เรื่อง : สันติสุข กาญจนประกร
ถามว่ากลัวไหม ตอนที่นั่งคุยกัน อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ตอบตรงๆ ว่ากลัว
ไม่เห็นแปลก เล่นเรื่องใหญ่ขนาดนี้ กลัวก็บอกกลัว ใครไม่กลัว ผมว่าคงสติไม่ดี หรือไม่ก็หนังหนา ทนนอนคุกได้โดยไม่ยี่หระ
ครับ-กลัวแล้วทำให้เรายังคงมีความเป็นมนุษย์ มีหัวจิตหัวใจ กลัวแล้วทำให้ไม่บุ่มบ่าม กลัวแล้วรอบคอบขึ้น ไตร่ตรองมากขึ้น ทำอะไรโดยพึ่งพาสติมากขึ้น อย่างนั้นกลัวไปเถิดเหล่าสหายเอ๋ย…
ส่วนกลัวแล้วเป็นความหมายเดียวกับขี้ขลาดไหม สำหรับอาจารย์วรเจตน์ ผมว่าไม่ เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้น ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ไม่ใช่เด็กอมมือที่ไหนจะมาทำก็ได้ มันต้องใช้ความรู้ ความเข้าใจ ผ่านการศึกษามาอย่างดี คิดว่าเสนอไปแล้วสังคมได้ประโยชน์ ที่สำคัญ พูดให้ฟังโรแมนติกหน่อย คือต้องอาศัยขนาดพื้นที่หัวใจที่กว้างใหญ่อยู่พอสมควร
สำหรับผู้ที่อยากรู้อยากเห็น หลังจากถูกทำร้ายร่างกาย ขนาดหัวใจของอาจารย์วรเจตน์เปลี่ยนไปไหม ตอนอยู่หน้ากระจกในห้องน้ำ เขาเคยบ่นกับตัวเองเบาๆ พลางลูบรอยฟกช้ำไหมว่า ไม่น่าเลย หาเรื่องแท้ๆ
เรียนตามตรงแบบไม่ต้องคิด ไม่ทราบครับ ผมไม่ใช่นักข่าวสายใต้สะดือหรือใต้เตียง ที่สอดรู้สอดเห็นเสียทุกเรื่อง และไม่ใช่เป็นคนประเภทชอบอาศัยความน่าจะเป็นมาตัดสินผู้อื่น
จินตนาการสำคัญกว่าความรู้น่ะใช่ แต่รู้ไหม เจ้าของประโยคนี้น่ะ โคตรมีความรู้เลย
คล้ายๆ ที่หลายคนสงสัยตัวอาจารย์ว่า ออกมาทำเรื่องนี้ มีวาระซ่อนเร้นอะไรหรือเปล่า รับเงินใครมาแน่ๆ
อีกเช่นกัน เรื่องนี้ผมก็ไม่ทราบ ปั๊ดโธ่! จะไปรู้ได้อย่างไรเล่าครับ ให้คิดแบบคนชอบใส่ร้ายผู้อื่น เอาเป็นว่ารับเงินมา แต่ก็อีกนั่นแหละ คนฉลาดๆ เขาคงคิดคงทำกันแบบไม่ให้หน้าโง่ที่ไหนจับได้หรอก
แต่ถ้าให้กล่าวโดยใช้ตัวเองเป็นมาตรวัด ตรองดูให้ดี อย่างที่บอก เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ไม่ใช่ประเภทจ้างให้ไปลงคะแนน หรือจ้างให้มาฟังปราศรัย หลักฐานมีอยู่ทนโท่ เห็นๆ กันอยู่ว่าติดคุกไปกี่รายต่อกี่รายแล้วด้วยมาตรา 112
นี่มันเรื่องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์นะพี่น้อง ลองคิดดูให้ดีๆ ถ้าไม่ศึกษา ไม่มีความรู้ ไม่เห็นว่ามันเป็นปัญหาจริงๆ ในฐานะครูบาอาจารย์ ฐานะนักวิชาการ มีหรือจะเอาตัวเองออกมาเสียงให้แสงไฟจับ อาจารย์วรเจตน์เป็นถึงระดับด็อกเตอร์ ไม่ใช่แมลงเม่า
ถ้าอย่างนั้นสอนหนังสือนักศึกษาไปวันๆ ผมว่าเพลินกว่าเยอะ
ผมได้ยินอยู่บ่อยกับความเห็นประเภท บังเอิญเป็นอาจารย์คนดัง ถูกต่อย สื่อมวลชนถึงให้ความสนใจกันเยอะ
เรื่องนี้ถ้าเป็นคนอื่น ผมไม่สนใจหรอก อยากคิดตื้นๆ อย่างนั้นก็คิดไป แต่ถ้าเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นคนรู้จัก ผมว่าต้องเรียกมานั่งคุย ทำความเข้าใจเสียใหม่ คนรักกัน เราคุยกันได้ใช่ไหม
เหตุการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ผมย้ำว่าไม่ใช่ กรุณาฟังอีกครั้งว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ถ้าเป็นนักแสดงชื่อดังสักคนเดินตกท่อ สื่อมวลชนรุมสัมภาษณ์ ถ่ายภาพ นั่นสิเป็นเรื่องบังเอิญ บังเอิญที่หน่วยงานรัฐเลินเล่อเปิดฝาท่อทิ้งไว้ บังเอิญที่นักแสดงรายนั้นเดินไม่ระวัง แล้วบังเอิญมีนักข่าวนั่งจิบกาแฟอยู่แถวนั้น สุดท้ายจึงออกมาเป็นข่าวเป็นภาพตามหน้าหนังสือพิมพ์
อย่างนั้นสิ ถึงพอจะเรียกได้ว่าเป็นเรื่องบังเอิญ
ข้ามๆ เรื่องที่ฝาแฝดคู่นั้นตั้งใจมาต่อยไปก็ได้ (เห็นไหม ตั้งใจชัดๆ บังเอิญตรงไหน) นี่มันยุคที่เราสามารถรายงานกิจวัตรประจำวันลงบนเว็บไซต์โซเชี่ยลเน็ตเวิร์คกันชนิดนาทีต่อนาที ตื่นเมื่อไหร่ กินข้าวกับอะไร นั่งขี้อยู่แถวไหน แค่คลิก แค่แท็บ ทุกอย่างก็ถูกส่งผ่านไปให้ผู้คนทั่วโลกได้รับรู้ รับทราบ ลองเปิดหาข้อมูลก็จะรู้ว่า อาจารย์วรเจตน์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งคณะนิติราษฎร์ ทำงานในประเด็นสังคมการเมืองมาตั้งแต่เกิดรัฐประหาร 19 กันยา 2549 โน่นแล้ว
ด้วยแนวคิดที่ผมอาจสรุปสั้นๆ ง่ายๆ ตามภาษาผมว่า เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย และไม่เอาอำนาจนอกระบบ
อำนาจนอกระบบที่มาพร้อมกระบอกปืน หรืออำนาจนอกระบบที่มาแบบเนียนๆ ไม่สังเกตไม่รู้ หรือรู้แต่เต็มใจให้มีอยู่ กระทั่งไม่รู้เพราะถูกเป่าหูกันมานาน
นี่ขนาดรถถังวิ่งกลางเมือง กลุ่มนิติราษฎร์ยังออกมาคัดค้านว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารอัปยศ คำพูดประเภทเรื่องบางเรื่องอย่าไปแตะ อย่าไปต้อง ไม่น่าใช่หลักยึดของใครก็ตาม ที่ประกาศปาวๆ ว่าตัวเองยืนข้างระบอบประชาธิไตย เรื่องไหนชำรุด เรื่องไหนควรแก้ ถ้าต้องแตะ ก็ต้องแตะ ต้องแก้ ก็ต้องแก้ ซึ่งผมเห็นด้วยล้านเปอร์เซ็นต์ ก็ระบอบนี้เขาเคารพทุกสิทธิ์ทุกเสียงมิใช่หรือ ส่วนจะเสียงข้างมาก ข้างน้อย เราค่อยมาจับเข่าคุยกันอีกที ในความหมายของคนมีอารยะ
ข้ามๆ ประเด็นที่ว่าเราควรเคารพความเห็นที่แตกต่างไปก็ได้ เรื่องนี้มีคนพูดถึงเยอะแล้ว ที่สำคัญ ขี้เกียจนั่งเถียงกับคนจำพวกแอ๊บเข้าใจ แอ๊บเคารพเสียงต่าง ผมว่า คนที่ประกาศชัดว่าตัวเองยืนข้างไหน ยังน่าเคารพยกมือไหว้มากกว่า ผมหมายถึงกล้าบอกว่าตัวเองมีจุดยืนอย่างไร ไม่ได้หมายถึงให้แบ่งข้างด่ากันด้วยถ้อยคำหยาบๆ คายๆ นั่นมันคนละเรื่อง
มาว่ากันถึงตอนที่ถามอาจารย์วรเจตน์ว่า ทำไมไม่ทำเรื่องอื่น ต้องเจาะจงมาทำเรื่องนี้ อาจารย์ตอบว่า ไม่ได้เจาะจง แต่นี่เป็นหนึ่งในหลายๆ เรื่องที่เราต้องดูว่าเป็นปัญหาไหม
“มีคนบอกว่าไม่เห็นมีปัญหาเลย เพราะตัวเองไม่ได้ทำอะไร คำตอบคือ ไม่ใช่เพราะเขาไม่ได้ทำอะไร แต่เพราะเขา ‘ยัง’ ไม่ได้ทำอะไรต่างหาก จึงยังไม่มีปัญหา ถ้าวันหนึ่งเกิดทำอะไรขึ้นมา จะรู้สึกว่ามันมีปัญหา”
อาจารย์ว่าของแกต่อว่า เราต้องคิดถึงใจคนอื่นด้วยเวลาอยู่ด้วยกันในสังคมประชาธิปไตย
“คนที่บอกว่าไม่เป็นปัญหา พวกนี้คือพวกเห็นแก่ตัว ไม่คิดว่าคนอื่นเขามีความคิดความเห็นที่แตกต่างออกไป ซึ่งต้องเคารพความเห็นที่แตกต่างนั้น ไม่ใช่บังคับให้ทุกคนต้องคิดเหมือนตนเอง ความเชื่อทางศาสนายังไม่บังคับเลย ว่าคุณต้องนับถือศาสนานี้ ศาสนานั้น บางคนอาจไม่นับถือเลยก็ได้ เป็นเสรีภาพของเขา”
