เรณู ศรีสมิต: “เราอยากให้เด็กเปลี่ยน แต่เรากลับไม่เปลี่ยน”

ในปี 2526 หมุดหมายของหมอหนุ่มหลังเรียนจบ และต้องเดินทางไปใช้ทุนในฐานะแพทย์ฝึกหัด คือ ‘จังหวัดเชียงราย’ ในโรงพยาบาลที่ห้อยท้ายด้วยคำว่า ‘ประชานุเคราะห์’ ซึ่งก่อตั้งด้วยเงินงบประมาณ และเงินบริจาคของประชาชน 

ในวันนั้น ผู้ป่วยทั้งในจังหวัดเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียงล้วนมุ่งมาสู่โรงพยาบาลแห่งนี้ เหตุเพราะมีแห่งเดียว พวกเขาเดินทางมาด้วยความหวังและความศรัทธา ในช่วงเวลาที่ยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, บัตรทอง, สามสิบบาทรักษาทุกโรค

ห้วงเวลาใกล้เคียงกัน จังหวัดเชียงรายกำลังเผชิญหน้ากับสภาวะวิกฤติหลายประการ ทั้งการระบาดของโรคเอดส์ที่ผู้คนล้มตายราวใบไม้ร่วง สงครามยาเสพติดในพื้นที่ชายแดน เรื่อยมาถึงวิกฤติต้มยำกุ้ง ตลอดจนความอลหม่านของสังคมจากบรรยากาศของความพร่องในความรู้ และการเข้าไม่ถึงสิทธิทางสาธารณสุขอันพึงมี

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ในวันนั้น มุ่งหน้าสู่เชียงรายในฐานะแพทย์ฝึกหัด ก่อนตัดสินใจเรียนต่อด้านจิตเวชศาสตร์ และกลับมาในฐานะจิตแพทย์คนแรกและคนเดียวในจังหวัดเชียงราย โดยมี แพทย์หญิงเรณู ศรีสมิต เป็นเพื่อนร่วมงาน และผู้อำนวยการโรงพยาบาลในเวลาต่อมา ทั้งสองตลอดจนทีมแพทย์ร่วมมือกันในการวางมาตรฐานและคุณภาพของโรงพยาบาล บนหลักคิดที่ว่า ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียมกัน

การสนทนากับ แพทย์หญิงเรณู ศรีสมิต ในครั้งนี้ จึงเสมือนการฉายสถานการณ์สังคมในหลายมติ ทั้งความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่และการเข้าถึงทรัพยากร พัฒนาการของระบบสุขภาพ ไปจนถึงวิธีคิดและวิถีทางในการแก้ปัญหาของทีมแพทย์ที่เลือกปักหลักในจังหวัดห่างไกล ภายใต้บรรยากาศที่บ้านเมืองถูกกอบกุมอำนาจและทรัพยากรไว้ที่ส่วนกลาง ไม่ว่าจะในวันนั้นหรือจนถึงวันนี้

หมอประเสริฐในความทรงจำของหมอเรณูเป็นอย่างไร 

คุณหมอประเสริฐเป็นแพทย์ฝึกหัดหรือแพทย์ใช้ทุนรุ่นแรกในปี 2526 ที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ หลังจากนั้น 3 ปี คุณหมอขอไปเรียนต่อสาขาจิตเวชศาสตร์ที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา สำเร็จกลับมาปี 2532 ช่วงนั้นจึงได้รู้จักกันจริงจังเนื่องจากเขามาทำงานเป็นจิตแพทย์ และเป็นจิตแพทย์คนแรกและคนเดียวของโรงพยาบาล เป็นคนที่มุ่งมั่น มีอุดมการณ์ มีศักยภาพ มีความรู้ความสามารถ มีความรับผิดชอบสูง เขาเรียนจบมาในสาขาผู้ป่วยจิตเวชผู้ใหญ่ แต่ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลไม่มีหมอจิตเวชเด็ก คุณหมอประเสริฐก็ต้องดูแลเด็กๆ ด้วย

