินข้าวกันที เราจะไม่พูดกันเรื่องนี้เลย พูดไปก็ทะเลาะ พูดเรื่องอื่นดีกว่า หลายสีมาก นี่คือข้อเสียของการแบ่งแยก
กลับมาที่เรื่องรางวัล คนไทยยินดีกับคุณมาก ทั้งๆ ที่ไม่แน่ใจว่าจะดูหนังคุณรู้เรื่องไหม นี่แสดงถึงการเอาชาตินิยมมารับใช้หรือเปล่า
การเมืองมันร้อนคนเลยต้องการเสพข่าวดี แต่ผมพยายามมองในแง่ดีนะ เป็นการเพิ่มเสียงให้คนทำหนัง ถ้าคุณประกอบอาชีพนี้จะรู้ว่ามันลำบาก มีความน้อยใจเยอะในกลุ่มคนทำงาน เราไม่ได้หวังว่ารัฐจะให้เงินอะไรมากมาย แน่นอน มีความคิดว่ามึงต้องเเบ่งภาษีมาให้กู ประเทศเจริญแล้วเขาทำกันทั้งนั้น แต่ใจหนึ่งก็อย่างที่ผมพูด ไม่อยากให้เราเหลิง
อย่างน้อยๆ แค่มาแสดงความยินดีหน่อย จะจัดฉากหรือไม่ก็ตาม คนในสังคมก็เหมือนกัน แต่ก่อน เรายินดีกับวงการกีฬา โดยเฉพาะกีฬาที่บ้านเราถนัด พวกการใช้แรง (หัวเราะ) ให้บ้าน ให้รถ ตอนนี้มันกว้างขึ้นแล้ว สื่อมีผลเยอะ เหมือนที่ไปผมหารองนายกฯ เมื่อ 4-5 ปีก่อน ตอนนี้สื่อช่วย เราไม่ต้องทำแล้ว สื่อพูดเองว่าความสำคัญของคานส์มันอยู่ตรงไหน
เคยบอกว่าอยากเห็นการดูหนังเป็นวัฒนธรรม แต่หนังของ เป็นเอก รัตนเรือง กระทั่งของคุณ กลุ่มคนดูก็ยังน้อย อย่างนี้มันจะเป็นไปได้หรือ
เราอยู่ในจุดเปลี่ยน มันไม่เหมือนเดิม เมื่อก่อนเราพูดกันเรื่องรสนิยม แต่ปัจจุบัน ผมว่ามันคือเรื่องพื้นที่ เราได้ดูหนังแปลกๆ ที่ชาตินี้ไม่คิดว่าจะได้ดู ดังนั้น มันจึงเกิดการเชื่อม ผมว่าเป็นเรื่องของพื้นที่มากกว่า ซึ่งตอนนี้ยังเป็นลักษณะของซีนีเพล็กซ์ ถ้าผมไป ก็จะไม่ดูหนังของตัวเองหรอก เพราะคาดหวังว่าจะได้ดูหนังอย่างอวตาร หรือดูอะไรที่มันมีภาษาหนังอีกแบบ
เลยพยายามผลักดันให้มีศูนย์ภาพยนตร์ ตอนนี้ผมเป็นบอร์ดของหอภาพยนตร์ซึ่งเป็นองค์กรมหาชน มันก็มีโครงการสร้าง กับอีกทางคือเป็นเอกชนเลย ไม่พึ่งรัฐ เพราะผมเชื่อว่ารัฐเพิ่งไม่ได้ในระยาว เป็นรัฐที่ไม่เสถียร นี่คือความฝันของผมเลย เป็นศูนย์ภาพยนตร์ที่มีร้านกาแฟ ร้านดีวีดี ห้องสมุด มีโรงหนังที่เล่นคอนเสิร์ตได้ ฉายหนังจะทางเลือกหรือไม่ก็ตาม
ต้องมีที่ทางให้คนอย่างเราๆ เพราะมันมีกลุ่มคนอย่างนี้อยู่ทั่วโลก เป็นพวกฮาร์ดคอร์ คนรุ่นใหม่ เป็นพื้นที่ของชายขอบ สำหรับภาพยนตร์มันลงทุนสูง เรายังขาด ต้องการเศรษฐีที่เข้าใจ (หัวเราะ) ผมไปดูตัวอย่างมาหลายๆ ที่ น่าสนใจมาก ในญี่ปุ่นนี่เขามีบาร์เหล้าเลยนะ เป็นเหมือนสภากาแฟสมัยก่อน ซึ่งตอนนี้เราไม่มีเลย
ยังเชื่อใจในรสนิยมของคนไทย แต่คิดว่าปัญหาคือเรื่องพื้นที่?
