วรเจตน์ ภาคีรัตน์: มองย้อนจุดเดือด ว่าด้วยการยุบพรรคอนาคตใหม่

21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำพิพากษา ยุบพรรคอนาคตใหม่

มีเสียงไชโยโห่ร้อง มีเสียงด่าทอ โกรธแค้น ร่ำไห้ หลากหลายธรรมชาติมนุษย์ซึ่งดำรงอยู่ด้วยความหลากหลาย

และอีกสัจจะที่นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ นั่นคือการลุกฮือขึ้นของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ทั่วประเทศ

เริ่มต้น ลุกลาม ขยายวงกว้าง และยังไม่รู้จุดจบ สะท้อนภาพการเมืองไทยที่อยู่ในภาวะรุ่มร้อน กลางโรคร้าย และมากด้วยข่าวลือรายวัน

ใครหลายคนแสดงทัศนะไปแล้วพอสมควร และนี่คือเสียงจาก ศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักกฎหมายแห่งยุคสมัยที่เราต้องฟัง และบันทึกเป็นกรณีศึกษา

 

ความเห็นต่อการยุบพรรค

เอาประเด็นทางกฎหมายในคดีนี้ก่อน เรื่องการเมืองค่อยว่ากันทีหลัง ประเด็นใหญ่ที่สุดทางกฎหมายในคดีนี้คือประเด็นเรื่องเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ประเด็นที่ผมจะชี้ ต้องเข้าใจว่าเป็นคนละอย่างกับที่พรรคอนาคตใหม่เขาสู้ อนาคตใหม่เขาสู้ประเด็นแรกเลยว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจยุบพรรคการเมือง เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนให้อำนาจไว้ สู้ประเด็นนี้โดยเหตุผลแบบนี้ในทางกฎหมายแทบไม่มีทางจะชนะได้เลย

ในทางปฏิบัติมันยุติแล้ว ว่าศาลรัฐธรรมนูญอาจมีอำนาจตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้ แม้ทางทฤษฎีจะเถียงกันได้ว่ารัฐธรรมนูญจะต้องเขียนว่า “มีอำนาจตามกฎหมายอื่น” หรือไม่ แต่ทางปฏิบัติยุติแล้ว และข้อความในรัฐธรรมนูญ 2560 เอง ก็บ่งชี้ไว้โดยนัยว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจยุบพรรคการเมืองได้ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

แต่ประเด็นเกี่ยวกับเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่ผมกำลังพูดอยู่นี้ คือการต้องตัดบทบัญญัติสองมาตราสำคัญตามกฎหมายพรรคการเมืองในคดีนี้ให้ขาดออกจากกัน เพราะเป็นสองเรื่องที่ไม่อาจเชื่อมโยงให้เข้ากันได้ นั่นคือ มาตรา 66 เรื่องการห้ามรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเกินจำนวนกว่าที่กฎหมายกำหนดก็คือ 10 ล้านบาท กับมาตรา 72 เรื่องการห้ามรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ถามว่าทำไมต้องแยกกัน คำตอบคือ การฝ่าฝืนรับบริจาคเงินเกินจำนวนที่กฎหมายกำหนด เป็นความผิดอาญา คดีอยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรม ถ้าพรรคการเมืองฝ่าฝืนก็จะมีโทษอาญาคือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท และกรรมการบริหารพรรคจะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี แล้วก็ริบเงินส่วนเกิน แต่การฝ่าฝืนรับบริจาคเงินโดยรู้หรือควรรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบ หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากเป็นคดีอาญาที่อยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรมซึ่งทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถูกลงโทษจำคุกแล้ว ยังเป็นเหตุยุบพรรคซึ่งอยู่ในอำนาจศาลรัฐธรรมนูญด้วย

ถึงตรงนี้เราจะเห็นว่าถ้าพรรคการเมืองฝ่าฝืนรับเงินบริจาคเกินจำนวนที่กฎหมายกำหนด ก็ไม่ใช่เรื่องของศาลรัฐธรรมนูญที่จะไปยุบพรรคการเมืองได้ เพราะถ้าหากการที่พรรคการเมืองฝ่าฝืนรับเงินบริจาคเกินจำนวนเป็นเหตุยุบพรรคได้ กฎหมายก็คงจะระบุกรณีนี้ไว้โดยเฉพาะให้เป็นเหตุยุบพรรคแล้ว

แต่คดีนี้ กกต. ยื่นคำร้องโดยถือว่าการกู้เงินจำนวนประมาณ 190 ล้านบาท อยู่ในความหมายของการรับบริจาคเงินเกินจำนวนซึ่งต้องห้าม ตามมาตรา 66 และไปโยงกับการรับบริจาคเงินโดยรู้หรือควรรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม มาตรา 72 เพื่อทำให้กลายเป็นคดียุบพรรคการเมือง พรรคอนาคตใหม่ก็ต่อสู้คดีไปจากฐานนี้ ศาลรัฐธรรมนูญก็ตั้งประเด็นในคดีจากฐานนี้ ซึ่งผมคิดว่าไม่ถูกต้อง

มีข้อพิสูจน์อยู่สองประการว่าทำไมในทางกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญต้องตั้งประเด็นเรื่องเขตอำนาจศาลก่อนที่จะลงไปในปัญหาข้อเท็จจริง คือถ้าผมเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญในคดีนี้ แล้ว กกต. ยื่นคำร้องมาในลักษณะนี้ ผมจะยกคำร้อง ด้วยเหตุในข้อกฎหมายตั้งแต่แรกว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัย

เหตุผลประการแรกก็คือ ถึงแม้ กกต. จะยื่นคำร้องมาในลักษณะของการยุบพรรคการเมืองซึ่งโดยปกติแล้วอยู่ในเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่การยื่นคำร้องของ กกต. เป็นการนำเอาบทบัญญัติมาตรา 66 ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรม และถือว่าเป็นความผิดอีกเรื่องหนึ่งมาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ถึงแม้ว่าจะให้วินิจฉัยในฐานะเป็นฐานโยงไปสู่ความผิดอีกเรื่องหนึ่งเหมือนกับเป็นประเด็นเบื้องต้นแห่งคดีก็ตาม ก็ทำไม่ได้ เพราะหากทำเช่นนั้นแล้วก็เท่ากับ มาตรา 66 โดยตัวของมันเองจะไม่มีที่ใช้

หากถือว่าการฝ่าฝืนการรับเงินบริจาคเกินจำนวน ตามมาตรา 66 กลายเป็นการรับบริจาคโดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 72 เสียแล้ว ตัวบทมาตรา 66 เองก็จะกลายเป็นเพียงสะพานไปสู่มาตรา 72 เสมอ การดำรงอยู่ของมาตรา 66 ก็จะไม่ใช่การดำรงอยู่เพื่อตัวของมันเอง ซึ่งถ้าพิจารณาจากการแยกการบัญญัติทั้งสองเรื่องออกจากกัน และการกำหนดโทษไว้เฉพาะต่างหากแล้ว ไม่มีทางที่จะเป็นเช่นนั้นได้

เหตุผลอีกประการหนึ่งคือการพิจารณาว่าพรรคการเมืองรับเงินบริจาคเกิน 10 ล้านบาท หรือไม่เป็นการพิจารณาทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและการตีความกฎหมายประกอบกัน ซึ่งอย่างที่ผมบอกแต่แรกว่ากรณีนี้อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม หากศาลรัฐธรรมนูญลงไปวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริง และชี้ว่าเรื่องนี้เข้าข่ายการรับบริจาคเงินเกินกว่า 10 ล้านบาท ถือว่าฝ่าฝืนมาตรา 66 แต่ตีความว่าเงินส่วนที่เกินมานั้นไม่ใช่เป็นกรณีที่พรรคอนาคตใหม่รู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 72 และยกคำร้องของ กกต. แม้ในทางคดีพรรคอนาคตใหม่จะไม่ถูกยุบพรรค แต่การที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ข้อเท็จจริงไว้ในคดี และปรับตัวบทกฎหมายยืนยันว่าฝ่าฝืนมาตรา 66 จริง ก็จะยังเป็นการไปใช้อำนาจตุลาการซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมอยู่ดี และจะเป็นปัญหาการดำเนินคดีอาญาต่อไปด้วยว่าถ้าศาลรัฐธรรมนูญชี้ไว้เช่นนี้แล้ว ศาลยุติธรรมจะทำยังไง

นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมผมจึงเห็นว่าเรื่องนี้ควรจะยกคำร้องแต่แรก

แต่ต้องเข้าใจนะว่าผมยังไม่ได้บอกว่าการกู้เงิน 190 ล้านบาทของพรรคอนาคตใหม่ ไม่มีปัญหาทางกฎหมายเลย ที่พูดมาทั้งหมดนี้แค่ชี้ว่ากรณีนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะไปยุบพรรคการเมืองได้

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

ยุบพรรคการเมืองเป็นเรื่องใหญ่

ใครๆ ก็พูดแบบนี้ เพราะมันทำให้คนไม่รู้อิโหน่อิเหน่ คือคนที่เป็นสมาชิกพรรคต้องมารับผลจากการถูกยุบพรรคด้วย ถ้าหากกรรมการบริหารพรรคไปรับเงินบริจาค ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเกิน 10 ล้าน คือฝ่าฝืนมาตรา 66 ผลในทางกฎหมายก็จะเป็นไปตามมาตรา 124 และมาตรา 125 คือ คนบริจาคเกินก็จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ส่วนพรรคที่รับบริจาคเกินก็ถูกปรับหนึ่งล้าน และถูกริบเงินส่วนเกิน หัวหน้าพรรคกับกรรมการบริหารจะถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี แต่ตัวพรรคยังอยู่ คนอื่นที่เป็นสมาชิกพรรคก็ไม่เดือดร้อน

แต่พอศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า เงินส่วนเกินนี้เป็นเงินที่ควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบ เป็นปัญหาทันที อีกอย่างหนึ่งพรรคการเมืองเป็นการรวมตัวของผู้คนเพื่อแสดงออกซึ่งความคิด ความฝัน ความต้องการ ผลประโยชน์ หลายสิ่งหลายอย่าง จะไปยุบง่ายๆ ไม่ได้

เขาทำสัญญากู้กัน เงินที่ได้มาจากสัญญากู้จะกลายเป็นเงินที่ได้มาโดยรู้หรือควรรู้ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายยังไง ผมก็ยังงง คือดูยังไงมันไม่มีทางเป็นเงินที่รู้หรือควรรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายได้เลย แต่คำถามว่าเงินกู้ที่ให้กู้ไปนั้นเข้าลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์แก่พรรคการเมือง จึงจะต้องตีความว่าเข้าลักษณะเป็นการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเกิน 10 ล้านบาทไหม อันนี้เป็นอีกประเด็นหนึ่ง มันคนละเรื่องกัน ผลทางกฎหมายก็ต่างกัน

แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไปมองว่า ที่ว่ารู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้หมายถึงตัวเงิน แต่หมายถึงวิธีการได้มา อันนี้แหละที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ความหมายของคำว่า “ควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” กว้างมาก ซึ่งการตีความถ้อยคำในทางกฎหมายจะตีความกว้างหรือแคบนั้น จะตีตามใจไม่ได้ มันต้องดูระบบ ความเป็นมา และวัตถุประสงค์ของตัวบทประกอบ ไม่งั้นมันจะเหมือนคดีอดีตนายกฯ สมัคร ทำกับข้าว ที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความคำว่า ‘ลูกจ้าง’ อย่างกว้างขวางเป็นมหาสมุทร

ผมเห็นว่าแนวการวินิจฉัยคดีนั้น ถ้าใช้เป็นบรรทัดฐานแล้ว จะมีคนพ้นจากตำแหน่งมากมายหลายคน

แต่ในบ้านเราก็นะ ก็ใช้กับคุณสมัครคนเดียว

ในการตีความนั้น ต้องดูผลที่เกิดขึ้นตามมาในระบบกฎหมายด้วยว่ามัน absurd ไหม พอศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ด้วยเหตุที่ว่าควรจะรู้ว่าได้เงินมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มันก็จะเป็นปัญหาต่อไปอีกว่า กรรมการบริหารพรรคจะถูกดำเนินคดีอาญาต่อไปอีกหรือไม่ ยังไง ศาลยุติธรรมที่จะพิจารณาพิพากษาคดีอาญาจะดำเนินการไต่สวนใหม่ไหม แล้วจะถือว่าไม่เป็นความผิดอาญาได้ไหม ในเมื่อศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าฝ่าฝืนมาตรา 72 เสียแล้ว กลายเป็นว่ากรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่จะต้องรับโทษเหมือนกับรับเงินจากการค้าเฮโรอีน การปล้น อะไรไปเลย

บทเรียนอีกอันหนึ่งซึ่งควรจะได้คิดกัน ก็คือเรื่องนี้สะท้อนการบัญญัติกฎหมายพรรคการเมืองที่ไม่ได้คิดให้รอบด้านด้วย คือไม่ได้คิดจากฐานที่ว่าพรรคการเมืองมีไว้ทำไม กฎหมายพรรคการเมืองของไทยกำหนดโทษเอาไว้รุนแรง และในหลายกรณีผมว่าเกินสมควรแก่เหตุและซ้ำซ้อนไปมาก กรณีของพรรคอนาคตใหม่นี่ก็น่าห่วงว่า กกต. ดำเนินคดีอาญาต่อไปไหม เพราะเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารับบริจาคเงินที่ควรรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โทษคือจำคุกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่เกิน 3 ปี มีโทษปรับอีกไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สมมุติ กกต. บอกว่าพอแล้ว แต่มีคนมาร้องบอกไม่พอ เอาอีกๆ ต้องเอาถึงติดคุก สภาพสังคมตอนนี้จะรับกรณีนี้ไหวไหม หรือว่านี่จะเป็นความอยุติธรรมอันไม่อาจทนทานได้อีกต่อไป ผมก็ไม่ทราบ อันที่จริง ในรอบ 15 ปีมานี้ ความอยุติธรรมก็เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า มีบทเรียนให้เห็นจนนับไม่ไหว แต่สังคมไทยก็ถูลู่ถูกังกันไปแบบนี้

 

บางรายละเอียด

ปัญหาหนึ่งที่ผมเห็น เขาเถียงกันเรื่องนิติบุคคลเอกชนกับนิติบุคคลมหาชน คนก็งง มันคือเรื่องอะไร เอาเข้าจริงประเด็นนี้ก็ไม่ใช่ประเด็นหลัก ตอนอ่านคำวินิจฉัย ตุลาการที่อ่านคำวินิจฉัยว่าพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน แล้วก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กัน แต่ในคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการมีการปรับถ้อยคำเป็นว่า “พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองซึ่งเป็นกฎหมายมหาชน” ซึ่งถ้าเอาตามนี้ก็ยังถือไม่ได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญให้ลักษณะทางกฎหมายแก่พรรคการเมืองผิด ศาลบอกว่าเป็น “นิติบุคคล” ไม่ได้ฟันธงว่าเป็นนิติบุคคลเอกชน หรือนิติบุคคลมหาชน แต่ใช้คำว่า “ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองซึ่งเป็นกฎหมายมหาชน” อันนี้ถือว่าการเขียนแนบเนียนอยู่

ทีนี้ถ้าพูดกันตามหลักวิชา ถ้าจะต้องบ่งชี้คุณลักษณะของพรรคการเมืองให้ชัดแล้ว โดยทั่วไปเราคงต้องถือว่าพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลเอกชน สังเกตว่าไม่มีคำว่า ‘ตาม’ ที่ผมเห็นว่าพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลเอกชนก็เพราะไม่ได้เกิดขึ้นจากอำนาจในทางมหาชนที่รัฐก่อตั้ง แต่เกิดขึ้นจากการมารวมตัวกันของบุคคลตามใจสมัคร แต่ในระบบกฎหมายไทย พรรคการเมืองต้องจดทะเบียนตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง แตกต่างจากหลายประเทศที่ไม่มีระบบจดทะเบียน เขาให้เสรีภาพในการรวมตัวเป็นพรรคการเมืองได้เลย ไม่ต้องไปขอรัฐจดทะเบียนให้แบบบ้านเรา

พรรคการเมืองมีทรัพย์สิน มีระบบสมาชิก คนจะเป็นสมาชิก เวลาคุณจะไปสมัครเข้าพรรค ถ้าเขาไม่รับ คุณก็จบนะ คุณไปบังคับให้เขารับเป็นสมาชิกไม่ได้ ถูกไหม มันเป็นเรื่องของเขา แต่ถ้าเป็นนิติบุคคลมหาชนนี่ ไม่จบนะ อาจฟ้องเป็นคดีต่อศาลได้ว่าการไม่รับเป็นสมาชิก ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

แต่ประเด็นที่เถียงตอนนี้อาจคลาดเคลื่อนกันไป คือ คนที่บอกว่าพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลเอกชนพยายามจะชี้ว่าพอเป็นเอกชนแล้ว ถ้าไม่มีกฎหมายห้าม มันทำได้หมด รวมทั้งกู้เงินด้วย คือสำหรับเอกชนโดยทั่วไปมันเป็นแบบนั้นแหละ เพราะเอกชนโดยปกติแล้ว เคลื่อนไหวก่อตั้ง เปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกนิติสัมพันธ์ในทางกฎหมายเอกชน

แต่พรรคการเมืองมีความซับซ้อนนิดหน่อย เพราะแม้โดยธรรมชาติแล้ว เราถือว่าพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลเอกชนก็จริงอยู่ แต่การกำเนิดและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ มีกฎหมายเฉพาะคุมอยู่ อีกอย่างหนึ่งพรรคการเมืองแตกต่างจากนิติบุคคลเอกชนอื่นๆ เช่น ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัท เพราะพรรคการเมืองมีวัตถุประสงค์ในการได้มาซึ่งอำนาจรัฐ การนำเจตนารมณ์ทางการเมืองของผู้สนับสนุนไปผลักดันให้เกิดผลในทางการเมือง

กฎหมายที่ควบคุมการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง ก็คือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองและกฎเกณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือเรียกโดยลำลองว่า กฎหมายพรรคการเมือง มันไม่ใช่กฎหมายเอกชน อะไรทำได้หรือไม่ได้แค่ไหน ต้องไปอ้างอิงที่ตัว พ.ร.ป.พรรคการเมือง ว่าเขายอมให้ทำได้ หรือทำไม่ได้แค่ไหน

เกี่ยวกับกู้เงินอีกนิดหน่อย เรื่องสัญญากู้เงิน ผมอยากบอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ไม่มีปัญหาเลย จะกู้เท่าไหร่ กู้กับใคร กู้ยังไงก็ได้ ผมเห็นว่าไม่ใช่ ผมอยากตั้งข้อสังเกตนิดเดียวเท่าที่ผมพอมีความรู้ว่าถ้าประเทศไหนไม่กำหนดเพดานเงินบริจาค ก็มักจะไม่กำหนดเรื่องการกู้เงินเอาไว้ ปกติก็คือไม่มีเพดานการกู้ด้วย ถ้ากำหนดเพดานการบริจาค มักจะกำหนดเพดานหรือไม่ก็อาจจะถือว่าเงินกู้มีค่าเป็นเงินบริจาคด้วย อันนี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์เฉพาะของกฎหมายพรรคการเมือง ทีนี้บ้านเรามันยุ่งอยู่ เพราะมีการกำหนดเพดานการบริจาค แต่ไม่พูดอะไรเกี่ยวกับเงินกู้เลย มันก็เป็นปัญหาการตีความ ก็ต้องพิสูจน์กันหลายอย่างว่าโดยสภาพของการกู้ มันมีผลเท่ากับบริจาคเงินเกินกว่าจำนวนที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ คนทั่วไปอาจมองว่าบริจาคคือให้ไปเลย ไม่ต้องคืน ส่วนกู้เงินต้องมีการคืน แต่ในกฎหมายพรรคการเมืองอาจไม่ง่ายแบบนั้น

ที่น่าสนใจคือ สัญญากู้ กู้ยังไงก็ได้ ตามความสมัครใจของคนให้กู้ ไม่คิดดอกเบี้ยก็ได้ หรือคิดดอกเบี้ยต่ำมากก็ได้ แต่การพาณิชย์สมัยใหม่เป็นเรื่องปกติว่าถ้ากู้ก็ย่อมมีดอกเบี้ย ถามว่าทำสัญญากู้แล้วไม่มีดอกเบี้ยได้ไหม คำตอบคือได้ สมบูรณ์ในทางกฎหมาย สัญญากู้ยืมแบบไม่มีดอกเบี้ยอาจมีได้ เช่น เป็นคนคุ้นเคยกัน หรือผู้ให้กู้อาจจะกึ่งๆ ช่วยเหลือผู้กู้ยามเดือดร้อน แต่สัญญากู้นี้มีลักษณะพิเศษอะไรไหม กู้สถาบันการเงิน ย่อมแตกต่างจากกู้หัวหน้าพรรคการเมือง กู้บุคคลธรรมดาสัญชาติไทย ย่อมแตกต่างจากกู้นายทุนใหญ่ต่างชาติ