เราเจอภาวะวิกฤติหลายๆ อย่างในช่วงนั้น โรคเอดส์ก็กำลังระบาด หอผู้ป่วยอายุรกรรมเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ของโรงพยาบาลคือผู้ป่วยติดเชื้อเอดส์ทั้งนั้นเลย เรียกว่าเสียชีวิตเป็นใบไม้ร่วง 3 วัน 2 คน คุณหมอประเสริฐก็มาช่วยอบรมพยาบาล ให้คำปรึกษาเรื่องโรคเอดส์ทั้งโรงพยาบาล นอกจากโรคเอดส์แล้วช่วงนั้นยังมีสงครามยาเสพติด เนื่องจากเชียงรายเป็นจังหวัดชายแดน มีปัญหาเรื่องยาเสพติด นโยบายของเราจะถือว่าผู้เสพคือผู้ป่วยที่ต้องนำมารักษา หมอประเสริฐก็มาช่วยในการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วยติดยาเสพติด ทำงานกับกรมราชทัณฑ์และอีกหลายหน่วยงาน รวมทั้งศาลยุติธรรม ช่วงนั้นถือว่าเป็นช่วงที่คุณหมอประเสริฐได้มาช่วยพัฒนาทั้งโรงพยาบาล พัฒนาสังคมชนบทอย่างแท้จริง

จำได้ว่าปี 2540 เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง โรงพยาบาลก็ได้ผลกระทบเช่นกัน ทำอย่างไรที่เราจะลดรายจ่าย เพิ่มรายรับ เพราะเราเป็นโรงพยาบาลของรัฐชื่อประชานุเคราะห์ คำว่า ‘ประชานุเคราะห์’ เริ่มต้นจากการเป็นโรงพยาบาลที่ประชาชนบริจาคเงิน ซื้อที่ดิน บริจาคที่ดิน แล้วก็สร้างเป็นโรงพยาบาล ฉะนั้นเราไม่มีรายได้มากมายนอกจากงบประมาณและรายได้จากการบริจาค เราจึงคุยกับทีมงานและคณะกรรมการบริหารว่า ทำอย่างไรเราจึงจะมาช่วยกันแก้ปัญหาวิกฤติของโรงพยาบาลในช่วงต้มยำกุ้งได้ ปัญหาสำคัญคือ เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ของรายจ่ายในโรงพยาบาลคือวัสดุทางการแพทย์ ยารักษาโรค คุณหมอประเสริฐก็มาช่วยวางระบบการใช้ยาว่า เราควรใช้ยาอย่างมีเหตุผล แล้วพยายามใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ 

เรื่องสุดท้ายที่ประทับใจและอยากจะเล่าให้ฟังคือ ในปีเดียวกันกับวิกฤติต้มยำกุ้ง ดิฉันตัดสินใจนำระบบพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล ที่เรียกว่า Hospital Accreditation (HA) ถ้าเป็นต่างประเทศเขาจะใช้ระบบ International Organization for Standardization (ISO) เพื่อรับรองคุณภาพมาตรฐาน ส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานอุตสาหกรรมหรือโรงพยาบาลเอกชน แต่เราโชคดีที่มี คุณหมออนุวัฒน์ ศุภชุติกุล เป็นผู้ริเริ่มพัฒนาระบบคุณภาพของโรงพยาบาลที่เรียกว่า HA คุณหมอประเสริฐก็เป็นกำลังสำคัญในการมาช่วยพัฒนาในเรื่องนี้

การใช้ระบบ Hospital Accreditation (HA) ในการพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาล สามารถยังประโยชน์แก่คนไข้อย่างไรบ้าง

