เรื่อง : ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ / ภาพ : อนุช ยนตมุต
เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียวผู้สวมหมวกหลายใบคนนี้มีจักรยานเป็นของตัวเอง 4 คัน ตั้งแต่มือสอง ไปจนถึงตระกูลไฮโซ เธอบอกว่าดูเหมือนเยอะ เพราะเป็นคนไม่เคยขายจักรยานทิ้งเลย คันเก่าที่เคยใช้ขี่เมื่อ 25 ปีก่อนก็ยังจอดไว้ใช้ที่บ้านอย่างทะนุถนอม
ถ้านับรวมพาหนะทั้งหมด ต้องบอกว่า ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ ‘ดร.อ้อย’ มีถึง 5 เพราะรวมรถยนต์เอาไว้อีกหนึ่ง หากคันโปรดคือโตเกียวไบค์ รถถีบสายพันธุ์ทัวริ่ง สีโปรด…สีชมพู
“เขาบอกว่า กับรถยนต์เราทิ้งๆ ขว้างๆ ผิดกับจักรยานประคบประหงมอย่างกับลูก” ดร.อ้อยหยิบคำคนข้างตัวมาเล่ากลั้วเสียงหัวเราะ ก่อนจะย้ำว่า จักรยานเป็นพาหนะที่เหมาะกับกรุงเทพฯจริงๆ โดยเฉพาะในแง่ภูมิศาสตร์ และจริตคนเมืองหลวง
เพียงแต่ตอนนี้ ‘ทาง’ กับ ‘ใจ’ ยังไม่เปิดเท่านั้น
1. ลักษณะทางกายภาพของกรุงเทพฯ ที่เป็นย่านหย่อมใกล้ๆ กัน การทำให้เป็นเมืองจักรยานเป็นเรื่องง่ายหรือไม่ หรือยังต้องการความพร้อมด้านใดอีก
ในแง่ภูมิศาสตร์ กรุงเทพฯเป็นเมืองจักรยานได้ง่ายมาก ถ้าสังคมเอา การเมืองเอา เพราะกรุงเทพฯ มีลักษณะแบนราบ ทำให้ขี่สบายอยู่แล้ว ถนนที่สร้างมาก็ใหญ่พอและมีหลายเลน ถ้าเทียบกับยุโรปซึ่งเป็นเมืองเก่า เป็นตรอกเล็กๆ การเปลี่ยนให้รถยนต์อยู่กับจักรยานยากกว่าเยอะ เขายังทำได้เลย ฉะนั้นของเรา ทางกายภาพจึงง่ายมาก
แต่ความยากอยู่ที่จะทำอย่างไรให้หย่อมย่านเหล่านี้ต่อกัน เพราะการเป็นเมืองจักรยานหมายความว่า ต้องสัญจรด้วยจักรยานเป็นโครงข่ายได้ ตอนนี้เราพยายามทำแผนที่จักรยาน หรือลายแทงของคนขี่จักรยานในโซนที่แต่ละคนถนัด แล้วเอามาแชร์ต่อกัน เป็นเส้นทางที่ใช้ขี่ได้คล่อง รถไม่เยอะไป แล้วก็เอามาหาจุดต่อที่ดีที่สุด หลายที่ไม่ยาก แต่อีกหลายที่ยาก
ความยากคือ ถนนใหญ่ที่คนข้ามยาก จักรยานก็ข้ามยาก ตัวอย่างคลาสสิกคือ ฝั่งธนฯ ซึ่งเป็นชุมชน มีวัด มีตรอกเล็กตรอกน้อย ถนนริมคลองขี่จักรยานได้ แต่พอเราจะข้ามไปอีกฝั่ง กลับถูกตัดด้วยถนนใหญ่ไม่รู้กี่เลน ไม่มีทางม้าลาย ไม่มีไฟจราจร เราไปต่อไม่ได้ นี่คือปัญหาของเมืองที่ดีไซน์ให้รถยนต์
2. ในฐานะคนใช้ การทำกรุงเทพฯให้เป็นเมืองจักรยาน ควรทำอะไรเป็นอันดับแรก