ดังนั้น ถ้าถามว่าตามกฎหมายพรรคการเมือง เราสรุปได้ทันทีไหมว่าถ้าสัญญากู้ชอบด้วยกฎหมายแล้ว จะไม่มีปัญหาอะไรเลยตามกฎหมายพรรคการเมือง อันนี้ไม่แน่ สองประเด็นนี้ต้องแยก ปนกันไม่ได้ สัญญากู้อาจชอบด้วยกฎหมาย ส่วนเป็นปัญหาตามกฎหมายพรรคการเมืองไหม เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ไม่ใช่สัญญากู้ไม่มีปัญหา คุณจะไม่มีปัญหาเลยตามกฎหมายพรรคการเมืองอย่างที่บางท่านเข้าใจ หรืออย่างที่ปรากฏเป็นนัยตามแถลงการณ์ของ 36 อาจารย์นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์

อันนี้ต้องดูลักษณะการกู้ ระยะเวลาผ่อนชำระ ดอกเบี้ย ตลอดจนการใช้จ่ายเงินของพรรคการเมืองนั้นๆ อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริงประกอบกัน เอาหลักคิดว่าถ้าสัญญากู้ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ทุกอย่างจะชอบด้วยกฎหมายหมด และการกู้ไม่มีทางเป็นการบริจาค หรือไม่มีทางเป็นประโยน์อย่างอื่นได้เลยตามกฎหมายพรรคการเมือง อันนี้ยังไม่ได้

 

ฆ่าสองครั้ง

หลังรัฐประหาร ตัวระบบกฎหมายเสื่อมไปเยอะ เขียนกฎหมายรับใช้อำนาจกันอย่างอำเภอใจมากๆ และผิดระบบหลายอย่าง แต่ว่าบางอย่างมันยังพออ่านได้ พอใช้ได้บ้าง ถามว่าเรารู้ได้อย่างไรว่าถูกหรือผิด ในเชิงการตีความ ต้องดูผลประกอบว่าถ้าตีออกมาแล้ว absurd มันเกิดความวุ่นวายและสามัญสำนึกของคนธรรมดารับไม่ได้ สันนิษฐานได้เลยว่าผลการใช้กฎหมายนั้นผิด

เฉพาะกรณีนี้ ถ้าเราตีความไม่แยกกัน จะเกิดอะไรขึ้น

มันจะเกิดความซ้ำซ้อนในการลงโทษในทางอาญา ถ้าคุณตีว่าการรับบริจาค ผิดมาตรา 66 ผลคือ โทษเป็นไปตาม มาตรา 125 ปรับไม่เกินหนึ่งล้าน เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี แล้วให้ริบเงิน แต่คุณว่าผิดมาตรา 66 และไปผิดมาตรา 72 อีก มันจะกลายเป็นมีโทษอาญาซ้อนขึ้นมาอีก จำคุก 3 ปี โทษจะดับเบิล

คืออันเดียวกัน โทษดับเบิล และอันนี้ไม่ใช่กรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท เพราะว่าแต่ละอัน โดยระบบ เขาต้องการให้มันแยกกัน แล้วคุณจะลงโทษยังไง ถ้าทั้งตัดสิทธิแล้วตัดสิทธิอีก เหมือนตายแล้วตายอีก คือประหารไปหนึ่งรอบ และประหารอีกทีหนึ่ง

 

หลักวิชาและความชอบธรรม

เวลาเราใช้กฎหมาย คนจะมองว่า กฎหมายเป็นการต่อสู้ทางการเมือง มันไม่มีหลักเกณฑ์อะไรหรอก ทุกอย่าง ถ้าอยากรู้ คุณไปดูว่าตอนนั้นใครมีอำนาจ เขาใช้กันยังไง ทำให้กฎหมายแปลว่ายังไงก็ได้…แล้วแต่ ผมไม่ได้คิดแบบนั้นเสียทีเดียว กฎหมายคือการเมือง อาจจะพูดไม่ผิด แต่คุณจะดูแต่ความเป็นจริง เอาความจริงเบื้องหน้าเป็นบรรทัดฐาน โดยไม่ดูคุณค่าเลยไม่ได้

อันหนึ่งซึ่งผมถือเป็นหลักเสมอมา ในหลายปี ตั้งแต่ผมให้ความเห็นทางกฎหมายคนเดียว จนมาเป็นห้าอาจารย์ จนสุดท้ายเป็นคณะนิติราษฎร์ หลักที่ผมถือคือเมื่อจะให้ความเห็นทางกฎหมาย มันจะต้องเอาหลักวิชาไปโต้ แล้วเมื่อเอาหลักวิชาไปโต้ อะไรที่เขาเป็นคนละข้างกับเรา ถ้าเขาถูก ผมยอมรับ แม้ว่าผมอาจจะไม่เห็นด้วยในทางการเมือง ถ้าหลักกฎหมายเป็นแบบนั้น ผมก็ยอมรับ

ถามว่าทำไม คำตอบคือการโต้แย้งโดยฐานทางกฎหมาย มันสร้างความชอบธรรมต่อไปในทางการเมืองว่า เวลาเราโต้แย้งอะไร มันมีเหตุมีผล สมเหตุสมผล ในสภาวะของความตกต่ำในทุกๆ ทางของสังคมไทยในช่วงสิบกว่าปีมานี้ ฝ่ายที่ถือหลักประชาธิปไตย เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่มีเครื่องมืออะไรมากนัก ความชอบธรรมในการให้เหตุผลทางกฎหมายที่สอดคล้องกับหลักวิชาและสามัญสำนึก เป็นเครื่องมือไม่มากชิ้นที่เรามีอยู่

แต่ถ้าเราเอาพอยต์ทางการเมืองนำ คิดถึงการได้หรือเสียทางการเมืองเฉพาะหน้าถ้าเราเอาการเมืองนำ บางทีมันสูญเสียความชอบธรรมไป

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

อีกรายละเอียด

หลายเดือนก่อนมีปัญหาเถียงกันในสภาผู้แทนราษฎร ตอนที่ฝ่ายค้าน… ผมเข้าใจว่าโดยพรรคอนาคตใหม่ เขายื่นญัตติขอตั้งคณะกรรมาธิการ ตรวจสอบการใช้ มาตรา 44 พอโหวต ปรากฏว่าญัตติของฝ่ายค้านชนะ ฝ่ายรัฐบาลแพ้ พอแพ้ รัฐบาลก็รู้สึกว่าเสียฟอร์ม เข้าใจว่ามันไม่เป็นไปตามทิศทางของผู้มีอำนาจด้วย พอเป็นแบบนี้ สส. ฝ่ายรัฐบาลยื่นญัตติว่าขอให้มีการนับคะแนนใหม่ตามข้อบังคับการประชุม แต่การนับคะแนนใหม่ถูกตีความว่าคือการโหวตใหม่หรือออกเสียงลงคะแนนใหม่ ฝ่ายค้านโต้ว่าการนับคะแนนใหม่หมายถึงเอาคะแนนที่ลงไปแล้วมานับใหม่ เขาเถียงกันตรงนี้ ประธานสภาขณะนั้นชี้ว่าการนับคะแนนใหม่ หมายถึงการลงคะแนนใหม่ แล้วพอโหวตใหม่อีกครั้ง ปรากฏว่าฝ่ายรัฐบาลชนะ

จำได้ว่า มีสื่อไปถามความเห็นประชาชนทางออนไลน์ด้วยว่า เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของประธานสภาไหม หรือเห็นด้วยกับเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ผลการทำโพลนี้ 98 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วยกับเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ว่านับคะแนนใหม่คือ เอาคะแนนที่ออกเสียงไปแล้วมานับใหม่ ไม่ใช่โหวตใหม่หรือออกเสียงลงคะแนนใหม่

รู้ไหม เรื่องนี้ผมเห็นเหมือนกับประธานสภาผู้แทนราษฎร พูดง่ายๆ ว่าผมเป็นฝ่ายเสียงข้างน้อย คือ 2 เปอร์เซ็นต์ ทีนี้เราลองวิเคราะห์ดู ในทางการเมือง ผมคิดว่าฝ่ายรัฐบาลแย่มาก พูดง่ายๆ คือแพ้ แต่ไม่ยอมรับ ฝ่ายค้านก่อนหน้านั้นโหวตแพ้มาตั้งหลายครั้งเขาก็ไม่ว่าอะไร

ผมบอกแบบนี้ก่อนนะครับว่า เราต้องแยกเรื่องทางการเมืองกับกฎหมายออกจากกันก่อน ในทางการเมือง กรณีนี้ฝ่ายรัฐบาลไม่โอเคหรอก ฝ่ายค้านชนะแล้ว เพราะตัว สส. คุณไม่อยู่ในสภา ไปไหนไม่รู้ คุณแพ้ มันควรจบและคุณต้องยอมรับ แต่คุณไม่ยอมรับ คุณมาใช้สิทธิตามข้อบังคับการประชุม พอมาใช้สิทธิ มันเลื่อนมาเป็นประเด็นทางกฎหมายว่า ตกลงเขามีสิทธิไหม คำตอบคือเขามีสิทธิ คำถามคือ นับคะแนนใหม่คืออะไร อันนี้ต้องไปดูข้อบังคับการประชุมสภา ซึ่งกำหนดว่า เมื่อมีการออกเสียงลงคะแนนโดยใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนนแล้ว ถ้าสมาชิกร้องขอให้นับใหม่โดยมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 20 คน ก็ให้มีการนับคะแนนใหม่ โดยเปลี่ยนวิธีการลงคะแนนเป็นการเรียกชื่อสมาชิกตามหมายเลขประจำตัวสมาชิก ให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นรายคนตามวิธีที่ประธานกำหนด

อันนี้เราจะเห็นว่าข้อบังคับการประชุมกำหนดให้นับคะแนนใหม่ โดยเปลี่ยนวิธีการออกเสียงลงคะแนนเป็นการเรียกชื่อ

ถ้าตีความว่า นับใหม่คือเอาคะแนนเก่ามานับใหม่ จะมีปัญหาทันที เพราะข้อบังคับการประชุมซึ่งทุกฝ่ายร่วมกันออกมาที่เขียนต่อไปว่า โดยเปลี่ยนวิธีการออกเสียงคะแนนเป็นการเรียกชื่อ มันจะไม่มีที่ใช้ทันที ถ้าเราไปดูความเป็นมาของข้อบังคับ โดยเจตนา มันคือการให้โหวตใหม่ครับ ไม่ใช่เอาคะแนนเก่ามานับใหม่เหมือนการเลือกตั้ง อันนั้นเอาคะแนนในหีบมานับใหม่ ไม่ใช่ให้ประชาชนมาโหวตใหม่ เวลาตีความ เราต้องตีให้มันรับกัน

สิ่งที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรชี้ นั่นคือถูกต้องแล้ว ผมเองโดยส่วนตัวอยากให้ตั้งกรรมาธิการนี้จะตาย แต่ถ้าข้อบังคับเป็นแบบนี้ ผมก็ต้องตีความแบบนี้