HA เป็นหัวใจสำคัญของระบบบริการสุขภาพที่เน้นผู้ป่วยและชุมชนเป็นศูนย์กลาง ถ้าโรงพยาบาลได้รับการรับรองคุณภาพ แน่นอนผู้ป่วยก็จะได้รับบริการที่มีคุณภาพ ลดความเสี่ยง ได้รับพิทักษ์สิทธิประโยชน์ ในฐานะที่เขาเป็นคนไทยคนหนึ่ง ขณะเดียวกันโรงพยาบาลในฐานะผู้ให้บริการเองก็จะได้ทำงานในสิ่งแวดล้อมที่ดี สามารถพัฒนากระบวนการดูแลผู้ป่วยให้ดีขึ้น คุณหมอประเสริฐได้ช่วยอบรมบุคลากรทั้งโรงพยาบาลให้มีความรู้เรื่องระบบคุณภาพ มีส่วนช่วยผลักดันระบบ HA ให้โรงพยาบาลสามารถเป็นโรงพยาบาลศูนย์แห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับรองคุณภาพมาตรฐาน นี่ก็เป็นเรื่องหลักๆ ที่ดิฉันได้ทำงานใกล้ชิดกับคุณหมอประเสริฐ ประทับใจที่มีเขาเป็นทั้งลูกน้องและเพื่อนร่วมงานที่ดีค่ะ

หากมองย้อนกลับไปช่วงที่หมอประเสริฐมุ่งหน้ามาเชียงราย สถานการณ์เรื่องความเหลื่อมล้ำของระบบสาธารณสุขในประเทศเป็นอย่างไร

โรงพยาบาลเชียงรายก่อตั้งในปี 2480 นะคะ มี 300 เตียง ตอนนี้ก็ราวๆ 85-86 ปีแล้ว ดิฉันมาอยู่ครั้งแรกเมื่อปี 2514 เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ในอำเภอเมือง ตอนนั้นเราไม่มีโรงพยาบาลอำเภอ เราจึงทำหน้าที่เป็นทั้งโรงพยาบาลอำเภอและโรงพยาบาลจังหวัด ซึ่งขณะนั้นอำเภอต่างๆ ไม่มีโรงพยาบาลชุมชนเหมือนปัจจุบัน เพราะฉะนั้นถนนทุกสายจึงมุ่งสู่โรงพยาบาลเชียงราย ใครเจ็บป่วยก็ต้องมาโรงพยาบาลเชียงราย กลายเป็นที่พึ่งของทุกคน

พวกเราให้การรักษาในฐานะที่เป็นโรงพยาบาลของรัฐอย่างดีที่สุดเท่าที่ศักยภาพของบุคลากรจะมี แต่ความเหลื่อมล้ำในเรื่องการเข้าถึงบริการก็ยังสูง และมักเกิดขึ้นระหว่างโรงพยาบาลรัฐกับโรงพยาบาลเอกชนซึ่งแตกต่างกัน โรงพยาบาลรัฐจะใช้มาตรฐานการดูแลรักษาแบบเดียวกัน จะต่างกันบ้างคือคนมีเงินก็จะขออยู่ห้องพิเศษ แต่มาตรฐานการให้การรักษาคนที่อยู่วอร์ดสามัญกับห้องพิเศษนั้น เราใช้มาตรฐานเดียวกัน หมอชุดเดียวกัน 

พอมีระบบสวัสดิการของรัฐที่เรียกว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้ประชาชนได้รับการพิทักษ์สิทธิ์และเข้าถึงบริการมากขึ้น โรคบางอย่างที่ใช้ยาราคาแพง เช่น โรคมะเร็งที่ต้องฉายแสง ต้องให้คีโม ต้องจ่ายเยอะๆ เราก็สามารถให้บริการกับผู้ป่วยคนไทยทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงบริการนี้ได้ ระบบสุขภาพก็เริ่มพัฒนามาเรื่อยๆ แม้อาจไม่เท่าเทียมกันทุกอย่าง แต่วันเวลาผ่านไปก็เริ่มมีสวัสดิการหลายอย่าง เรามีสวัสดิการเรื่องประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีประกันสังคม เรามี พ.ร.บ.แรงงาน แต่สิ่งที่เราคาดหวังอยากจะให้มีต่อไปและคิดว่าน่าจะมีก็คือ การปฏิรูปในทางความคิด

