เทคโนโลยีบ้านๆ กับงานระดับกู้โลก

“ปัญหาของเราคือ มักไปมองนวัตกรรมนอกบ้าน แต่ลืมดูว่าตัวเองมีศักยภาพมากแค่ไหน”

ถ้อยคำสั้นๆ ที่ ผศ.ดร.เพ็ญจา จิตจำรูญโชคไชย แห่งคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กล่าวในงานมอบรางวัล World Energy Globe Awards สาขาพลังงานทดแทน

ขยะ กากตะกอน ของเสีย ทั้งจากครัวเรือนและอุตสาหกรรม เป็นปัญหาชวนปวดหัวมาตลอด แต่ความไร้ค่าน่าเวียนหัวนี้เองได้กลายมาเป็น ‘โจทย์’ ในการคิด กลายเป็นที่มาของผลงานวิจัยเรื่อง “Charcoal Briquettes Made from Pulp and Paper Mill Waste”พิชิตรางวัลบนเวทีรัฐสภาแห่งสหภาพยุโรป ณ กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยียม

มองดูรายนามคณะกรรมการตัดสินแล้ว ล้วนเป็นบุคคลในแวดวงสิ่งแวดล้อมระดับโลกทั้งสิ้น ตั้งแต่โคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ มิกาอิล กอร์บาชอฟ อดีตประธานาธิบดีรัสเซีย ฮาร์น เกิร์ต พอตเตอริง ประธานสหภาพยุโรป แอนดิส พายแบก ประธานด้านพลังงานสหภาพยุโรป ศ.ดร.แอนโทรัส เซอร์วอส ประธานพลังงานทดแทนยุโรป ศ.ดร.เคลาส์ โทเฟอร์ อดีตเลขาธิการองค์กรสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ และนายแอนโทนี โลวิน รางวัลโนเบลทางด้านสิ่งแวดล้อม

ราคาและความหมายของรางวัลนี้ ให้น้ำหนักไปที่การสร้างนวัตกรรมด้านพลังงานทดแทนตามศักยภาพตามที่ประเทศนั้น ๆ มีอยู่ และสามารถนำไปใช้จริงได้อย่างแพร่หลายไม่ว่าจะทั้งในครัวเรือน ไปจนถึงภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

พูดง่ายๆ แม้นว่าเป้าหมายอาจใหญ่โต แต่เทคโนโลยีต้องไม่ซับซ้อน

อาจารย์เพ็ญจาเริ่มต้นงานวิจัยชิ้นนี้ด้วยการไม่ตีกรอบผลลัพธ์ไว้ล่วงหน้า เพื่ออิสระสูงสุดในการทำงาน…ซึ่งนั่นแปลว่าต้องควักเงินตัวเองเพื่องานนี้ตั้งแต่ต้น

แนวคิดเริ่มต้นจากโจทย์พื้นๆ ที่ว่า มลพิษของกากตะกอนที่ออกมาจากระบบบำบัดน้ำเสียมีจำนวนมากและไม่มีที่ทิ้ง จนกลายเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม จึงได้เกิดความคิดที่จะนำของเสียเหล่านี้มาดัดแปลงเพื่อนำมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์ โดยอาศัยเศษวัสดุ ของเสีย กากตะกอนที่เป็นพวกเส้นใยพืชซึ่งเป็นอินทรียสาร

ดังนั้น อะไรก็ตามที่มีเส้นใยและไม่มีน้ำมาก สามารถนำมาทำเชื้อเพลิงได้ทั้งสิ้น

เชื้อเพลิงอัดแท่งเจ้าของรางวัล World Energy Globe Awardsใช้วัตถุดิบจากตะกอนระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงานเยื่อและกระดาษ เอาของเหลือทิ้งมาใช้ ลดของเสียจากภาคอุตสาหกรรมให้ได้มากที่สุด ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และทดแทนการใช้เชื้อเพลิงนำเข้าที่ราคาสูง ด้วยวิธีการที่ใครๆ ก็ทำเองที่บ้านได้

“เพราะเมื่อตากแดดให้แห้งแล้ว มันจะสามารถยึดเกาะกันได้ในระดับหนึ่ง ซ้ำยังไม่ก่อให้เกิดมลพิษมากอีกด้วย”

