เรื่อง : สันติสุข กาญจนประกร
ภาพ : อนุช ยนตมุติ
กระดาษที่แปะอยู่บนประตูกระจกบานนั้น ส่งเสียงเตือนเงียบๆ ให้ผู้มาติดต่อใส่หน้ากากก่อนเข้าไปด้านใน เหนือขึ้นไปด้านบนมีป้ายระบุว่าชั้น 7 ของโรงพยาบาลรัฐแห่งนี้ คือห้องทำงานอาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์
หญิงสาวผมยาว หน้าคม รูปร่างดี ผลักเปิดประตูบานนั้นเข้าไป เธอไม่ได้สวมหน้ากาก ไม่ใช่หมอ ไม่ใช่พยาบาล กระทั่งนักศึกษาแพทย์ แต่การงานบางอย่างทำให้เธอต้องพาตัวเองมาที่นี่ งานที่บางสายตาลงมติว่าผิด ไม่งาม งดได้ควรงด เลิกได้ยิ่งดี
สายตาฝั่งที่ลงมติว่าผิดให้เหตุผลว่า การส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม ทำให้เกิดการใช้ยาที่ฟุ่มเฟือยและเกินความจำเป็น รวมถึงทำให้ยามีราคาสูงเกินจริง
“อาจมีบ้างที่ผู้แทนยาต้องทำในสิ่งที่คนคิดว่าเกินหน้าที่ อย่างไปรับส่งลูกหมอเรียนพิเศษวันเสาร์-อาทิตย์ ที่เคยทำก็มีแค่ส่งหมอไปประชุม ส่งที่คลินิก ยังไม่คิดว่ามีอะไรล้ำเส้น” หญิงสาวคนนั้นพูดตรงๆ
ในขณะที่ผู้แทนขายเครื่องมือแพทย์อีกคนกล่าวอย่างไม่อ้อมค้อมว่า บริษัทยาไม่ใช่มูลนิธิ ถึงอย่างไรธุรกิจก็คือธุรกิจ
เอาล่ะ เรื่องราวต่อจากนี้จึงไม่ได้มีไว้เฉพาะคนป่วย สำคัญยิ่งกว่าคือคนที่พลานามัยดีจำเป็นต้องอ่าน!
1.
สถิติในปี 2548 มูลค่ายาขายปลีกสูงถึง 186,330 ล้านบาท และคาดว่าตัวเลขในปี 2552 น่าจะพุ่งไปถึง 200,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 42 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้ว มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 10-20
“มีการให้ค่าตอบแทนตามยอดสั่งใช้ยา และให้ค่ารายหัวกรณีที่สั่งจ่ายยาเรื้อรังแก่ผู้ป่วยรายใหม่” ผศ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวสำทับข้อมูล
ส่วน นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ บอกว่า เขาปฏิเสธไม่ยอมรับแม้กระทั่งปากกาจากบริษัทยา โดยให้เหตุผลว่า เพื่อขจัดความรู้สึกติดค้างและเป็นอิสระในการตัดสินใจเลือกใช้ยา
กระนั้น ก็ยังมีข่าววงในว่า ผู้แทนยาบางคนที่อาจไม่ค่อยติดตามข่าวสาร เดินเข้าไปต่อรองอะไรบางอย่างกับคุณหมอท่านนี้
“กรณีที่ผมยอมไม่ได้และเคยมีประสบการณ์คือ การรับค่าตอบแทนเป็นเงินสดจากบริษัทยาเพื่อแลกยอดขายยาในโรงพยาบาลที่สูงขึ้น ซึ่งเคยมีผู้แทนยาบางบริษัทนำซองเงินให้เพื่อให้สั่งยามาไว้ในโรงพยาบาล หรือการที่เภสัชกรทำหน้าที่เป็นเซลส์ขายยา และการที่อาจารย์แพทย์บางคนเป็นต้นแบบในการตอบรับน้ำใจจากบริษัทยา ซึ่งแพทย์รุ่นน้องจะเห็นเป็นเรื่องปกติและทำตาม” นพ.ประเสริฐกล่าว
2.