ส่วนตัวดิฉันมองว่า ระบบการศึกษาควรปฏิรูปอย่างยิ่ง อีกส่วนคือระบบการดูแลผู้สูงอายุที่ทุกคนควรเข้าถึงบริการทุกอย่าง ลดความเหลื่อมล้ำ ลดช่องว่างระหว่างคนจน คนรวย 

ณ ช่วงเวลานั้น จิตแพทย์ในระบบสาธารณสุขของไทยสำคัญอย่างไร

หมอประเสริฐถือเป็นจิตแพทย์คนแรกและคนเดียวของจังหวัดเชียงราย เขาทำหน้าที่ดูแลด้านจิตแพทย์ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ คนเราทุกคนนั้นนอกจากจะมีโรคทางกายแล้ว สำคัญคือมีโรคทางจิตด้วย เพราะฉะนั้นถ้ามีแพทย์คอยดูแลด้านนี้ก็จะทำให้เขาได้รับการดูแลทั้งกายทั้งใจ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หมอประเสริฐได้มาช่วยพัฒนาโรงพยาบาลเชียงราย ทำให้คนเข้าถึงบริการจิตเวช ซึ่งตอนนั้นหาคนที่เรียนจิตเวชได้น้อยมาก 

ช่วงท้ายๆ ในการทำงานของหมอประเสริฐที่โรงพยาบาลเชียงราย เป็นช่วงที่มีการปรับเปลี่ยนเชิงนโยบายบางอย่าง เช่น การให้คุณค่ากับการรักษาเชิงคุณภาพ ซึ่งกระทบกับปริมาณของผู้ป่วยเดิมที่มีอยู่จำนวนมาก ทำให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งเข้าไม่ถึงบริการ ต่อคิวไม่ทัน หมอเรณูมองเรื่องนี้อย่างไร

โรงพยาบาลต่างจังหวัด และโดยเฉพาะโรงพยาบาลจังหวัด ถนนทุกสายจะมุ่งตรงมาเพราะหวังว่าจะได้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พวกเขามาด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธา ดิฉันมีความเห็นว่าการจำกัดจำนวนผู้ป่วย หรือการกำหนดว่าหมอคนนี้ต้องตรวจกี่คน คนละกี่นาที โดยคิดว่าสิ่งนี้คือ ‘คุณภาพ’ ซึ่งก็ไม่ผิดนะ อาจจะถูกในแนวคิดของเขา แต่เราต้องมองในภาพรวมของสังคมและประเทศด้วยว่าพร้อมหรือยังที่จะทำเช่นนั้น ยิ่งเราเป็นโรงพยาบาลของรัฐ ไม่ใช่โรงพยาบาลเอกชนที่จะเลือกผู้ป่วยบางคนหรือบางกลุ่มที่มีศักยภาพที่จะเข้าถึง เพราะฉะนั้น ดิฉันเห็นว่าการจะใช้วิธีนี้คงต้องรอระยะเวลา สมัยนี้เป็นยุคดิจิทัลดิสรัปชั่น ทุกอย่างอาจนัดหมายได้ทางออนไลน์ แต่ถ้าเราปรับเปลี่ยนระบบไม่ให้เขาเดินทาง จากที่เขาอุตส่าห์เดินทางมา 3-4 ชั่วโมง พอมาถึงหมอบอกว่าคลินิกปิดแล้ว ให้เขากลับบ้านโดยที่ไม่ได้รับการตรวจหรือแม้แต่พูดคุย อันนี้ก็ไม่น่าจะถูกต้อง หากจะจำกัดว่า โรคนี้ควรจะใช้เวลารักษาเท่าไหร่ นั่นจะต้องเป็นโรคที่รอได้ แล้วคนไข้จะต้องได้รับการแจ้งล่วงหน้า จะต้องมีการอินฟอร์มคนไข้ถ้าเขาเดินทางมาถึงแล้ว 

