วิเคราะห์ก่อนการเลือกตั้งญี่ปุ่น: ชินโซะ อาเบะ จะคว้าชัยชนะแบบแลนด์สไลด์

ชินโซะ อาเบะ / ภาพ: Chairman of the Joint Chiefs of Staff from Washington D.C, United States (CJCS meets with Japan Prime Minister Shinzo Abe) [CC BY 2.0 (http://creativecommons.org/licenses/by/2.0) or Public domain], via Wikimedia Commons
ยูริโกะ โคอิเกะ / ภาพ: 江戸村のとくぞう (Own work) [CC BY-SA 4.0 (https://creativecommons.org/licenses/by-sa/4.0)], via Wikimedia Commons

ผลการสำรวจและวิเคราะห์โดยหลายฝ่ายระบุใกล้เคียงกันว่า ชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนปัจจุบัน น่าจะนำพรรคเสรีประชาธิปไตยคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปวันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคมนี้ แม้กำลังถูกรุมเร้าด้วยข่าวครหาอื้อฉาว เมื่อพรรคของคู่แข่งสตรีผู้ว่าการกรุงโตเกียว ยูริโกะ โคอิเกะ ไม่สามารถสร้างความนิยมเพิ่มขึ้นได้ หลังความร้าวฉานปรากฏขึ้นในพรรคฝ่ายค้านใหญ่ ขณะประเด็นหลักยังคงเกี่ยวพันอยู่กับหัวข้อความมั่นคงและเศรษฐกิจ

สำนักข่าว Kyodo News รายงานว่า หลังรวบรวมผลการสำรวจพบว่า พรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party: LDP) ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ชินโซะ อาเบะ (Shinzo Abe) กับพรรคพันธมิตร โกไมโตะ (Komeito) น่าจะสามารถกวาดคะแนนเสียงได้เกินกว่า 300 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร จากจำนวนเต็มสภา 465 ที่นั่ง โดยอาศัยโอกาสจากความระส่ำระสายในค่ายฝ่ายค้าน

พรรคความหวัง (Party of Hope) ที่ผู้ว่าการโตเกียว ยูริโกะ โคอิเกะ (Yuriko Koike) เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ แต่ตัวเธอเองไม่ได้สมัครลงแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีแนวโน้มจะคว้าได้เพียง 60 ที่นั่ง ขณะที่อีกหนึ่งพรรคใหม่ คือ พรรครัฐธรรมนูญประชาธิปไตย (Constitutional Democratic Party: CDP) อาจได้อีกประมาณ 30 ที่นั่ง หรือมากกว่านั้นเล็กน้อย นั่นคือตัวเลขจากการสำรวจล่าสุดเมื่อวันพุธที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ผลจากการสำรวจชี้ให้เห็นว่า 54 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะลงคะแนนเสียงให้ใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านหลัก เซอิจิ มาเอฮารา (Seiji Maehara) แห่งพรรคประชาธิปไตย (Democratic Party: DP) ประกาศยุบพรรค ทำให้เกิดความสับสนทางการเมือง

แม้คาดกันว่าพรรค LDP น่าจะชนะการเลือกตั้ง แต่ผลการสำรวจจากสำนักใหญ่ๆ แสดงให้เห็นว่า คณะรัฐมนตรีของอาเบะพยายามอย่างหนักเพื่อรักษาความนิยมไว้ หลังจากเกิดเรื่องอื้อฉาวคาค้างอยู่ในความสงสัยของสาธารณชน ว่ามีการใช้เส้นสายอำนวยประโยชน์ในบางกิจการ ซึ่งมีการกล่าวหาว่าภรรยาและเพื่อนสนิทของตัวนายกรัฐมนตรีมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

คะแนนเห็นชอบสำหรับฝีมือทำงานของคณะรัฐมนตรีร่วงดิ่งสู่ระดับ 37 เปอร์เซ็นต์ในเดือนตุลาคม จาก 50 เปอร์เซ็นต์เมื่อเดือนก่อนหน้านั้น ขณะที่อัตราผู้แสดงความไม่เห็นชอบเพิ่มขึ้นเป็น 48 เปอร์เซ็นต์ จาก 42 เปอร์เซ็นต์ ตามผลของการสำรวจความคิดเห็นที่จัดทำโดยหนังสือพิมพ์ข่าวธุรกิจ Nikkei ร่วมกับ TV Tokyo