ผมไม่ได้โทษอนาคตใหม่ เขาอาจอ่านแบบนั้น และมีอารมณ์ความรู้สึก คือเขาอยู่ในสนาม ผมอยู่ข้างนอก ผมนั่งมอง นั่งดู จะบอกว่าผมไม่มีส่วนได้ส่วนเสียเลยก็ไม่ขนาดนั้น คือถ้าตั้งกรรมาธิการนี้ผมก็ชอบ แต่ในขณะเดียวกัน จะให้ผมบอกว่าใช่ แต่วิชาที่เรียนมามันไม่ใช่ ผมทำไม่ได้

บางทีเราต้องยอมรับว่า มันต้องถูกด่าบ้าง คนด่ามันง่ายไง วรเจตน์เปลี่ยนไปแล้ว ทำไมวรเจตน์อ่านไม่ออกเหรอ เขาบอกว่านับคะแนนใหม่ ไม่ใช่ลงคะแนนใหม่ ทำไมวรเจตน์โง่แบบนี้ แต่เรื่องนี้ไม่ได้มีใครมีโอกาสได้ด่านะ เพราะผมไม่ได้พูดให้ความเห็นต่อสาธารณะ

 

ปมถวายสัตย์ฯ

เหมือนที่ผมพูดให้สัมภาษณ์ตอนถวายสัตย์ฯ ว่าถ้าผมเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ผมก็จะไม่รับคำร้อง มีคนมาด่าผมว่า ทำไม อะไรวะ ทำไมไม่รับ ทำไมผมถึงบอกว่าที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับวินิจฉัยปมถวายสัตย์ฯ มันถูกแล้ว คือคนอยากให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ การยื่นคำร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ตรวจสอบ ตัวเองต้องถูกกระทบสิทธิ การที่คุณประยุทธ์ถวายสัตย์ปฏิญาณ ซึ่งผมก็ยืนยันว่าการถวายสัตย์ฯ ของคุณประยุทธ์ ต้องเรียกพลเอกหรือเปล่าไม่รู้นะ (หัวเราะ) เห็นเขาประท้วงกันในสภา มันไม่ถูกต้อง เป็นข้อเท็จจริงซึ่งชัดแจ้งดั่งแสงตะวัน ว่ามันผิด คุณประยุทธ์กล่าวคำไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ ไม่ถูกต้อง แต่การที่คุณประยุทธ์ทำไม่ถูก กับการที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเข้ามาตัดสินได้หรือไม่ มันเป็นสองประเด็นที่ต้องแยกกัน

 

เสียบบัตรแทนกัน

บ้านเรานี่มันไปกันผิดหมดเลย ไปทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่โต สำหรับผม การเสียบบัตรแทนกันมันไม่ควรมีผลกระทบอะไรเลยกับ พ.ร.บ.งบประมาณ

พูดจริงๆ ว่าฝ่ายค้านเองน่าจะแสดงสปิริตทางการเมืองหรือพูดหลักที่ถูกต้อง

พอพูดแบบนี้ ผมจะถูกด่าว่านาอีฟ เป็นพระหรือเปล่า

เรื่องนี้ความจริงไม่ควรต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ คนที่ลงมติตอนนั้นส่วนใหญ่เขาทำถูก มีเพียงส่วนน้อยที่ไปเสียบบัตรแทน อย่างมากที่สุดก็ตัดคะแนนคนที่เสียบบัตรแทนกันทิ้งไป ก็จบ เพราะคนอื่นที่เขาแสดงเจตนาถูกต้องไม่เกี่ยวอะไรด้วย ทีนี้ปัญหาก็คือมันเคยเกิดเรื่องขึ้นในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่การลงมติในสภามันมีการเสียบบัตรแทนกัน แล้วก็มีคนส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้กฎหมายตกไปทั้งฉบับ โดยไม่ดูเลยว่าคนที่เสียบบัตรแทนมีกี่คน คนที่เขาลงคะแนนถูกต้องมีกี่คน

ผมเคยบอกแล้วว่าแนวการวินิจฉัยเช่นนี้ไม่ถูกต้อง และสำหรับผมไม่มีทางจะถูกต้องได้เลย เพราะมันจะทำให้คนส่วนน้อยทำลายการแสดงเจตจำนงของคนส่วนใหญ่ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องแบบเดียวกัน แม้แต่ที่เกิดกับรัฐบาลคุณประยุทธ์ ถ้าคุณจะกลับไปสู่หลักที่ถูกต้อง ผมก็ไม่มีปัญหา แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้กลับแนวคำวินิจฉัย เขาดันไปออกอีกอันหนึ่งซึ่งยิ่งหนักไปกว่าเดิม คือให้ไปโหวตใหม่ ในวาระ 2-3 มันยิ่งไปกันใหญ่

ถามว่าสมัยคุณยิ่งลักษณ์ ทำไมไม่ให้โหวตใหม่บ้างล่ะ นึกออกไหม พูดถึงที่สุดเราไม่ได้อะไรเลยจากสองคดีนี้ กลับมาสู่หลักที่ถูกต้องก็ไม่กลับมา ในความเห็นผมนะ ครั้งหน้าก็ไม่รู้แล้วว่าถ้าเสียบบัตรแทนกันอีก จะตกทั้งหมด หรือกลับมาวาระ 2-3 ได้ มันไม่รู้ เพราะมีคำวินิจฉัยทั้งสองอัน บรรทัดฐานในเรื่องนี้ก็ไม่มี

ผมเสียดาย ฝ่ายค้านน่าจะบอกเลยว่าการเสียบบัตรแทนกันกรณีนี้ไม่เป็นปัญหา คืออย่างน้อยฝ่ายค้านแสดงท่าทีให้ชัดเจนไปเลยว่าไม่ติดใจ ฝ่ายรัฐบาลจะติดใจกันเองก็ช่วยไม่ได้เป็นเรื่องของฝ่ายรัฐบาล หรือหลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วจะอภิปรายแย้งศาลรัฐธรรมนูญก็แย้งไปเลย พูดให้ถูกต้องอย่างเต็มปากเต็มคำไปเลยว่า ศาลรัฐธรรมนูญควรต้องกลับแนวคำวินิจฉัยเดิม แล้วถ้ารัฐบาลประยุทธ์ได้ประโยชน์ ก็ให้ได้ไป เพราะมันจะได้กลับมาสู่สิ่งที่มันถูกต้อง เป็นหลักเป็นฐาน แล้วนี่เป็นกฎหมายงบประมาณด้วย ทุกคนต้องใช้งบประมาณ

เอามาโหวตใหม่ มันก็แค่เป็นพิธี เพื่ออะไร

 

พรรคอนาคตใหม่เท่าที่เห็นและเป็นไป

เขาสร้างปรากฏการณ์ทางการเมืองหลายอย่าง คนอภิปรายดีๆ ก็มีหลายคน โดยโทนเขาต้องการสร้างทางเลือกใหม่ขึ้นมา ถ้าเราดูจากไอเดีย เขาต้องการหลุดออกจากความขัดแย้งแดงเหลือง เพื่อไปสู่อันใหม่ ฐานเสียงอยู่ในกลุ่มปัญญาชน นิสิตนักศึกษา ชนชั้นกลางในเมือง เห็นชัดว่าตอนถูกยุบพรรค พวกนี้เริ่มออกมาแสดงบทบาท แง่นี้ ผมว่าเขาประสบความสำเร็จ

เพียงแต่คงไม่ได้มีฐานจากเจเนอเรชั่นนี้อย่างเดียว มันมีหลายเฉด ส่วนหนึ่งเป็นคนเสื้อแดง ที่อาจผิดหวังจากคุณทักษิณ หลายส่วนย้ายมาสนับสนุนอนาคตใหม่ เพราะเหมือนมีอะไรบางอย่างที่อาจจะดูว่าสู้กว่า ก้าวหน้ากว่า อีกส่วนอาจจะมาจากคนที่ผิดหวังทหาร แต่ก็ไม่ชอบคุณทักษิณ บางส่วนอาจเคยเป็นกลุ่มพันธมิตรหรือ กปปส. และที่ต้องไม่ลืมคือ การเลือกตั้งครั้งนี้มันเปลี่ยนรัชสมัยแล้วด้วย

อนาคตใหม่อาจสำเร็จในเบื้องต้น แต่ส่วนที่สำเร็จก็ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกับคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่ง เพราะที่ผ่านมาคนเสื้อแดงรู้สึกว่าเป็นผู้ถูกกระทำ ฉะนั้น การตัดขาดความขัดแย้งเหลืองแดง ก็อาจจะเป็นปัญหาหนึ่งแต่แรก

อนาคตใหม่เป็นที่รวมของคนหลายกลุ่ม เขาได้ทั้งประโยชน์และปัญหาจากระบบเลือกตั้ง การมีเวลาจำกัด เขาต้องแสวงหาความร่วมมือในระนาบที่กว้างที่สุด พอกว้างที่สุด ก็จะมีคนหลายพวกเข้ามาในพรรค การหลอมรวมความคิด อุดมการณ์ มันก็อาจจะขาดความคม ความชัดเจน

ความหลากหลายทำให้เกิดความขัดแย้งได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งผมว่าเห็นได้ชัดคือตอนยุบพรรค อาจจะมี สส. จำนวนหนึ่งไม่อยู่แล้ว ไปหาที่ใหม่ ส่วนหนึ่งอาจถูกซื้อก็ได้ ส่วนหนึ่งรู้สึกว่าพรรคไม่ใช่อย่างที่คิด โดยระยะเวลาการสร้างพรรคในเวลาจำกัดเช่นนี้ มันเลี่ยงไม่ได้ ถามว่าทำไมเป็นแบบนี้ ส่วนหนึ่งเพราะข้อจำกัดจากระบบเลือกตั้ง บัตรใบเดียว พรรคต้องการจะโต เขาต้องส่งคนให้ได้ครบทุกเขต เพราะไม่มีคะแนนเสียงของบัญชีรายชื่อโดยตรง

ระบบเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียวทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งกัน อย่างน้อยระหว่าง สส. ที่ลงบัญชีรายชื่อกับพวก สส.เขต เพราะมันไม่รู้ว่าคะแนนเสียงนั้นเป็นของใคร ระบบเลือกตั้งแบบนี้ อนาคตใหม่ได้รับผลดีมากกว่าพรรคอื่นๆ ด้วย เพราะสามารถส่งคนลงได้ครบทุกเขต และได้ สส. มากกว่าที่คิด และผมว่าเอาเข้าจริง ถ้าการเลือกตั้งไม่มีบัตรเขย่ง เผลอๆ อนาคตใหม่ได้เยอะกว่านี้อีก ถ้าจำนวนบัตรเสียไม่เป็นแบบนี้ อาจถึงร้อยก็ได้