เพราะฉะนั้นแนวคิดเรื่องการรักษาเชิงคุณภาพ แปลว่า การดูแลผู้ป่วยต้องรอบด้าน ทั้งฝั่งคนไข้ ผู้ปฏิบัติ หน่วยบริการ และความพร้อมต่างๆ คุณไม่สามารถที่จะตัดสินใจว่าต้องเอาอย่างนั้นอย่างนี้ เราคงต้องใช้เวลาและเตรียมความพร้อมของผู้ป่วยใน ซึ่งอนาคตก็อาจจะเป็นไปได้ ทุกอย่างอาจนัดออนไลน์ทั้งหมดได้ คนนี้มา 9 โมงนะ คนนี้มา 10 โมงนะ ถ้าคนไข้มีความรู้ สามารถใช้ wifi ใช้อินเทอร์เน็ตได้ เพราะระบบสมัยนี้อยู่ที่ฝ่ามือเองนะคะ เพียงแต่ต้องมีการเตรียมความพร้อมก่อน

มีการปรับแก้วิธีการให้ดีขึ้นไหม

เนื่องจากโรงพยาบาลที่ดิฉันเคยเป็นผู้อำนวยการ มีทั้งนักศึกษาแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน เกือบครบทุกสาขา ถือเป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ เป็นที่พึ่งพาของจังหวัดเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียง ตอนนี้เราพัฒนากันไปเยอะทุกๆ ด้าน แต่การที่แผนกไหนจะรับคนไข้อย่างไร ตรวจอย่างไร เราก็ต้องมาพูดคุยกันให้ตกผลึก ว่าจะไม่มีผลกระทบอะไรที่ทำให้คนไข้ต้องเสียความรู้สึกหรือผิดหวัง เราต้องยึดคนไข้เป็นศูนย์กลาง เนื่องจากเราใช้ระบบ HA ทำให้เราสามารถลดความเสี่ยงและมีกระบวนการพัฒนาต่อเนื่อง ฉะนั้นการที่คนไข้มาถึงแล้ว อย่างน้อยๆ เขาจะต้องได้เจอหมอเพื่อพูดคุยก่อนปรับระบบใหม่ค่ะ

การที่คนไข้ได้พูดคุยกับหมอ ไม่ว่าจะมากหรือน้อย มีผลต่อสภาพจิตใจของผู้ป่วยอย่างไร

แค่หมอเอื้อมมือไปจับชีพจร คนไข้ก็รู้สึกอบอุ่นแล้ว แค่หมอแตะบ่าแตะไหล่นิดนึง ให้ความเป็นกันเอง เขาก็รู้สึกอบอุ่น โรคบางอย่างมันก็หายไปครึ่งหนึ่งแล้วนะคะ เราต้องยอมรับว่า โรคมันมีทั้งกายและใจ บางทีโรคทางใจก็ทำให้เกิดโรคทางกาย เพราะฉะนั้นการสัมผัส พูดคุยกับเขา เขาก็จะเชื่อมั่น ศรัทธา และรู้สึกอบอุ่น 

ต้องยอมรับว่าอาจารย์ผู้ใหญ่หรือผู้บริหารรุ่นก่อนๆ ที่ผลักดันให้มีสถานีอนามัยและโรงพยาบาลทุกอำเภอ หากเทียบกับต่างประเทศแล้ว บางประเทศยังไม่มีอย่างนี้เลยนะคะ แต่ในช่วงแรกๆ สถานีอนามัยเหล่านั้นอาจไม่มีหมอผู้เชี่ยวขาญไปอยู่ ประชาชนยังไม่ศรัทธา แต่ ณ วันนี้เริ่มมีแพทย์สาขาเฉพาะทางและแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวไปอยู่ คนไข้ก็จะได้ยึดตรงนั้นว่าเป็นโรงพยาบาลใกล้บ้านใกล้ใจ แม้แต่แนวคิดของระบบหลักประกันสุขภาพ เราก็เน้นใกล้บ้านใกล้ใจนะคะ ไม่ใช่ป่วยปุ๊บ วิ่งไปโรงพยาบาลระดับสูงที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเลย เราควรไปเจอหมอที่ตรวจได้ทั่วไปหรือหมอประจำครอบครัวก่อน หากมีเคสเร่งด่วนก็ใช้ระบบส่งต่อ ดิฉันคิดว่าระบบถูกวางไว้อย่างดี แต่ผลลัพธ์อาจยังไม่เพอร์เฟ็คต์อย่างที่ต้องการ ต้องใช้เวลาน่ะค่ะ

