ระวังเว็บไซต์ปลอม เสิร์ชเอนจิ้นไม่ช่วยอะไร

passport rogue website-UK

 

การใช้งานเสิร์ชเอนจิ้น เว็บไซต์ที่อยู่บนสุดในหน้าค้นหา อาจไม่ใช่เว็บไซต์ทางการที่กำลังต้องการหา แต่เป็นเว็บไซต์ ‘ปลอม’ ที่จงใจสร้างความสับสนให้ผู้บริโภค

มีคนเสียเงินฟรีๆ ให้กับเว็บไซต์ทำพาสปอร์ตปลอมไปแล้วหลายกรณี หนึ่งในนั้นคือ ไบรอัน และวาเลอรี คู่สามีภรรยาจากแฮร์โรเกต ใช้บริการทำพาสปอร์ตจาก UK-passport.net โดยหารู้ไม่ว่า นั่นไม่ใช่เว็บไซต์ทางการของสำนักหนังสือเดินทางสหราชอาณาจักร

กว่าจะรู้ว่าถูกหลอกก็หลังจากโอนเงินไปให้เว็บไซต์นั้นเรียบร้อยแล้ว พวกเขาจึงร้องเรียนไปที่สำนักหนังสือเดินทางตัวจริง ขณะที่ทางเว็บไซต์ UK-passport.net ยอมคืนค่าธรรมเนียมทำพาสปอร์ตของทั้งคู่ แต่พวกเขาก็ต้องเสียเวลาในการรอพาสปอร์ตเล่มจริง และทริปท่องเที่ยวที่จองไว้ก็ต้องเลื่อนออกไปอีก

 

การนำเว็บไซต์ขึ้นไปอยู่ในลำดับบนสุดของหน้าค้นหา ทำได้ด้วยโปรแกรม Google AdWords คล้ายๆ การซื้อพื้นที่โฆษณาบนเว็บไซต์ ซึ่งสามารถทำให้เว็บไซต์อะไรก็ได้สามารถขึ้นไปอยู่ในลำดับต้นๆ เวลาคีย์คำสำคัญลงไป เพียงชำระค่าธรรมเนียมตามกติกาของกูเกิลที่คิดเป็นรายวัน

online-advertising

เว็บไซต์เหล่านี้พยายามทำให้ตัวเองถูกเข้าใจว่าเป็นเว็บไซต์ทางการให้มากที่สุด หลายเว็บไซต์อ้างว่าตัวเองเป็นหน่วยงานที่เข้ามาเสริมให้กระบวนการในการติดต่อราชการง่ายและไวขึ้น แต่ก็มีข้อความชี้แจงในท้ายหน้าด้วยตัวอักษรสีเทาตัวเล็กๆ ว่า เว็บไซต์นี้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการดังที่กล่าวอ้างไว้แต่อย่างใด

โฆษกของสำนักหนังสือเดินทางกล่าวถึงเว็บไซต์ปลอมเหล่านี้ว่า การกระทำการดังกล่าวของเว็บไซต์เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ แม้จะยังไม่สามารถดำเนินมาตรการทางกฎหมาย แต่ก็พยายามโต้กลับด้วยการร่วมมือกับ Advertising Standards Agency ปรับเจ้าของเว็บปลอมและห้ามใช้โลโก้ทางการอย่างเด็ดขาด

 

ทุกคนคงสงสัยว่าทำได้อย่างไร นั่นเพราะโฆษกกูเกิลชี้แจงว่าไม่ขัดกับนโยบายของบริษัท และกูเกิลได้รับผลตอบแทนในเรื่องนี้อย่างงาม ปี 2012 กูเกิลได้รับค่าโฆษณาจากการให้บริการ AdWords ทั้งสิ้น 42,500 ล้านเหรียญสหรัฐ คำถามต่อไปคือ ทำไมรัฐบาลถึงไม่ใช้อำนาจสั่งปิดเว็บไซต์กำมะลอเหล่านี้ และเป็นไปไม่ได้เลยหรือที่จะต้องมีตัวกรองเว็บไซต์จริงหรือปลอมเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค

ความระมัดระวัง รอบคอบในการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ออนไลน์ทั้งหมด จึงถูกผลักให้กลายเป็นภาระของผู้บริโภคไป

 

*******************************

(ที่มา: guardian.co.uk)

logo คคสกับสถาบันวิจัย resize

 

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า