สายน้ำติดเชื้อ

ByTheRiver-poster
ภาพ: facebook.com/bytherivermovie
เรื่อง: อาลี ปรียากร

 

 

มนุษย์กับสายน้ำเป็นสิ่งที่ยากจะแยกออกจากกัน แหล่งอารยธรรมโบราณหรือที่อยู่อาศัยของมนุษย์ในปัจจุบันมักจะตั้งอยู่บริเวณที่มีแหล่งน้ำ เพื่อที่มนุษย์จะได้พึ่งพาแหล่งน้ำในการดำรงชีวิต

เช่นเดียวกับชาวบ้านชาวกระเหรี่ยงในหมู่บ้านคลิตี้ล่าง ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ที่อาศัยอยู่กับแหล่งน้ำบริเวณลำห้วยคลิตี้มานานนับศตวรรษ

ชีวิตของชาวกระเหรี่ยงหมู่บ้านคลิตี้ล่างอยู่อาศัยกันสงบเรียบร้อย ราบรื่นดี จนกระทั่งเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน บริษัท ตะกั่ว คอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เข้ามาทำเหมืองอยู่บริเวณเหนือแหล่งน้ำ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณไม่ห่างจากหมู่บ้านมากนัก และได้ทิ้งของเสียลงไปในแหล่งน้ำใกล้เคียง ส่งผลให้ลำห้วยคลิตี้ปนเปื้อนไปด้วยสารตะกั่ว กระทบต่อชาวบ้านที่ต้องพึ่งพาลำห้วยแห่งนี้ในการดำรงชีวิตโดยตรง ทั้งการใช้น้ำในลำห้วยแทนน้ำประปาในช่วงที่น้ำประปาไม่ไหล หรือ การต้องจับปลาในลำห้วยเพื่อบริโภค

หลังจากรอคอยมา 15 ปี 10 มกราคม 2556 ชาวบ้านคลิตี้ล่างได้ ชนะคดี จากการยื่นฟ้องกรมควบคุมมลพิษ ขอให้ปฏิบัติหน้าที่ในการกำจัดมลพิษและฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว และชดใช้ค่าเสียหายจากการละเลยล่าช้าในการฟื้นฟูลำห้วยที่ผ่านมาให้แก้ผู้ฟ้องคดี ว่ากันว่านี่เป็นคดีแรกๆ ที่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมชนะคดีฟ้องร้องหน่วยงานภาครัฐ

ท่ามกลางความสงบของป่าลึก ชาวบ้านหมู่บ้านคลิตี้ในจังหวัดกาญจนบุรี ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายมาโดยตลอด ปลาในลำธารคือแหล่งอาหารหลักของชาวบ้านคลิ­ตี้ แต่สายน้ำที่เป็นแหล่งทำมาหากินนั้นปนเปื้­อนด้วยแร่ตะกั่วจากการทำเหมืองแร่มาเป็นระ­ยะเวลาหนึ่ง
ชายหนุ่มคนหนึ่งในหมู่บ้านลงดำน้ำจับปลามา­ให้คนรักทุกวัน แต่วันนี้เขาหายไป ไม่อาจกลับมาหาเธอที่ยังคงรอคอยเขาอยู่

นี่คือเรื่องย่อของภาพยนตร์ที่ถูกเผยแพร่พร้อมกับตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง สายน้ำติดเชื้อ : By the River โดย นนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีมากฝีมือที่เคยกำกับภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง สนใจที่จะทำภาพยนตร์เกี่ยวกับชีวิตชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการรุกรานพื้นที่ของทั้งภาครัฐและเอกชน และได้เลือกที่จะถ่ายทอดวิถีชีวิตของชาวบ้านในหมู่บ้านคลิตี้ล่าง

นนทวัฒน์ให้เหตุผลของการเลือกประเด็นนี้มาถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์สารคดี บนเวทีเปิดตัวภาพยนตร์ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมว่า