ใช่ ถ้าพื้นที่เรามีตั้งแต่แรก ระบบเซ็นเซอร์ไม่ล้าหลังเหมือนสมัยก่อนที่ตำรวจยังดักดานอยู่ รวมๆ กันหลายอย่างแล้ว มันเลยไม่มีพื้นที่ให้เด็กโตมากับอะไรที่ท้าทาย ประกอบกับการศึกษาแบบท่องจำและต้องตาม
เราพยายามสร้างอะไรหลายๆ อย่างให้เป็นวัฒนธรรม แต่ดูเหมือนยังไปไม่ถึง ไม่คิดว่าเรากำลังวิ่งไล่จับอะไรที่มันไม่มีจริงหรือ อีกอย่าง คุณบอกว่าเป็นเรื่องของคนชายขอบ แล้วมันจะเป็นวัฒนธรรมได้อย่างไร
ผมถึงแอนตี้สำนักเฝ้าระวัง เพราะมันทำให้ความหลากหลายถูกผลักไปอยู่ชายขอบหมดไง หนังศิลปะมันต้องไปอยู่ชายขอบอยู่แล้ว แต่การที่มีชายขอบเยอะๆ มันจะทำให้สังคมแข็งเเรง นั่นแหละ คือวัฒนธรรม
เราบอกไม่ได้หรอกว่า อะไรที่มันอยู่ตรงกลางจะเป็นวัฒนธรรม ความหลากหลายของชายขอบ มันก็คือวัฒนธรรมเหมือนกัน ซึ่งมันถูกทำให้หายไป คำว่าศิลปะเองก็ทำให้ดูสูงส่งเกินจริง มันก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่กำลังโต ถ้าเรามองในสังคมอื่น ศิลปะก็คล้ายการพาลูกพาหลานไปดูหนังโรง สุดท้ายเราก็ต้องยอมรับว่า ศิลปะมันก็เป็นเรื่องของปัจเจก ไม่ใช่สำหรับทุกคนเสมอไป เหมือนผมดูงานในต่างประเทศ คนมาชมก็เป็นกลุ่มเดิมๆ มีเด็กใหม่ๆ เข้ามาบ้าง
ชาวต่างชาติที่เป็นคนดูทั่วไปนี่เหมือนคนไทยส่วนใหญ่ไหม คือดูหนังคุณไม่ค่อยรู้เรื่อง
เหมือนกัน แต่ที่แปลกคือ เรื่องล่าสุดถูกโห่น้อยในคานส์ แต่คนทั่วไปก็เหมือนกัน ไปฉายตามเทศกาล หลายคนซึมๆ เพราะไม่เชื่อมกับตัวหนัง
ฝรั่งก็ไม่ได้อาร์ตกว่าคนไทย
เรียกว่าเขาเปิดกว้างมากกว่า มีรากในการเสพศิลปะ การศึกษาที่ต่างกัน ไม่ได้บอกว่าใครดีกว่าใคร แค่รู้สึกว่ามันเป็นเสรีภาพของมนุษย์ในการเสพสิ่งต่างๆ เราต้องทำให้เมืองไทยเป็นอย่างนั้น อาจไม่ต้องตามทางฝรั่งก็ได้ อย่างญี่ปุ่นเขาก็ไปคนละแบบ
จากสายตากรรมการที่คานส์ พวกเขามองว่าคุณเป็นผู้กำกับหนังไทยไหม
แน่นอน (หัวเราะ)
อย่างนั้น หนังไทยที่ทำๆ กันอยู่ ดูๆ กันอยู่ พยายามสร้างให้อินเตอร์ ฝรั่งเค้าก็มองว่านี่ไม่ใช่หนังไทย ยูลอกไอมา
