ยุคมืดซูชิ! เหตุจากน้ำเสียโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ จีนสั่งแบนอาหารทะเลญี่ปุ่น หลายชาติตรวจสอบเข้มงวด ส่วนไทยยังไม่มีมาตรการชัดเจน

สืบเนื่องจากกรณีรัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจปล่อยน้ำเสียซึ่งบำบัดแล้ว จากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จังหวัดฟุกุชิมะลงสู่ทะเล ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2023 แม้จะมีเสียงคัดค้านจากนานาประเทศ หรือองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมอย่างกรีนพีซ (Greenpeace) รวมถึงชุมชนคนญี่ปุ่นเองด้วย แต่นายกฯ ฟูมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) ยืนยันจำเป็นต้องทำ และเชื่อมั่นว่าน้ำบำบัดนี้สะอาดเพียงพอแล้ว จากการยืนยันของหลายหน่วยงาน อาทิ ทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy: IAEA) เป็นต้น 

นายกฯ คิชิดะ ยังออกมาแสดงให้ชาวโลกเชื่อมั่นด้วยการโชว์กินปลาดิบจากฟุกุชิมะ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา แต่ก็ดูเหมือนมีหลายประเทศที่ยังไม่ให้ความเชื่อมั่น โดยออกมาตรการรับมือหลายอย่าง ซึ่งแต่ละประเทศมีการจัดการแตกต่างกันไป

จีนสั่งแบนอาหารทะเลญี่ปุ่น

ประเทศจีนเป็นหัวหอกในกลุ่มประเทศเอเชียที่ออกตัวประกาศห้ามนำเข้าอาหารทะเลทั้งหมดจาก 10 จังหวัดของญี่ปุ่น เพราะกังวลความปลอดภัยด้านสุขภาพของประชาชน นอกจากนั้นประกาศของสำนักงานศุลกากรของจีนยังสั่งห้ามเผยแพร่ข้อมูลที่ขาดหลักฐานอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์จากญี่ปุ่นอีกด้วย 

สิ่งที่ตามมาคือประเทศในเขตปกครองพิเศษของจีน อย่างฮ่องกง มาเก๊า รวมถึงไต้หวัน ก็มีมาตรการห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น รวมไปถึงผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำอีกด้วย และยังตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อกำกับดูแลสินค้าในกลุ่มอาหารทะเลแช่แข็ง อาหารแห้ง และอาหารประเภทต่างๆ ที่มาจากญี่ปุ่น พร้อมคอยรายงานผลการสุ่มตรวจอาหารทะเลจากญี่ปุ่น

ทั้งนี้ จีนและฮ่องกงเป็นสองประเทศที่มีการนำเข้าสินค้าประเภทอาหารทะเลจากประเทศญี่ปุ่นมากที่สุดในบรรดานานาชาติ โดยเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นส่งออกอาหารทะเลไปที่ประเทศจีน มูลค่ารวมกว่า 87,100 ล้านเยน (21,000 ล้านบาท)

ส่วนที่ฮ่องกง คิดเป็นมูลค่ากว่า 75,000 ล้านเยน (18,000 ล้านบาท) สองประเทศนี้รวมกันคิดเป็น 42 เปอร์เซ็นต์ ของตลาดอาหารทะเลส่งออกทั้งหมดของญี่ปุ่น

ส่วนทางด้านญี่ปุ่นเองต้องหามาตรการรับมือ โดยเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ซานาเอะ ทาคาอิจิ (Sanae Takaichi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และ โยชิมาสะ ฮายาชิ (Yoshimasa Hayashi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพิจารณายื่นเอกสารร้องเรียนต่อองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) หากการประท้วงผ่านการทูตไม่เป็นผล เช่นเดียวกับนายกฯ คิชิดะ ที่เดินทางไปตลาดปลาโทโยสุในกรุงโตเกียว ก็ได้กล่าวกับนักข่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะออกมาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมประมงร่วมไปด้วย

นานาประเทศผวา สั่งตรวจสอบเข้มงวด

ในขณะที่มาเลเซียมีมาตรการระงับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางทะเลจากญี่ปุ่น พร้อมเก็บตัวอย่างตรวจสอบ ส่วนอีกหลายประเทศแม้ยังไม่มีคำสั่งห้าม แต่ก็มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดเช่นกัน

ที่เกาหลีใต้ ภาครัฐร่วมมือกับเอกชนในการให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาร่วมกันตรวจสอบอาหารทะเลจากญี่ปุ่น ทั้งที่นำเข้าและตามร้านค้า หรือศูนย์กระจายสินค้ามากกว่า 20,000 แห่งทั่วประเทศ

ทางด้านสิงคโปร์ มีรายงานจากสำนักงานเกษตรอาหารและสัตวแพทย์ ว่าพบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในสินค้าอย่างน้อย 4 ชนิด เตรียมออกมาตรการตรวจสอบเข้มข้นเพิ่มเติม 

ที่น่าสนใจคือออสเตรเลีย ซึ่งมีท่าทีสนับสนุนญี่ปุ่นพอสมควร หลังจากที่สถานทูตออสเตรเลียประจำประเทศญี่ปุ่นปล่อยคลิปวิดีโอเจ้าหน้าที่การทูตเดินเลือกช็อปปิงซื้อของกินที่ตลาดฟุกุชิมะ เพื่อช่วยส่งเสริมและเรียกความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์อาหารจากฟุกุชิมะเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม

ก่อนหน้านี้ จัสติน เฮย์เฮิร์สต์ (Justin Hayhurst) รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศออสเตรเลีย ก็เคยโพสต์รูปและข้อความสนับสนุนผลิตภัณฑ์ลูกพีชจากฟุกุชิมะ และพูดถึงแรงสนับสนุนจากออสเตรเลียถึงญี่ปุ่นอีกด้วย

photo: @AusAmbJPN

ด้านสหรัฐอเมริกายังไม่มีมาตรการต่อต้านใดๆ แม้ทางเอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำญี่ปุ่น ราห์ม เอมมานูเอล (Rahm Emanuel) แสดงออกถึงการสนับสนุนโดยเปิดเผยกับนักข่าวในวันที่ 31 สิงหาคม ว่า “หากญี่ปุ่นตัดสินใจเช่นนั้น สหรัฐ ก็ควรจะยืนหยัดเคียงข้าง ไม่ใช่เพราะเราเป็นพันธมิตรกัน แต่เพราะมันเป็นการกระทำที่ชอบธรรม” 

ส่วนประเทศไทยอยู่ในช่วงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ยังไม่มีมาตรการในด้านนี้อย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ดี ประเทศไทยจัดเป็นหนึ่งในประเทศส่งออก-นำเข้าสำคัญในตลาดอาหารทะเลของญี่ปุ่น และมีความสัมพันธ์อันดีมาตลอดเช่นกัน

อ้างอิง:

Author

ยอดเยี่ยม ยิ่งยืนยง
เพราะหมีกับกระต่าย ไม่เคยเป็นศัตรูตามธรรมชาติ
พวกมันก็เลยนั่งอึอยู่ข้างกันเป็นปกติ
วันหนึ่งหมีถามกระต่ายว่า "เธอมีปัญหาเรื่องอึติดขนบ้างมั้ย"
กระต่ายตอบว่า "ไม่นะ ไม่มีนะ"
หมีได้ยินดังนั้น ก็เลยหยิบเอากระต่ายขึ้นมาเช็ดตูด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า