ชาวบ้านที่หมู่บ้านคลิตี้ล่างได้รับผลกระทบจากการปล่อยของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ทำเหมืองแร่ ซึ่งตั้งอยู่ต้นน้ำ แล้วพอแม่น้ำสายนี้ปนเปื้อนก็ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชาวบ้านที่อาศัยอยู่กับสายน้ำ ชาวบ้านที่ต้องอาศัยการจับปลา พอมีสิ่งปนเปื้อน คนที่ทานปลาเข้าไป คนที่ใช้น้ำจากสายน้ำสายนี้เข้าไปก็เป็นโรคกัน เด็กที่เกิดมาใหม่มีพัฒนาการทางสมองที่มีปัญหา บางคนก็ตาบอดก็มี

อยากทำประเด็นของคนตัวเล็กๆ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากส่วนกลาง ตั้งใจจะทำประเด็นสิ่งแวดล้อมเพราะคิดว่าคนทั่วไปน่าจะสัมผัสได้ง่าย ปรากฏว่าพอลองหาประเด็นดู พบว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมในเมืองไทยมีเยอะมาก เราตกใจมากว่ามันมีปัญหาเรื่องนี้เยอะ ทั้งเรื่องของโรงไฟฟ้า เรื่องของเหมือง

ที่อยากทำประเด็นคลิตี้เพราะมันเป็นที่แรกๆ ที่ชาวบ้านฟ้องโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ฟ้องภาครัฐ กรมควบคุมมลพิษ ทำให้หลายๆ อย่างดีขึ้น โรงงานก็ปิดตัวไป แล้วก็น่าจะทำให้เป็นแรงบันดาลใจให้ที่อื่นๆ ได้ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อทำให้อะไรดีขึ้น

         

ByTheRiver

 

การชนะคดีของชาวบ้านไม่ได้ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้านให้อยู่อาศัยได้ดีขึ้นทันตา แม้ว่าโรงงานจะถูกปิดตัวลงไปแล้ว แต่สิ่งปนเปื้อนต่างๆ ยังคงมีอยู่ในแหล่งน้ำ และชาวบ้านยังจำเป็นต้องพึ่งพาลำห้วยคลิตี้ต่อไป

ภาพยนตร์ได้นำเสนอภาพวิถีชีวิตของคนในหมู่บ้าน โดยเล่าเรื่องผ่านการ ‘ดำปลา’ หรือการหาปลาด้วยวิธีที่ต้องดำน้ำลงไปในลำห้วยคลิตี้ของสมชาย โต้งฟ้า ผสมผสานกับวิถีชีวิตของชาวกระเหรี่ยงในหมู่บ้านคลิตี้ล่าง ซึ่งทุกคนล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบจากสายน้ำติดเชื้อสายนี้

ด้วยการนำเสนอภาพยนตร์ที่แปลกใหม่ ผ่านการเล่าเรื่องด้วยภาพที่จัดวางองค์ประกอบภาพได้สวยงาม และการทำสารคดีที่ใช้การเล่าเรื่องแบบภาพยนตร์ทั้งในแง่ของการตัดต่อ การจัดลำดับเรื่องราว ทำให้ภาพยนตร์สารคดีความยาว 70 นาทีเรื่องนี้ได้รับการคัดเลือกให้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโลการ์โน (Locarno International Film Festival) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และได้รับรางวัล Special Mention สาย Concorso Cineasti del presente

หลังจากเดินสายฉายมาในหลายประเทศ วันนี้คนไทยสามารถรับชม สายน้ำติดเชื้อ : By the River ได้แล้ว โดยเริ่มเข้าฉายในโรงภาพยนตร์วันที่ 8 พฤษภาคมนี้ ที่โรงภาพยนตร์ SF World Cinema ศูนย์การค้า Central World และโรงภาพยนตร์ SFX Maya จังหวัดเชียงใหม่ โดยจะจัดฉายวันละ 2 รอบ เวลา 16.00 น. และ 20.00 น.

สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมของภาพยนตร์ได้ ที่นี่ 

 

 

 

 

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า