มี 2 เรื่องที่ต้องทำควบคู่กันไป คือ ‘เปิดทาง’ ในเชิงกายภาพให้จักรยานได้ ขณะเดียวกันก็ต้องทำงานเชิงทัศนคติเพื่อให้คนเปิดใจ เปิดใจหมายความว่า ต้องทำให้คนมองเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ และเป็นไปแล้วด้วยวิธีการอะไรบ้าง
สำหรับคนกรุงเทพฯ ไม่ได้พิเศษหรือประหลาดไปกว่าคนอื่น จากความพยายามที่ผ่านมา จริตคนไทย คือเรื่องกิน การขี่พาไปกินมันเวิร์คมาก คนไทยชอบกินชอบเที่ยว ชอบสนุก สบาย ความเป็นเมืองมันมีเสน่ห์มาก มีตลาด ร้านเล็กๆ ความสนุกเบื้องต้นมาจากการได้ปั่นออกไปกิน แต่ไม่ว่าเราจะพยายามนิยามคนไทยยังไง ที่สุดแล้วมันก็หลากจริต จะมีกลุ่มชอบออกกำลัง ชอบกิน แต่ไม่ว่าจริตไหน เริ่มให้มันง่าย และเริ่มจากสิ่งที่ชอบ
ที่สำคัญรัฐต้องไม่มองว่าจักรยานเป็นแค่ของเล่นของประดับ ต้องเอาจริง และเห็นว่าจักรยานเป็นคำตอบ
3. ประเด็นความปลอดภัยและสุขภาพ ที่นักขี่และนักอยากขี่เป็นกังวล มีวิธีจัดการแก้ไขอย่างไร
วันคาร์ฟรีเดย์ที่ผ่านมา เราสำรวจความคิดเห็น 4,500 คน ใน 2-3 คำถามหลักๆ เราถามว่า “จะขี่จักรยานไหม ถ้าปลอดภัย” ประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์บอกว่าขี่ ถามต่อว่า ถ้าขอแบ่งเลนถนนมากั้นเป็นเลนจักรยาน จะยอมไหม 95 เปอร์เซ็นต์ยอม ความปลอดภัยเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด มากกว่าเรื่องความร้อน ความปลอดภัยในที่นี้หมายถึงกลัวถูกชนถูกเฉี่ยว และกลัวมลพิษ
ถ้าดูสถิติทั่วโลก จักรยานเจออุบัติเหตุน้อย น้อยกว่าคนเดินแล้วถูกรถชน แต่พอโดนทีมันเป็นข่าวดัง อุบัติเหตุทั่วไปในโลก ครึ่งหนึ่งเกิดจากความผิดของคนขี่จักรยานเอง ถ้าอยากปลอดภัยก็ต้องปฏิบัติตามกฎจราจร ต้องสื่อสารให้คนขับรถรู้ว่า จักรยานก็เป็นพาหนะอย่างหนึ่ง มีสิทธิใช้ถนน แล้วพอคนเริ่มรู้ว่ามันมีวิธีขี่อย่างไรบ้าง รู้ว่าจุดที่ไม่ปลอดภัยคืออะไร ก็จะค่อยๆ เกิดความมั่นใจ และความมั่นใจมันจะเป็นตัวเซฟเรา
คนที่ขี่ตัวเล็กๆ ลีบๆ คนอื่นจะมองไม่เห็น อยากรังแก ไม่เคารพ แต่ถ้าขี่อย่างยิ่งใหญ่ คือรู้ในสิทธิของตนเองอย่างชัดเจน คนอื่นก็มองเห็นและเคารพ อย่างตัวเองขี่ก็ไม่เห็นรถจะรังแกอะไร ยิ่งถ้านุ่งกระโปรงขี่ รู้สึกว่าจะได้รับการดูแลอย่างดี (หัวเราะ) ส่วนมลพิษ มีงานวิจัยออกมาเยอะมาก ที่บอกว่าจริงๆ แล้ว คนขี่จักรยานขับมลพิษออกมาจากปอดได้มากกว่าคนนั่งอยู่ในรถติดแอร์ เพราะเราออกกำลังอยู่
4.นักขับบางคนอาจเถียงว่ารถยนต์เสียภาษีทุกปี ถ้าจะแชร์กันทั้งที ให้นักขี่เสียภาษีบ้างดีไหม