ถามว่าทำไม พรรคอนาคตใหม่เองอาจบอกว่าเพราะการทำงาน ลงพื้นที่ เร่งทำ มันเป็นความมีประสิทธิภาพของการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ต้องยอมรับว่ามีส่วนจริง แต่ผมคิดว่ามีประสิทธิภาพขนาดไหนก็ตาม มันจะไม่ได้เท่านี้หรอก ที่ได้มากขนาดนี้เพราะมีปัจจัยบวกอื่นๆ ที่คิดไม่ถึงแทรกเข้ามา ข้อแรกคือการยุบพรรคไทยรักษาชาติ หลายคนปฏิเสธว่าไม่เกี่ยว คนในพรรคบางคนบอกว่านี่เป็นผลจากการทำงานหนักในการหาเสียง ผมว่าไม่จริง เกี่ยวแน่นอน การยุบพรรคไทยรักษาชาติมีส่วนแน่ๆ แต่เราไม่รู้ว่ามีส่วนแค่ไหน ในหลายเขตเลือกตั้งที่ไม่มีพรรคเพื่อไทย มันมีผล ในการช่วงชิงระดับเขต คนที่เป็นฐานของเพื่อไทย คือเขาพยายามแบ่งเขตไม่ให้ทับกัน พอต่อมายุบไทยรักษาชาติ เขาจะเลือกใครล่ะ มันก็ต้องอนาคตใหม่ แต่คงไม่ใช่ทั้งหมด แต่จะบอกว่าการยุบไทยรักษาชาติไม่เกี่ยวกับการได้คะแนนเพิ่มขึ้นของอนาคตใหม่เลย นี่หลอกตัวเองไปหน่อย

ต่อมาคือกระแสพลิกผันของคุณธนาธร อาจกล่าวได้ว่า มันมีช่วงพลิกที่เกิดกระแส ‘พ่อของฟ้า’ หลังงานบอลประเพณี เป็นกระแสพุ่งแรงในหมู่คนรุ่นใหม่ บวกกับความเบื่อหน่ายรัฐบาลทหาร กับความรู้สึกว่าอยากลองของใหม่บ้าง คุณทักษิณทำมาหลายปีแล้ว ยังอยู่เฉดแบบเดิม จังหวะขึ้นมาพอดี รวมกับการเชียร์ของปัญญาชน และสื่ออีกจำนวนหนึ่ง การแทรกตัวขึ้นมาในสภาพการเมืองที่มีช่องว่างแบบนี้แหละเป็นปัจจัยผนวกที่ทำให้อนาคตใหม่ขึ้นมาได้เร็ว เกินความคาดหมายอย่างมาก

แต่พอระบบเลือกตั้งบวกสถานการณ์การเมืองเป็นแบบนี้ ก็จะมีเสียงพูดว่า สส. จำนวนหนึ่งที่ได้เข้ามา เพราะกระแสธนาธร คือคุณเป็นโนเนม พวกในบัญชีรายชื่ออันดับล่างๆ ถ้าคุณไม่อยู่อนาคตใหม่ คุณไม่ได้เป็น สส. หรอก คุณอาจไม่ได้เป็นตลอดทั้งชีวิต และความคิดอาจเลยไปถึง สส.เขต ด้วย เพราะว่ากระแสธนาธรส่งผลถึงตัวพรรคในเขต อันนี้แหละคือปัญหา เพราะ สส.เขตจำนวนหนึ่งก็ทุ่มเทการหาเสียง ทุ่มมาก อาจมีหลายคนที่เราไม่รู้จัก ที่ไม่มีบทบาทในสภา เขาทุ่ม เขาเดินและผนวกกัน คือลำพังกระแสพรรค คุณอาจไปไม่ถึงในระดับชาวบ้าน คุณอาจเข้าถึงคนอยู่ในคอนโด แต่ในระดับพื้นที่ บางทีความขยันของ สส. ใหม่ๆ มันล้มช้างได้เหมือนกัน

แต่เราก็บอกได้ไม่หมด สส. ในเขตอาจทุ่มเทหาเสียง แต่เขาไม่ชนะในเขต เขาได้คะแนนมากซึ่งถูกส่งไปให้บัญชีรายชื่อ เราจึงปฏิเสธไม่ได้ ที่มันมีการพูดเรื่องการแยกคลาสในพรรค

 

อิทธิพลของชนชั้นนำ?

ระบบเลือกตั้งแบบนี้ ผมไม่เห็นด้วย คือมันพอมองได้อยู่ว่า ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย แต่มันเป็นระบบเลือกตั้งที่ทำลายความเป็นเอกภาพของพรรคการเมือง และถ้าคิดดีๆ ไม่ได้เคารพเจตจำนงของประชาชนอย่างถึงที่สุด เพราะบางคนไม่อยากเลือกคนในเขต แต่อยากเลือกบัญชีรายชื่อก็ไม่มีให้เขาเลือก บางคนอยากเลือกคนในเขต ไม่อยากเลือกบัญชีรายชื่อ แต่พอเขาลงคะแนนให้คนในเขต แล้วคนในเขตที่เขาลงคะแนนให้ไม่ชนะในเขต คะแนนของเขากลายไปเป็นของบัญชีรายชื่อทันที อันนี้ผมก็พูดมาตั้งแต่ตอนวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญก่อนออกเสียงประชามติแล้ว

เป็นความพยายามของชนชั้นนำที่มีส่วนในการเขียนรัฐธรรมนูญ ที่จะทำลายลีดเดอร์เดี่ยว เราดูสิ ตอนปี 2550 เขาเลิกระบบเขตเดียวทั้งประเทศ เพราะไม่ต้องการให้ใครมาเคลมเรื่อง 19 ล้านเสียง เขาไม่ต้องการให้ใครเคลม แต่ถึงทำระบบเลือกตั้งแบบนี้ พรรคที่สืบสาวมาจากไทยรักไทย ยังชนะเลือกตั้งอีก คือพลังประชาชน

หลังยุบพลังประชาชน มีการแก้ระบบเลือกตั้งอีก แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 เขาคิดอีกแบบขึ้นมาเลย คือคิดว่าทำยังไงให้พรรคใดพรรคหนึ่งมีเสียงข้างมากในสภายาก ฝ่ายของคุณทักษิณแก้เกมโดยแตกแบงก์พัน แต่มันเกิดอุบัติเหตุเรื่องแคนดิเดต ขณะเดียวกัน เขาก็นึกไม่ถึงว่าจะมีพรรคแบบอนาคตใหม่เกิดขึ้น อนาคตใหม่เป็นเซอร์ไพรส์จริงๆ ของชนชั้นนำ คือไม่ว่าคุณจะเขียนรัฐธรรมนูญยังไง มันมีช่องที่ลอดออกไปได้ในที่สุด

อนาคตใหม่ได้ประโยชน์ แต่ข้ออ่อนคือการหลอมรวมแนวคิดของพรรค ไม่รู้ว่าเป้าหมายจริงๆ คืออะไร มันมีหลายแบบมาก ทั้งการเมือง วัฒนธรรม ความหลากหลายทางเพศ ชาติพันธุ์ พร้อมๆ กับการแยกออกจากคนเสื้อแดง รวมทั้งการมองเหลืองแดงเป็นปัญหาในอดีตที่ต้องข้ามให้พ้น อันนี้ผมว่ามีปัญหาอยู่เหมือนกัน

 

ระวังรากจะลอย

ถ้ามองแค่ความขัดแย้งพื้นฐาน ระหว่างคนสองฝ่ายที่คิดไม่เหมือนกันในทางการเมือง มันก็มองได้อยู่ แต่ผมคิดว่ามองเท่านี้ไม่พอ มองเท่านี้จะเป็นการทิ้งอะไรหลายอย่างที่เคยสู้มา แล้วมันจะไม่เชื่อมกัน ผมเป็นนักกฎหมาย ผมเห็นการใช้กฎหมายบดขยี้ ผมเห็นความเลอะเทอะเหลวไหลในการใช้กฎหมายที่ไปซัพพอร์ตฝ่ายที่มีทัศนะทางการเมืองแบบกลุ่มพันธมิตร รวมทั้งกลุ่ม กปปส. เห็นการใช้การตีความกฎหมายหลายเรื่องที่มันไปกันไม่ได้เลยกับหลักการที่ถูกต้อง ถ้าเราไม่กลับไปตรงนี้ หลักการพวกนี้มันก็จะไม่เกิด

ถ้าคุณไม่ชี้ให้เห็นว่าแง่การต่อสู้ทางการเมือง มันบิดหลักกฎหมายกันยังไง อันนี้น่าเสียดาย ทั้งเหลืองทั้งแดง คนที่ไปชุมนุมธรรมดาเกลียดกัน แล้วทำร้ายกัน…มันมี แต่ว่าฝ่ายเสื้อแดง คุณถูกกระทำโดยอำนาจรัฐด้วยครับ ใครจะเถียงผม หรือใครจะปฏิเสธ ว่าถ้าเปรียบเทียบการต่อสู้กัน ใครถูกกระทำอย่างรุนแรงที่สุดจากอำนาจรัฐ

ฝ่ายเสื้อเหลืองอาจบอกว่าผมพูดไม่แฟร์ เพราะสมัยหนึ่ง รัฐบาลพลังประชาชนก็มีเรื่องสลายชุมนุม แต่ว่าระดับความรุนแรงต่างกันมากระดับความรุนแรงของการสลายชุมนุมมันเทียบกันไม่ได้ คนตายจากการใช้อำนาจรัฐมันไม่สามารถเทียบกันได้เลย ยิงหัวแบะแบบนี้ ยิงในวัดปทุมวนาราม มันจะเทียบกันยังไง

ถ้าใครจะบอกว่ามันเหมือนกัน มันต้องข้ามทั้งหมด ผมว่าคนที่ถูกกระทำโดยอำนาจรัฐแบบนี้ เขารับไม่ได้หรอก

ประเด็นพวกนี้ ผมว่าทิ้งไม่ได้ คุณอาจพูดถึงเหลืองแดงได้ พูดว่าฝ่ายเหลืองถูกหรือผิดตรงไหน ฝ่ายแดงถูกหรือผิดตรงไหน แต่สุดท้ายคุณต้องกลับไปที่หลักการนะ คุณต้องถามว่าการยุบไทยรักไทย มันถูกไหม คุณใช้กฎหมายที่ออกมาจาก คปค. (คณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค มันใช่เหรอ ยุบพลังประชาชนเพราะเห็นว่ามีคนหนึ่งทำผิด และยุบทั้งพรรค มันใช่หรือเปล่า

เราต้องดูภาพใหญ่ทั้งหมดว่าเกิดอะไรขึ้น ใครเป็นฝ่ายถูกบดขยี้จากอำนาจรัฐเป็นหลัก

แล้วมันต้องเคลียร์ แต่นี่ยังไม่เคลียร์ คนที่เกี่ยวข้องก็มายึดอำนาจในภายหลังด้วยใช่ไหมล่ะ ที่เกี่ยวพันน่ะ มันกลายเป็นมายึดอำนาจซ้ำอีก และเรื่องนี้ก็ไม่มีการเคลียร์ เวลาเราพูดว่าพยายามข้ามพ้น ผมคิดว่าถ้าคุณข้ามพ้น ประวัติศาสตร์ก็จะไม่ถูกชำระ