อาเบะเข้ารับตำแหน่งเมื่อ ธันวาคม 2012 โดยสัญญาว่าจะมุ่งมั่นฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของโลก แต่นักวิจารณ์จำนวนหนึ่งแย้งว่า รัฐบาลของเขาล้มเหลวในความพยายามทำภารกิจดังกล่าว ด้วยเห็นว่าพลังการใช้จ่ายของผู้บริโภคถดถอยลง รวมทั้งค่าแรงคนงานที่ไม่กระเตื้องขึ้น

ปลายเดือนกันยายนนายกรัฐมนตรีอาเบะตัดสินใจยุบสภาผู้แทนราษฎรก่อนครบเทอม แล้วกำหนดให้จัดการเลือกตั้งทั่วไป แม้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ้างว่าการทำเช่นนั้นอาจก่อให้เกิดช่องว่างทางการเมืองท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตนิวเคลียร์ ที่เกาหลีเหนือส่งเสียงขู่คำรามมาทางญี่ปุ่นเป็นครั้งคราว

เมื่อเดือนสิงหาคมและกันยายน เปียงยางยิงขีปนาวุธสองลูกข้ามเกาะฮอกไกโดทางตอนเหนือของญี่ปุ่น ก่อนดิ่งลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก จากนั้นยังทำการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ครั้งที่ 6 ซึ่งมีอานุภาพสูงสุด เมื่อ 3 กันยายน เป็นเหตุให้เกิดเสียงประณามจากทั่วโลก

ระหว่างหาเสียงเพื่อช่วงชิงตำแหน่งในครั้งนี้ อาเบะกล่าวว่า “ขอให้ประชาชนมีฉันทานุมัติสำหรับจุดยืนอันแข็งกร้าวที่จะใช้กับเกาหลีเหนือ หากเกาหลีเหนือยังคงไม่ปรับเปลี่ยนนโยบายเรื่องอาวุธทั้งหลาย เราก็ยิ่งจะเพิ่มความกดดันต่อเกาหลีเหนือให้มากยิ่งขึ้นในทุกวิถีทาง โดยร่วมมือกับประชาคมนานาชาติ” เขากล่าวในที่ประชุมสื่อมวลชน “ไม่มีประโยชน์อะไรกับการที่จะต้องมาคอยเจรจากันเพื่อให้ได้เจรจาเท่านั้น”

ด้านความมั่นคง

อาเบะบอกว่ากรณีเกาหลีเหนือเป็น ‘วิกฤติแห่งชาติ’ ที่เขาจัดให้เป็นนโยบายหาเสียงหลัก และผลของการสำรวจพบว่า ผู้สนับสนุน LDP ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับเขาในการมุ่งใช้แนวทางอันแข็งกร้าวต่อเกาหลีเหนือ

สำหรับนโยบายนี้ พรรคความหวังของโคอิเกะ รวมกับพรรค CDP ซึ่งนำโดยอดีตหัวหน้าเลขานุการคณะรัฐมนตรี ยูกิโอะ เอดาโนะ (Yukio Edano) ยืนยันมาตลอดว่า ต้องการเน้นความสำคัญของวิธีทางการทูตและการเจรจาให้มากขึ้น พร้อมกับเพิ่มแรงกดดันต่อเกาหลีเหนือไปด้วย

หลังจากตัดสินใจกำหนดการเลือกตั้ง มันก็กลายเป็นความหนักใจของอาเบะอยู่ช่วงหนึ่ง ขณะที่โคอิเกะมีแรงสนับสนุนอยู่ที่พรรค DP ฝ่ายค้านหลัก ซึ่งคาดหวังว่าจะเข้าร่วมกับพรรคของเธอเพื่อเอาชนะ LDP ให้ได้

ในการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม พรรคระดับท้องถิ่นของโคอิเกะกำชัยชนะเด็ดขาดเหนือพรรค LDP ในเขตเลือกตั้งโตเกียว แล้วเธอยังเอาชนะผู้สมัคร LDP ในการเลือกตั้งผู้ว่าการโตเกียวปี 2016 เป็นผู้หญิงคนแรกที่ครองตำแหน่งใหญ่สุดที่ปกครองเมืองหลวงของญี่ปุ่น