หญิงสาวคนนั้นบอกปฏิเสธนัดในครั้งแรก เธอให้เหตุผลว่าต้องรับส่งหมอไปประชุมวิชาการ คงพูดคุยกันไม่ค่อยสะดวกนัก วันที่เราเจอกัน คำถามเกี่ยวกับเหตุผลของการเลื่อนนัดจึงไม่อาจเลี่ยงได้
“ถามว่ารู้สึกผิดไหม เกินหน้าที่หรือเปล่า” เธอนิ่งคิด
“เอาตรงๆ ก็ไม่หรอก เหมือนเป็นหน้าที่ เป็นปกติไปแล้ว ไม่รู้นะ ไม่รู้ว่าเส้นแบ่งมันอยู่ตรงไหน บางคนอาจเห็นว่าเกินไป อย่างว่าแหละ การสร้างความสัมพันธ์อันดีกับหมอ มันคือความจำเป็นของอาชีพนี้”
3.
ผศ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ตั้งข้อสังเกตว่า ตัวแทนจากบริษัทยาที่ไปเข้าพบหมอตามโรงพยาบาลส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงแทบทั้งสิ้น เธอยอมรับว่า การใช้หญิงสาวหน้าตาดี เป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์การส่งเสริมการขายของบริษัทยา
“มันมีผลต่อการเลือกใช้ยาของแพทย์ ต่อราคายาที่สูงขึ้นแน่นอน ถ้าไม่มี บริษัทยาจะลงทุนไปทำไมกับเรื่องส่งเสริมการขาย ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยยังบอกเลยว่า ไม่ควรจะมาสงสัยเรื่องเหล่านี้อีกแล้ว คุณรู้ไหม ถึงขนาดหมอบอกต่อๆ กันมาว่า เวลาสั่งยา ให้ระบุชื่อทางการค้าไปเลย เพื่อเวลามียอดกลับมา”
4.
หญิงสาวเป็นตัวแทนยาเกี่ยวกับโรคไตของบริษัทยาข้ามชาติแห่งหนึ่ง โรงพยาบาลที่อยู่ในสายงานของเธอมีร่วมๆ 7 แห่ง ทั้งรามาฯ ตำรวจ ประสาท สงฆ์ โรคปอด กรมราชทัณฑ์ และเมโย
“ขอตัวเอาของขวัญไปให้ในห้องเภสัชเดี๋ยวนะคะ” เธอว่าพร้อมรอยยิ้ม ก่อนหอบหิ้วถุงกระดาษ 3-4 ใบ ที่มีโลโก้บริษัทยาเข้าไปด้านใน บุคลากรทางการแพทย์ในชุดกาวน์สีขาว 2 คนยืนพูดคุยกันอยู่ตรงประตูทางเข้า ห้องเภสัชคือห้องที่เธอสามารถมาขอตรวจสอบยอดการสั่งซื้อยาของโรงพยาบาล
เธอเล่าให้ฟังว่า หลังปีใหม่เป็นต้นมา คือช่วงเวลาที่ต้องทยอยเอาของขวัญมามอบให้แก่คนที่ต้องติดต่อประสานงาน
“เมื่อกี้เอาเข้าไปให้หัวหน้าวิชาการค่ะ หัวหน้าเภสัชเราให้ไปแล้ว เป็นของเล็กๆ น้อยๆ จากบริษัท แต่เราจะซื้อเพิ่มก็ได้ถ้าต้องให้หลายคน โดยใช้เงินตัวเอง หมอเยอะไงคะ ไหนจะที่มาฝึกมาเรียนด้วย พอทำนานๆ เราจะรู้ว่าหมอคนไหนควรให้ คนไหนช่วยใช้ยาเรา”
เมื่อถามว่าทำไมต้องให้ เธอตอบว่ามันคือธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมา เข้าข่ายทำแล้วสบายใจ