แน่นอนว่าเฉพาะหน้า อาจจะต้องสมานฉันท์เพื่อเปลี่ยนการเมืองก่อน แน่นอนว่าเราวิจารณ์ได้ว่าฝ่ายผู้นำของพรรคการเมืองและกลุ่มเคลื่อนไหวเสื้อแดงใช้คนเสื้อแดงเพื่อประโยชน์ของตัวเองไหม พวกนี้วิจารณ์ได้ทั้งนั้น แต่ต้องไม่ลืมว่าการใช้กฎหมายที่ผ่านมาใช้กันยังไง การฆ่ากลางเมืองในเดือนพฤษภา 53 มันรุนแรงยังไง พยายามให้ความเป็นธรรมอย่างที่สุดกับเรื่องใหญ่แบบนี้ อย่าทำแบบสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งที่พยายามบิดเบือนการถูกกระทำของผู้ชุมนุมอย่างเลือดเย็นและโหดร้ายครั้งนั้น

สำหรับการยุบพรรค ถ้าเรายอมรับการยุบพรรคอนาคตใหม่ไม่ได้ มันก็ต้องรับไม่ได้ทั้งหมด ยุบไทยรักไทย พลังประชาชน ไทยรักษาชาติ ต้องพูดในระนาบเดียวกัน และคุณต้องเชื่อมกลับไปที่กฎหมายแบบนี้ในอดีตให้ได้ ไม่ใช่มองแค่เรื่องในวันนี้

 

อย่าลืมหลักการ

บางคนบอกว่าการยุบพรรคอนาคตใหม่เป็นการลงโทษที่รุนแรงไป มันใช่แน่นอน โทษยุบพรรคแรงไป คำถามคือถ้าคุณถือหลักการแบบนี้จริง ทำไมตอนนั้นคุณไม่พูด คนที่มีพื้นที่ในสื่อสาธารณะหลายคนทำไมตอนนั้นไม่พูด ทำไมเห็นดีเห็นงามด้วย พอผมพูดแบบนี้ ก็อาจมีปัญหาอีกว่าทำไมผมเรียกร้องให้ทุกคนมาพูดแบบผม ผมกำลังจะบอกว่ามันต้องมีความสม่ำเสมอบ้างนะ และพอตัดขาดแบบนี้ แง่หนึ่งอนาคตใหม่จึงกลายเป็นสะพานให้คนจำนวนหนึ่งใช้เดินข้ามมา เพื่อจะมาสู่ตรงนี้ เกาะอนาคตใหม่ข้ามมา เรื่องในอดีต ไม่มีใครถาม เพราะทุกคนบอกว่ามันต้องขยายมิตร

คือผมเข้าใจ เวลาคนบอกว่า อาจารย์ เราก็ต้องแสวงหาแนวร่วมให้มากที่สุด ผมบอกว่าคุณขยายมิตรน่ะได้ แต่ว่าผมไม่ชอบที่คุณไม่สม่ำเสมอ แล้วพอคุณไม่สม่ำเสมอ พอเกาะมาอยู่ตรงนี้แล้วกลายเป็นเหมือนกับในอดีตคุณไม่เคยทำอะไรที่ไม่เข้าท่าเลย

นึกออกใช่ไหม แง่หนึ่งมันเหมือนอนาคตใหม่เปิดให้เขากลับเข้ามาเชื่อม แล้วใช้อันนี้ต่อไป แต่การมาเชื่อมต้องไม่ใช่กลับมาฟอก เพราะถ้ากลับมาฟอก มันแปลว่าเราลืมในทางหลักการหมด

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

เพิ่งตาสว่าง?

จะเพิ่งตาสว่างยังไง เรื่องมันเหลือทนมาตั้งแต่ในอดีต เห็นได้ชัดว่าบางคนดูเหมือนเปลี่ยน เพราะถูกทหารกระทำ บางคนดูเหมือนเปลี่ยนเพราะไม่พอใจรัฐบาลที่เป็นอยู่ บางคนดูเหมือนเปลี่ยน เพราะกระแสคนรุ่นใหม่กำลังขึ้น เห็นได้ชัดว่าวันข้างหน้า คนเหล่านี้ก็อาจเปลี่ยนอีก

ผมอาจมองโลกแง่ร้ายไปหน่อย ความจริงคนเหล่านี้อาจกลับมามองถูกต้องแล้วก็ได้ พวกเขาเพิ่งรู้ ภาวนาให้เป็นแบบนั้น เพียงแต่ว่าภาพในอดีตบางภาพมันยังหลอนผมอยู่ โอเค เด็กรุ่นนี้ไม่รับรู้ เขาไม่ทันเห็นไง พอไม่เห็น เราควรทำยังไง

มีคนบอก เฮ้ย อาจารย์ไปอยู่ส่วนของอาจารย์เถอะ ให้เขาหลอมรวมอะไรไป เป็นอันใหม่ อย่าไปย้อนอดีตเลย อดีตเป็นอดีตไป พรรคเก่าแก่พวกนั้นก็ไม่ค่อยดี มีผลประโยชน์ทับซ้อน มีทุนสามานย์ ถูกยุบไปก็ดีแล้ว ใช่ไหม มีคนคิดแบบนี้

เราจะเห็นชัดเจนเลยไงว่าขาดความสม่ำเสมอ และถ้าหลักนี้มันไม่ได้ ผมกลัวว่า สมมุติวันหนึ่งเกิดเปลี่ยนแปลงได้จริง ไม่ว่าระดับไหน มันจะสไลด์ไปสู่อะไรที่คาดหมายไม่ได้ เราอยากจะเป็นสังคมแบบนี้เหรอ อยู่กันแบบนี้ ลืมอะไรง่ายๆ ไม่คิดอะไรเลยในทางหลักการ ผมว่าไม่น่าจะใช่

 

เทพและมาร

บางคนอาจคิดว่าอนาคตใหม่เป็นหน่ออ่อนของประชาธิปไตย แต่พรรคอื่นที่โดนยุบไปเป็นต้นไม้แห่งความชั่วร้ายของประชาธิปไตย ฉะนั้น ตัดต้นไม้แห่งความชั่วร้ายนั้นโอเค ตัดหน่ออ่อนไม่โอเค ผมว่าคิดแบบนี้ไม่ถูก ต้องคิดจากหลัก และมันจะเสมอกัน

ตรงกันข้ามเลย ยิ่งถ้าคิดแบบนั้น กฎหมายเราจะไม่มีทางเข้าที่ กฎหมายถูกเลือกใช้ นี่คือเรื่องใหญ่ของสังคมไทย

ผมไม่โอเคเลยกับการมองระนาบใหญ่ในลักษณะแบบนี้ ผมว่าคนที่อยู่ในสถานะสูงกว่าควรต้องยอมรับให้ได้ว่าคนข้างล่างจะเห็นยังไง เลือกยังไง เขาควรมีสิทธิเห็นและเลือกแบบนั้น เราต้องเคารพเขา แม้แต่การเลือกตั้งเที่ยวนี้ คุณจะเลือกพรรคพลังประชารัฐ ผมไม่มีปัญหาครับ ถ้ากระบวนการเลือกตั้งมันแฟร์ มันถูกต้อง เอาเลย แต่ที่จะมีปัญหาก็เพราะกระบวนการเลือกตั้งมันไม่เป็นแบบนั้น

 

ดีล/ไม่ดีล–แล้วไง

เราไม่รู้ว่าดีลที่ว่าๆ กันเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า ที่ผู้นำพรรคอนาคตใหม่สองคนไปพบ ผบ.ทบ. น่ะ แต่ถ้าดูจากความน่าเชื่อถือของคนซึ่งพูดเรื่องนี้ขึ้นมา และดูจากอะไรในอดีต ผมเชื่อว่ามีการพูดคุยกันเกิดขึ้นจริง แต่เราไม่รู้ว่าเขาคุยกันเรื่องอะไร อะไรคือดีล ความเข้าใจผมดีลคือการเจรจากัน คุณมีอะไรมาให้ผม ผมมีอะไรให้คุณ และทั้งผมกับคุณพอใจ ก็ดีล ตกลง

ทีนี้ ถ้าเกิดขึ้นจริง ฝ่ายที่ไปดีลคืออนาคตใหม่ เอาอะไรไปดีล

หรือความจริงไม่ใช่ดีล แค่ declare อะไรบางอย่างมากกว่า ที่ข้องใจ ก็ไป declare ซะว่ามันไม่ใช่

ถ้าประเมินการเมือง การไปดีลหรือดีแคลร์อาจไม่ใช่เรื่องประหลาด เพราะการคุยกันในการเมืองเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าคุณใช้เกณฑ์อีกอันประเมิน เช่น ดูจากการแสดงออกก่อนหน้านั้น พรรคอนาคตใหม่ทำให้เกิดความคาดหวังบางอย่าง การดีลแบบนี้มีปัญหา เพราะถ้ามีการแสดงบางอย่างออกมาว่าคุณต่างจากพรรคอื่น คนอื่น คุณไม่เหมือนนักการเมืองเก่าๆ คนอาจจะคาดหวังว่าถ้าไม่เหมือนเขา ก็ไม่ต้องมีดีลสิ เพราะนักการเมืองเก่าเขาดีลมาตลอด แบบที่หลายคนเรียกว่าสู้ไป กราบไป ดีลได้มั่ง ไม่ได้มั่ง

แต่ส่วนใหญ่รู้สึกจะไม่ได้นะ

ทีนี้พออนาคตใหม่ใช้ภาพลักษณ์ที่ว่าระดับแกนนำของพรรคก้าวจากคอมฟอร์ตโซนออกไปทำการเมือง เสียสละไปทำ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่มีธุรกิจอยู่ แต่เขาออกมา เลขาธิการพรรคเคยเป็นอาจารย์และลาออกมาทำพรรค มันดูได้ใจ กระทบใจ คนก็คาดหวังสิ่งใหม่ แต่ว่าแน่นอน การทำแต่ละอย่าง แต่ละคนมีเป้าหมาย มีแพสชั่นบางอย่าง บางทีอาจตอบสนองแพสชั่นของคนที่ออกมาด้วย แต่การเริ่มต้นสร้างพรรคจากภาพจำแบบนี้ มันทำให้คนคาดหวัง

อนาคตใหม่มีลักษณะแบบนี้ตั้งแต่แรก และมาตอกย้ำด้วยการจัดกิจกรรม ‘อยู่ไม่เป็น’ ผมถามว่า ใครบ้างวะที่ ‘อยู่ไม่เป็น’ ผมนี่เป็นประเภทไหน นี่คือปัญหาของอนาคตใหม่ เวลาใช้ถ้อยคำอะไรบางอย่าง เขาลืมนึกถึงผลสะท้อนอีกด้านหนึ่ง