แต่ต่อมา โคอิเกะ ซึ่งเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมภายใต้รัฐบาลอาเบะกล่าวว่า พรรคความหวังจะไม่ยอมรับ สส.ของพรรค DP ทำให้เกิดคำค่อนแคะอย่างรุนแรงจากผู้สนับสนุน DP จำนวนมาก นอกจากนี้เธอยังได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่ให้ความสำคัญกับบทบาทของตนเองในฐานะผู้ว่าการโตเกียว ซึ่งมีประชากรภายใต้ความรับผิดชอบถึง 14 ล้าน มากเท่าที่ควร สวนทางกับการเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองระดับชาติมากยิ่งขึ้น

การตัดสินใจของโคอิเกะที่จะไม่ลงเลือกตั้งครั้งนี้เอง ทำให้หลายคนเข้าใจว่าพรรคของเธอกำลังจะหมดพลังลงแล้ว การที่เธอปฏิเสธไม่ยอมรับ สส.ปีกเสรีนิยมของพรรค DP กลายเป็นแรงกระตุ้นให้บางส่วนในจำนวนนั้นออกมาจัดตั้งพรรคใหม่อย่าง CDP ขึ้น นำโดยอดีตหัวหน้าเลขาคณะรัฐมนตรีเอดาโนะ ส่วน สส.พรรค DP คนอื่นที่เหลือ รวมทั้งอดีตนายกรัฐมนตรีโยชิฮิโกะ โนดะ (Yoshihiko Noda) ได้ตัดสินใจลงเลือกตั้งเป็นผู้สมัครอิสระ

ผู้สังเกตการณ์คาดว่า กลุ่มผู้สมัครอิสระเหล่านี้ น่าจะยังคงส่งอิทธิพลบางอย่างสำหรับค่ายฝ่ายค้านหลังการเลือกตั้งสิ้นสุดลง

กองกำลังป้องกันตนเอง’ (Self-Defence Forces: SDF)

ก่อนการเลือกตั้ง ในหัวข้อความมั่นคง นอกจากเรื่องนโยบายต่อเกาหลีเหนือแล้ว ยังมีประเด็นกำลังทหารของญี่ปุ่นสำหรับภารกิจป้องกันประเทศโดยรวม ซึ่งกลายมาเป็นหัวข้อถกเถียงทางการเมืองอย่างถึงพริกถึงขิงตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมานี้

สำหรับประเด็นนี้ อาเบะแสดงความกระตือรือร้นต่อสาธารณะมาตลอดว่า เขาต้องการสานต่อความพยายามจะมุ่งหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อต้านสงครามของญี่ปุ่นที่ร่างโดยสหรัฐอเมริกาผู้ชนะสงครามให้ได้ เพื่อปรับเปลี่ยนสิ่งที่เรียกกันว่า ‘กองกำลังป้องกันตนเอง’ (Self-Defence Forces: SDF) ของประเทศให้กลายเป็นกองทัพเต็มรูปแบบเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

ชาวญี่ปุ่นทั่วไปรุ่นยุคหลังสงครามในฟากอนุรักษนิยมแบบเดียวกับอาเบะมักมองว่า รัฐธรรมนูญ ‘สันตินิยม’ ฉบับนี้ ซึ่งมีข้อความ มาตรา 9 จำกัดกำลังทหารและอาวุธของประเทศ ก่อให้เกิดภาระมหาศาลกดดันลงบนความรับผิดชอบของ ‘กองกำลังป้องกันตนเอง’ อย่างไม่เป็นธรรมและสมน้ำสมเนื้อกับภารกิจต่างๆ โดยมีเหตุผลเพียงความหวั่นเกรงการกลับมาใหม่ของลัทธิทหารอันน่าสะพรึงในอดีต ซึ่งเคยนำพาญี่ปุ่นทั้งประเทศลงสู่ห้วงเหวแห่งหายนะมหาศาลมาแล้วระหว่างครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 ขณะที่ความท้าทายใหม่ด้านความมั่นคงแห่งยุคสมัยปัจจุบันสำหรับญี่ปุ่นได้แก่ การผงาดขึ้นด้านการทหารของจีน ความกร่างสุดขั้วของเกาหลีเหนือ และภัยก่อการร้ายระหว่างประเทศ

ส่วนพรรคความหวังต้องการให้มีการอภิปรายเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยกว้างขวางเสียก่อน แต่โคอิเกะ อดีตสมาชิก LDP ผู้เคยเป็นรัฐมนตรีกลาโหมมาก่อน และเป็นที่รู้จักกันอยู่บ้างว่าเป็นสตรี ‘สายเหยี่ยว’ คาดว่าน่าจะสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปในแนวเดียวกันกับอาเบะ

