แบรนด์เนมเปื้อนพิษ

greenpeace-detox-catwalk 1

 

กว่า 2 ปีมาแล้วที่ กรีนพีซสากล เปิดตัวโครงการ ‘ล้างสารพิษ หรือ Detox’ ในเสื้อผ้าแบรนด์ชั้นนำต่างๆ เนื่องจากค้นพบว่า สารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าและสิ่งทอต่างๆ นั้น คือ สาเหตุสำคัญของมลพิษในแหล่งน้ำทั่วโลก

ทั้งนี้สารเคมีหลายชนิดที่พบล้วนแต่มีคุณสมบัติที่เป็นอันตราย บางชนิดเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ และบางชนิดเป็นสารมลพิษที่ไม่ย่อยสลาย และจะยังคงปรากฎในสิ่งแวดล้อมอยู่ต่อไปเป็นระยะเวลายาวนานหลังจากที่ได้ถูกปล่อยออกมา

จึงเป็นที่มาของโครงการล้างสารพิษ โดยเรียกร้องให้แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นต่างๆ ให้คำมั่น ใน The Detox Manifesto ว่าจะปล่อยมลพิษเป็น 0 ภายในปี พ.ศ. 2563 และให้ผู้รับจ้างผลิตเสื้อผ้าของตนเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยสารพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ

โดยมีหลากหลายแบรนด์ ตบเท้าร่วมให้คำมั่น ได้แก่ Nike, Adidas, Puma, H&M, M&S, C&A, Li-Ning, Zara, Mango, Esprit, Levi’s, Uniqlo, Benetton, Victoria’s Secret, G-Star Raw Valentino, Coop and Canepa  ยังไม่รวม ดีไซเนอร์ นายแบบ นางแบบ และ บล็อกเกอร์แฟชั่นต่างๆ

 

 

detox1

 

เบื้องหลังแบรนด์เนม

แคมเปญล้างพิษ เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2011 จุดประสงค์สำคัญ เพื่อเผยให้เห็นวงจรการทำงานของแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำ, ซัพพลายเออร์ และมลพิษในแหล่งน้ำต่างๆ ทั่วโลก

จากการลงพื้นที่และการสำรวจประเทศต้นทางการผลิตทั้งหลาย ควบคู่ไปกับการทดสอบเส้นใยและสิ่งทอของแบรนด์ต่างๆ เพื่อตรวจจับสารเคมีอันตราย ผลที่ออกมาคือ สารพิษและความจริงที่อยู่เบื้องหลังการผลิตเสื้อผ้า

รายงานของกรีนพีซในเดือนพฤศจิกายน 2012 เผยผลการสำรวจที่พบสารเคมีตกค้างหลายๆ ชนิดในเสื้อผ้า 20 แบรนด์ดัง รวมถึง Zara, Calvin Klein, Levi’s and Victoria’s Secret สารเคมีที่พบเหล่านี้ พบในปริมาณที่สูง เช่น Phthalates เป็นสารเคมีที่ใช้เพิ่มความอ่อนนุ่ม (Softener) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง และสีที่มีกรดซัลโฟนิก และ สารโนนิลฟีนอลอีทอกซิเลท (Nonylphenol Ethoxylates หรือ NPEs) – สารลดแรงตึงผิว โดยจะแตกตัวเป็นสารโนนิลฟีนอล (Nonylphenol หรือ NP) ซึ่งเป็นสารพิษที่ตกค้างยาวนานในห่วงโซ่อาหาร มีคุณสมบัติรบกวนการทำงานระบบฮอร์โมน และเป็นอันตรายแม้ในระดับเพียงเล็กน้อย ที่พบในเสื้อผ้าทุกแบรนด์ที่ตรวจพบ

zara2

นอกจากนี้ยังพบสารกลุ่ม Perfluorinated Compound ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมประเภทฟอกย้อม และเป็นอันตรายทั้งต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลต่อระบบสืบพันธุ์และระบบประสาทของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมรวมถึงมนุษย์

สารเคมีอันตรายกกลุ่มนี้ถูกตรวจพบในตัวอย่างจากท่อน้ำทิ้ง และแหล่งน้ำสาธารณะในบริเวณอุตสาหกรรมสิ่งทอในชายฝั่งมณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน ที่ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นแบรนด์ดังจำนวนมาก อาทิ Levi’s, Calvin Klein และ Gap

ทั้งนี้ 1 ใน 3 ของประชาชนในสาธารณรัฐประชาชนจีน ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำที่สะอาดได้