เวลาพูด มันมีอีกด้านหนึ่งเสมอ เขาอาจไม่ตั้งใจก็ได้ เขาคิดจากมุมเขา

ถ้าเขาอยู่ไม่เป็น แปลว่าคนอื่นอยู่เป็นน่ะสิ

ถ้างั้นผมก็อยู่เป็น ยอมรับละกัน ง่ายดี แม้ว่าจะอยู่ยาก แต่ผมคิดไปมากกว่านั้นนะ

ถ้าเอาให้ถึงที่สุด ตอนนี้ใครอยู่ที่นี่ อยู่ในประเทศ ยังอยู่ได้ ผมว่าอยู่เป็นทั้งนั้น คนอยู่ไม่เป็นคือหนึ่ง ผู้ลี้ภัยทางการเมือง อาจไม่ใช่ทุกคน แต่ก็คือส่วนใหญ่ของผู้ลี้ภัย พวกนี้แหละอยู่ไม่เป็น นี่เป็นคำชมนะ เขามูฟหรือแสดงออกเยอะ ด้วยความจริงใจต่อความรู้สึกของเขาเอง และเขาอยู่ไม่เป็น อยู่ไม่ได้ ต้องลี้ภัย กับอีกพวกคือนักโทษการเมืองที่อยู่ในคุก คือคนได้รับผลสะเทือน ถ้าจะมีใครสามารถใช้คำว่า ‘อยู่ไม่เป็น’ ผมว่าพวกนี้แหละ

พรรคอนาคตใหม่ตั้งขึ้นมา มี สส. อยู่ในสภา เขามีที่ทางระดับหนึ่งในการทำการเมืองในสภา โอเค แต่ถ้าอีกฝ่ายมีแพลน หรือมีธงที่จะยุบ อาจเพราะมีอดีตบางอย่างตามมาหลอกหลอน ถ้าคุณคิดว่าจะอยู่ให้ได้ในสภา คุณอาจต้องแลกด้วยการบอกว่าทุกอย่างที่เคยทำมา เป็นโมฆะ คุณไม่คิดแบบนั้นอีกแล้ว อย่างนี้ก็ไม่ต้องไปดีลหรือดีแคลร์อะไร

แต่อย่างว่านะ ถ้าเขาไม่เชื่อ เขาก็ไม่เชื่ออยู่ดี แล้วอย่างที่เห็นแหละ เขาไม่เชื่อหรอก

ในฝ่ายชนชั้นนำตอนนี้เขาสร้างระบอบขึ้นมาเพื่อตัดทุกอย่างที่รู้สึกว่าเป็นอันตรายต่อระบอบ ซึ่งบางอย่างไม่ถึงกับอันตราย อย่างพรรคอนาคตใหม่ ก็คงไม่อันตรายอะไร ในความเห็นผมนะ เขาเองก็บอกตลอด ว่าเขาเชื่อในระบอบนี้ จะพิทักษ์ระบอบนี้ ดูได้จากการอภิปราย และการไม่แตะเรื่อง ม. 112

แต่ชนชั้นนำก็เห็นว่าอันตรายอยู่ดี ดีลไปก็ไม่สำเร็จหรอก

 

ระหว่างสัมพันธภาพ

ผมพูดในวันเปิดตัวหนังสือ ‘ประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา’ ตอนนั้นมีข่าวแล้วว่าปิยบุตรจะไปเล่นการเมือง ผมชมเขาที่ไปอย่างเปิดเผย ลาออกแล้วไปเล่นการเมือง มันเป็นสิ่งที่ดี ใครอยากเล่น ลาออกไปเล่น เขาเป็นตัวอย่างที่ดีให้นักวิชาการที่อยากทำงานการเมือง

ปิยบุตรออกไปแบบนี้ ผมว่าโอเค เขามีแพสชั่นทางการเมือง แฮปปี้ทำงานการเมือง และหลายเรื่องทำได้ดี แน่นอนหลายเรื่องอาจตั้งคำถามได้ ผมทรีตว่าเขาเป็นนักการเมือง ในทางหลักการบางอย่างอาจเห็นเหมือนกัน แต่วิธีการอาจไม่ใช่ และด้วยเหตุนี้ผมจึงไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่

ผมพูดตั้งแต่แรกแล้วว่า พรรคอนาคตใหม่ไม่เกี่ยวพันกับนิติราษฎร์

ปิยบุตรเคยอยู่ แต่ตอนนี้เขาคือเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ หรืออดีตเลขาธิการพรรคฯ ซึ่งไม่เกี่ยวกับนิติราษฎร์ แล้วจริงๆ นิติราษฎร์ก็ไม่ได้มีบทบาทอะไรแล้ว

เมื่อเขาออกไปทำงานทางการเมือง ผมพูดในวันนั้นว่าปิยบุตรขาดจากนิติราษฎร์ พูดชัดขนาดนี้ สื่อมวลชนจำนวนหนึ่งยังบอกว่านิติราษฎร์อยู่เบื้องหลัง หนักไปกว่านั้นอีก บางคนว่าผมอยู่เบื้องหลังปิยบุตร ผมเป็นคนส่งออกไป บางคนบอกว่าแบ่งกันเล่นคนละบทบาท หน้าฉากอย่างหนึ่ง หลังฉากอย่างหนึ่ง พูดให้ชัดอีกทีว่าผมไม่ได้เกี่ยวข้องกับปิยบุตร ไม่มีหน้าฉาก หลังฉากอะไรทั้งสิ้น
ผมพูดแบบนี้ไม่ใช่รังเกียจพรรคอนาคตใหม่ ไม่เกี่ยวเลย

ตอนทำนิติราษฎร์ ถึงมันมีอิมแพคในทางการเมืองแค่ไหนก็ตาม นิติราษฎร์คือกลุ่มที่ทำงานทางวิชาการ ไม่ได้ทำเพื่อมุ่งไปสู่การเมือง ไปลงช่วงชิงอำนาจการเมือง ไม่ว่าจะเจตนาดีแค่ไหนก็ตาม ผมยืนยันว่าไม่ ถ้าใครอยากจะทำก็ไปทำ ก็เป็นเรื่องของแต่ละคน

ผมบอกชัดเจนว่าข้อเสนอของนิติราษฎร์ทั้งเรื่องการลบล้างผลพวงรัฐประหาร เรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ใครรับไปทำก็ได้

ถึงจุดหนึ่งเมื่อปิยบุตรคิดว่าทำแค่การเคลื่อนไหวในทางวิชาการไม่พอ ต้องทำมากกว่านี้ ผมก็เคารพการตัดสินใจของเขา อวยพรและเอาใจช่วยตลอด แต่ไม่ได้หมายความว่าเห็นด้วยทุกเรื่องกับที่เขาทำ หรือเห็นด้วยกับท่าทีทางการเมืองของเขาทุกท่าที ไม่ใช่เลย

ในอีกมุมหนึ่งผมควรทำตัวยังไง ผมนี่โคตรลำบากใจเลย บางทีเหมือนผมถูกขังอยู่ในกรง อันนี้ไม่ต้องพูดว่าหลังรัฐประหารผมมีคดี และคดียังไม่เสร็จ คดีอาจไม่ร้ายแรงมาก นี่ก็เพิ่งโอนไปศาลแขวงดุสิต แต่มันกระทบกระเทือนชีวิตการงานในระดับหนึ่ง สร้างความรำคาญให้ชีวิตระดับหนึ่ง

มีวันหนึ่ง ผมไปบรรยายเรื่องแก้รัฐธรรมนูญที่สถาบันอิศรา ก็มีสื่อมวลชนมานั่งฟัง และมีคำถามในทำนองที่เขาเชื่อว่าผมอยู่เบื้องหลังพรรคอนาคตใหม่ ผมบอกว่าคนอย่างผม ถ้าจะทำอะไร ผมทำเอง ผมไม่ใช้ลูกศิษย์ ไม่ใช้เพื่อนไปทำ

ผมไม่ได้บอกว่าคนที่ทำอยู่ข้างหลังไม่ดีนะ บางคนเขาชอบซัพพอร์ตอยู่ข้างหลัง ถนัดงานเบื้องหลัง ก็แล้วแต่ ไม่ได้พูดว่าใครดี ใครไม่ดี แต่คนอย่างผม นิสัยอย่างผม ถ้าจะทำอะไร ผมทำเอง ผมจะไม่บอกว่าปิยบุตรไปทำนะ ผมอยู่ข้างหลัง แล้วถ้ามีอะไร เดี๋ยวผมจัดการ ผมไม่ใช่คนแบบนั้น

ในฐานะคนคุ้นเคย มันปฏิเสธกันไม่ได้หมดหรอก เหมือนน้ำจะตัดขาดจากกัน มันเป็นไปไม่ได้ แต่ผมมี integrity ของผมเพียงพอ ว่าแค่ไหน ยังไง หลังเลือกตั้งผมคิดว่าเราต้องขาดกันในระดับหนึ่งแล้ว เพราะไม่งั้น มันจะพัวพัน เดี๋ยวพอมีประเด็นทางกฎหมาย ผมก็ต้องให้คำแนะนำ ถ้าไม่แนะนำ มันจะใจจืดใจดำไหม เขาอุตส่าห์ไปทำ นึกออกใช่ไหมครับ แต่ถ้าทำแบบนั้น ผมจะสามารถให้ความเห็นของผมให้น่าเชื่อถือได้อย่างไร คนก็จะมองว่าเป็นพวกอนาคตใหม่ เหมือนกับที่เคยมองว่าผมเป็นพวกคุณทักษิณ มีข่าวลืออะไรที่ไร้สาระมั่วๆ แต่ผมไม่ได้แคร์อะไร เพราะอะไรที่มันไม่จริงก็ไม่จริงวันยังค่ำ

ผมเคารพการตัดสินใจของเขา และเขาก็ต้องเคารพการตัดสินใจของผม ผมทำในทางวิชาการ ผมก็มีที่ทางในทางวิชาการที่ต้องเดิน เราเดินกันคนละเส้นทาง

ถ้ามีคนถาม ผมต้องพูดตรงไปตรงมา ไม่งั้นก็เงียบดีกว่า เพราะถึงพูดไป สมมุติเรื่องนั้นๆ อนาคตใหม่ทำถูก คนก็หาว่าผมสนับสนุนพรรค เป็นพรรคพวกกัน ถ้าอนาคตใหม่ทำไม่ถูก และผมพูด คนก็อาจจะมองอีกว่า เฮ้ย เป็นคนยังไงวะ ทำไมเป็นแบบนี้ ไปว่าน้องนุ่งทำไม