ถามว่าตรงไหนที่เป็นปัญหาในมาตรา 112 อาจารย์อธิบายว่า ในเชิงการตีความ ไม่ได้ตีความสถานะพระมหากษัตริย์ให้รับกับระบอบประชาธิปไตย เมื่อหาความแน่นอนไม่ได้ เราไม่สามารถแน่ใจได้ว่า เมื่อพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ จะพูดถึงอย่างไรได้บ้าง
“นอกจากพูดในเชิงยอพระเกียรติ ไม่สามารถพูดในแง่การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือองค์กรที่แวดล้อม โดยที่การวิพากษ์วิจารณ์นั้นเป็นไปด้วยความสุจริต ไม่ได้มุ่งหมายจะเลิกล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้เป็นการหมิ่นพระเกียรติ อาฆาตมาดร้าย ไม่ได้เป็นการทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียง”
ถูกของอาจารย์ การวิจารณ์โดยสุจริต มันต่างกันลิบลับกับการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และอาฆาตมาดร้าย หากศึกษาดูดีๆ น่าจะแยกแยะได้ไม่ยาก
“หมิ่นประมาทคือใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่ 3 ทำให้เขาเสียชื่อเสียง ดูหมิ่น คือการพูดจาหยาบคายด่าทอเหยียดหยาม ลดเกียรติความเป็นมนุษย์ ส่วนแสดงความอาฆาตมาดร้าย มันก็ชัดในตัว อาจขู่ว่าจะทำร้าย ทั้ง 3 ข้อมันคนละเรื่องกับการวิจารณ์ ติชมโดยสุจริต”
ประเด็นโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี ก็เป็นอีกเรื่องที่อาจารย์วรเจตน์มองว่าเป็นปัญหา
“ทำไมถึงต้องจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี มันจะทำให้รักษาพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อย่างไร นอกจากบอกว่าจะทำให้เกิดการหลาบจำ ขู่คนอื่นไม่ให้ทำอีก โดยที่ไม่ได้อธิบายสาเหตุต่อคนวงกว้างว่าทำไม มันจึงเกิดการทำซ้ำขึ้นอีก ปัญหาอยู่ตรงไหน นี่คือประเด็น ฉะนั้น เรื่องโทษเป็นปัญหามาก… อีกเรื่องคือที่คุณถามเมื่อกี้ ว่ามาตรานี้มันเปิดโอกาสให้ใครๆ ก็ได้เป็นคนแจ้งความดำเนินคดี”
มันจึงถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
นิติราษฎร์จึงเสนอให้สำนักราชเลขาธิการเป็นคนร้องทุกข์กล่าวโทษ มิใช่ใครก็ได้
ถามว่าเคยได้ยินประโยค เรื่องบางเรื่องในประเทศนี้ แค่คิดก็ผิดไหม อาจารย์วรเจตน์ตอบได้น่าฟัง
“มนุษย์ไม่เหมือนสัตว์ชนิดอื่น เราคิดแบบมีเหตุมีผล เสรีภาพทางความคิดไม่มีทางจำกัดได้หรอก ฉะนั้น ในทางกฎหมายเราจึงบอกว่า ใครกระทำความผิด แล้วรัฐจะห้าม ต้องห้ามให้ชัดว่าห้ามเขาทำอะไร และการห้ามต้องมีความชอบธรรม”
เนื้อหาการพูดคุยแบบเต็มๆ ถ้าใครยังไม่ได้อ่าน ลองไปหาซื้อ นิตยสาร WAY ฉบับ 43 นะครับ จะจุใจกว่า
ครับ-ใครจะหน้าบวม ใครจะโดนต่อย โดนเตะ ใครจะสงสาร สมน้ำหน้า หรืออะไรก็ตามแต่ จริงๆ มันไม่ใช่เรื่องของผมหรอก ผมเองก็มีวิธีนำเสนอความคิดความเชื่อในแบบของผม เพราะมรรคาไม่ได้มีสายเดียว
เหนืออื่นใด ประเทศไทยคนมันเยอะ เหยียบเท้ากันบ้างนิดๆ หน่อยๆ คงไม่ต้องถึงกับจับปืนออกมารบราฆ่าฟันกันหรอกนะครับ
โตๆ กันแล้วน่า
*************************************
(หมายเหตุ : ตีิพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ คนละองศา มีนาคม 2555)