วิธีทำให้ของเสียจับตัวเป็นแท่งเชื้อเพลิง ใช้การเติมตัวประสานที่ไม่ใช่สารเคมี เช่น แป้งมันสำปะหลัง กากน้ำตาล หรือเยลลี่ที่มาจากสัตว์ ในปริมาณเพียงเล็กน้อย นำมาอัด ตากแห้ง และผสมเศษต้นไม้ใบหญ้าแห้ง ๆ เพื่อการติดไฟ แล้วอัดเป็นแท่ง

กระบวนการเหล่านี้ ผ่านการทดลองซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อให้ได้อัตราส่วนที่ดีที่สุด ซึ่งวัสดุแต่ละอย่างก็มีอัตราส่วนในการทำไม่เท่ากัน

สุดท้าย จึงได้ก้อนเชื้อเพลิงจากวัสดุหลากหลายที่อยู่ตัว ให้เชื้อเพลิง และมีมลพิษน้อยที่สุดโดยวัดจากปริมาณควันหลังจากการเผาไหม้แล้ว

ที่สำคัญ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องง้อเทคโนโลยีไฮเทคราคาแพง เพราะอาจารย์เพ็ญจาขนวัสดุทุกอย่างไปทดลองทำที่บ้านตนเองทุกกระบวนความ แม้ว่าจะเคยทดลองการใช้อุปกรณ์ของศูนย์วิจัยซึ่งได้ก้อนเชื้อเพลิงที่ได้ค่าพลังงาน ค่าความคงทนสูงกว่าการใช้กระบอกไม้ทำเองและแรงมือของอาจารย์ก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติแล้ว เครื่องมือเหล่านั้นจะเป็นตัวจำกัดการผลิต เพราะคนทั่วไปไม่สามารถครอบครองเครื่องมือเหล่านั้นได้ทุกคน อีกทั้ง ค่าพลังงานที่วัดออกมายังไม่ได้ต่างกันมากนัก

 

การทดสอบค่าความร้อนด้วยวิธีง่ายๆ เช่น ต้มไข่ หรือหุงข้าว ก็ยังสามารถทำได้ ดังนั้น ก้อนเชื้อเพลิงที่ใช้อุปกรณ์ทำเองแบบพื้นๆ กับแรงมือของตนจึงสามารถใช้ได้ทุกครัวเรือนตามเป้าประสงค์ของอาจารย์ที่ต้องการให้ทุกคนได้ใช้แบบไม่หวงวิชา ซึ่งหลังจากที่ได้รับรางวัลก็มีหลายคนทยอยมาฝากฝังตัวเป็นลูกศิษย์อย่างไม่ขาดสาย

นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้อาจารย์เพ็ญจาตัดสินใจไม่จดสิทธิบัตรงานวิจัยชิ้นนี้

“จดแล้วคนทั่วไปก็นำไปใช้ไม่สะดวก สู้ปล่อยให้นำไปใช้กันมากๆ ชดเชยราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นในทุกวันนี้ดีกว่า และสิ่งเหล่านี้ก็เป็นของง่ายๆ ที่มีในบ้านเราเองด้วย”

นอกจากงานวิจัยชิ้นนี้ อาจารย์ยังมีโครงการเกี่ยวกับการนำของเหลือใช้มาทำพลังงานทดแทนอีกหลากหลายที่กำลังดำเนินการอยู่ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดที่มองว่าผลประโยชน์ควรเกิดกับคนทั้งประเทศ มิใช่เพียงคนต้นคิดเท่านั้น ทั้งยังต้องตระหนักถึงศักยภาพและเทคโนโลยีของตัวเองซึ่งสามารถปรับเปลี่ยน ยืดหยุ่น เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองได้

“ไม่ต้องไปเห่อตามต่างชาติมาก บ้านเราก็มีวัตถุดิบดี ๆ รอให้หยิบไปใช้อีกเพียบ แต่เราไม่ได้สังเกตเท่านั้น”

เช่นเดียวกับก้อนเชื้อเพลิงของอาจารย์ที่เกิดขึ้นง่าย ๆ ณ หลังบ้านเรานี่เอง

Author

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า