วันที่ 22 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศเตรียมปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ที่ผ่านการบำบัดแล้ว ลงสู่มหาสมุทรละแวกใกล้เคียงในวันที่ 24 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ คาดว่าอาจใช้เวลาร่วม 3 ทศวรรษในการปล่อยน้ำออกทั้งหมด
จุดเริ่มต้นของปัญหานี้ มาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิขนาดใหญ่ที่โทโฮกุ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ภายใต้การดูแลของบริษัท Tokyo Electric Power Company (TEPCO) ทำให้แกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์มีความร้อนสูง และไฟฟ้าไม่ทำงาน นำมาซึ่งการแก้ปัญหาด้วยการใช้น้ำทะเลเข้ามาช่วยลดอุณหภูมิเตาปฏิกรณ์ แต่นั่นทำให้น้ำทะเลเกิดการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี และปล่อยคืนกลับสู่มหาสมุทรไม่ได้
เหตุการณ์นี้นักวิชาการหลายฝ่ายมองว่า เป็นความเสียหายต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดในโลกนับจากภัยพิบัติที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล (Chernobyl) ประเทศยูเครน
ทางบริษัท TEPCO ตัดสินใจสร้างถังเก็บน้ำเสียความจุ 1.34 ล้านตัน จำนวน 1,000 ถัง เพื่อเก็บน้ำทะเลเอาไว้ เปรียบได้เท่ากับสระว่ายน้ำระดับแข่งขันโอลิมปิก 500 สระ ซึ่งปัจจุบันความจุกำลังใกล้เต็มแล้ว หลังจากเก็บมานานกว่า 10 ปี เป็นเหตุให้ต้องพิจารณาปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนลงสู่มหาสมุทร ซึ่งรัฐบาลตอบรับไปแล้วเมื่อ 2 ปีก่อน และเป็นส่วนหนึ่งของแผนรื้อถอนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ถึงแม้ว่าบริษัท TEPCO และทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy: IAEA) จะยืนยันว่า น้ำปนเปื้อนดังกล่าวได้ถูกบำบัดจนเจือจางจากกัมมันตรังสีและอาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ก็ไม่ทำให้ผู้คนจำนวนมาก รวมถึงสหพันธ์สหกรณ์ประมงแห่งชาติญี่ปุ่น และประชาชนทั่วไปนิ่งนอนใจได้เลย โดยเฉพาะชื่อเสียงต่ออาหารญี่ปุ่น นำมาสู่การเดินขบวนประท้วงที่โตเกียวในพื้นที่ด้านนอกทำเนียบนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ที่ผ่านมา
โครงการรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม กรีนพีซ ญี่ปุ่น วิจารณ์การตัดสินใจของรัฐบาลในเรื่องนี้ ทั้งการไม่พิจารณาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรอบคอบ ปัญหาด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชุมชนในญี่ปุ่น การไม่สอดคล้องกับกฎหมายการเดินเรือระหว่างประเทศ และปัญหาเรื่องความกังวลของประชาชนและชาวประมง
ฮิซาโยะ ทาคาดะ (Hisayo Takada) ผู้จัดการโครงการกรีนพีซ แสดงความรู้สึกผิดหวัง โดยกล่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นเพิกเฉยต่อเสียงเรียกร้องจากความกังวลของชาวประมง พลเมืองชาวฟุกุชิมะ และภาคประชาคมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคแปซิฟิก และประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งยังวิจารณ์ว่า IAEA ล้มเหลวในการตรวจสอบน้ำเสียปนเปื้อนซึ่งมีกากกัมมันตรังสีบางชนิดไม่ถูกตรวจสอบ หรือไม่ได้รับการประเมินความเสี่ยงอย่างรัดกุมมากพอ ทั้งยังอาจละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบข้ามพรมแดนอย่างมีนัยสำคัญต่อประเทศเพื่อนบ้าน
ทาคาดะยังตั้งข้อสังเกตว่า การผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เคยยุติลงไปแล้วจากอุบัติเหตุและภัยธรรมชาติ แต่โรงไฟฟ้าก็ยังจำเป็นต้องใช้พลังงานความร้อนสำรองตลอดเวลา และนำมาสู่การเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ใหม่อีกครั้ง ทั้งที่เคยเกิดความเสียหายและผลกระทบที่รุนแรงจากเหตุแผ่นดินไหวมาแล้วก็ตาม แสดงให้เห็นว่า แผนพลังงานของรัฐบาลชุดปัจจุบันล้มเหลวในการจัดหาพลังงานหมุนเวียนทดแทนที่ปลอดภัยและยั่งยืน เช่น พลังงานลม หรือแสงอาทิตย์ ซึ่งสอดคล้องกับการรับมือวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
ด้านนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) กล่าวว่า “การกำจัดน้ำเสียมากกว่า 1 ล้านตัน ที่เก็บไว้ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นส่วนสำคัญของกระบวนการที่ยาวนานและซับซ้อนในการรื้อถอนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ไม่ใช่สิ่งที่จะเลื่อนออกไปอีกได้ หากต้องการรื้อถอนโรงไฟฟ้า”
ถึงอย่างไร คิชิดะ ยืนยันว่าจะรับผิดชอบและรับประกันว่า อุตสาหกรรมการประมงจะดำเนินต่อไปได้ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้ตั้งกองทุนมูลค่า 30,000 ล้านเยน (7,200 ล้านบาท) เพื่อชดเชยชาวประมงท้องถิ่นสำหรับความเสียหายต่อชื่อเสียง และ 50,000 ล้านเยน (12,000 ล้านบาท) เพื่อแก้ไขผลกระทบใดๆ ต่อเศรษฐกิจในท้องถิ่น
อ้างอิง:
- 24 ส.ค. ญี่ปุ่นเริ่มปล่อย! ‘น้ำเสียปนเปื้อนนิวเคลียร์’ ที่บำบัดแล้วลงทะเล
- The Subcommittee on Handling of the ALPS Treated Water Report
- Fukushima nuclear disaster: Japan to release treated water in 48 hours
- Just Like That, Tons of Radioactive Waste Is Heading for the Ocean
- Fukushima: wastewater from ruined nuclear plant to be released from Thursday, Japan says