รถยนต์ต่อทะเบียนก็ไม่ได้เสียภาษีมาบำรุงถนนมากมาย การบำรุงดูแลรักษาหรือสร้างถนนส่วนใหญ่มาจากภาษีส่วนกลาง ประการแรก คุณไม่ได้เป็นตัวหลักที่จ่าย แต่คุณกลับยึดไปครองเยอะแยะ ทั้งๆ ที่พื้นที่ถนนควรเป็นของทุกคน
ยังมีค่าอื่นๆ อีกมากที่ไม่ได้จ่ายเพราะระบบโครงสร้างเศรษฐกิจเรายังไปอุดหนุน คุณพ่นไอเสียมากมาย กินพื้นที่คนอื่น แล้วคุณยังมาเรียกร้องให้คนขี่จักรยานซึ่งไม่ได้ปล่อยมลพิษต้องจ่ายภาษีด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วคุณต้องจ่ายค่าคาร์บอนเครดิตให้เขานะ
หรือถ้าจะให้คนขี่จักรยานมีใบขับขี่ ซึ่งแต่ก่อนมี ก็โอเค ได้เลย คนขี่จะได้รับการเทรน ช่วยให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น แต่ต้องเคารพกฎกติกาของถนนเหมือนกัน เวลาเกิดอุบัติเหตุ จักรยานก็ต้องโดนเหมือนกัน ไม่ต้องมายกเว้น
5. จากคำกล่าวว่า ‘จักรยานช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้’ หมายความว่าอย่างไร
ปัญหาของคนกรุงเทพฯมาจากรถทั้งนั้น รถติด อากาศก็เสีย คนที่มีรถยนต์ก็ไม่แฮปปี้ หนีปัญหาโดยการเข้าไปอยู่ในรถแอร์ แต่ตัวเองกลับพ่นหรือโยนปัญหาออกมาข้างนอกให้คนอื่นแบกรับ เมื่อคนข้างนอกต้องมาดมอากาศไม่ดี ก็แย่ หงุดหงิด อันนี้พื้นฐานของความเหลื่อมล้ำเลย
รถยนต์กินพื้นที่มาก เอาทรัพยากรไปมากที่สุด แล้วเหลือทรัพยากรนิดเดียวไว้ให้คนจำนวนมาก นี่คือความไม่เท่าเทียมของการใช้และการเข้าถึงทรัพยากร ความแตกต่างอย่างมากทำให้คนรู้สึกถึงความไม่ยุติธรรม โกรธ ไม่แฟร์ การไม่เคารพสิทธิพื้นฐานซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดปัญหา
แต่ขนส่งมวลชนซึ่งกินที่น้อยกว่า ทุกคนเข้าถึงได้ด้วยกัน กับจักรยานที่ทำให้คนมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันดีขึ้น ได้สื่อสารกัน ได้มองตากัน ก็เริ่มเห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน เกิดการเข้าถึง ไม่มีใครเอามากเกินกว่าอีกคนมากนัก แค่อากาศดีๆ ที่แบ่งให้กัน คนก็อารมณ์ดีขึ้นเยอะ ทุกคนมีพื้นที่สาธารณะร่วมกันได้ มีทรัพยากรให้เข้าถึงได้เท่าเทียมกัน คนแฮปปี้ขึ้น สบายขึ้น ก็อยากฆ่าคนอื่นน้อยลง เห็นได้จากสถิติฆาตรกรรมที่ลดลงหลายเท่าจากเมืองที่เปลี่ยนจากเมืองรถยนต์มาเป็นเมืองจักรยาน
…………………………………………….
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ ธันวาคม 2554)