เลยเหมือนถูกขังในกรง เป็นเรื่องลำบากใจ ผมไม่คิดมาก่อนว่าจะเป็นแบบนี้ แต่มันเป็นไปแล้ว

บางทีผมรู้สึกว่า ลืมๆ ผมไปเถอะ เพราะในรอบหลายปีมานี้ประเด็นหลักๆ ผมพูดไปหมดแล้ว ถ้าคนไม่ไปตามอ่าน ไม่ค้น ไม่สนใจ ก็ปล่อยไป

 

โลกของผู้พ่ายแพ้

ผมแพ้มาสองรอบ ถ้าเป็นทีมฟุตบอลนี่ตกดิวิชั่นไปแล้ว (หัวเราะ) ดีเบตรัฐธรรมนูญตอนปี 2550 ก็แพ้ประชามติ พอมาถึงรัฐธรรมนูญ 2560 ก็แพ้ประชามติอีก มีแต่ความพ่ายแพ้

บางทีผมรู้สึกว่าการเมืองมันก็แบบนี้แหละ มันคงไม่สามารถเป็นอย่างที่ผมคิดได้ ว่าควรจะเป็นแบบนี้ๆ แต่สิ่งพวกนี้ก็รบกวนจิตใจผมอยู่เหมือนกัน เวลาวิพากษ์วิจารณ์การเมือง เราวิเคราะห์แบบนี้แล้วจะยังไง จะดีไหม

โดยส่วนลึกๆ ในใจ ผมอยากให้สังคมไทยยืนในทางหลักการให้มากขึ้น มันน่าจะดีกว่าในระยะยาว เหมือนที่ผมพูดเรื่องนับคะแนนใหม่ ผมว่าในทางกฎหมาย ใครได้ ให้เขาได้เถอะ มันจะได้มีหลักมีเกณฑ์ สมัยวิจารณ์รัฐบาลทักษิณ ผมก็ใช้หลักการแบบนี้ ตอนนี้รัฐบาลประยุทธ์ ผมใช้หลักเดิม คือถ้าการทำตามหลักกฎหมายแล้วเขาได้ประโยชน์ ก็ได้ไปสิ ได้จากหลักการที่ถูกต้อง

แต่เวลาพูดแบบนี้ก็จะโดนด่าจากทุกฝ่าย คนจะบอกว่าผมมันพวกไร้เดียงสา

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

เดินหน้า หรือหยุด ยอม

ถึงที่สุดอาจหยุดไม่ได้หรอก เพียงแต่บางเวลาเราอาจพักเลียแผลบ้าง ให้คนที่เขาไม่มีแผล และมีกำลัง สู้ไป แต่สิ่งที่ต้องยืนไว้คือหลักการ อันนี้ไม่มียอม ไม่มีอ่อนข้อ ไม่มีเปลี่ยนแปลง ถ้าต้องตายไปแบบนี้ ก็ตายไปแบบนี้

ไม่ได้หมายความว่าเราไม่สู้ ทุกวันนี้บางทีมีคนว่าผมเอาแต่สอนหนังสือ ผมบอกว่าก็ผมเป็นอาจารย์ ชีวิตผมคือการสอนหนังสือ บทบาทคือสอนหนังสือ นี่คือโลกของผม ผมพยายามสอนหลักคิดที่ถูกต้อง ผมไม่เคยล้างสมองหรือครอบงำนักศึกษา ผมบอกเขาเสมอว่าที่ผมสอนไป คุณก็ไปดู ถ้าผมสอนข้อเท็จจริง คุณไปดูข้อเท็จจริงนั้นว่ามันผิดไหม ถ้าผิด ก็มาบอกผม ผมจะได้แก้ให้มันถูก เพราะผมก็ไม่ใช่สัพพัญญู รู้ทุกเรื่อง บางอันผมอาจเข้าใจผิดก็ได้ ส่วนถ้าเป็นเรื่องความเห็น คุณก็ไตร่ตรองดูว่าความเห็นของผมมีน้ำหนัก น่าเชื่อถือคล้อยตามไหม แล้วความเห็นผมสอดคล้องกับวิถีปฏิบัติของผมหรือเปล่า

ให้ดูเอา ตัดสินเอาเอง

ผมเป็นปุถุชน บางโมเมนต์มีเรื่องกระทบใจ มันก็มีอารมณ์บ้าง แต่ผมพยายามมีอารมณ์ให้น้อยที่สุด เวลาสอน จะบอกนักศึกษาให้เขามองเห็นทุกแง่ทุกมุม แล้วให้เขาคิดเอง ต้องไปถามคนที่เรียนกับผมซึ่งคงมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ โลกนี้ยังเป็นปกติอยู่ ถ้ามีแต่คนชอบผม โลกนี้ผิดปกติครับ มันต้องมีคนไม่ชอบ ธรรมดา คนเราไม่เหมือนกัน เพียงแต่ว่าอนุโลมไปตามโลก ว่าส่วนใหญ่เขาเห็นยังไง ประชาธิปไตยก็เป็นแบบนี้ อนุโลมตามความเห็นคนส่วนใหญ่

ถามว่าอาจผิดได้ไหม ผิดได้ และแก้ใหม่ได้

ในความเห็นผม ประชาธิปไตยคืออะไรแบบนี้ ไม่ได้แสวงหาความเลอเลิศ อยู่กับแบบโลกๆ แก้ปัญหากันแบบมนุษย์ ที่มีสติปัญญา

ผมพูดแบบนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย ซึ่งมันอาจมีความหมายสองอย่าง ว่าผมโง่เสมอต้นเสมอปลาย วรเจตน์โง่แบบไหน เอ็งก็โง่แบบเดิม โง่ตั้งแต่หนุ่มยันแก่ หรืออาจจะบอกว่าผมสม่ำเสมอกับความคิดความเห็นของผม กับหลักการของผม ก็ได้

โลกนี้แล้วแต่คุณจะมอง

ใครจะวิจารณ์ก็เอาเลย เมื่อคุณพูดพับลิค ความเห็นของคุณควรต้องมีการตรวจสอบ การประเมินของคุณถูกทบทวนตรวจสอบ มันมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เป็นเรื่องปกติ และในที่สุดมันจะช่วยยกระดับเล็กๆ น้อยๆ ในทางปัญญารวมของสังคม นักวิชาการก็ทำแบบนี้ ทำให้สังคมมีคุณภาพในทางสติปัญญามากขึ้น อย่าเป็นสังคมที่มีแต่ความเถื่อน หรือความถ่อย สังคมที่เถื่อนและถ่อยเป็นสังคมที่รังแต่จะล้าหลัง ถอยหลังจากอารยะ สู่อนารยะ สังคมไทยเห็นความเถื่อนในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 มาแล้ว พฤษภา 53 เราเห็นแล้ว เราอยากเห็นซ้ำๆ อีกเหรอ

สังคมควรเดินไปข้างหน้า ผ่านการถกเถียงกันทางสติปัญญา

แน่นอนว่าทุกสังคม พอจะมูฟ มันย่อมมีคนได้และคนเสีย คนเสียก็ไม่ต้องการเปลี่ยน คนที่ได้ประโยชน์จากโครงสร้างแบบนี้ เขาไม่ต้องการเปลี่ยน

ความจริงผมมานั่งนึกๆ ดู ผมเป็นพวกทรยศต่อชนชั้นหรือเปล่าวะ ผมอยู่ในระนาบแบบนี้ใช่ไหม อยู่มหาวิทยาลัย แต่ไปทำบางเรื่องที่ต้องการเปลี่ยนแปลงให้มันดีขึ้น ผมเป็นพวกทรยศหรือเปล่า ก็ถามตัวเอง แต่ผมรู้ว่าผมมาจากไหน

ผมเป็นคนธรรมดา ชอบใช้ชีวิตธรรมดา ชอบไปเดินตลาดแบบชาวบ้านเขาเดิน ผมรู้ว่าในทุกชนชั้นมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครสามารถทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ แต่สังคมควรมีระบบและโครงสร้างที่ดี เพื่อทำให้คนไม่ดี ภายใต้โครงสร้างอันนี้ ทำสิ่งที่ไม่ดียากขึ้น เพื่อให้คนดีมีโอกาสในโครงสร้างแบบนี้ ลดความเหลื่อมล้ำของระบบโครงสร้าง เพราะคนดีและไม่ดี มันมีในทุกชนชั้น

การที่จะทำให้บ้านเมืองดี จึงไม่ใช่การทำให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง แต่หมายถึงการทำให้โครงสร้างของสังคมโดยรวมเป็นโครงสร้างที่ดี โครงสร้างที่อย่าให้มันอยุติธรรมมากจนเกินไป

อย่าเหลื่อมล้ำจนน่ารังเกียจ หรือกดขี่กันในโครงสร้าง จนมันน่าเกลียด

 

อาวุธวรเจตน์

ผมอยู่ฝ่ายนิติศาสตร์ ใช้เครื่องมือทางกฎหมาย เวลาจะทำอะไร ผมใช้อย่างมั่นใจ มันเหมือนผมมีอาวุธในมือ เป็นอาวุธที่ถนัดมือ เครื่องมืออื่นๆ เช่น ถ้าให้ผมวิเคราะห์ทางรัฐศาสตร์ สังคมวิทยา เศรษฐศาสตร์ มันเหมือนให้อาวุธบางอย่างซึ่งไม่ถนัดมือ นึกออกไหม ขณะที่ตรงนี้ ผมคล่อง ผมพอเข้าใจมัน และผมรู้สึกว่าเวลาจะลงสนาม เวลาจะรบ ผมควรถืออาวุธที่ผมถนัดมือที่สุดออกไปรบ

ทุกคนที่เป็นนักวิชาการควรถืออาวุธที่เขาถนัดมือที่สุด ออกไปรบ

บางคนอาจคาดหวังให้ผมทำอะไรที่มากกว่าการสอนหนังสือ เขาอาจจะประเมินศักยภาพผมสูงเกินไป อยากให้ผมไปทำอย่างอื่น เฮ้ย ประเมินผมสูงเกินไปหรือเปล่า แท้จริงผมอาจไม่มีความสามารถอะไรขนาดนั้น

ผมมีแบบที่มี เท่าที่มี

ผมไม่ได้เล่นโซเชียลมีเดีย ผมไม่มีทวิตเตอร์ ผมไม่เล่นเฟซบุ๊ค ทุกอย่างที่ออกไป มันคือปฏิกิริยาที่มีคนมาพูดคุยกับผม เช่นวันนี้คุณมาถาม ผมก็ตอบ

Author

วรพจน์ พันธุ์พงศ์
นักสัมภาษณ์ นักเขียน สื่อมวลชนอิสระ ผลงานหนังสือบทสัมภาษณ์ของวรพจน์เล่มสำคัญ ได้แก่ ความมืดกลางแสงแดด, Portrait ธนาธร, เสียงพูดสุดท้าย 'รงค์ วงษ์สวรรค์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า