“จริงๆ ไม่ให้ก็ได้ แต่ให้แล้วเรารู้สึกดี รุ่นพี่ๆ ก็ให้กันมา เลี้ยงข้าวก็เป็นธรรมเนียมนะ ข้าวกลางวันบนตึกนี่แหละ มีเลี้ยงทุกวัน แต่ละบริษัทต้องจองคิวกันเป็นปี ยังไงดีล่ะ มันเหมือนได้ดูแลหมอ จะได้ไม่ลืมยาเรา”
นอกจากเทศกาลสำคัญๆ ผู้แทนยายังต้องล้วงลึกไปถึงวันคล้ายวันเกิดของแพทย์แต่ละคน
“แอบถามวันเกิดหมอจากเลขานุการประจำแผนก (หัวเราะ) ขึ้นไปข้างบนตึกกันดีกว่าค่ะ ไปเจอหมอซะหน่อย”
“ในถุงที่ผู้แทนยาถือเดินไปเดินมามีอะไรอยู่ในนั้น” เราถามระหว่างรอลิฟต์
“พวกสมุด ปากกา กระดาษ กระดาษชำระ ของกิมมิคทั้งหลายที่แต่ละบริษัทให้ไว้ แล้วก็ มีเอกสารข้อมูลทางวิชาการ แผ่นเอกสารยาไว้ให้หมอ”
บริษัทของเธอได้สัมปทานยาโรคไตในโรงพยาบาลแห่งนี้มากว่า 10 ปี หน้าที่ของหญิงสาวมีเพียงประคับประคองไม่ให้คู่แข่งมาแย่งพื้นที่ไป รวมถึงคอยเสนอยาตัวใหม่ๆ กับแพทย์บ้างเป็นครั้งคราว
“ส่วนใหญ่เวลาเจอหมอเราก็จะฝากยา ประมาณว่าฝากยาตัวนี้ด้วยนะคะ แม้ว่ายาเราจะอยู่ในบัญชียาของโรงพยาบาลอยู่แล้ว แต่มันก็มีตัวแทนของบริษัทอื่นที่เป็นยาชนิดเดียวกับเรา ถ้าไม่เข้ามา คนอื่นอาจมาเสนอ ซึ่งมันก็มีวิธีเข้าหาแตกต่างกัน ต้องเรียนรู้”
ที่ชั้น 7 หลังเข้าไปพบหมอในห้องพัก เธอชวนลงไปข้างล่างอีกครั้ง
“ไปซื้อกาแฟให้หมอ” หญิงสาวพูดเขินๆ
“การสร้างความสนิทสนมมันจำเป็นมาก ทำมา 2 ปี ต้องค่อยๆ เรียนรู้ไป ค่อยเป็นค่อยไป มาจิ๊จ๊ะออกนอกหน้าเลยคงไม่ได้ ถามว่าสนิทมากแล้วมีส่วนทำให้หมอสั่งยาเราหรือเปล่า มีส่วน นี่พูดตรงๆ แต่ถ้ายาเราไม่ดี ข้อมูลไม่พร้อม เขาก็ไม่สั่งหรอก (หัวเราะ) จริงๆ แล้วเราควรรักษาระยะห่างบ้าง ไม่อย่างนั้นคนอื่นจะมองไม่ดี มองว่าหากำไรเกินไปหรือเปล่า”
หลังส่งกาแฟจนถึงมือหมอ เราถามถึงตัวเลขรายได้เมื่อเทียบกับเมื่อก่อนที่เธอบอกว่าเคยเป็นคนขายโฆษณาทางวิทยุ หญิงสาวยอมรับว่าเป็นผู้แทนยาดีกว่ากันมาก ถึงขนาดคุณภาพชีวิตเปลี่ยนแปลงไป
“ที่ดีกว่า เพราะยาเป็นสิ่งจำเป็น ขายง่ายกว่า อย่างยาโรคไตอย่างไรมันก็ต้องใช้ เพราะจำเป็นสำหรับผู้ป่วย”
ดีของเธอคือเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 4-5 หมื่นบาท
“นี่ยังถือว่าน้อย คนอื่นๆ อาจได้เป็นแสน” เธอพูดกลั้วหัวเราะ
“ทำไมไม่ค่อยเห็นตัวแทนยาที่เป็นผู้ชาย” เราสงสัย
“ผู้หญิงอาจอ่อนหวานกว่า” เธอตอบ