เช่นเดียวกับแหล่งน้ำอื่นๆ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยาในประเทศไทย ก็ตรวจพบสารเคมีอันตราย หรือ แม่น้ำนาวา สายเลือดหลักของรัสเซีย ที่เป็นแหล่งน้ำดื่มให้แก่ชาวเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กกว่า 5 ล้านคน ก็อุดมไปด้วยโลหะเป็นพิษและเคมีอินทรีย์หลากหลายประเภทที่เกิดขึ้นจากของเสียในโรงงาน กระบวนการบำบัดน้ำเสีย จากการตกตะกอนในแม่น้ำ

 

แบรนด์ใด ปลอดสารพิษ

ยกตัวอย่าง Esprit ที่ได้ออกมาแสดงความมุ่งมั่นในการล้างสารพิษตลอดห่วงโซ่การผลิตและผลิตภัณฑ์ภายในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งแบรนด์นี้ยังให้คำมั่นว่าจะเปิดเผยข้อมูลการปล่อยมลพิษของโรงงานการผลิตทั้ง 30 โรงงานในประเทศจีนภายในสิ้นปี พ.ศ. 2556 และยกเลิกการใช้สารกลุ่ม Perfluorinated ภายในสิ้นปี พ.ศ. 2557 เช่นเดียวกับ Zara, Mango และ Marks and Spencer

ทั้ง 4 แบรนด์นี้ยินดีเปิดเผยข้อมูลการปล่อยมลพิษของโรงงานการผลิตรวมกันกว่า 150 โรงงาน ภายในปี พ.ศ. 2563

ล่าสุด บริษัทคาเนปา (Canepa) ซึ่งเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบเพื่อการผลิตแฟชั่นชั้นนำของอิตาลี ก็ได้เข้าร่วมในการรณรงค์นี้ด้วย กลายเป็นบริษัทผู้จัดหาวัตถุดิบรายแรกของโลกที่แสดงความมุ่งมั่นที่จะล้างสารพิษ

จากการได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่น ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กรีนพีซสากลจึงเปิดตัว ‘ดีท็อกซ์แคทวอล์ค’ (Detox Catwalk) ช่องทางออนไลน์ ที่ใช้จัดอันดับแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นและกีฬาว่าได้พัฒนาและปฏิบัติตามที่เคยให้คำมั่น ‘ล้างสารพิษ’ จริงหรือไม่

ครั้งนี้ Nike และ Adidas ถูก Detox Catwalk จัดอันดับให้เป็นแบรนด์สร้างภาพลักษณ์ลวงโลก ที่ไม่ปฏิบัติตามคำประกาศล้างสารพิษที่ให้ไว้ โดยไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าการจัดตั้งคณะทำงานด้านความร่วมมือทางอุตสาหกรรมที่จะทำงานการจัดการด้านสารพิษเท่านั้น

 

 

greenpeace-detox-catwalk 2

 

“Nike และ Adidas ได้สร้างภาพลักษณ์ว่าเป็นผู้นำเทรนด์ แต่การกระทำของพวกเขายังห่างไกลจากคำว่าผู้นำเทรนด์นัก ผู้บริโภคและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่าพวกเขามีความตั้งใจที่จะเป็นผู้นำแฟชั่นปลอดสารพิษ เพราะพวกเขายังไม่สามารถทำตามคำมั่นที่จะล้างสารพิษออกจากผลิตภัณฑ์ได้เลย” อิลซา สมิธ ผู้ประสานงานรณรงค์โครงการ Detox กรีนพีซสากล กล่าว

“Nike Adidas ควรดูแบบอย่างที่ดีจากเทรนด์เซ็ตเตอร์อย่าง Mango และ Uniqlo ที่ปฏิวัติในวงการการผลิตและกำจัดเคมีอันตรายออกจากผลิตภัณฑ์ต่างๆ และกระบวนการการผลิตทั้งหมด”

ด้าน Adidas ก็ออกมาตอบโต้กรีนพีซว่า แม้จะไม่ได้อยู่ใน Detox Catwalk แต่ Adidas ก็ติด 1 ใน 4 บริษัทอุตสาหกรรมดีเด่นแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน จากการจัดอันดับของ Institute of Public and Environmental Affairs ซึ่งกรีนพีซเป็นภาคีทำงานร่วม

และยังบอกอีกด้วยว่า บริษัทมีนโยบาย การกำจัดสารที่เป็นอันตรายบางประเภทออกจากสิ่งทอ รวมถึงการห้ามใช้วัสดุหรือสารเคมีที่เป็นพิษหรือเป็นอันตราย เช่นเดียวกับนโยบายการทำงานที่เน้นสุขภาพและความปลอดภัยทั้งในโรงงานและในหมู่ซัพพลายเออร์อยู่แล้ว

 

****************************

(ที่มา: greenpeace.org, chemtrack.org)

 

สนับสนุนโดย

 

 

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า