หลายคนคงเคยดูรายการโทรทัศน์ชื่อ เมกาเคลฟเวอร์ฉลาดสุดๆ ทางช่องโมเดิร์นไนน์ทีวี ผมได้ดูรายการนี้กับลูกบ้างเป็นครั้งคราวและคิดว่ามันเป็นรายการที่มีเนื้อหาและรูปแบบการนำเสนอที่น่าสนใจดูได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ รายการที่ว่านี้มักมีคำถามแปลกๆมาถามและชวนให้เราคิดหาคำตอบด้วยการทดลองแปลกๆเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกลศาสตร์เคมีชีววิทยาหรือคณิตศาสตร์ ที่สำคัญรายการวิทยาศาสตร์นี้ ยังมีการนำเสนอเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับสังคมและพฤติกรรมศาสตร์ด้วย
เช่น การเสนอผลวิจัยให้เห็นว่าความรู้สึกของคนที่เข้าแถวรอจ่ายเงินที่เคาน์เตอร์ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่มักคิดว่าระยะเวลาที่ตนรอคิวนั้นยาวนานกว่าเวลาจริงที่วัดได้ จากการใช้นาฬิกาจับเวลาหรือการที่ผู้ชาย (ชาวเยอรมัน) จำนวนมากจะยอมหยุดรถเพื่อช่วยซ่อมจักรยานให้กับผู้หญิงที่แต่งตัวเซ็กซี่มากกว่าช่วยผู้หญิง(คนเดียวกัน)ที่แต่งตัวเชยๆ หรือการที่คน(ชาวเยอรมันอีกเช่นกันเพราะรายการนี้ผลิตในเยอรมัน) มากกว่า60เปอร์เซ็นต์จะยอมปฏิบัติตามคำสั่งของคนในเครื่องแบบทั้งที่เป็นคำสั่งที่ไม่เข้าท่าเป็นต้น
ผมนึกชื่นชมกับ ‘ความฉลาดสุดๆ’ของผู้ผลิตรายการนี้ทุกทีแต่ความชื่นชมของผมมักจะมาสะดุดลงเมื่อเห็นตัวอักษรวิ่งและการคั่นโฆษณาว่ารายการนี้นำมาฉายโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสวทช. หลายคนอาจรู้สึกชื่นชมที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯนำรายการดีๆอย่างนี้มาออกอากาศ
แต่สำหรับผมพอเห็นผลงานราชการแบบนี้ทีไรผมมักนึกถึง ‘ตลาดนัดธงฟ้า’ ที่กระทรวงพานิชย์ไปสวมบทบาทเป็นคนจัดตลาดนัดจำหน่ายสินค้าราคาถูกขึ้นมาทันทีเพราะมันสะท้อนการทำงานที่ไม่ค่อยเข้าท่าพอๆกัน นั่นคือมันสะท้อนความสับสนเรื่องบทบาทหน้าที่และความไร้น้ำยาในการทำงานเชิงนโยบาย
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทที่ต้องทำนโยบายและผลักดันเพื่อให้การเรียนรู้และพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกิดขึ้นโดยทั่วไปทั้งในและนอกระบบการศึกษาไม่น่าจะต้องมาทำหน้าที่ผู้จัดหารายการโทรทัศน์ที่สอนเรื่องวิทยาศาสตร์มาออกอากาศเสียเอง พูดง่ายๆคำถามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควรถามเกี่ยวกับการสื่อสารเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ไม่ใช่คำถามว่าจะหารายการโทรทัศน์อะไรมาออกอากาศแต่ต้องถามคำถาม เช่น ถ้าจะให้เกิดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ให้กว้างขวางและลึกซึ้งจะต้องผลักดันนโยบายด้านไหนอะไรบ้าง
ถ้ารายการโทรทัศน์เป็นที่ทางสำหรับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์รัฐควรจะมีนโยบายอย่างไรบ้างที่จะทำให้เกิดรายการโทรทัศน์ด้านวิทยาศาสตร์ที่ดีและจะสนับสนุนรายการดีๆอย่างเน็คสเต็ปหรือจอโลกให้อยู่ได้และขยายตัวอย่างไร
นโยบายแบบไหนจะดึงดูดให้บริษัทผู้สร้างรายการคุณภาพอย่าง เช่นเวิร์คพอยท์ของคุณปัญญานิรันดร์กุล หันมาคิดผลิตงานสร้างสรรค์เพื่อการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์บ้าง หลังจากที่ประสบความสำเร็จในด้านศิลปวัฒนธรรมจนเด็กๆหันมาเรียนระนาดเปิงมางหรือขิมกันมากแล้ว
สิ่งเหล่านี้เป็นงานนโยบายที่จะทำให้เครื่องยนต์กลไกของระบบขับเคลื่อนไปได้ ไม่ใช่พอเครื่องยนต์กลไกของระบบไม่ทำงานก็ไปออกแรงเข็นหรือลากรถด้วยตัวเองซึ่งไม่ได้เป็นบทบาทที่ถูกต้อง การมาทำรายการโทรทัศน์ก็อาจเป็นบทบาทที่ผิดและการทำบทบาทผิดมีปัญหาหลายอย่าง เช่น ถ้าเกิดมีรายการโทรทัศน์เรื่องวิทยาศาสตร์อื่นๆเกิดขึ้นและรายการใหม่ๆนั้นมีเรตติ้งดีกว่า หรือมาแข่งขันแย่งคนดูแย่งสปอนเซอร์จากรายการเมกาเคลฟเวอร์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะดีใจ(ที่มีรายการลักษณะนี้เพิ่มมากขึ้นให้คนดูได้เลือกซึ่งเป็นเป้าหมายเชิงนโยบายของกระทรวงฯ) หรือจะเดือดร้อน(เพราะเรตติ้งตกขาดทุนหรือสปอนเซอร์ไม่เข้า)