“แต่บางบริษัทก็ระบุเลยนะว่าต้องเป็นผู้ชาย หน้าตาดีด้วย เพราะโรงพยาบาลที่ต้องติดต่อมีหมอนิ่มๆ เยอะ (หัวเราะ) สงสัยเรื่องชู้สาวด้วยใช่ไหม จริงๆ เคยได้ยินนะ ประเภทต้องมีอะไรกับหมอถึงจะได้ยอด แต่ไม่เคยเจอจริงๆ ซะที ส่วนตัวเชื่อว่าภาพมันออกไปอย่างนั้นเอง คนขายของทุกอย่างมันต้องมีเรื่องบุคลิกภาพมาก่อนอยู่แล้ว หน้าตาสำคัญมาก
“จริงๆ มันไม่ได้ขึ้นกับหมอคนเดียวหรอก อย่างโรงบาลรัฐขั้นตอนเยอะมาก ถ้ายายังไม่เคยมีในโรงพยาบาล หมอก็ยังสั่งยาตัวนี้ใช้ไม่ได้ ต้องเอาตัวอย่างยามาให้หมอลองใช้ดูก่อน ขอเอกสารจากห้องเภสัชเอาไปให้บริษัทพิมพ์ รายละเอียดข้อมูลเป็นปึกๆ ไปให้หมอใหญ่สุดและหมอที่ใช้ยาตัวอย่างเซ็น ไปส่งที่ห้องยา มีประชุม นัดนำเสนอยา ต้องตรวจสอบเยอะมาก”
5.
หลายวันก่อนหน้านั้น เรานัดคุยกับผู้แทนขายเครื่องมือแพทย์อีกคนที่อาวุโสด้านประสบการณ์กว่า เธอเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือชิ้นเล็กใช้แล้วทิ้งที่เกี่ยวกับระบบต่างๆ ในร่างกาย ทั้งทางเดินปัสสาวะ สูตินรีเวช ซึ่งนำเข้าจากต่างประเทศ รวมๆ แล้วอยู่ในวงการนี้มากว่า 8 ปี
“ยาหรือเวชภัณฑ์ทางการแพทย์เป็นปัจจัยสี่ บริษัทต่างๆ เลยตั้งเป้าไว้ค่อนข้างสูง” เธอเปิดบทสนทนา
“บอกตรงๆ ว่ามีส่วนที่หมอจะเลือกยาหรือเครื่องมือจากผู้แทนที่สร้างความสนิทสนมได้ดีกว่า ผู้แทนที่ไปพบหมอบ่อยๆ หมอจะรู้ว่าคุณขายอะไร ไม่ใช่ว่าขายเสร็จแล้วไม่บริการอะไรเลย ทั้งนี้ คุณภาพของสินค้าก็มีส่วน”
เราถามตรงๆ เรื่องการแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้แพทย์อย่างที่ ดร.นิยดา ให้ข้อมูล เธอยอมรับว่ามีจริง แต่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นตามโรงพยาบาลในต่างจังหวัด
“วงราชการไทยมีอยู่แล้ว จนกลายเป็นเรื่องธรรมดา ขนาดโครงการไทยเข้มแข็งยังโดน เหมือนว่าถ้าใครเคยทำ ก็ทำกันเป็นธรรมเนียม ส่วนมากเป็นพวกเครื่องมือใหญ่ๆ หลักแสน หลักล้าน วิธีการก็มีหลายอย่าง และต้องไม่ให้มีหลักฐานด้วย
“ไม่ได้เป็นนโยบายของบริษัทหรอก ทำงานแบบนี้มันต้องรู้เอง อย่างเรื่องที่เกิดขึ้นกับหมอประเสริฐ แสดงว่าผู้แทนยาคนนั้นไม่รู้เรื่องเลย เราต้องดูด้วยไง รวมๆ คือเป็นการให้ที่คนให้ไม่รู้สึกผิด คนรับก็ไม่รู้สึกผิด หมอเองก็ไม่มาบอกหรอกว่า ผมขอเท่าไหร่ ผู้แทนก็ไม่รู้หรอก ไม่คุยกันโจ่งแจ้ง ทำกันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมันก็มีอยู่ทุกวงการ”
6.