หมอประเสริฐได้เข้าไปมีส่วนร่วมผลักดันเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างไร

คุณหมอประเสริฐทำงานมาตลอด เขาเน้นเรื่องความเหลื่อมล้ำ เน้นคนไข้เป็นศูนย์กลาง เน้นการเข้าถึงบริการ เช่นเดียวกัน แนวคิดของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องการให้คนไทยมีสิทธิ์เข้าถึงบริการโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นกฎหมาย มันแตกต่างจากสังคมสงเคราะห์ แต่เป็นการพิทักษ์ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ซึ่งจะต้องมีสิทธิ์เข้าถึงการดูแลรักษาเมื่อเขาเจ็บป่วย สังคมสงเคราะห์นี่จะต้องไปขอสงเคราะห์ ซึ่งมันหมดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ไปเลย

ในช่วงนั้นหมอประเสริฐได้รับเลือกเป็นกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุข ในระบบหลักประกันสุขภาพ เขาจะมีบอร์ดบริหาร 2 ชุดคือ บอร์ดหลักประกันสุขภาพ จะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ส่วนบอร์ดอีกชุดคือ ทำหน้าที่ควบคุมมาตรฐานคุณภาพบริการสาธารณสุข บอร์ดชุดนี้แหละที่คุณหมอประเสริฐไปช่วยและเป็นกรรมการที่สามารถเสนอแนะ ให้แนวคิดที่เป็นประโยชน์ได้ แต่ละเดือนหมอประเสริฐก็จะต้องเข้าร่วมประชุมประมาณ 1 ครั้ง เขาสามารถจัดสรรเวลาไม่ให้กระทบกับงานประจำหรือคนไข้ที่เขานัดไว้ เขาแยกแยะเป็น เขามีความรับผิดชอบสูง

บทบาทของหมอประเสริฐนอกจากการเป็นแพทย์ ก็คือการเป็นนักเขียน ในช่วงที่ทำงานด้วยกันพอจะเห็นแววด้านนี้บ้างไหม

เราเห็นเขาวันแรกตอนเป็นหมออินเทิร์น จึงยังไม่เห็นแววของนักคิดนักเขียน มาทราบตอนเป็นผู้อำนวยการโรงพบาบาล แล้วเขาก็เริ่มเขียนเกี่ยวกับการ์ตูนลงในคอลัมน์ของหนังสือพิมพ์ มติชน หลังจากนั้นเขาก็ใช้ประสบการณ์ในการดูแลรักษาผู้ป่วย และการเป็นนักวิชาการ นักคิด นักเขียน และนักพัฒนา โดยเขาจะรวบรวมข้อมูลต่างๆ มาเขียนให้ความรู้แก่ผู้ปกครองและพ่อแม่ของเด็ก ฉะนั้น ช่วงหลังเขาอาจจะมีเวลามากขึ้น มีโอกาสได้เขียนหนังสือต่างๆ เกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและการดูแลเด็กได้มากขึ้น 

ต้องยอมรับว่าการศึกษาของไทยยังล้าหลัง กระบวนการคิดต้องเปลี่ยนได้แล้ว เพราะมันไม่ทันยุคดิจิทัลแล้วค่ะ พ่อแม่จะมาบอกว่า “เธอต้องเป็นหมอ เธอต้องเป็นพยาบาล เธอต้องเป็นวิศวะ” ไม่ได้แล้วค่ะ เรามีหน้าที่เตรียมความพร้อมให้เด็กทั้งกายและใจ ให้เขาแกร่งที่จะไปเผชิญโลกกว้างด้วยตัวเอง ตัดสินใจด้วยตัวเอง การที่หมอประเสริฐมาเขียนหนังสือในยุคดิจิทัลจึงเป็นอะไรที่ทันเหตุการณ์และทันเวลา สามารถนำมาใช้เป็นแนวคิดสู่การปฏิบัติได้ และเป็นการพัฒนาสังคมอีกรูปแบบหนึ่ง เช่น เขาสร้าง ‘โรงเรียนพ่อแม่’ ที่คนต้องจองคิวมาเรียน เขาได้ทำงานที่เขาชอบและรัก 