มีหลายมุม ถ้าพูดถึงฝรั่งที่เป็นฮาร์ดคอร์ด้านหนังจริงๆ ก็ต้องมองอย่างนั้น แต่หลายคนก็มองว่าไทยนะ เพราะมีสีสันบางอย่างที่เขาไม่มี ตลกกับผีมารวมกันได้อย่างไร อีกอย่าง ภาษาหนังไทย มันยังไม่หลากหลาย ไม่ชัด ไม่เปิดกว้างขนาดนั้น ไม่เหมือนญี่ปุ่นที่มีสไตล์ หรือแม้แต่เกาหลี
บอกว่าอย่างน้อยๆ หนังของคุณก็เป็นแรงกระเพื่อม แสดงว่าก็ทำหนังเพื่อคนรุ่นต่อไป
อืม…เพื่อตัวเองครับ (หัวเราะ) มีหลายโครงการมากๆ ที่ผมพยายามผลัก ก็ดูที่อินกับมันมากที่สุด เรื่องลุงบุญมีนี่ทำมา 3-4 ปี คุยให้ฟังนิดนึง ผมเลือกชนบทเพราะเบื่อกรุงเทพฯ อยากเดินทาง ไปดูว่ามีอะไรที่เปลี่ยนบ้าง มีอะไรที่เหลืออยู่ เพราะสื่อไทยไม่ค่อยเหลียวแล กรุงเทพฯ ไม่ใช่ประเทศไทยนะครับ
ที่บอกว่าเบื่อกรุงเทพฯนี่ ไม่ได้ออกแนวคลั่งการอนุรักษ์นะ ผมไม่ต้องการให้การอนุรักษ์คือการแช่แข็ง อย่างหนังผมที่ถ่ายในชนบท มันเป็นการทดลอง เป็นเรื่องความทรงจำ แต่ต่อไป อาจเป็นเรื่องการเมือง หรือเข้าเมืองมากขึ้น เอาให้ใหม่เลย ลุงบุญมีนี่ยังเก่าอยู่ (หัวเราะ)
เดี๋ยวนี้คนโหยหาอดคีตจนกลายเป็นเทรนด์ คิดว่านี่คือความเป็นไทย ต้องอนุรักษ์ ไปปายก็ต้องนั่งร้านไม้เก่าๆ โอเค มันเป็นความชอบส่วนตัว แต่ใจหนึ่งเราคิดว่าเลิกได้แล้ว หาสิ่งอื่นๆ มาบ้างได้ไหม นี่มันเชื่อมกับลัทธิชาตินิยมนะ คือการพยายามหาแบบฉบับของความเป็นไทย การได้นั่งร้านกาแฟเก่าๆ การได้ไปตลาดน้ำ เป็นการแก้เซ็งจากการทำงาน เราต้องโตไปมากกว่านี้ รัฐต้องเข้าใจด้วย ไม่ใช่จะสร้างตลาดน้ำปลอมๆ รณรงค์ให้คนใส่ผ้าไทย มันไร้สาระ
คุณชอบความเป็นไทยไหม
ไทยคือความหลากหลายที่เราลอกเขามา ลอกสิ่งที่แยกย่อยจากชนชาติต่างๆ ซึ่งแต่ละที่มันก็มีรากต่างกัน จีนบ้าง เขมรบ้าง มาทำให้เป็นวัฒนธรรมเชิงเดี่ยว เหมือนกันหมด
*****************************************
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์เมื่อกุมภาพันธ์ 2554)