ส่วนพรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น (Japanese Communist Part: JCP) และพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democratic Party: SDP) ไม่ต้องการให้แก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 9 แห่งรัฐธรรมนูญที่จำกัดกำลังทางทหารและต่อต้านสงคราม

ด้านพลังงานนิวเคลียร์

ขณะนี้ญี่ปุ่นมีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้จำนวน 42 เครื่อง แต่มีเพียงสี่โรงเท่านั้นที่กำลังเดินเครื่องอยู่ท่ามกลางความหวาดหวั่นต่อความเสี่ยงหายนะของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นหลังจากภัยพิบัติที่เมืองฟุกุชิมะเมื่อปี 2011

พรรค LDP ของอาเบะ ซึ่งเดินแนวทางส่งเสริมภาคธุรกิจอย่างแข็งขันมาตลอด แสดงความกระตือรือร้นที่จะรีสตาร์ทเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ถูกระงับหลังจากเกิดภัยพิบัติให้มีจำนวนใช้งานมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานน้ำมันที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศด้วยราคาสูง และจะช่วยให้ญี่ปุ่นดำเนินตามพันธะต่างๆ เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ครบถ้วนขึ้น

ส่วนพรรคความหวังได้สาบานหัวเด็ดตีนขาดว่ามุ่งมั่นจะขจัดทิ้งพลังงานนิวเคลียร์ให้ได้ภายในปี 2030 แต่นักวิจารณ์โดยทั่วไปยังข้องใจอยู่มากว่าเป้าหมายนี้จะเป็นไปได้อย่างไร เนื่องจากเมื่อไม่นานนี้ ผู้นำพรรคโคอิเกะ ในฐานะผู้ว่าการโตเกียว เพิ่งอนุมัติสนับสนุนการตัดสินใจของผู้กำกับดูแลเพื่อให้การรับรองความปลอดภัยของเครื่องปฏิกรณ์สองเครื่องที่ดำเนินการโดยการไฟฟ้าโตเกียว (Tokyo Electric Power) ผู้ดำเนินการของโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ (Fukushima Daiichi Nuclear Power) ที่ใช้การไม่ได้แล้วก่อนหน้านี้

ส่วนพรรค CDP พรรค JCP และ SDP มีเป้าหมายเพื่อสร้างสรรค์สังคมโดยไม่ต้องพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์เลย

ด้านเศรษฐกิจ

รายงานล่าสุดของรัฐบาลระบุว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตขึ้น 2.5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบเป็นรายปีในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ซึ่งนับเป็นการขยายตัวรวมหกไตรมาสติดต่อกัน แต่การใช้จ่ายของผู้บริโภคกลับอ่อนพลังลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโตเกียวปรับขึ้นภาษีการขาย หรือ vat จาก 5 เปอร์เซ็นต์ เป็น 8 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเดือนเมษายน 2014 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 17 ปี

ปี 2014 อาเบะได้เลื่อนการปรับขึ้นภาษีครั้งที่สองให้เป็น 10 เปอร์เซ็นต์ ที่ได้กำหนดไว้ว่าจะเริ่มตั้งแต่ตุลาคม 2015 ไปเป็นเมษายน 2017 แต่ปัจจุบันก็ได้มีการผลักดันให้เลื่อนกำหนดการขึ้นภาษีต่อไปอีก เป็นตุลาคม 2019

อาเบะแถลงว่า เขามุ่งจะเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่อการศึกษาก่อนวัยเรียนและการดูแลเด็กเล็ก โดยใช้รายได้ส่วนหนึ่งจากการเพิ่มภาษีตามแผนดังกล่าว โดยตอนนี้เขากำลังแสวงหาอาณัติสาธารณะสำหรับการดำเนินการตามแผน

พรรคความหวังต้องการแช่แข็งกำหนดการขึ้นภาษีไว้ก่อน ในขณะที่พรรค CDP, JCP และ SDP ต่อต้านการขึ้นภาษีทั้งหมด

ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

โดยเฉพาะกับพันธมิตรและรัฐบาลอื่นที่มีแนวความคิดคล้ายกัน ทุกประเทศน่าจะยินดีที่เห็นอาเบะดำรงตำแหน่งผู้นำญี่ปุ่นต่อไป นักการทูตแห่งภูมิภาคเอเชียคนหนึ่งกล่าวว่า การมีนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่อยู่ได้นานกว่าหนึ่งปีจะหนุนเสริมความเชื่อมั่นและเสถียรภาพในความสัมพันธ์ทางการเมืองและการค้าของรัฐบาลญี่ปุ่นกับประชาคมโลกมากขึ้น

เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับความสัมพันธ์กับมหาอำนาจสหรัฐอเมริกา พันธมิตรหลักของญี่ปุ่น

“ตลอดช่วงหลายปีที่ก่อนหน้านั้นเจ้าหน้าที่ชาวอเมริกันมักพูดอยู่เสมอว่า ‘ทำไมต้องเสริมสร้างความสัมพันธ์กันนักหนา ในเมื่อผู้นำประเทศมักอยู่ในตำแหน่งได้เพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น’ ” แบรด กรอสเซอร์แมน (Brad Glosserman) ชาวอเมริกันผู้เป็นศาสตราจารย์รับเชิญที่มหาวิทยาลัยทามะ (Tama University) ในโตเกียวกล่าวแสดงทัศนะ “เป็นเรื่องยากมากที่จะสามารถพูดอวดอ้างยกย่องคุณค่าความสัมพันธ์ลักษณะนี้ได้”

ความสัมพันธ์อันหนึ่งที่น่าเป็นประโยชน์ต่อญี่ปุ่นอย่างดี คือความผูกพันที่อาเบะได้ก่อร่างขึ้นประสานกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา

ระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ทรัมป์ได้กล่าวปราศรัยถล่มแหลกญี่ปุ่นอย่างไม่มีชิ้นดีหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะเมื่อใช้มุมมองเดิมๆ เพ่งเล็งถึงความสัมพันธ์ทางการค้าอเมริกา-ญี่ปุ่นระหว่างทศวรรษ 1980 เป็นหลัก และเขาบอกด้วยว่าญี่ปุ่นควรจะควักกระเป๋าจ่ายเงินเพื่อการป้องกันประเทศให้มากขึ้นได้แล้ว

แต่อาเบะใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะได้รับสิทธิในการเป็นพันธมิตรสนิทสนมกับทรัมป์ เป็นผู้นำต่างชาติคนแรกที่เข้าเยี่ยมเยียนทำเนียบขาวหลังจากชัยชนะในการเลือกตั้งของทรัมป์ และได้เข้าประชุมสุดยอดกับประธานาธิบดีคนใหม่ที่รีสอร์ทส่วนตัว Mar-a-Lago ณ ปาล์มบีช ฟลอริดา เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากพิธีเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์

ผู้นำทั้งสองคนพูดคุยกันทางโทรศัพท์เกี่ยวกับหัวข้อเกาหลีเหนือและอื่นๆ เป็นประจำ และทรัมป์มีกำหนดเดินทางเยือนญี่ปุ่นในวันที่ 5 พฤศจิกายน นี้ เพื่อเริ่มต้นตระเวนภาคพื้นเอเชีย

นักวิเคราะห์กล่าวว่า การที่ทรัมป์ไม่ได้ลงมือทำสิ่งใดเพื่อต่อต้านผลประโยชน์ของญี่ปุ่น ยกเว้นเพียงการถอนตัวจากการเป็นหุ้นส่วนการค้าระหว่างประเทศของภูมิภาคแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP trade deal) ที่ผ่านมาเท่านั้น นี่เป็นข้อพิสูจน์อย่างดีถึงอิทธิพลของอาเบะในแวดวงการเมืองสหรัฐอเมริกา


อ้างอิงข้อมูลจาก:
reuters.com
theguardian.com

Author

ไพรัช แสนสวัสดิ์
ทำงานหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาอังกฤษมาทั้งชีวิต มีความสนใจในระดับหมกมุ่นหลายเรื่อง อาทิ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี การเมือง สังคม วัฒนธรรม ศิลปะ จักรยาน ฯลฯ ช่วงทศวรรษ 2520 มีงานแปลทะลักออกมาหลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือ Bury my heart at Wounded Knee หรือ ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี
ปัจจุบันเกษียณตัวเองออกมาทำงานแปลอย่างเต็มตัว แต่ไม่รังเกียจที่จะแปลและเขียนบทวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ หากเป็นประเด็นที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อชาวโลก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า