หมอประเสริฐปาฐกถาในหัวข้อ ‘เลี้ยงลูกในโลกใหม่: พัฒนาการเด็ก ประชาธิปไตย และอนาคตใหม่ของทุกคน’ หมอเรณูเห็นหัวข้อปาฐกถานี้แล้วจินตนาการอย่างไร

โห ทันสมัย ทันยุค ถือว่าเป็นหัวข้อที่น่าสนใจทีเดียว

ตอนนี้เวลาเราเห็นวัยรุ่น แล้วคิดว่าทำไมเขาก้าวร้าว ทำไมเขาไม่เคารพพ่อแม่ เราอาจต้องย้อนกลับมาดูว่า เขาถูกเลี้ยงดูมาอย่างไร สิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นอย่างไร กระทั่งการเรียนหนังสือ ครูจะสอนแบบเดิมๆ ไม่ได้ เพราะเด็กเขาไปไกลกว่านั้น เราอยากให้เด็กเปลี่ยน แต่เรากลับไม่เปลี่ยน ทุกคนต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ คิดใหม่ทำใหม่ ให้เข้ากับยุคดิสรัปชั่น 

ทำไมการเลี้ยงดูลูกในโลกใหม่ต้องปรับกระบวนทัศน์ใหม่ ในเมื่อเรามักได้ยินผู้ใหญ่หลายคนบอกว่า “ฉันโตมาอย่างนี้ ฉันได้ดิบได้ดีเพราะว่าการเลี้ยงดูแบบนี้” 

บางอย่างต้องผสมผสาน บางอย่างต้องปรับเปลี่ยน พ่อแม่ก็ต้องเป็นต้นแบบที่ดีของลูกๆ ด้วย อะไรดีเด็กเขาจะทราบ จะรู้ จะเห็นเอง แต่อะไรที่ต้องเปลี่ยน มันก็ต้องเปลี่ยน ไม่ใช่ว่าจะเปลี่ยนทุกอย่าง สิ่งดีๆ ที่ทำไว้ในอดีตก็เป็นสิ่งที่สามารถนำมาสอนได้นะคะ

การเลี้ยงลูกในโลกใหม่ ประชาธิปไตย และหลักประกันสุขภาพ เกี่ยวโยงกันอย่างไร

มันเชื่อมโยงกันหมดค่ะ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยพูดถึงเรื่อง ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ตั้งแต่เกิดจนตายมันเชื่อมโยงกันหมด เช่นเดียวกัน ระบบสุขภาพก็อยู่ในทุกขั้นตอนของชีวิต 


บทสัมภาษณ์ชุด ‘นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ในการแสดงปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 18’ นี้ ประกอบด้วยการสนทนากับ 1) ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ 2) จิราภรณ์ อรุณากูร 3) เรณู ศรีสมิต 4) สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ และ 5) สุภาวดี หาญเมธี เพื่อประกอบตัวตนและความคิดของ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์และนักเขียน ในการแสดงปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 18 หัวข้อ ‘#เลี้ยงลูกในโลกใหม่: พัฒนาการเด็ก ประชาธิปไตย และอนาคตใหม่ของทุกคน’

จัดงานโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันพุธที่ 9 มีนาคม 2565 รับชมการถ่ายทอดสดออนไลน์จากห้อง ศ 101 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ผ่านทางเฟซบุ๊คแฟนเพจ EconTU Official และ way magazine เวลา 09.30-12.10 น.

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า