“สิ่งที่เห็นแน่ๆ ในการประชุมวิชาการ ซึ่งอาจจัดโดยสมาคมวิชาชีพ แล้วบริษัทยาเป็นคนสนับสนุน จะมีพริตตี้แต่งตัวล่อแหลมสำหรับไว้ถ่ายรูปตามบูธต่างๆ” ดร.นิยดา กล่าว
“แล้วอะไรอีก ไหนจะค่าเช่าบูธในงาน ยังไม่นับค่าของแถม จ่ายเงินนักวิชาการ หมอที่มาประชุม ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าอาหารทั้งหมด จะมาบอกว่าไม่เกี่ยวกับค่ายา เป็นไปไม่ได้ คุณลงทุนในงานวิจัยเรารับได้ แต่นี่มันลงทุนกับการส่งเสริมการขาย แล้วมาอ้างว่ายาแพงเพราะการวิจัย สิ่งที่เกิดขึ้นคือ หุ้นบริษัทยายังเป็นท็อปเท็นอยู่ตลอด ซีอีโอก็ได้เงินมหาศาล”
ปัญหาสำคัญคือ ในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายว่าบริษัทยาต้องรายงานตัวเลขงบประมาณกิจกรรมส่งเสริมการขาย
“มีผู้แทนยากี่คน ไม่รู้ เป็นสปอนเซอร์ไปประชุมต่างประเทศกี่ครั้ง ไม่รู้ มีงานวิจัยหลายชิ้นบอกว่า ยาในประเทศไทยหลายตัว แพงกว่าอังกฤษและสหรัฐ ทั้งๆ ที่ค่าครองชีพเราต่ำกว่าตั้งเยอะ”
ขณะที่บางประเทศ กิจกรรมส่งเสริมการขายทุกชนิดต้องถูกรายงาน ยิ่งบริษัทยาลงทุนในด้านนี้มากเท่าไหร่ จะถูกหักภาษีเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในวงการสาธารณสุข รวมถึงการที่บริษัทยาต้องส่งต้นทุนราคา ต้องมีโครงสร้างชัดเจน ตรวจสอบได้
“บ้านเรา ทำไมคอรัปชั่นถึงจับไม่ได้ซะที เพราะเรื่องบนโต๊ะมันแฉไม่ได้ นอกจากคนไหนซวยสุดขีด อย่างอดีตรัฐมนตรีที่ถูกจับติดคุก แต่กรณีนั้นถามหน่อย คุณคิดว่าได้เงินจากใคร ถ้าไม่ใช่บริษัทยา แต่ไม่มีบริษัทไหนถูกจับเลย ข้าราชการชั้นสูงไม่รู้เลยเหรอ นักการเมืองจะเป็นคนเล่นฝ่ายเดียวไหม
“เรื่องของการส่งเสริมการขายมันเยอะ โฆษณาก็เกี่ยว การให้ตัวอย่างยา ให้ทุนวิจัย ยาจะหมดอายุอีกสองเดือนก็เอาไปบริจาค ได้หน้า เอาไปหักภาษีได้ด้วย ยูนิเซฟรู้เรื่องนี้ดี หรือการทดลองยาในมนุษย์ ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่ได้ผล เพื่อบอกว่ายาดี เรื่องสิทธิบัตรก็เกี่ยว คือพยายามทำทุกทางให้ยืดออกไป เรียกว่าสิทธิบัตรยาชั่วโคตร ไม่ใช่แค่การเอาหญิงสาวไปเป็นผู้แทนอย่างเดียว”
“อีกประเด็น ช่วงนี้เครื่องมือแพทย์มาแรงมาก หมอแทนที่จะตรวจด้วยความเป็นจริง จับตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แหลก ส่วนหนึ่งมันมาจากการส่งเสริมการขาย โรงพยาบาลเอกชนยิ่งเห็นชัด การตรวจไม่ใช่พระเจ้านะ ส่งตรวจแล้วหมอต้องอ่านเป็น วินิจฉัยเป็น การสัมภาษณ์เบื้องต้นด้วย ต้องทำงานตรงนั้นก่อน”
ดร.นิยดาเห็นควรว่าต้องเพิ่มบางประเด็นในพระราชบัญญัติยาให้เข้มแข็งขึ้น
“บริษัทต้องส่งบัญชีมา คุณทำเรื่องส่งเสริมการขายอย่างไรบ้าง สนับสนุนอะไรให้หมอคนไหนบ้าง โอกาสไหน ทำได้อยู่แล้ว นี่คือหัวใจของมัน ส่วนที่เหลือ เราคงต้องไปสร้างเรื่องจริยธรรม”
7.