ทั้ง 2 กรณีคือเมกาเคลฟเวอร์กับตลาดนัดธงฟ้าเป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆที่สะท้อนปัญหาที่ใหญ่กว่าคือการไม่เข้าใจบทบาทหรือความไร้น้ำยาในการทำงานเชิงนโยบายของกลไกภาครัฐ
อาจจะเป็นเพราะการทำงานเชิงนโยบายทำได้ยากและต้องใช้สติปัญญามากเราจึงมักเห็นระบบราชการหันมาทำงานแบบนี้เพราะทำง่ายและใช้สร้างภาพได้ดีเช่นกระทรวงสาธารณสุขจัดนิทรรศการสุขบัญญัติขึ้นที่ข้างสวนสุขภาพภายในกระทรวง (ซึ่งเมื่อไม่มีปัญญาที่จะทำนโยบายสุขศึกษาให้ได้ผลก็เลยหันมาจัดกิจกรรมให้สุขศึกษาเสียเอง ซึ่งง่ายกว่าและผู้จัดได้หน้าได้ตาเพราะเชิญรัฐมนตรีมาเปิดงานเป็นข่าวในทีวีได้แต่ในความเป็นจริงมีคนไม่กี่ร้อยคนมาชมงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการของกระทรวงสาธารณสุขนั่นเอง)
หรือว่ารัฐมนตรีและอธิบดีกระทรวงสาธารณสุขไปเดินตรวจเขียงหมูอธิบดีหรือรองอธิบดีกรมการค้าภายในเดินตรวจร้านทองตรวจราคาอาหารและหรือตรวจเครื่องชั่งน้ำหนักตามตลาดเป็นต้น
งานเฝ้าระวังหรือตรวจตลาดพวกนี้เป็นงานของข้าราชการซี5 ซี6แต่ก็มักมีผู้บริหารระดับสูงไปเดินตรวจกันถ้าการเดินตรวจเขียงหมูตรวจตลาดโดยรัฐมนตรีหรืออธิบดีจะทำให้นโยบายอาหารปลอดภัยหรือนโยบายสินค้าราคาเป็นธรรมได้ผลเราก็น่ามีรัฐมนตรีหรืออธิบดีจำนวนมากเพื่อประจำตามตลาดต่างๆให้ทั่วถึง
ในระบบราชการนั้นการทำงานได้ผลหรือไม่ได้ผลไม่สำคัญเท่ากับการมีภาพให้เห็นว่าได้ทำงาน เราจึงเห็นการทำงานที่ไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของผู้บริหารระดับสูงแต่เป็นงานเพื่อ ‘สร้างภาพว่าได้ทำงาน’ ปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยๆงานพวกนี้มักเป็นงานที่ทำได้ง่ายๆไม่ต้องใช้สติปัญญาหรือความรู้เชิงนโยบายมากนัก เช่น อธิบดีกรมการขนส่งทางบกหากไม่มีปัญญาทำการขนส่งทางบกของประเทศให้ปลอดภัยแต่อยากมีผลงานรวดเร็วและเห็นได้ง่ายก็หันมาเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์เรื่องการขับขี่ปลอดภัยก็ได้
ส่วนงานพิธีกรโทรทัศน์จะมีส่วนทำให้งานหลัก คือการสร้างนโยบายการขนส่งที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือเปล่าก็ไม่มีใครทราบได้ แต่ที่ทุกคนทราบแน่ๆก็คือการมีภาพข่าวเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวางในสื่อทีวีว่าได้ทำงานทั้งที่อาจไม่ใช่งานในบทบาทของอธิบดีก็ได้
เมกาเคลฟเวอร์รัฐมนตรีตรวจเขียงหมูหรืออธิบดีเป็นพิธีกรล้วนเป็นปรากฏการณ์ที่มีรากเหง้าและตรรกะชุดเดียวกันกับตลาดนัดธงฟ้าไม่มีผิดเพราะจัดตลาดนัดไม่ใช่ธุระกงการอะไรของกระทรวงพาณิชย์แต่เป็นโอกาสประชาสัมพันธ์ผลงานกระทรวงผ่านโฆษณาทีวีขายข้าวแกงจานละ10 บาทขายไข่ขายข้าวขายหมูขายปลาขายไปถึงผ้าอนามัย เรียกว่าสร้างภาพให้ดูดีมีผลงานกลบเกลื่อนความไร้น้ำยาในการทำงานเชิงนโยบาย เพราะกระทรวงพาณิชย์มีหน้าที่ทำงานด้านนโยบายเพื่อให้สินค้าในท้องตลาดมีราคาที่เป็นธรรมไม่ใช่มาทำหน้าที่เป็นพ่อค้าขายสินค้าราคาถูกเสียเองลองคิดดูว่าคนไทย60 ล้านคนซึ่งต้องซื้อหาอาหารเกือบทุกวันจะมีสักกี่คนและกี่ครั้งที่มีโอกาสซื้อสินค้าจากตลาดนัดธงฟ้าซึ่งก็จัดแค่ไม่กี่วันในรอบปี
ถ้ายังเห็นผลงานสร้างภาพพวกนี้อยู่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าหน่วยงานพวกนี้ไม่รู้บทบาทหน้าที่ของตัวเอง หรือไม่ก็ไม่มีน้ำยาในการทำงานนโยบาย