หญิงสาวเดินหายเข้าไปในประตูกระจก เหนือขึ้นไปด้านบนมีป้ายระบุว่าชั้น 7 ของโรงพยาบาลรัฐแห่งนี้ คือห้องทำงานอาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ ก่อนหน้าเธอพูดติดตลกว่า ตอนทำงานใหม่ๆ ยังจำหน้าหมอไม่ได้ด้วยซ้ำ
“หมอโรคนี้มีใครบ้าง หน้าตาอย่างไร ออกตรวจวันไหน เริ่มจากศูนย์เลย แต่มันก็ไม่ยากหรอก ค่อยๆ เรียนรู้ สร้างความสนิท แต่ต้องไม่ให้มันมากเกินไป เพราะหมอก็นิสัยแตกต่างกัน เราต้องดูว่าคนไหนโอเค คุยง่าย แล้วแต่สไตล์ใครสไตล์มัน”
ถูกของเธอ ในโลกนี้ไม่มีอะไรยากเกินเรียนรู้หรอก อีกอย่าง ประตูกระจกบานนั้นก็รอให้เธอเปิดเข้าออกได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว
************************
ข้อมูลควรรู้
ในกรณียาใหม่ การส่งเสริมการขายมีส่วนสำคัญที่ทำให้ยามีราคาแพง ข้อมูลจากหลายหน่วยงาน อาทิ รายงานของหน่วยงานภาครัฐออสเตรเลียแห่งหนึ่งระบุว่า ค่าใช้จ่ายทางด้านการตลาดของยานั้นสูงถึงร้อยละ 30-35 หรือคิดเป็น 2 เท่าของค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา (Pharmaceutical Industry action agenda, 2001) ตัวเลขนี้สอดคล้องกับข้อมูลค่าใช้จ่ายด้านยาของบริษัทยาชั้นนำในสหรัฐอเมริกา (Families USA, 2005)
สำหรับค่าใช้จ่ายด้านการตลาดนี้หมายถึงค่าใช้จ่ายสำคัญๆ (Gagnon & Lexchin, 2008) ได้แก่ ค่าตัวอย่างยา ค่าใช้จ่ายของผู้แทนยา ค่าโฆษณายาที่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ตรงต่อผู้บริโภค ค่าใช้จ่ายในการจัดประชุม ค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการประชุม การทดลองยาทางคลินิก การลงโฆษณาในวารสารและนิตยสาร และค่าใช้จ่ายอื่นๆ
โดยค่าใช้จ่ายหลักเป็นค่าใช้จ่ายของผู้แทนยาและค่าตัวอย่างยา ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 35.5 และ 27.7 ตามลำดับ
จากการศึกษาค่าใช้จ่ายในการโฆษณายาของไทย โดยเฉพาะการโฆษณายาสู่ผู้บริโภคในช่วง 3 ปี ระหว่าง 2549-2551 มีมูลค่าสูงกว่า 2,500 ล้านบาท
ทั้งนี้ พระราชบัญญัติยา ปี 2510 มิได้กำหนดเรื่องการส่งเสริมการขายยาเอาไว้
*********************************************
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ กุมภาพันธ์ 2553)